ปรากฏการณ์ Pokemon Go เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากการเชื่อมโยงเทคโนโลยี mobile broadband และ software ที่ชาญฉลาด เข้ากับประชากรโลกที่ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นจำนวนหลายพันล้านคนทั่วโลก ซึ่งถือได้ว่าเป็นปรากฏการณ์ที่เรากำลังเริ่มเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ

Play video

สัญญาณเตือนที่ชัดเจนครั้งนี้กำลังท้าทายผู้นำภาครัฐและผู้บริหารระดับสูงภาคเอกชนของประเทศต่างๆ ทั่วโลกให้ได้รู้ว่า ประชากรโลกกำลังมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป โดยเป็นการบ่งบอกถึงสัญญาณเตือนซึ่งมีนักอนาคตศาสตร์หลายท่านได้เคยคาดการณ์ไว้ว่า เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตและอุปกรณ์เคลื่อนที่ที่ชาญฉลาด จะทำให้เกิดปรากฏการณ์การโอนอำนาจจากรัฐหรือองค์กรภาคธุรกิจสู่ประชาชนอย่างรวดเร็ว ซึ่งกำลังจะเกิดขึ้นในทศวรรษต่อจากนี้ไป

เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตและอุปกรณ์ที่ชาญฉลาด ทำให้เกิดปรากฏการณ์โอนอำนาจรัฐหรือองค์กรธุรกิจสู่ประชาชนอย่างรวดเร็ว

“จุดเริ่มต้น” ในการเคลื่อนตัวเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างแท้จริงที่กำลังเกิดขึ้นในปีนี้ก็เนื่องมาจากโลกของเรามีจำนวนผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่เข้าใกล้จำนวนประชากรโลกแล้ว อีกทั้งโทรศัพท์เคลื่อนที่บรอดแบนด์ยังเชื่อมโยงกับเทคโนโลยีบอกตำแหน่งและ software ที่ชาญฉลาดอย่างกลมกลื่น…แต่อย่าลืมคำว่า มันเป็นเพียงการเริ่มต้นเท่านั้น!!!

มีการคาดการณ์ว่า นับจากนี้ไปเทคโนโลยีสื่อสารโทรคมนาคมจะเป็นลักษณะเครือข่ายเชื่อมโยงอย่างยิ่งยวด (Hyperconnected) อีกทั้งยังเชื่อมต่อคนกับองค์กรโดยสมบูรณ์ตลอดเวลา (Always on) จนทำให้โลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วด้วยอัตราเร่ง จะเกิดการเชื่อมโยงสิ่งของต่างเข้าด้วยกัน (Internet of Things) และควบคุมผ่านอุปกรณ์สื่อสารเคลื่อนที่ ซึ่งจะมีถึง 5 หมื่นล้านอุปกรณ์ทั่วโลกภายในปี 2020 อีกทั้งการส่งข้อมูลทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นเกือบ 100% ในปีหน้า และจะเพิ่มขึ้นถึง 600% ในปี 2020 (รวมทั้งประเทศไทยด้วย)

ดังนั้น “ปรากฏการณ์โปเกมอน” เป็นเพียงปรากฏการณ์ที่ไม่ได้เหนือความคาดหมาย แต่เป็นเพียงการให้บริการดิจิทัลในอุตสาหกรรมเกมเท่านั้น แต่เหนือไปกว่านั้นคือ โลกจะเริ่มสั่นไหวหนักขึ้นในทุกภาคส่วน จะมีการเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการในทุกอุตสาหกรรมโดยผู้บริโภคจะเป็นผู้เข้ามาบังคับให้องค์กรเปลี่ยนเอง โดยจะเปลี่ยนอย่างรวดเร็วภายใน 5 ปีนับจากนี้ (Disruption) และจะเกิดบริษัทเล็กๆ ของคนรุ่นใหม่ ที่เติบโตอย่างรวดเร็วด้วยนวัตกรรม มีการบริหารจัดการแบบ Realtime และมีปฏิสัมพันธ์กับผู้บริโภคผ่าน social media เป็นหลัก และที่กลับหัวกลับหางคือผู้บริโภคจะเป็นผู้ทำการตลาดให้ภาคธุรกิจเอง

 ควรตั้งยุทธศาสตร์ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติให้เร็วที่สุดก่อนเกิดการโจมตีที่รุนแรง

ส่วนภาครัฐของทุกประเทศ จะมีความท้าทายในด้านนโยบายและกฎหมายด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ ที่ต้องสมดุลกับการใช้เทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาประเทศ ซึ่งผู้เขียนได้เคยให้ความเห็นสำหรับประเทศไทยไว้แล้วว่า เราต้องเร่งดำเนินการในการตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ และมีสำนักงานโดยมีเลขาธิการ เป็นผู้ดำเนินการบริหารงาน ที่สำคัญคือ ควรตั้งให้เร็วที่สุดก่อนที่จะเกิดปัญหาด้านการโจมตีไซเบอร์ที่รุนแรง โดยคณะกรรมการดังกล่าวควรให้นายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคงเป็นประธาน การที่ต้องเร่งดำเนินการเพราะหลังจากตั้งแล้ว จะต้องมีการดำเนินการด้านการบริหารจัดการซึ่งต้องใช้เวลา 1-2 ปี เป็นอย่างน้อย จึงจะสมบูรณ์

“นับจากนี้ไป จะเกิดปรากฏการณ์ในลักษณะโปเกมอนถี่ขึ้นเรื่อยๆจนจะกลายเป็นวัฒธรรมดิจิทัล (digital culture) โดยผู้คนทั่วโลกจะมีปฏิสัมพันธ์บนเครือข่ายร่วมกัน แต่อาจอยู่ในรูปแบบอื่นที่มีความสลับซับซ้อนขึ้น และต้องใช้ความเข้าใจที่ลึกซึ้งในการบริหารจัดการภัยคุกคามไซเบอร์ดังกล่าวทั้งในแง่มุมประโยชน์และโทษ…อย่าลืมว่า…มันเพิ่งเป็นการเริ่มต้นเท่านั้น!!!”

9 ส.ค. 2559 10:30

www.เศรษฐพงค์.com