ถ้าใครยังจำกันได้ สงครามทางการค้าของสหรัฐฯ และจีนยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและหนักหน่วง แต่จุดที่น่าสนใจคือเรื่องของ ‘เทคโนโลยี 5G’ ที่เรียกได้ว่า ‘ทะเลาะ’ กันอย่างค่อนข้างหนักหน่วง ยาวมาตั้งแต่ที่สหรัฐฯ ได้ตัดสินใจแบนจีน หรือที่เรียกชัด ๆ ก็คือ ‘HUAWEI’ ไม่ให้ซื้อขาย หรือทำธุรกิจใด ๆ กับทางอเมริกาเลย เป็นจุดที่ทำให้สมาร์ตโฟน HUAWEI ไม่มี GMS (Google Mobile Services) ใช้ในตอนนี้

แต่เรื่องนี้มีอะไรมากว่านั้นอีก เพราะเหมือนว่าสิ่งที่อเมริกากลัวจริง ๆ เห็นจะเป็น 5G ของประเทศจีน นี่แหละ ! แต่เพราะสาเหตุใดกันนะ ?

สรุปเหตุการณ์สั้น ๆ คือ สหรัฐฯ ตัดสินใจแบน HUAWEI ออกจากการทำธุรกิจใด ๆ กับอเมริกาตั้งแต่ช่วงกลางปี 2019 ที่ผ่านมา การแบนตอนนั้นทำให้ HUAWEI แทบจะล้มเลย ในฐานะผู้ผลิตสมาร์ตโฟนและใช้ ‘Google Mobile Services’ ไม่ได้

แต่การแบนนี้ไม่ได้แบนแค่เรื่องของ Google เท่านั้น แต่ยังมีเรื่องที่เป็น ‘ต้นทาง’ ที่ทำให้อเมริกาขัดขวางจีนมาจนถึงตอนนี้ นั่นคือเรื่อง ‘5G’ อีก คือถ้าพูดถึงแบรนด์ HUAWEI หลาย ๆ คนน่าจะนึกถึงสมาร์ตโฟน, แท็บเล็ต, Smart Watch หรือหูฟังต่าง ๆ แต่จริง ๆ สินค้าสร้างชื่อของ HUAWEI ที่เรียกได้ว่าดีมากมานานแล้ว คือเรื่องของ ‘อุปกรณ์และโครงสร้างพื้นฐานเกี่ยวกับเทคโนโลยี 5G’ ต่างหาก

ตัวอย่างอุปกรณ์ 5G ของ HUAWEI ที่ออกมาครบทุกขั้นตอนการส่งสัญญาณ

HUAWEI เรียกได้ว่าสามารถทำโครงสร้างพื้นฐานได้ครบตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ คือบนเสาสัญญาณก็มีอุปกรณ์รับส่งสัญญาณให้ติดตั้ง, มีเสากระจายสัญญาณ (ที่ติดยอดเสาสัญญาณ) เป็นของตัวเอง ยาวไปจนถึงเราท์เตอร์ ONU ที่รับอินเทอร์เน็ตจากด้านนอก มาปล่อยอินเทอร์เน็ตภายในบ้าน และเราท์เตอร์รับสัญญาณ 5G มาปล่อยอย่างพวก CPE เป็นต้น ซึ่งนอกจากจะครบแล้ว ราคาอุปกรณ์ HUAWEI ยังดีกว่าเจ้าอื่น ๆ ในตลาดอีกด้วย ในไลฟ์ beartai hitech ในหัวข้อเดียวกันนี้ ได้ข้อมูลมาว่า ในการประมูลคลื่นความถี่ตั้งแต่สมัยก่อน ทาง HUAWEI เข้ามาเสนอราคาที่ตัดจากคู่แข่งได้เกือบครึ่ง ทำให้เจ้าตลาดเดิมอย่าง Nokia, Ericsson สู้ไม่ได้เลยซึ่งด้วยราคาที่ถูกกว่าเจ้าอื่น ทำให้อุปกรณ์ 5G ฝั่งเสาสัญญาณ ได้รับเลือกให้ไปติดตั้งในหลายประเทศมาก

ตัวอย่างภาพอุปกรณ์ส่งสัญญาณ 5G บนยอดเสาสัญญาณ
Source : wired.com

ในตอนนั้นที่สหรัฐแบน HUAWEI หลาย ๆ เจ้าก็กังวลเรื่องของ ‘ความปลอดภัย’ เพราะกลัวว่าเสาสัญญาณจะติดอุปกรณ์ติดตาม, ดักฟัง ฯลฯ (ที่ตอนนี้จริง ๆ ก็ยังไม่เจอ) แต่ในอีกมุมหนึ่ง HUAWEI เองก็เป็นบริษัทที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลจีนจริง ๆ ทั้งผู้ก่อตั้ง และ CEO เหริน เจิ้งเฟย เป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีน และเคยทำงานด้านระบบสื่อสารในกองทัพจีนด้วย

และจนถึงตอนนี้ อเมริกาก็ยังคงแบนการนำเข้าอุปกรณ์ฝั่งเสาสัญญาณจากจีน ไม่ได้แบนแค่ HUAWEI เท่านั้น แต่ยังแบน ZTE และยังมีอีก 2 เจ้าที่โดนแบนหลังจากนั้น อย่าง หางโจว ฮิควิชัน (Hangzhou Hikvision) และ ต้าหัว เทคโนโลยี (Dahua Technology) ที่ทำกล้องวงจรปิด ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัยเช่นกัน เพิ่งโดนไปเมื่อปีที่แล้วนี้เอง

ซึ่งจากการวิเคราะห์กันภายในไลฟ์ คาดกันว่า บริษัทเทคโนโลยีของจีน เติบโตอย่างรวดเร็ว แถมยังสามารถทำราคาได้ดีมาก ทำให้ ถ้ามีการแข่งขันด้านการวางเครือขายในอเมริกา จากคู่แข่งทั้ง 3 เจ้า (AT&T, Verizon, T-Mobile) ก็จะต้องเกิดการซื้อสินค้าเทคโนโลยีจำนวนมากเพื่อวางโครงข่ายแข่งกัน ทำให้อาจจะเกิดการซื้อขายกันระหว่างอเมริกากับจีนเป็นจำนวนมาก ซึ่งอาจมีมูลค่ามากถึง 100,000 ล้านเหรียญ ถ้าเข้ามากีดกันตรงจุดนี้ ให้กลายเป็นของทางยุโรป (ซึ่งเป็นพันธมิตรทางการค้าอยู่) แทนก็ยังดีกว่า นอกจากนั้น จะทำให้เกิดการขาดดุลการค้า เนื่องจากนำเข้าสินค้าจากจีนได้เยอะ แต่ส่งออกได้น้อยมาก ๆ เพราะจีนไม่ได้ต้องการสินค้าใด ๆ จากสหรัฐฯ

เรื่องนี้มันจึงลามมาถึงฝั่งสมาร์ตโฟน หรือฝั่ง Consumer ด้วย จนเกิดเป็นการแบนการทำธุรกิจกับบริษัทในอเมริกา นำไปส่การปิดกั้นห้ามใช้ Google Mobile Services นั่นเอง !

แล้วทำไมจนถึงตอนนี้ ถึงมีแค่ HUAWEI ที่โดนแบนขนาดนี้ล่ะ ? อย่างแรก HUAWEI เป็นแบรนด์ที่ทำครบทุกอย่างมาก ๆ ทั้งสมาร์ตโฟน และอุปกรณ์เครือข่าย แถมยังเติบโตอย่างรวดเร็วอีกด้วย

นอกจากนั้น HUAWEI เป็นผู้ผลิตที่พยายามทำทุกอย่างเอง ใช้อะไหล่ที่ผลิตในประเทศเองมาก ๆ ไม่ว่าจะเป็นส่วนไหนก็ตาม แถมส่วนที่สำคัญที่สุดในเครื่องอย่าง ‘ชิปเซต’ ก็ยังพยายามใช้ของตัวเองเช่นกัน นั่นคือชิปเซต ‘Hisilicon Kirin’ นั่นเอง แต่ว่า แม้จะบอกว่าชิปเซตนี้เป็นของ HUAWEI เอง แต่หัวเว่ยก็ยังต้องจ้าง TSMC ในการผลิตชิปให้อยู่หลังการโดนแบนจากสหรัฐฯ ทำให้ HUAWEI จ้าง TSMC ผลิตชิปให้ไม่ได้อีกแล้ว

ที่จริงแล้ว HUAWEI ก็ตุนชิป Kirin ล็อตสุดท้ายจาก TSMC ไว้เยอะแล้ว ทำให้ซีรีส์ Mate30, P40 และ Mate40 ยังมี 5G ใช้อยู่ กับชิปเซต Kirin 990 และ Kirin 9000 แต่พอพ้นรุ่นเหล่านั้นไป ทำให้สมาร์ตโฟนใหม่ ๆ ของ HUAWEI ต้องหันไปซื้อชิปจากเจ้าอื่นมาใส่แทน อย่าง HUAWEI P50 Series ใช้ชิปเซต Snapdragon 888 และ Mate50 Series ใช้ Snapdragon 8+ Gen 1 เพราะแม้สหรัฐฯจะยังยอมให้ซื้อชิปเซตได้ แต่ไม่สามารถซื้อ โมเด็ม 5G ของ Qualcomm มาใส่ได้ ทำให้ใช้ได้แค่ 4G เท่านั้น

ทางสหรัฐฯ ก็เพ่งเล็งในจุดนี้เช่นกัน แม้ Huawei จะซื้อชิปจาก Qualcomm ได้ แต่ห้ามใช้เทคโนโลยี 5G เลย ทำให้สมาร์ตโฟนของหัวเว่ยยุคหลังไม่สามารถซื้อ โมเด็ม 5G ของ Qualcomm มาใส่ได้ ทำให้สมาร์ตโฟนรุ่นใหม่ ๆ ไม่มี 5G ใช้ แม้ว่าตัวเองจะออกแบบโมเด็ม 5G เองได้ แต่ผลิตไม่ได้ จะซื้อของอเมริกา เขาก็ไม่ขายให้

จากนั้น ผู้เล่นอีกเจ้าที่คนไม่ได้สนใจมานาน อย่าง SMIC – Semiconductor Manufacturing International Corp บริษัทผู้ผลิตชิปในประเทศจีนเอง หลังจากเกิดสงครามการค้าจากสหรัฐฯ ก็อ่วมเหมือนกัน เพราะไม่สามารถผลิตชิป 7nm เองได้ เอาจริง ๆ SMIC ในตอนนั้นก็ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีจากสหรัฐฯ อยู่ เลยยังผลิตเองไม่ได้แต่เรื่องนี้กลายเป็นตัวเร่งให้จีนต้องผลิตชิปเองให้ได้ นักลงทุนต่าง ๆ ได้เริ่มลงทุน อัดฉีด เดิมพันไปกับ SMIC ของจีนเองให้ผลิตชิป 7nm เอง ไปจนถึงโมเด็ม 5G ของตัวเองให้ได้ที่เล่ามาตั้งยาวขนาดนี้ นี่ยังเป็นแค่เรื่องในอดีตเท่านั้น

แต่ที่ต้องเล่าเพราะว่าล่าสุด SMIC สามารถผลิตชิป 5G ใช้เองได้แล้ว โดยเริ่มจาก HUAWEI Mate60 Pro ที่เปิดขายในจีนอย่างเงียบ ๆ มาพร้อมกับชิปเซต Kirin9000s (แบบไม่บอกในงานเปิดตัว แต่มีคนไปพบเอง) และมีข้อมูลออกมาบอกว่า ชิปเซต Kirin 9000s เป็นชิป 7nm ที่ใช้ 5G ได้ ที่มาจากการพัฒนาร่วมกันของ HUAWEI และ SMIC

แต่แน่นอนว่าสหรัฐฯ ก็ต้องตั้งข้อสงสัยว่า ที่ผลิตได้เนี่ยละเมิดกฎการคว่ำบาตรหรือเปล่า เพราะการผลิตชิปขนาด 7nm ได้ โรงงานมักจะใช้เครื่อง extreme ultraviolet lithography หรือ EUV โดย ASML ซึ่งเป็นบริษัทสัญชาติดัตช์เพียงบริษัทเดียวในโลกที่ผลิตเครื่องจักรชนิดนี้ และเป็นบริษัทที่ได้รับข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ ที่จะไม่จัดส่งเครื่องจักร EUV ใด ๆ ไปยังประเทศจีนด้วย

จนถึงตอนนี้ เรื่องนี้ก็ยังคงเป็นที่สงสัยกันอยู่ว่าจีนทำได้อย่างไร แต่ที่แน่ ๆ คือฝั่งจีนมีความสามารถมากกว่าที่สหรัฐฯ คิดไว้ (หรือเปล่า) เพราะยังมีคนออกมาบอกอีกว่า ชิป Kirin 9000s แท้จริงแล้วอาจจะเป็นแค่ชิป Kirin 9000 (ยุค Mate40) ที่เหลืออยู่จากที่ซื้อ TSMC มาเปลี่ยนชื่อเฉย ๆ ไม่ได้ผลิตใหม่อะไร

นอกจากนั้นยังมีผู้เล่นอีกราย อย่าง Canon ที่ประกาศว่ามีเครื่องพิมพ์ชิปแบบนาโนของตัวเอง โดยไม่ต้องใช้ ASML เลย แถมยังสามารถขายได้ในราคาที่ถูกกว่าอีกด้วย

สุดท้ายแล้ว เรื่องชิป 5G หรือเรื่องการกีดกันทางการค้า อาจจะให้ผลตรงกันข้าม อาจทำให้จีนเก่งกว่าเดิมก็ได้ เพราะเมื่อจีนไม่สามารถสั่งซื้อของกับใครได้ ก็เลือกที่จะ ‘ทำเอง’ หรือพัฒนาเทคโนโลยีเป็นของตัวเอง และอาจจะกลับมาเป็นผลเสียต่ออเมริกาก็ได้ เพราะเกิดการแข่งขันมากกว่าเดิม

แต่ที่แน่ ๆ คือ การทำเช่นนี้ของสหรัฐฯ ไม่ส่งผลดีกับการแข่งขันด้านเทคโนโลยีเท่าไหร่นัก แม้การกระทำของสหรัฐฯ จะค่อนข้างสมเหตุสมผลอยู่ก็ตาม

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส