ทุกปีแบไต๋ก็จะมีการวิเคราะห์เทรนด์เทคโลยีที่น่าสนใจ ซึ่งในปี 2024 ที่กำลังจะถึงนี้ก็มีเทรนด์หลายอย่างที่ต่อเนื่องจากปี 2023 ที่มาแรงแน่ในปีหน้า

ปีแห่ง AI ต่อเนื่อง

ปี 2023 เรียกได้ว่าเป็นปีของ AI เพราะบริษัทเทคฯยักษ์ใหญ่ต่างพากันเข้าสู่วงการ AI เต็มไปหมด เริ่มตั้งแต่ ChatGPT บลเมื่อปลายปี 2022, Microsoft ที่ลงมาเล่นทั้งในฐานะผู้ร่วมลงทุนใน OpenAI เจ้าของ ChatGPT และทำ Chat Bot ของตัวเองในชื่อ Bing AI ไปจนถึง Google ที่ก็ได้ออก Google Bard มาเป็นของตัวเองเช่นกัน ทำให้ผู้ใช้เห็น ‘AI’ ที่เป็นรูปธรรม จับต้องได้ ใช้งานได้จริงในปีนี้ ซึ่งเทรนด์ AI จะแบ่งเป็น 3 ด้านคือ

AI กับวิถีชีวิต

ในปี 2024 AI จะเข้ามามีบทบาทในชีวิตของเรามากขึ้นอีก อย่างที่ Microsoft เรียกว่าเป็น ‘Co-Pilot’ หรือนักบินผู้ช่วยของเราก็ว่าได้ และ AI พวกนี้ ก็จะเข้ามาทำให้การทำงานของเราสะดวกมากยิ่งขึ้น เช่นการแปลภาษา เขียนอีเมล สรุปใจความสำคัญ และอื่น ๆ อีกมากมาย ส่วน AI สายสรรสร้าง (Generative AI) จากในปี 2023 เราเห็นพัฒนาที่รวดเร็วของมัน ที่สามารถทำทั้งภาพและข้อความออกมาสวยงามขึ้น ผลงานช่วงต้นปีกับปลายปีดีขึ้นชัดเจน แถมเริ่มมีการเอา AI มาผสมเข้ากับงานได้อย่างดี เช่น Adobe Firefly ที่เรียกผ่าน Photoshop ที่สามารถ Generate ภาพเข้ามาในบางส่วนภาพต้นฉบับได้ พัฒนาการในปี 2024 เราจะได้เห็นสื่อประเภทอื่น ๆ ที่ AI สามารถสร้างออกมาได้ อย่างเช่น ‘เพลง’ หรือ ‘วิดีโอ’ ที่น่าจะอีกไม่นานนัก ก็จะมีคนที่ทำออกมาให้ได้ใช้กันแน่ ๆ เช่น Adobe Firefly for Video เป็นต้น

AI กับธุรกิจ

ภาคธุรกิจยิ่งเป็นส่วนสำคัญที่ต้องปรับตัวเลย เพราะ AI จะเข้ามาทั้ง Disrupt และช่วยฝั่งธุรกิจให้ทำงานง่ายขึ้น เมื่อเอา AI เข้ามาช่วยงาน แต่ก็ทำให้เกิดความแตกต่างด้านทักษะอย่างก้าวกระโดด ระหว่างคนที่ใช้ AI มาช่วยงานได้ กับคนที่ใช้ AI ไม่เป็น ความเลื่อมล้ำนี้ทำให้คนที่พัฒนาทักษะ AI ไม่ทันต้องสั่นคลอน
นอกจากนี้การเอา AI เข้ามาใช้ในการให้บริการลูกค้า (Customer Service) ซึ่งเมื่อก่อนเราคงสัมผัส Chatbot ที่ไม่ฉลาดแสนจะน่ารำคาญกับลูกค้า แต่ AI หลังยุค ChatGPT จะตอบได้เรื่องได้ราว เหมือนคุยกับคนมากขึ้นทำให้ลูกค้าพึงพอใจได้มากกว่า และช่วยคัดกรองลูกค้า และลดการเข้ามาของคำถามที่เจอบ่อย ๆ ได้ด้วย อีกเรื่องคือความรุ่งเรืองของอาชีพสาย AI ที่ต้องเติบโตยิ่งกว่าปีนี้ ที่ทุกคนต่างเรียกร้องหา AI ของตัวเอง อาชีพที่เกี่ยวกับการสร้าง AI, Machine learning, Data scientist และ Data engineer ไปจนถึง Prompt Designer เหล่านี้ต้องเติบโตยิ่งกว่าในปีนี้อีกแน่ ๆ

สุดท้ายคือ ‘กฎหมายกับ AI’

ปี 2023 ที่ผ่านมาเราคงเห็นความวุ่นวายเมื่อกฎหมายก้าวไม่ทันการพัฒนาของ AI โดยเฉพาะประเด็นเรื่องสิทธิ์ความเป็นเจ้าของผลงานว่า AI สร้างเนื้อหาออกมาแล้ว ใครควรเป็นเจ้าของ หรือควรแบ่งรายได้ให้เจ้าของข้อมูลอย่างไร ในปี 2024 เมื่อมีการตัดสินคดีเกี่ยวกับ AI มากขึ้น เราจะได้บรรทัดฐานที่ชัดเจนขึ้นว่าจะจัดการความขัดแย้งระหว่างคนกับ AI อย่างไรบ้าง

นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องจริยธรรมใน AI หรือ Ethical AI เรื่องของการนำ AI ไปใช้งานในทางที่ปลอดภัยมากที่สุด ทั้งเรื่องอคติของข้อมูล, ความไม่โปร่งใส หรือโอกาสที่จะนำมาใช้แทนคน ก็เกิดขึ้นได้ทั้งนั้น อย่างที่เห็นทุกวันนี้คือ ChatGPT ที่พยายามลด Bias ลงด้วยการเลี่ยงตอบคำถามเลือกข้าง หรือลงคำแนะนำให้ ‘ตรวจสอบข้อมูล’ ที่ออกมาจาก AI ก่อนเสมอก่อนจะนำข้อมูลไปใช้ ซึ่งแม้การแข่งขันด้าน AI จะทำให้ AI เก่งเร็วขึ้นมากในปี 2023 แต่สังคมก็พร้อมตอบโต้อย่างรุนแรงกับ AI ที่ให้คำแนะนำผิดเช่นกัน ซึ่งก็เป็นประเด็นที่รายใหญ่อย่าง Google กลัวมาตลอด แต่ก็ต้องเร่งออก AI มาแข่ง ซึ่งในปี 2024 นี้ด้วยกรอบสังคมที่เข้มงวดกับ AI ก็น่าจะทำให้เคสต่าง ๆ ถูกแก้ไขอย่างเข้มข้นเช่นกัน

โลกมุ่งหน้าสู่ AR / เทคโนโลยี Reality

VR, AR, XR หรือแม้แต่ MR เทคโนโลยีเหล่านี้ได้ปรากฏอยู่ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีมานานหลายปี ซึ่งเป็นกลุ่มเทคโนโลยี “Reality” หรือ “ความจริงเสมือน” ที่หลาย ๆ คนถกกันว่า นี่แหละคือสมัยใหม่ของอุปกรณ์ที่มนุษย์จะใช้กันทุกวันเป็นเหมือนอวัยวะที่ 33

ก่อนอื่นเรามาเข้าใจความหมายของ VR, AR, XR, MR กันก่อน

  • การแสดงผลแบบ VR – Virtual Reality
    • แว่น HMD ที่หลายคนน่าจะเคยเห็น และเรียกติดปากกันมากที่สุด ก็คือแว่น Virtual Reality ที่เป็นการสร้างสภาพแวดล้อมเสมือนด้วยกราฟิกคอมพิวเตอร์แบบรอบทิศ และแสดงผลแบบ 6DoF
  • การแสดงผลแบบ AR – Augmented Reality
    • การแสดงผลแบบ AR หรือ Augmented Reality เป็นรูปแบบการแสดงผลแบบที่ฉายภาพกราฟิกคอมพิวเตอร์ทับซ้อนกับภาพความเป็นจริง ถ้านึกภาพไม่ออก ลองนึก Pokemon Go ซึ่งอุปกรณ์ที่พูดแล้วน่าจะอ๋อกันก็อย่าง Google Glasses ที่เป็นอุปกรณืแบบ AR เพียว ๆ
  • การแสดงผลแบบ XR – Extended Reality
    • การแสดงผลแบบ XR หรือ Extended Reality คือการนำเอา VR และ AR มาแสดงผลด้วยกันได้ในอุปกรณ์เดียวกัน โดยจะต้องฉายสภาพแวดล้อมเสมือนด้วยกราฟิกคอมพิวเตอร์ได้ และฉายภาพกราฟิกซ้อนกับโลกความเป็นจริงได้ เช่นแว่น Apple Vision Pro และ Microsoft Hololens
  • การแสดงผลแบบ MR – Mixed Reality
    • การแสดงผลแบบ Mixed Reality จะพิเศษกว่าแบบอื่น ๆ มากเพราะนอกจากเราจะสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งที่เป็นกราฟิกที่คอมพิวเตอร์เรนเดอร์ขึ้นมาแล้ว เราจะยังสามารถใช้งานร่วมกับสิ่งที่อยู่รอบ ๆ ในโลกความเป็นจริงเราได้อีกด้วย ด้วยหลักการ Superpositioning คืออุปกรณ์จะทราบถึงตำแหน่งของวัตถุในโลกความเป็นจริง และนำมาใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ อย่างเช่น Apple Vision Pro ที่สามารถสั่งปิดอุปกรณ์ IoT ในห้องได้ด้วยการมอง และบีบนิ้ว

เทรนด์ความจริงเสมือนนี้ มีมานานหลายปี เป็นเทรนด์ที่มา ๆ หาย ๆ ตั้งแต่ Oculus Rift ในปี 2015 แล้วก็จางหายไป จนพี่มาร์ก ซักเคอเบิร์กเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น Meta ในปี 2021 ก็บูมอยู่พักใหญ่ จนหายไปแล้วเทรนด์ AI เข้ามาแทรกแทนในปี 2023 ซึ่งการที่เทรนด์นี้มา ๆ หาย ๆ ก็อาจอธิบายได้ว่าโลกความจริงเสมือน เป็นสิ่งที่มนุษย์ใฝ่ฝันถึงมาตลอด เพียงแต่ที่ผ่านมาเทคโนโลยียังไม่ได้ก้าวไปถึงจุดที่จะพาคนส่วนใหญ่ของโลกมาใช้ได้ในลักษณะที่สมาร์ตโฟนพาคนส่วนใหญ่ของโลกเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้

ซึ่งการที่ความจริงเสมือนจะกลับมาเป็นเทรนด์เทคโนโลยี 2024 เพราะ Apple เปิดตัว Vision Pro อุปกรณ์คอมพิวเตอร์พกพา “Spatial” อุปกรณ์แสดงผลแบบ Mixed Reality ตัวแรกจาก Apple ในปี 2023 และจะขายจริงในปี 2024 ซึ่งเป็นตัวจุดชนวนทำให้อุตสาหกรรมต้องรีบวิ่งให้ทัน Apple แม้ว่าเทคโนโลยีนี้รู้จักมานานแล้ว และมีใช้กันมานานเกือบ 10 ปี ก็เพราะ Vision Pro ที่เปิดตัวออกมาเจาะตลาดผู้ใช้งานทั่วไปโดยเฉพาะ เปลี่ยนรูปแบบการใช้งานจากเดิมที่ผู้ใช้จะถูกตัดขาดจากโลกภายนอก ให้กลายเป็นอยู่ในโลกเสมือนและโลกความจริงได้พร้อม ๆ กัน และด้วยความเป็นแอปเปิ้ลที่ใช้เวลาศึกษาจุดอ่อนของเทคโนโลยีนี้มายาวนาน และรูปแบบการสั่งงานแบบแอปเปิ้ลที่คิดมาอย่างดี นี่เป็นเหตุผลหลัก ๆ ว่าทำไมเมื่อ Apple เข้าสู่ตลาด Reality อย่างเป็นทางการแล้วหลาย ๆ ยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมถึงให้ความสนใจเป็นพิเศษ “ในเร็ววันนี้”

คอนเซ็ปต์ของการใช้งานเทคโนโลยี XR หรือ MR ในชีวิตประจำวันมันเป็นอะไรที่เป็นไปได้อย่างแน่นอน ซึ่ง Vision Pro เป็นหมุดหมายใหม่ในการพรมปูไปสู่ยุคโลกเสมือน แน่นอนว่ามันต้องใช้เวลาในการเปลี่ยนผ่าน โดยเฉพาะปัจจัยเรื่องราคาอุปกรณ์ที่ยังสูงมากตามประสาของอุปกรณ์รุ่นแรก ซึ่งถ้าแอปเปิ้ลทำได้ เทรนด์โลกเสมือนจะกลายเป็นเทรนด์เทคโนโลยีหลักของโลกไปอีกหลายปี และราคาของอุปกรณ์จะค่อย ๆ ถูกลง แต่ถ้าแอปเปิ้ลก็ยังสร้างโมเมนตัมไม่ได้ เทรนด์นี้ก็จะหายไปอีกสักพัก เพื่อรอเวลาที่เทคโนโลยีเหมาะสมครั้งใหม่ต่อไป

วงการเครื่องเล่นเกมพกพา จะพากันเดือดขึ้นอีก!

หลังจาก Steam Deck เริ่มเปิดตลาดเครื่องเล่นเกม PC พกพาเมื่อต้นปี 2022 ทำให้ตลาด Portable Gaming Console เริ่มเคลื่อนไหวอีกครั้ง หลังปล่อยให้ Nintendo Switch อยู่ในตลาดนี้ตั้งแต่ปี 2017 แบบไร้คู่แข่ง

แต่กว่าแบรนด์ใหญ่อื่น ๆ จะกระโดดเข้ามาสู่สนาม และส่งเครื่องเล่นเกมออกมาขาย ก็เข้าสู่ปี 2023 เช่น Razer Edge, ASUS ROG Ally, Lenovo Legion Go และล่าสุดก็เป็น PlayStation Portal ที่เรียกเสียงฮือฮาได้พอสมควร ชื่อที่พูดมาก่อนหน้า ยังไม่รวมเจ้าตลาดที่ทำอยู่ก่อนแล้วอย่าง AYN, Anbernic, abxylute, AYANEO, GPD, OneXPlayer และ Logitech ถ้านับรวม ๆ กันก็ปาเข้าไป 10 กว่ายี่ห้อแล้ว ฟังแค่นี้ก็เดือดแล้วใช่ไหมครับ

แต่ในปีหน้าวงการเครื่องเล่นเกมพกพาจะเดือดขึ้นอีก เพราะยังมีอีกหลายแบรนด์ที่ทำเกี่ยวกับอุปกรณ์เล่นเกมอยู่แล้ว แต่ยังไม่ได้โดดเข้าร่วมสนามนี้ เช่น Microsoft ที่ทำเครื่องเล่นเกม Xbox หรือแบรนด์โน้ตบุ๊กเล่นเกมต่าง ๆ อย่าง Acer Predator, HP Omen, Dell Alienware, Gigabyte Aorus และ MSI ที่มีโอกาสจะทำเครื่องเล่นเกมออกมาด้วย เพราะพื้นฐานและระบบต่าง ๆ เหมือนกับโน้ตบุ๊กเกมมิงย่อส่วน และค่าย AMD เองก็ออกชิป AMD Z1 ออกมาเจาะตลาดกลุ่มนี้โดยเฉพาะ ผู้ผลิตจึงเข้าสู่ตลาดได้ไม่ยาก ปีหน้าจึงยิ่งน่าจะมีทางเลือกกันมากกว่าเดิม

และที่จะเสริมความเดือดให้สูงขึ้นอีกคือ การที่วงการมือถือมีโอกาสขยับเข้าเบียดด้วย ยกตัวอย่าง Apple ที่พยายามดัน iPhone และ iPad ให้กลายเป็นเครื่องเล่นเกมพกพา จากการทำให้ชิปเซตมีประสิทธิภาพแรงพอจะรันเกมภาพสวย ๆ ที่เคยมีอยู่ในเฉพาะเครื่องเล่นเกม หรือคอมพิวเตอร์ แน่นอนว่าถ้า Apple ขยับเข้ามาแล้ว แบรนด์มือถือฝั่ง Android ก็น่าจะทำตามเหมือนกัน เรียกว่าในปี 2024 เป็นต้นไป วงการเครื่องเล่นเกมพกพาจะเดือดขึ้นกว่าเดิมแน่นอน

ปี 2024 กับ EV ในไทย

เราจบปี 2023 ด้วยค่าย ChangAn หนึ่งบริษัทยักษ์ใหญ่ของประเทศจีนเข้ามาทำตลาดในไทยอย่างเป็นทางการ ที่เปิดตัวแบรนด์ Deepal พร้อมด้วยรถยนต์ไฟฟ้า 2 รุ่น ในโมเดลซีดานไฟฟ้า L07 และเอสยูวี S07 เข้ามาสู้ตลาดรถ EV ไทยในช่วงกำลังแข่งขันเรื่องราคาอย่างหนัก

เราสังเกตแนวโน้มตลาดของรถยนต์ไฟฟ้าในปี 2024 ได้ว่า ‘ราคา’ ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจซื้อรถของคนไทย นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ Deepal เลือกส่งรถ EV ที่มีตัวเลือกแค่รุ่นมอเตอร์เดี่ยวเข้ามาทำการตลาด เพื่อหวังที่จะทำราคาได้ต่ำลง และผลที่ได้คือยอดจองรวมกว่า 3,549 คัน คิดเป็นอันดับที่ 6 ของแบรนด์รถในงาน Motor Expo 2023

ปี 2024 เราก็ยังเชื่อว่า ‘ราคา’ จะเป็นมาตรฐานให้แต่ละค่ายเลือกรถที่พอจะทำราคาได้เข้าสู่ตลาด เรื่องกำลังพาวเวอร์สูงอาจไม่ใช่คำตอบ เพราะเรามีมาตรฐานของ BYD ที่ทำไว้ 0-100 กม./ชม. ที่ 3.8 วินาที เป็นตัวชี้วัด ระยะทางที่ขับขี่ได้ก็อาจไม่ใช่ตัวชี้วัดอีกต่อไป ในเมื่อเท้าคุณหนักขึ้นก็ทำให้แบตลดไวจนน่าใจหาย รวมถึงถ้าคุณถามหาความพรีเมียมก็จะมี Tesla เป็นตัวชี้วัดว่าราคาควรจะอยู่ที่เท่าไหร่

ท้ายที่สุดทุกคนจะมองหารถ EV ที่ทำราคาจับต้องได้ และมีแบตเตอรี่เพียงพอกับการเดินทางในแต่ละวัน ไม่จำเป็นต้องแบตลูกใหญ่มาก เพราะเน้นการชาร์จไว ๆ เพื่อต่อระยะให้ถึงที่หมายก็พอแล้ว รวมถึงเมื่อคนเข้าใจ (และรับได้กับ) เทคโนโลยีนี้มากขึ้น แบรนด์รถ EV จีนจะเข้าไปอยู่ในใจผู้ใช้งาน แทนที่สิ่งที่รถค่ายญี่ปุ่นเคยทำไว้ในอดีต

Sustainable

สุดท้าย เทรนด์เทคโนโลยีที่จะอยู่กับเราไปอีกนานแสนนานคือ Sustainsibility จากปัญหาใหญ่ด้านสิ่งแวดล้อม ที่ทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นเฉลี่ย 1.2 องศาเซลเซียส พร้อมปัญหาสภาพอากาศโลกผิดเพี้ยนอีกมากมาย

ปัญหาใหญ่นี้จึงทำให้บริษัทต่าง ๆ ก็ให้ก็หันเข้าสู่เทรนด์ Sustainability มากยิ่งขึ้นเห็นได้จาก Commitment ให้สัญญาว่าบริษัทจะเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และ ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ซึ่งบริษัทเทคโนโลยีเองก็เริ่มต้นปรับปรุงการผลิตและกระบวนการทำงานให้รักสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

เช่น Apple ที่ปีนี้ประกาศยกเลิกผลิตภัณฑ์ทุกชนิดที่ทำจากหนังสัตว์ เพื่อลดการปล่อยคาร์บอน (จนเราได้ FineWoven มาแทน) และ Apple Watch Series 9 (ในสายบางชนิด ตระกูลสายผ้า) เป็นผลิตภัณฑ์แรกของบริษัทที่เป็นกลางทางคาร์บอน โดยใช้พลังงานไฟฟ้าสะอาด 100% ในการผลิตและการใช้งานผลิตภัณฑ์ ใช้โลหะรีไซเคิลเป็นตัวเคส และใช้การขนส่งที่ไม่ใช้การขนส่งทางอากาศมากขึ้น

นอกจากนี้บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Google ก็ประกาศปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายในปี 2030 เช่นกัน (https://sustainability.google) เช่นลดการปล่อยคาร์บอนในหน่วยงานทั้งหมดให้ได้ 24/7 ในตอนนี้ทำได้ทั้งหมด 50% แล้ว

และยังมี Dell Technologies ที่มีการตั้งเป้าปี 2030 แพ็กเกจทั้งหมดของบริษัทจะเป็นวัสดุรีไซเคิล และสินค้ามากกว่าครึ่งจะทำจากวัสดุรีไซเคิล ส่วนปี 2050 ตั้งเป้าปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ซึ่ง Dell ก็มีการโชว์ Concept Luna ออกแบบให้คอมพิวเตอร์ 1 เครื่องซ่อมแซมได้ง่ายยิ่งขึ้น ถอดประกอบ นำชิ้นส่วนใหม่มาทดแทน ช่วยลดของเสีย และลดการใช้วัสดุใหม่เพิ่มขึ้น 50%

จากตัวอย่างของ 3 บริษัทเทคโนโลยีที่มีจุดร่วมกันคือ Circular Economy การดึงคุณค่า-ใช้งานวัสดุที่ใช้สร้างผลิตภัณฑ์ 1 ชิ้นให้ได้ยาวนานที่สุดโดยนำมา Recycle และ Reuse พร้อมกับออกแบบผลิตภัณฑ์ให้มีอายุการใช้งานที่ยาวนานมีความทนทาน และซ่อมแซมได้ง่ายลดการสร้าง Carbon Footprint เพิ่ม

เรียกได้ว่าบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของโลกก็เห็นถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก และในปีหน้า 2024 พวกเราก็จะได้เห็นการประกาศความก้าวหน้าการดำเนินตามแผนอย่างต่อเนื่อง และบริษัทนอกเหนือบริษัทเทคโนโลยีก็จะเน้นภารกิจด้านสิ่งแวดล้อมด้วยเช่นกัน เพื่อช่วยให้อุณหภูมิของโลกไม่สูงขึ้นไปมากกว่านี้