หลังจากที่แพนเดินทางกลับจากทริป OPPO ที่ประเทศจีน ก็มีโอกาสไปดู AWS re:Invent 2023 งานสัมมนาของ Amazon Web Services (AWS) ที่จัดเป็นประจำทุกปีเพื่อโชว์นวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ สู่สายตาชาวโลก โดยในปีนี้จัดที่ Las Vegas ประเทศสหรัฐอเมริกา วันที่ 27 พฤศจิกายน ถึง 1 ธันวาคม แพนเองก็ได้รับเชิญให้ไปร่วมงานนี้ แล้วเห็นว่ามีเทคโนโลยีที่น่าสนใจหลายเรื่อง เลยมาสรุปให้อ่านกันในบทความนี้ 

AI (Artificial Intelligence)

ปีนี้ทาง Amazon จะเน้นเรื่อง AI (Artificial Intelligence) หรือปัญญาประดิษฐ์ เป็นพิเศษ โดยจะมีการพูดถึงบนเวทีอยู่หลายตัว 

Just Walk Out” ระบบสำหรับร้านสะดวกซื้อในสนามกีฬา​ ที่มีการนำเทคโนโลยี AI มาทำงานร่วมกับกล้องวงจรปิด เพื่อติดตามการหยิบซื้อสินค้าภายในร้าน หลักการทำงานคือแตะบัตรเครดิตตอนเดินเข้าร้าน จากนั้นก็หยิบสินค้า แล้วเดินออกจากร้านได้เลย ระบบจะคิดเงินแล้วหักจากบัตรแบบอัตโนมัติ โดยไม่ต้องเข้าคิวคิดเงินให้เสียเวลา

PartyRock” Generative AI ที่ใช้สร้างแอปพลิเคชันด้วยการระบุสิ่งที่อยากได้เป็นข้อความ (Text) จากนั้นระบบจะทำการเลือก Module ที่เหมาะสมให้กับเรา (ใครสนใจลองเข้าไปเล่นในลิงก์นี้ได้ https://partyrock.aws)

อีกตัวที่น่าสนใจคือ “Amazon Whisperer” ที่เป็นการแปลภาษาที่ใช้ในชีวิตประจำวันให้กลายเป็นโค้ดสำหรับเขียนโปรแกรม ทำให้คนธรรมดาสามารถเขียนโค้ดได้ โดยไม่ต้องไปเสียเวลาเรียน

นอกจากนี้ยังมี “Amazon Q” ระบบ AI สำหรับใช้งานในองค์กร ซึ่งจะมีการเรียนรู้ข้อมูลเฉพาะในแต่ละองค์กร เพื่อให้คำตอบที่เหมาะสม โดยการใช้งานจะรองรับหลาย Platform เพื่อความสะดวก และยังมี “Amazon QuickSight” ระบบ AI ที่สามารถสรุปข้อมูลในภาพรวมออกมาเป็น Dashboard เพื่อให้ผู้บริหารหรือเจ้าของธุรกิจตรวจสอบความเป็นไปได้สะดวก

สุดท้ายก็มี “Titan Image Generator” บริการสร้างภาพจากข้อความ แบบเดียวกับ Dall-E โดยมีความพิเศษตรงที่ทุกภาพจะมีการใส่ลายน้ำที่มองไม่เห็นไว้ในไฟล์ ใช้ระบุความเป็นเจ้าของว่าถูกสร้างโดยใคร เพื่อลดปัญหาการอ้างสิทธิ์ในรูปภาพที่ถูกสร้างขึ้นโดย AI

Personalized Broadcast 

อีกหนึ่งอย่างที่ Amazon Web Services (AWS) เอามาโชว์คือ Personalized Broadcast การกระจายสัญญาณการถ่ายทอดสดที่ประเทศหรือผู้ให้บริการปลายมีอิสระในการเลือกสวิตช์ภาพจากกล้องตัวต่าง ๆ ได้เอง เช่น ถ้าเป็นการแข่งขันกอล์ฟ ปลายทางจะเลือกกล้องเฉพาะคนได้เลย  ซึ่งต่างจากการถ่ายทอดสดปกติที่ต้นทางจะเป็นคนสวิตช์ภาพ แล้วถึงจะกระจายไปให้ยังปลายทาง

จุดนี้จะช่วยลดต้นทุนอุปกรณ์จัดเก็บหน้างาน และปลายทางจะมีอิสระในการถ่ายทอดสดมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีเทคโนโลยีที่สามารถเปลี่ยนเสียงที่พากย์ให้เป็นเสียงคนอื่นหรือตัวการ์ตูนได้ เพื่อให้เด็ก ๆ สนใจการถ่ายทอดสดมากขึ้น

Project Kuiper

Project Kuiper เป็นโครงการอินเทอร์เน็ตดาวเทียมใหม่ของ Amazon Web Services (AWS) ที่จะส่งดาวเทียมจำนวน 3,236 ดวง ออกไปยังวงโคจร Low Earth Orbit (LEO) ผ่าน Arianespace และ Blue Origin เพื่อให้เครือข่ายดาวเทียมทั้งหมดเชื่อมถึงกัน

โดยทาง AWS ตั้งเป้าว่าอยากจะให้คนทั่วโลกเข้าถึงอินเทอร์เน็ต แม้แต่ในพื้นที่ที่ยังไม่มีไฟฟ้าเข้าถึง เอาจริง ๆ โครงการนี้น่าจะทำมาแข่งกับ Starlink ของ SpaceX นั่นแหละ 

Amazon Disaster Response 

เรื่องสุดท้ายที่แพนว่าน่าสนใจคือ Amazon Disaster Response โครงการไม่แสวงหาผลกำไร ที่จะทำการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ ไว้ช่วยเหลือผู้คนในช่วงที่เกิดภัยพิบัติ ซึ่งทาง AWS ทำไว้เป็นโซลูชันเพื่อให้องค์กรไหนที่สนใจ สามารถหยิบเอาไปปรับเปลี่ยนแล้วใช้ในแนวทางของตัวเอง

ตัวอย่างที่แพนได้เห็นคือ การนำรถ Jeep มาดัดแปลง และเพิ่มเทคโนโลยีเข้าไป ไม่ว่าจะเป็น แบตเตอรี่ขนาด 30kWh ที่ไม่ได้เอาไว้ขับเคลื่อนรถ แต่เอาไว้จ่ายไฟฟ้าให้กับอุปกรณ์ภายใน ทั้งระบบอินเทอร์เน็ตดาวเทียม, ระบบ GPS ที่ระบุตำแหน่งได้อย่างแม่นยำ,​ ระบบโดรนสำรวจมุมสูง และโดรนค้นหาคน

นอกจากนั้นบนหลังคายังมีระบบดาวเทียมความแม่นยำสูงที่จะหันหน้าไปทางที่ดาวเทียมอยู่เสมอ ทำให้อินเทอร์เน็ต หรือการระบุตำแหน่งทำได้อย่างต่อเนื่อง แม้จะกำลังใช้งานขณะขับรถ

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส