สถานการณ์การแบน Apple Watch ในสหรัฐอเมริกาดูจะผ่อนลงเล็กน้อยหลังคำสั่งศาลของศาลอุทธรณ์สหรัฐฯ ให้ระงับการแบน Apple Watch series 9 และ Apple Watch Ultra 2 ชั่วคราว ถึงวันที่ 10 มกราคม 2024​ ซึ่งเรื่องทั้งหมดอาจเกิดขึ้นจากวิศวกรของ Masimo ที่ Apple จ้างเข้ามาในปี 2014

Bloomberg ได้พูดถึงบุคคลหนึ่งที่มีชื่อว่า เมเซโล ลาเมโก (Marcelo Lamego) Ph.D. (ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต) วิศวกรไฟฟ้าจากสแตนฟอร์ด ได้ร่วมงานกับทาง Masimo ในปี 2003 ในฐานะนักวิจัย จนกระทั่งปี 2006 ลาเมโกได้เป็นประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยีของ Cercacor บริษัทในเครือของ Masimo จนถึงปี 2014 แล้วย้ายไปทำงานกับ Apple

เรื่องราวของลาเมโกระหว่าง Apple และ Masimo นั้นถือว่าน่าสนใจไม่น้อย อีกทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งในเอกสารทางด้านกฎหมายในข้อพิพาทระหว่าง Apple และ Masimo ที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบันด้วย

Apple ได้เริ่มพูดคุยกับลาเมโกเรื่องการจ้างมาทำงานที่ Apple ในปี 2013 ซึ่งเป็นช่วงที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของทั้ง 2 บริษัทพบกันเพื่อพูดคุยเรื่องดีลระหว่าง 2 บริษัท ตอนแรกลาเมโกปฏิเสธ Apple แต่แล้วก็เปลี่ยนใจหลังจาก Masimo ได้ปฏิเสธตำแหน่งที่ลาเมโกร้องขอ ลาเมโกได้ติดต่อหาทิม คุก (Tim Cook) CEO ของ Apple อีกครั้ง

Masimo W1® Medical

“ผมพัฒนาอุปกรณ์ทางการแพทย์มานานกว่า 10 ปี ผมมั่นใจมากว่าจะสามารถเพิ่มมูลค่าที่สำคัญให้กับ Apple ได้ หากผมได้รับโอกาสเข้าทำงานที่ Apple ผมเชื่อว่าเราสามารถพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ที่ทำให้ Apple เป็นอันดับ 1 ในวงการแพทย์ ฟิตเนส และสุขภาพได้” คำกล่าวของลาเมโกที่บอกกับ ทิม คุก อ้างอิงในเอกสารทางกฏหมาย

แน่นอนว่าดีลระหว่าง Apple และ Masimo ล่ม ด้าน Apple ได้จ้างลาเกมโกรวมถึงพนักงานอีก 20 คนในทีมของลาเมโกจาก Masimo เข้ามาร่วมพัฒนา Apple Watch ลาเมโกกลายเป็นส่วนหนึ่งของทีมวิจัยและพัฒนาของ Apple อย่างเป็นทางการในปี 2014 แต่ก็ทำงานได้เพียง 7 เดือนเท่านั้น โดย สตีฟ โฮเทลลิง (Steve Hotelling) บอกว่าลาเมโกมีปัญหาภายใน เช่น ปัญหากับผู้จัดการแผนก ความต้องการงบประมาณหลายล้านเหรียญ และต้องการจ้างวิศวกรของตัวเองโดยไม่ได้รับการอนุมัติจากบริษัท เป็นต้น

ตามข้อมูลทนายของ Masimo บอกว่าจริง ๆ แล้วลาเมโกไม่ได้มีความรู้วิธีการพัฒนาฟีเจอร์/เซนเซอร์วัดออกซิเจนในกระแสเลือดอย่างแท้จริง เขาแค่แชร์ข้อมูลที่มีจาก Masimo ให้ Apple ทราบเท่านั้น

Apple Watch ที่เปิดตัวในปี 2014 แต่ก็มีแค่ฟีเจอร์ทั่วไปอย่าง วัดอัตราการเต้นของหัวใจ แต่ฟีเจอร์ SpO2 ถูกเปิดตัวในปี 2020 พร้อม Apple Watch Series 6 ซึ่งในช่วงเวลานั้น ลาเมโกได้ก่อตั้งบริษัทของตัวเองชื่อ True Wearables เปิดตัวสินค้าชื่อว่า Oxxiom หรืออุปกรณ์ที่ช่วยตรวจจับออกซิเจนได้แบบต่อเนื่องได้ แน่นอนว่าทาง True Wearables ก็โดนฟ้องร้องในภายหลัง

Oxxiom

Apple โดนฟ้องร้องในประเด็นเดียวกันคือเซนเซอร์ SpO2 โดยทาง Masimo ได้เรียกร้องค่าเสียหายเป็นเงิน 3,000 ล้านเหรียญ แน่นอนว่า Apple ปฏิเสธจนทาง ITC ได้ออกคำสั่งแบน Apple Watch series 9 และ Apple Watch Ultra 2 ตามเรื่องที่เกิดขึ้น ซึ่ง Apple ยืนยันว่ากำลังพยายามหาทางแก้ไขอยู่

ที่มา 9to5Mac

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส