กระแสโซเชียลที่หมุนเวียนเปลี่ยนผันอยู่ตลอดเวลา ครีเอเตอร์หน้าใหม่เกิดขึ้นมาให้เราเห็นเรื่อย ๆ อย่างไม่ขาดสาย แต่โลกของความคิดสร้างสรรค์ไม่ได้ถูกจำกัดเพียงแค่มนุษย์อีกต่อไป !

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จากที่เราเคยขำกับภาพที่ AI สร้าง แต่ทุกวันนี้แทบจะแยกไม่ออกแล้ว ระหว่างภาพจริงกับภาพจาก AI เพราะมันสามารถขยับแทนได้ พูดแทนได้ แสดงแทนได้ หรือแม้แต่คิดต่อยอดจากพรอมต์จนออกมาเกินความคาดหวัง หรือนี่จะหมดยุคความรุ่งเรืองของครีเอเตอร์และอินฟลูเอนเซอร์

วิกฤตครีเอเตอร์ไทยกับ AI  

ข้อมูลจาก งานวิจัย Futures of Content Creators 2035 ชี้ให้เห็นว่า ตัวเลขอุตสาหกรรมคอนเทนต์ครีเอเตอร์ในไทยมีอัตราการเติบโตสูง โดยสร้างรายได้ให้คนไทยกว่า 9 ล้านคน และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 45,000 ล้านบาทต่อปี

แม้การเติบโตของตลาดนี้เป็นโอกาสสำหรับครีเอเตอร์ไทย แต่ในขณะเดียวกัน การแข่งขันที่เพิ่มขึ้นจากทั้งครีเอเตอร์มนุษย์และ AI ทำให้การสร้างคอนเทนต์ที่มีคุณภาพเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ แต่ต้องรวมไปถึงการสร้างคุณค่าและความเชื่อมโยงกับผู้ชม ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการยืนหยัดในวงการ  

ซึ่งทุกวันนี้ AI แทรกซึมเข้าไปในทุกสายของสื่อบันเทิง ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ เพลง โฆษณา หรือแม้แต่คอนเทนต์โซเชียลมีเดียเองก็ตาม แม้ทุกวันนี้เหล่านักสร้างสรรค์ จะนำ AI มาใช้เป็นเครื่องมือที่ช่วยย่นระยะเวลาการทำงานและเพิ่มประสิทธิภาพ แต่ในขณะเดียวกัน ครีเอเตอร์ไทยต้องต่อสู้เพื่อสร้างสรรค์ผลงานที่โดดเด่น มีเอกลักษณ์ และรักษาความเป็นมนุษย์ เพื่อเอาชนะใจผู้ชมในยุคที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

หลาย ๆ คนอาจจะเคยเลื่อนผ่านฟีด เจอคอนเทนต์ ASMR ที่สร้างจาก AI ยอดวิวถล่มทลายเกือบ 60 ล้านวิวบน TikTok ภายในเวลาไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์ 

ความน่าสนใจคือ การที่วิดีโอที่เจนจาก Veo ซึ่งเป็น AI ของ Google ที่เพิ่งอัปเดตเวอร์ชัน 3 มีความสมจริงขึ้นมาก ทั้งเสียงและภาพ ในประเทศไทยเองคอนเทนต์จากช่อง “หลวงตาบุญจริง” ซึ่งเป็นช่องครีเอเตอร์ที่สร้างจาก AI กำลังเป็นที่นิยมมากบน TikTok เมื่อดูในส่วนของเนื้อหา พบว่ามีทั้งคลิปที่เป็นคำสอนที่เน้นเรื่องจิตใจแบบเดียวกับที่พระสอน และคลิปที่เน้นคำคมตามเทรนด์ ซึ่งไม่เกี่ยวกับคำสอนจริงตามหลักพระพุทธศาสนา

หลวงตาบุญจริง

คลิปทั้งหมดในช่องส่วนใหญ่มีความยาวไม่เกิน 10 วินาที ซึ่งน่าจะเป็นข้อจำกัดของ Veo 3 ที่ยังให้เจนคลิปได้ไม่ยาวมากนัก ซึ่งคอนเทนต์ลักษณะนี้ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ภายในเวลาเพียง 3 วันหลังเปิดตัว มีผู้ติดตามมากกว่า 60,000+ คน รวมถึงมีคลิปยอดวิวรวมกว่า 12 ล้านวิวแล้ว ​​(ข้อมูล ณ วันที่ 23 มิถุนายน 2025)

เสียงตอบรับจากคนดูเองก็ได้ชื่นชมในการสร้างสรรค์ผลงาน แต่อีกหลายฝ่ายที่มองว่า หากเป็นคอนเทนต์จาก AI แพลตฟอร์มอย่าง TikTok ควรมีการแจ้งให้ผู้ชมทราบอย่างชัดเจนว่าไม่ใช่บุคคลจริง ๆ รวมถึงเนื้อหาบางส่วนก็อาจผิดเพี้ยนจากหลักคำสอนจริง ซึ่งอาจทำให้หลายคนเข้าใจผิดได้รวมถึงแพลตฟอร์มอาจต้องมีนโยบายที่ชัดเจนเกี่ยวกับการเผยแพร่คอนเทนต์ที่สร้างจาก AI และในขณะเดียวกัน ผู้ชมเองก็ต้องมีวิจารณญาณในการรับชมคอนเทนต์มากขึ้นเช่นกัน

หรือผลงานของ AI กำลังจะกลืนกินครีเอเตอร์ไทย ?

​​สิ่งที่น่าจับตามองในวงการครีเอเตอร์ คือความสามารถของ AI ที่ทำให้ใคร ๆ ก็สามารถสร้างสรรค์ผลงานได้เพียงแค่มีไอเดีย แม้ไม่มีทักษะเฉพาะทางมาก่อน แต่สิ่งที่น่ากังวลในอนาคต คือขอบเขตของการสร้างสรรค์ และความท้าทายที่เกิดขึ้นจากการที่คอนเทนต์ที่สร้างโดยมนุษย์ อาจถูกลดทอนความสำคัญลง

วิกฤตการณ์นี้ที่แท้จริงกำลังก่อตัวขึ้น เมื่อ AI ไม่เพียงแค่เข้ามาช่วยสร้างสรรค์ผลงาน แต่ยังอาจนำไปสู่การผลิตสื่อที่ไม่สร้างสรรค์หรือแม้กระทั่งใช้ หลอกลวงผู้คน ตัวอย่างเช่น คอนเทนต์จาก AI ที่เผยแพร่ข้อมูลบิดเบือน หรือสร้างภาพลักษณ์ปลอมเพื่อหลอกให้ผู้ชมหลงเชื่อ เมื่อเทคโนโลยีนี้แพร่หลายขึ้น การแยกแยะระหว่างสิ่งที่มนุษย์สร้างสรรค์กับสิ่งที่ AI สร้างขึ้นจะทำได้ยากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ผู้ชมต้องมีวิจารณญาณสูงขึ้นในการบริโภคสื่อ

ผลกระทบต่อการจ้างงานในอนาคตของเหล่าครีเอเตอร์และอินฟลูเอนเซอร์

นอกจากนี้ ยังมีความกังวลว่าเหล่าครีเอเตอร์ อินฟลูเอนเซอร์อาจต้องเผชิญกับภาวะ ตกงาน ในอนาคต เมื่อผู้ประกอบการหรือแบรนด์ต่าง ๆ หันมาใช้ AI ในการผลิตโฆษณาหรือสร้างแคมเปญการตลาดแทนการจ้างอินฟลูเอนเซอร์ที่เป็นมนุษย์

การใช้ AI สามารถลดต้นทุนและเพิ่มความรวดเร็วในการผลิต ทำให้ AI กลายเป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับธุรกิจ ซึ่งนั่นหมายถึงว่า การมีเพียงแค่ผู้ติดตามจำนวนมากอาจไม่เพียงพอ อีกต่อไป อินฟลูเอนเซอร์จะต้องสร้างคุณค่าที่ AI ไม่สามารถเลียนแบบได้ เช่น ความเป็นมนุษย์, ประสบการณ์จริง, การโต้ตอบอย่างแท้จริง และความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งกับผู้ชม

สำหรับแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ควรมีนโยบายที่ชัดเจนเกี่ยวกับคอนเทนต์จาก AI เช่น การติดป้ายกำกับ จะช่วยสร้างความโปร่งใสและลดความสับสนให้กับผู้ชม ขณะที่ผู้ชมเองก็ควรมีวิจารณญาณในการรับชม เพื่อแยกแยะระหว่างคอนเทนต์จากมนุษย์และ AI รวมถึงตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล

ภายในระยะเวลาแค่ไม่กี่ปี AI พัฒนาความสามารถได้อย่างรวดเร็วและมีแต่จะเร็วขึ้น ไม่แน่ ในอีก 3 ปีข้างหน้า อาชีพที่ครั้งหนึ่งผู้เชี่ยวชาญมองว่า “AI ทดแทนไม่ได้” อาจเผชิญวิกฤตตกงานครั้งใหญ่ ผลกระทบต่อครีเอเตอร์และอินฟลูเอนเซอร์สะท้อนชัดว่านี่คือสัญญาณเตือนว่า “ตลาดแรงงานกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่” หลาย ๆ อาชีพต้องปรับตัว และเริ่มลงทุนกับการพัฒนาทักษะแห่งอนาคต เพื่อให้เราสามารถปรับตัวและอยู่รอดในวันที่ AI เข้ามามีบทบาทกับชีวิตมากขึ้น หากไม่เริ่มเปลี่ยนตอนนี้ คนที่ถูกแทนที่ต่อไปอาจเป็นคุณ