เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา แกลแลนต์ (Gallant) สตาร์ตอัปจากซานดิเอโก ประเทศสหรัฐอเมริกา ออกมาประกาศว่าสามารถระดมเงินทุนได้ถึง 18 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (หรือประมาณ 585.54 ล้านบาท) เพื่อพัฒนาโครงการการรักษาสัตว์เลี้ยงด้วยสเต็มเซลล์ (Stem Cell) ให้ผ่านการตรวจสอบครั้งแรกจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (FDA : Food and Drug Administration) หากผ่านการตรวจสอบทางกฎระเบียบแล้ว อาจเป็นแนวทางใหม่ในการรักษาน้องสี่ขาได้
แม้การวิจัยสเต็มเซลล์เพื่อใช้ในการรักษามนุษย์จะมีมานานหลายสิบปี แต่กับการรักษาสัตว์ด้วยสเต็มเซลล์ของ Gallant ที่ก่อตั้งมากว่า 7 ปี ยังอยู่ในขั้นตอนการวิจัยและทดสอบ ซึ่งมีเป้าหมายแรกที่ใช้ในการรักษาโรคปากอักเสบเรื้อรังในแมว (FCGS : Feline Chronic Gingivostomatitis) โดยคาดว่าจะผ่านการอนุมัติในช่วงต้นปี 2026

ส่วนการวิจัยการรักษาในสุนัขที่เป็นโรคข้ออักเสบที่ทรมานจากความเจ็บปวดและการเคลื่อนที่ลำบาก พบว่าช่วยลดความเจ็บปวดลง และคลื่อนไหวได้ดีขึ้น ซึ่งอาจจะมีผลได้นานถึง 2 ปี แต่พอนักวิจัยลองเอาไปรักษาโรคไตในแมวที่ใช้วิธีการรักษาใกล้เคียงกัน กลับให้ผลลัพธ์ที่ไม่แน่นอน
การรักษาของ Gallant มีความแตกต่างจากปกติตรงที่เป็นการรักษาแบบ Allogeneic หรือการใช้สเต็มเซลล์จากมดลูกของผู้บริจาค (ที่เป็นสัตว์สายพันธุ์เดียวกัน) เพียงตัวเดียว แต่สามารถนำไปผลิตยาได้มากถึง 30 ล้านโดส ทำให้สามารถขยายกำลังการผลิตได้ง่ายและมากกว่าวิธีอื่น ๆ ที่เคยมีมา
สิ่งนี้เตะตานักลงทุนที่มองเห็นศักยภาพ ทำให้การระดมทุนรอบนี้เลยได้ Digitalis Ventures ที่เคยลงทุนในรอบก่อน และ NovaQuest Capital Management ที่มีประสบการณ์การลงทุนในสเต็มเซลล์บำบัดสำหรับมนุษย์มาร่วมด้วย
Gallant มีเรื่องราวน่าสนใจ คือผู้ก่อตั้งอย่าง แอรอน เฮิร์ชชอร์น (Aaron Hirschhorn) เคยขาย DogVacay ให้กับ Rover ซึ่งเป็นคู่แข่งในวงการดูแลสุนัข แต่เขาเสียชีวิตในปี 2021 ทำให้ต้องเปลี่ยนผู้นำมาเป็น ลินดา แบล็ก (Linda Black) จนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นประธานและหัวหน้านักวิทยาศาสตร์ตั้งแต่ยุคบุกเบิก ขณะนี้ Gallant ระดมทุนรวมได้อย่างน้อย 44 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (หรือประมาณ 1,431.32 ล้านบาท) ตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง