ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยจอห์นส์ ฮอปกินส์ (Johns Hopkins) ประสบความสำเร็จในการพัฒนา “หุ่นยนต์ผ่าตัดอัตโนมัติ” ที่สามารถผ่าตัดถุงน้ำดีได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องพึ่งพาการควบคุมจากมนุษย์ ความพิเศษคือมันสามารถรับคำสั่งเสียง โต้ตอบกับสถานการณ์เฉพาะหน้า และเรียนรู้การผ่าตัดแบบเดียวกับแพทย์ฝึกหัดที่มีอาจารย์แพทย์คอยให้คำแนะนำ
หุ่นยนต์ตัวนี้พัฒนาโดยใช้ AI ประเภทเดียวกับที่อยู่เบื้องหลัง ChatGPT แต่แทนที่จะใช้ตอบคำถาม มันถูกฝึกจากวิดีโอการผ่าตัดจริง พร้อมคำอธิบายของศัลยแพทย์ ทำให้หุ่นยนต์ไม่เพียงแค่จำภาพ แต่ยัง “เข้าใจ” ว่าทำไมแต่ละขั้นตอนถึงจำเป็น และต้องทำอย่างไร
การผ่าตัดถุงน้ำดีเป็นหัตถการที่ซับซ้อน ต้องอาศัยความแม่นยำสูง เพราะเกี่ยวข้องกับเส้นเลือด ท่อน้ำดี และอวัยวะใกล้เคียง ทีมวิจัยจึงออกแบบให้หุ่นยนต์เรียนรู้ผ่านวิดีโอที่มีคำอธิบายประกอบ เพื่อให้เข้าใจทุกจังหวะและตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง

เมื่อนำไปทดสอบกับร่างจำลองของหมู หุ่นยนต์สามารถดำเนินการครบทั้ง 17 ขั้นตอนของการผ่าตัดได้อย่างแม่นยำ แม้จะปรับเปลี่ยนจุดเริ่มต้นของการผ่าตัด หรือเติมของเหลวสีแดงเลียนแบบเลือดเพื่อเพิ่มความท้าทาย มันก็ยังสามารถจัดการได้โดยไม่พลาดเลย
ที่สำคัญคือ มันสามารถรับฟังและเรียนรู้จากคำสั่งเสียงแบบเรียลไทม์ เหมือนมีครูอยู่ข้าง ๆ ช่วยแนะนำตลอดเวลา
นี่คือก้าวสำคัญที่ทำให้หุ่นยนต์ไม่ได้แค่ทำตามคำสั่ง แต่ ‘เข้าใจ’ ว่าตัวเองกำลังทำอะไร และสามารถปรับตัวเมื่อเจอเหตุไม่คาดคิด
ย้อนกลับไปในปี 2022 ทีมของ ดร. เอเซล ครีเกอร์ (Axel Krieger) เคยพัฒนาหุ่นยนต์ STAR ซึ่งผ่าตัดสัตว์ได้แบบอัตโนมัติ แต่ยังต้องควบคุมสภาพแวดล้อมให้นิ่งสนิท เหมือนกับการสอนให้หุ่นยนต์เดินทางตามแผนที่วางไว้เป๊ะ ๆ เหมือนกับการนับเลข 1 2 3 4
แต่หุ่นยนต์รุ่นใหม่นี้ ก้าวไปไกลกว่านั้น มันขับเคลื่อนได้เองแม้ “เส้นทางจะเปลี่ยน” หรือเจอ “อุปสรรคระหว่างทาง” เหมือนกับการมีสัญชาตญาณและการปรับตัวที่ใกล้เคียงมนุษย์มากขึ้น

ผลทดลองแสดงให้เห็นว่า หุ่นยนต์สามารถทำการผ่าตัดที่ซับซ้อนได้สำเร็จ 100% แม้ยังใช้เวลานานกว่าศัลยแพทย์จริงเล็กน้อย แต่ผลลัพธ์ไม่ต่างกัน และยังดูเหมือนจะมีศักยภาพพัฒนาให้ดีขึ้นได้อีกในอนาคต
ไม่มีใครคาดคิดว่าหุ่นยนต์จะทำสิ่งนี้ได้จริง แต่เราพิสูจน์แล้วว่ามันเป็นไปได้