การทำงานสื่อในยุคใหม่ ที่ผู้รับสื่อต้องเข้าหา ‘ออนไลน์’ มากยิ่งขึ้น การทำงานสื่อบนโลกออนไลน์ต้องเจอปัญหาใหม่ ๆ มากมาย ที่แบไต๋เองก็เช่นกัน ! ดังนั้น ทีมแบไต๋ขอมาแบไต๋ปัญหาที่ได้เจอระหว่างการทำสื่อออนไลน์ ที่ทั้งชวนปวดหัว และมีเรื่องให้แก้กันอยู่ทุกวัน

บทความนี้จะเป็นการสรุปเนื้อหาจากชาวแบไต๋ ประกอบไปด้วย ต้า – คมสัน ขันตยานุวงศ์ Talent beartai, ป๊อป – ณัฐวุฒิ แสงชูวงษ์ Chief Content Officer ของบริษัท, อ๊อฟ – เอกพล ชูเชิด Technical Editor ของแบไต๋, แมน – พรเทพ ตุ้มทอง Head of Social Media ของบริษัท, เอ๊ะ – ฉัตรชัย พึ่งทองคำ Producer และ ซัน – วีรพล มานะกล้า Live Streaming บนเวที Stage 3  ในงาน CTC 2023 Festival ในหัวข้อ ‘แบไต๋ มา แบไต๋ ปัญหาปวดหัวคนทำสื่อออนไลน์ (Curated by Beartai+)’ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมานี้เอง !

ประสบการณ์ จะสอนให้เรียนรู้ว่าความผิดพลาดในงาน จะทำให้เราเกิดการเรียนรู้ระหว่างทาง ประสบการณ์การทำงานมันมีค่า

ป๊อป – ณัฐวุฒิ แสงชูวงษ์ @ CTC2023

ดังนั้นเรื่องราวทั้งหมดที่จะนำมา ‘แบไต๋’ ให้ทุกคนดูนั้น คือประสบการณ์ที่ทีมแบไต๋พบเจอมา ความผิดพลาดต่างๆ ที่เราได้เรียนรู้ระหว่างทาง นี่แหละคือ ‘บทเรียน’ ที่ดีที่สุด ที่สามารถนำมาปรับใช้ได้ในการทำงาน และน่าจะเป็นการดีที่จะมาแบ่งปันให้กับทุกคนในงานนี้

พี่มาร์กจ๋าาา

เรื่องนี้ ใครก็ตามที่ทำสื่อบนเฟซบุ๊ก (Facebook) จะได้พบเจอกันอยู่เสมอ เพราะ ‘พี่มาร์ก’ (มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก) ก็ได้สร้างปัญหาให้กับแบไต๋มาโดยตลอด โดยเริ่มจากเรื่องแรก คือเรื่องของ ‘ไก่’ !

ก่อนหน้านี้ แบไต๋เคยได้ทำคลิป Beartai Xcite เกี่ยวกับ ‘ไก่ชน’ เพื่อแชร์ลงเพจ Beartai BUZZ ซึ่งแม้ในคลิปจะไม่มีภาพการชนไก่ หรือการพนันเลยแม้แต่น้อย มีเพียงแค่ผู้เลี้ยงไก่ชน และการเลี้ยงไก่ชนเท่านั้น ‘AI พี่มาร์ก’ ก็ยังส่งคำร้องเข้ามาทางเพจว่าคลิปที่ลงไป มีการทารุณกรรมสัตว์ในคลิป ! มีการจับสัตว์มาต่อสู้กัน ที่แม้จะเปลี่ยนปกไปใช้ภาพที่แยกระหว่างคนกับไก่ออกจากกันแล้ว ตัวไก่ยังอยู่ในลักษณะคล้ายว่าโดนบีบคออยู่ ทำให้ AI ตรวจจับว่าเป็นการทารุณกรรมสัตว์อยู่

สุดท้ายทางแบไต๋จึงตัดสินใจที่จะเลิกเผยแพร่คอนเทนต์ และลบคลิปออกไป ติดแค่ว่า ทางทีมงานอีกคนตัดสินใจนำเนื้อหาที่ได้มา ทำเป็นบทความและอัปโหลดลงเว็บไซต์ จากนั้นก็ได้แชร์บทความลงบนเพจเฟซบุ๊กของ Beartai BUZZ ด้วยภาพปกที่มีไก่ชนตัวเดิม ที่มีภาพเหมือนโดนบีบคออยู่ ทำให้ AI ของ Facebook แบนเพจด้วยการปิดกั้นการมองเห็นเพจ ไม่สามารถสร้างรายได้ได้เป็นเวลา 1 ปีเต็ม

เมื่อ Facebook ตักเตือนอะไรกับเพจมาจะต้องคอยส่องดี ๆ แนะนำให้ตรวจเช็กหน้า ‘สุขภาพของเพจ’ อยู่สม่ำเสมอ เพื่อป้องกันการเจอการเตือนที่อาจจะมาช้า หรือปัญหาการโดนแบนเพจในอนาคตด้วย

นอกจากนั้น เวลาทำเพจ Facebook ก็ต้องคอยติดตามเรื่องการโพสต์ให้ดี เพราะโพสต์บางประเภท จะได้รับการ ‘ดันโพสต์’ ให้คนมองเห็นมากขึ้นกว่าโพสต์ประเภทอื่น เช่นแต่ก่อนที่การโพสต์ภาพจะเรียกยอดได้มาก แต่ต่อมาก็ไม่ได้แล้ว ก็ต้องย้ายไปโพสต์สเตตัสมีพื้นหลังแทน แต่หลัง ๆ มาก็ไม่ได้ผลแล้วในตอนนี้ ก็ต้องหาประเภทของโพสต์ที่ได้ยอดดีกันต่อไป

ในขณะที่เรื่องของ ‘เวลาโพสต์’ หลาย ๆ คนอาจจะเห็นเรื่องของ ‘ตารางโพสต์มงคล’ ที่จะบอกเวลาที่เหมาะสมในการโพสต์สิ่งต่าง ๆ แต่ที่จริงแล้ว ถ้ามีเวลาตายตัวว่าโพสต์ตอนไหนแล้วจะรุ่ง หลาย ๆ เพจคงจะไม่เจอปัญหาด้านการกดการมองเห็นอย่างทุกวันนี้แน่ เวลาที่เหมาะสมในการโพสต์ ต้องดูที่เพจของเรา ว่าเพจของเราเหมาะกับช่วงเวลาไหนมากกว่ากัน เช่นเพจท่องเที่ยว อาจจะลงโพสต์วันเสาร์ – อาทิตย์แล้วเหมาะกว่าเพจอื่นก็ได้ หรือเพจเกมที่ไม่สามารถเชื่อตารางให้ลงโพสต์ 6 โมงเช้าได้ เพราะเกมเมอร์มักจะใช้งานเฟซบุ๊กช่วงกลางคืนมากกว่า ดังนั้น เชื่อเซนส์ อาจจะดีกว่าเชื่อตารางการลงก็ได้

ตารางโพสต์มงคลนั้นดูได้ แต่เหมาะแค่กับการลองโพสต์เท่านั้น อย่าเชื่อตารางอย่างไร้เหตุผล ต้องวัดผลเองว่าโพสต์เวลาไหนถึงจะเหมาะ

แมน – พรเทพ ตุ้มทอง @ CTC2023

การโพสต์เองก็ต้องโพสต์ให้ได้สม่ำเสมอ เพื่อให้ AI ของเฟซบุ๊กตรวจจับการโพสต์ของเพจเรา กล่าวคือการโพสต์อะไรจะต้องโพสต์ให้ได้เวลาเดิม เช่นคลิปที่ควรลงเวลาเดิมตลอด ช่วงแรกอาจจะยังไม่เห็นผล อาจจะต้องลองทำไปสักช่วงเวลาหนึ่งก่อนได้

สุดท้ายคือเรื่องของการโพสต์ข่าว ที่เราควรต้องโพสต์แต่ข่าวจริง การที่เราโพสต์ข่าวปลอมลงไป อาจจะทำให้ทีมตรวจของเฟซบุ๊กตรวจจับโพสต์ข่าวปลอมของเรา และสั่งลบ และให้คำเตือนได้ แนะนำให้ลองตรวจสอบข่าวที่อาจจะเสี่ยงเป็นข่าวปลอม ผ่านเว็บไซต์ของ AFP ดูก่อน รวมถึงอย่าลืมตรวจสอบโพสต์ที่เคยลงมาก่อน ว่าที่เราเคยลงไปมีข่าวปลอมอยู่ไหม ซึ่งตรงนี้ต้องตรวจสอบให้ดี

สดทันทีที่มีเรื่อง = มีเรื่องทันทีที่สด !?

โดยปกติแล้ว แบไต๋จะมีเนื้อหาในรูปแบบวิดีโอทั้งรูปแบบคลิป ที่จะต้องมีการคราฟต์ หรือค่อย ๆ วางแผนทำก่อน และรูปแบบของการไลฟ์สด ซึ่งจะเหมาะกับการทำในประเด็นที่ร้อนแรง และต้องทำให้เร็ว จึงทำให้เกิดเป็นสโลแกน ‘สดทันทีที่มีเรื่อง’ ขึ้น แต่ทีมงานเบื้องหลังนั้นจะต้องเจอกับปัญหาอยู่เรื่อย ๆ จนเกิดการแซวกันว่าเป็น ‘มีเรื่องทันทีที่สด’ !

ในการทำไลฟ์สดนั้นจะต้องมีการเตรียมการมาก่อนอยู่แล้ว แต่หลาย ๆ อย่าง เราก็ไม่สามารถควบคุมได้ อย่างเช่นเฟซบุ๊กที่อยู่ ๆ พอไลฟ์แล้วเกิดปัญหา เลยปิดไลฟ์ พอเริ่มไลฟ์ใหม่อีกรอบ จู่ ๆ ก็มีคนดูเพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัวขึ้นมาอย่างไม่มีสาเหตุ เรื่องการส่งไลฟ์ขึ้นฟีดคนดูนั้นเป็นเรื่องที่ควบคุมไม่ได้เลย (ขึ้นกับ พี่มาร์กแบบหัวข้อที่แล้ว)

หรืออย่างการไลฟ์สด ‘หนุ่ย Talk’ ที่จะไลฟ์ทุกวันอาทิตย์ ตัวคุณหนุ่ยเองก็จะอยู่ที่บ้าน และมีกล้องกับไมค์พร้อมอยู่แล้ว หรือแขกที่ติดต่อล่วงหน้า เขาก็จะมีสถานที่ในการถ่ายไลฟ์ และเวลาที่แน่นอน แบบนี้เรียกว่าควบคุมได้ แต่สิ่งที่ควบคุมไม่ได้คือ เมื่อเป็นประเด็นที่จะต้องถ่ายทอดสดทันที เช่นเรื่องซีเซียม-137 พอเริ่มไลฟ์แล้ว กลับเจอพี่หนุ่ยที่นั่งไลฟ์อยู่ในรถ ! ที่จะเจอทั้งอินเทอร์เน็ตที่ไม่เร็วพอจะถ่ายทอดสด หรือมุมกล้องที่ไม่สามารถจัดให้ดีได้ เป็นต้น

และอีกส่วนที่ควบคุมได้ยากก็คือ ‘แขกรับเชิญ’ ที่อาจจะมาในชุดที่เราไม่คาดคิด ใส่ชูชีพมา ไลฟ์บนเรือก็ได้ หรือถึงเวลาถ่ายทอดสดจริง ๆ แขกที่เข้ามาร่วมงานก็อาจจะเกิดปัญหาระหว่างไลฟ์กับเราก็ได้ เช่นแขกที่ไฟดับตอนไลฟ์ เป็นต้น ดังนั้นในการทำถ่ายทอดสด ก็ควรที่จะต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้ดี เพราะ ‘มีเรื่องได้ทุกครั้งที่สด’

ของฟรีไม่มีในโลก

นอกจากเรื่องไลฟ์สตรีม เรื่องของลิขสิทธิ์ก็สำคัญเช่นเดียวกัน ก่อนหน้านี้ที่ช่องยูทูบ (YouTube) ของแบไต๋ ถูกใช้เพื่อลงคลิปย้อนหลังของรายการ ‘แบไต๋ hitech daily 5 Live’ ในอดีต ที่มีอายุกว่า 10 ปี เพลงประกอบที่ใช้ภายในคลิปนั้นเป็นเพลงฟรีของ YouTube Library มาก่อน แต่เพลงที่เคยฟรีในตอนนั้น กลับไม่ฟรีแล้วในตอนนี้

เพลงที่เคยฟรีนั้น โดนบริษัทจากเวียดนามซื้อไป แล้วมาเรียกค่าไถ่ ด้วยการเอาเพลงที่ซื้อไว้ มาเรียกค่าลิขสิทธิ์ย้อนหลังกับทุกเจ้าที่ใช้เพลงนี้ ซึ่งโดยปกติ ถ้าช่องยูทูบใดถูกเรียกร้องเรื่องลิขสิทธิ์เกินจำนวนที่กำหนด ช่องนั้นอาจจะถูกปิดได้เลย และในตอนนั้นที่แบไต๋โดนเรียกร้อง ก็ถูกเรียกค่าลิขสิทธิ์ไป 4 คลิปรวด พร้อมกับการส่งอีเมลเรียกค่าไถ่ และราคาที่จะต้องจ่ายพร้อมกันเลย ซึ่งช่องที่โดนเรียกร้องเรื่องลิขสิทธิ์มาก ๆ เข้า จะทำให้ไม่สามารถลงคลิปเพิ่มได้ และเกิดเรื่องในช่วงเวลาที่กำลังจะจัดงาน Thailand Game Show พอดี ทำให้ต้องจ่ายค่าเสียหายไป

สุดท้าย ทางแบไต๋ต้องตัดสินใจลบคลิปต่าง ๆ ที่ใช้เพลงเหล่านั้นออกไปจำนวนมาก เพื่อป้องกันไม่ให้มีปัญหาด้านลิขสิทธิ์แบบนี้อีก ดังนั้น ภาพประกอบ หรือเพลงที่ใช้ในงานวิดีโอต่าง ๆ ควรจะซื้อลิขสิทธิ์ให้ถูกต้อง หรือสมัครสมาชิกบริการเพลงประกอบที่ถูกต้องไปเลย เนื่องจากเราไม่สามารถรู้ได้เลยว่า ‘เพลงฟรี’ ที่เราใช้ในคลิปวิดีโอไปนั้น จะฟรีไปได้อีกนานหรือไม่ ถ้ามีเพลงที่ซื้อมา ก็ไม่ต้องกลัวจะถูกเรียกค่าลิขสิทธิ์ย้อนหลัง

นอกจากเรื่องของเพลงที่ของฟรีไม่มีในโลกแล้ว ยังมีเรื่องของข่าว และภาพประกอบข่าว ที่เป็นของจ่ายเงิน ก็โดนฟ้องว่าละเมิดสิทธิ์ได้เหมือนกัน เพราะสื่อเจ้าอื่นที่ซื้อภาพ หรือซื้อข่าวไปลงก่อนเรา ก็สามารถย้อนกลับมาฟ้องลิขสิทธิ์เราได้เช่นกัน แม้เราจะสามารถโต้แย้งจนไม่ต้องจ่ายได้ตลอด แต่ตรงนี้ยังเป็นช่องว่างให้คนมาฟ้องได้ เพียงเพราะว่า ‘เขาลงก่อน’ (โดยเฉพาะในต่างประเทศที่ลงข่าวก่อนอยู่แล้ว)

ระวังโดนแฮก

นอกจากมรสุมในรูปแบบแพลตฟอร์ม ผู้คน หรือลิขสิทธิ์แล้ว มรสุมที่โถมเข้าสู่แบไต๋ยังมาในรูปแบบของแฮกเกอร์ (Hacker) ได้อีก ! เมื่อประมาณกลางปีที่ผ่านมา ช่องของแบไต๋ถูกแฮกโดยผู้ไม่หวังดี มาเปลี่ยนชื่อช่อง และเปิดไลฟ์ อีลอน มัสก์ (ปลอม) มาพูดเรื่องคริปโทซะอย่างนั้น !

ที่จริงแล้ว ช่องแบไต๋เปิดการยืนยัน 2 ขั้นตอน (Two-factor Authentication – 2FA) เอาไว้อยู่แล้ว แต่ช่องก็ยังโดนแฮกได้ แถมยังโดนตั้งแต่ 7 โมงเช้าของวันเสาร์ด้วย สาเหตุที่ช่องโดนแฮกไปนั้น เป็นเพราะกรณีเดียวกันกับที่ช่อง Linus Tech Tips เคยโดนไป ด้วยการแฝงตัวเข้าสู่คอมพิวเตอร์ของทีมงานผ่านมัลแวร์ที่มากับไฟล์ ที่ทำการล้วงข้อมูลผู้ใช้จากเบราว์เซอร์ทั้งหมดที่ติดตั้งอยู่ในอุปกรณ์ ซึ่งรวมถึง Session Token ที่เก็บข้อมูลล็อกอิน (ชื่อผู้ใช้และรหัสผ่าน) เว็บไซต์ต่าง ๆ ของทีมงานออกไปได้ รวมถึงบัญชีกลางของทีมตัดต่อ ที่ใช้เพื่ออัปโหลดคลิปลงช่อง YouTube ของแบไต๋อีกด้วย หรืออาจจะเกิดจากการที่เข้าเว็บเถื่อน, หรือเข้าลิงก์แปลก ๆ

เคราะห์ยังดีที่ช่องของแบไต๋นั้นได้มีการแบ่งตำแหน่ง (Role) ของผู้ที่เข้าถึงบัญชีของแบไต๋ได้ในฐานะผู้จัดการเท่านั้น ไม่ได้เข้าไปในฐานะเจ้าของช่อง ทำให้แฮกเกอร์นั้นไม่สามารถเอาบัญชีผู้ใช้คนอื่น ๆ ภายในบัญชีออกไปได้ และทำได้แค่เปลี่ยนชื่อ อัปโหลดไลฟ์ และซ่อนคลิปเท่านั้น ทำให้ทางทีมสามารถเข้าไปจัดการแอ็กเคานต์ที่เกิดปัญหาได้อยู่

ถ้าใครทำช่อง YouTube อยู่ บัญชีแอดมินสูงสุดที่สมาชิกได้ควรจะมีแค่บัญชีเดียว และให้บัญชีนั้นอยู่กับอุปกรณ์ที่มีผู้ใช้น้อย และมีคนเข้าถึงได้น้อย แฮกเกอร์จะเข้าถึงบัญชีเจ้าของช่องได้ยากกว่า

อ๊อฟ – เอกพล ชูเชิด @CTC2023

แต่ถ้าจำเป็นจะต้องมีทีมงานเพื่อเข้าถึงช่องในการอัปโหลดคลิป ก็ควรจะต้องแยกบัญชีหลักที่เป็นเจ้าของช่องตัวจริง ให้มีคนเข้าถึงได้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะถ้าบัญชีที่โดนแฮกไปเป็นบัญชีของผู้จัดการ อย่างน้อยการแก้ปัญหาจะทำได้ง่ายกว่า

นอกจากนั้น ควรจะมีคนเข้าถึงบัญชีที่จัดการช่องได้ ไม่ว่าจะแค่อัปโหลดคลิป หรือเจ้าของช่องให้น้อยที่สุด แต่ถ้าเป็นไปไม่ได้ แนะนำให้คนที่สามารถยืนยัน 2FA ของบัญชีนั้นได้ มีจำนวนให้น้อยที่สุด และหลังจากใช้งานจนเสร็จเรียบร้อย ก็ปลด 2FA ออกทันที หลังจากล็อกอินและใช้เสร็จ เพื่อที่แฮกเกอร์จะได้ขโมยเอา Session Token ไปไม่ได้ ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่แค่ว่าในยูทูบเท่านั้น แต่ในโซเชียลมีเดียอื่น ๆ ก็ควรที่จะต้องรัดกุมด้านความปลอดภัยให้ได้มากเท่านี้เช่นเดียวกัน

อาจจะมีขั้นตอนเพิ่มขึ้นมาอีกสักหน่อย แต่เพื่อความปลอดภัย ยอมเสียเวลาอีกสักนิด ดีกว่าที่จะมาเสียดายยอดวิว ช่อง และคลิปที่เราปลุกปั้นมา

ต้า – คมสัน ขันตยานุวงศ์ @ CTC2023

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส