AIS อุ่นใจ CYBER ร่วมกับ กองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ตำรวจไซเบอร์) และ 3 ค่ายละครคุณธรรมทางโซเชียลเน็ตเวิร์ค สร้างละครคุณธรรมสะท้อนสังคม 12 เรื่อง ตีแผ่กลลวงของมิจฉาชีพ พร้อมแนะวิธีการรับมือ

โดยละครทั้ง 12 เรื่องนี้ สร้างโดย 3 ค่ายละครคุณธรรม ประกอบไปด้วย กุลิฟิล์ม ทีแก๊งค์ และทีมสร้างฝัน โดยกุลิฟิล์ม และ ทีแก๊งค์ จะสร้างละครทีมละ 3 เรื่อง ส่วนทีมสร้างฝัน สร้างละครอีก 6 เรื่อง รวมเป็น 12 เรื่องด้วยกัน โดยสามารถรับชมละครทั้ง 12 เรื่องได้ผ่านช่องทาง Social Media ของทั้ง 3 ค่ายละครคุณธรรม ประกอบไปด้วย

นางสายชล ทรัพย์มากอุดม หัวหน้าหน่วยธุรกิจประชาสัมพันธ์และงานธุรกิจสัมพันธ์ AIS กล่าวว่า ในปัจจุบัน กลุ่มที่ยังมีผู้ไม่รู้เท่าทันตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพอยู่มากในประเทศไทย คือกลุ่มผู้สูงวัย จากการที่ศึกษาดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัลของคนไทย หรือ Thailand Cyber Wellness Index (TCWI) พบว่ากลุ่มดังกล่าวมีความเสี่ยงต่อภัยไซเบอร์สูงสุด

ทำให้ทาง ‘อุ่นใจ CYBER’ ที่ส่งเสริมการสร้างความรู้ด้านภัยไซเบอร์ และสร้างภูมิคุ้มกันไซเบอร์ให้คนไทย มาตลอด ได้ทำแคมเปญสื่อสารผ่านการร่วมมือกับตำรวจไซเบอร์ และ 3 ค่ายละครคุณธรรมทางโซเชียลเน็ตเวิร์ก ในการนำคดีทางเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นจริง เช่นหลอกติดตั้งแอปดูดเงิน, หลอกลงทุน, ซื้อของจากร้านค้าปลอม, ใช้ภาพโปรไฟล์คนอื่นและสวมรอยเพื่อหลอกยืมเงิน มาทำเป็นละครคุณธรรม หรือละครสั้นสะท้อนสังคม ที่สอดแทรกสาระและวิธีการรับมือจากตำรวจไซเบอร์ ที่มาร่วมเป็นนักแสดงในละครคุณธรรมทั้ง 12 ตอนอีกด้วย

ที่ผ่านมา ทาง AIS ได้มีการใช้เครื่องมือต่าง ๆ ในการสื่อสาร สร้างภูมิคุ้มกันไซเบอร์มาโดยตลอด ทั้งการโพสต์ในโซเชียลเน็ตเวิร์ก, แบบทดสอบ, นิยาย, โฆษณา, การ์ตูนแก๊ก, แอนิเมชัน และอื่น ๆ แต่การใช้ ‘ละครคุณธรรม’ มาเป็นสื่อกลางในการนำเสนอเรื่องภัยไซเบอร์ จะเป็นการผลิตสื่อที่ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย อย่าง ‘กลุ่มเปราะบาง’ ได้มากกว่า

นอกจากละครคุณธรรมแล้ว ทาง AIS อุ่นใจ CYBER ได้มีเครื่องมือที่ช่วยป้องกันภัยไซเบอร์ เช่น สายด่วน 1185, ศูนย์รับเรื่องร้องเรียน AIS Spam Report Center ให้ลูกค้าแจ้งข้อมูลเบอร์โทรและ SMS มิจฉาชีพได้ฟรี และหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ หลักสูตรการเรียนรู้ออนไลน์ที่จะช่วยเติมเต็มองค์ความรู้ และสร้างภูมิคุ้มกันภัยไซเบอร์ให้กับคนไทยอีกด้วย

พลตำรวจตรี อรรถสิทธิ์ สุดสงวน รองผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (สอท.) กล่าวว่า จากการเก็บสถิติการแจ้งความออนไลน์ผ่านระบบ Thai Police Online การแจ้งความที่เกี่ยวกับ ‘คดีออนไลน์’ มีถึงกว่า 361,655 เรื่องจากทั้งหมด 390,863 เรื่อง และ 5 อันดับแรกที่มีคนแจ้งความมากที่สุด เกี่ยวข้องกับการหลอกให้ซื้อขายสินค้า, หลอกให้โอนเงินเพื่อทำงาน, หลอกให้กู้เงิน, หลอกให้ลงทุนผ่านคอมพิวเตอร์ และการข่มขู่ทางโทรศัพท์ ซึ่งความเสียหายรวมกันหลัก 10 ล้านบาท

นอกจากนั้น มิจฉาชีพเองก็มีการออกกลโกงในรูปแบบใหม่ ๆ ออกมาอยู่เสมอ แต่นอกจากการปราบปรามคนร้ายแล้ว การป้องกัน ด้วยการสร้างความตระหนักรู้ให้ประชาชนมีความรู้ที่ถูกต้องในการใช้งานบนโลกดิจิทัลอย่างปลอดภัยก็สำคัญเช่นกัน การทำงานกับ AIS ในการออกมาเตือนภัยประชาชนถือเป็นการแก้ไขปัญหาจากต้นเหตุอย่างแท้จริง เพื่อให้ประชาชนมีสติ รู้เท่าทัน ไม่เชื่อ ไม่รีบ ไม่โอน และไม่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพที่แฝงตัวมาให้รูปแบบต่าง ๆ  นอกจากนี้ประชาชนยังสามารถปรึกษา แจ้งเบาะแส ขอความช่วยเหลือด้านภัยไซเบอร์ได้ที่สายด่วน 1141

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส