โรวูล่า (ประเทศไทย) หน่วยธุรกิจภายใต้ ARV ในกลุ่ม ปตท. สผ. ได้โชว์ยาน ‘Xplorer’ ยานสำหรับตรวจสอบการทำงานของท่อส่งปิโตรเลี่ยมนอกชายฝั่ง โดยทำงานแบบไร้คนขับ ดูแลจากห้องควบคุมแยก และให้ AI ตรวจสอบการทำงานได้อัตโนมัติ

โดย ‘Xplorer’ (เอ็กซ์พลอเรอร์) เป็นเหมือนเรือดำน้ำที่สามารถตรวจสอบท่อใต้ทะเลนอกชายฝั่ง ที่สามารถทำงานได้ดีกว่ายานยนต์สำรวจใต้ทะเลแบบบังคับระยะไกลทั่วไป ซึ่งสามารถระบุตำแหน่งที่ใกล้เคียงกับ GPS และเก็บข้อมูลต่าง ๆ ในงานสำรวจและตรวจสอบท่อน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติใต้ทะเล เช่นลักษณะพื้นทะเลเหนือท่อ หรือ ระบบป้องกันการกัดกร่อนของท่อ เป็นต้น ซึ่ง Xplorer ได้มีการนำเอา AI เขามาช่วยทำงานในตัวยานยนต์นี้ ซึ่งทางโรวูล่าเคลมว่า สามารถลดค่าใช้จ่ายเมื่อเทียบกับวิธีการทำงานแบบปกติได้ 2 เท่าอีกด้วย

ทั้งนี้ หลักการทำงานของตัวยานนี้จะทำการสำรวจ และใช้ CP Probe (Cathodic Protection Probe) และเซนเซอร์ต่าง ๆ รอบตัวยานในการสำรวจท่อที่อยู่ใต้ทะเล โดยสามารถตั้งให้ทำงานแบบอัตโนมัติได้ตลอดเวลาอีกด้วย มีเพียงแค่ทีมงานในการดูแลอยู่จากเหนือน้ำทะเลเท่านั้น

นอกจากนี้ยังได้มี ‘Nautilus’ (นอติลุส) เครื่องซ่อมท่อนำปิโตรเลียมใต้ทะเล ที่เกิดจากการกัดกร่อนได้แบบอัตโนมัติ มาโชว์ตัวจริงหให้สื่อมวลชนได้ชมด้วย โดยเครื่องนี้จะเข้าไปครอบทับท่อที่เกิดการกัดกร่อน, สูบน้ำออกจากบริเวณนั้น และทำการละลายสารเคลือบท่อที่เกิดความเสียหาย และเคลือบสารป้องกันการกัดกร่อนเข้าไปใหม่ทั้งหมด ซึ่วิธีนี้สามารถทำได้โดยไม่ต้องใช้มนุษย์ลงไปทำงานใต้น้ำแต่อย่างใดด้วย

นายภัคชนม์ หุ่นสุวรรณ ผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัทโรวูล่า (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ทางโรวูล่าได้เห็นถึงการเติบโตของโครงสร้างพื้นฐานทางทะเล ยานสำรวจ Xplorer ที่ทำงานร่วมกันกับ AI ในการตัดสินใจอัตโนมัติ จะช่วยให้งานตรวจสอบโครงสร้างใต้น้ำ หรือพื้นผิวใต้ทะเล สามารถตรวจสอบและเก็บข้อมูลมาวิเคราะห์ได้มากกว่าหุ่นยนต์สำรวจใต้น้ำแบบเดิม, ทำงานได้แบบไร้สาย และไม่ต้องใช้เรือขนาดใหญ่ในการปฏิบัติงานด้วย โดยจะเพิ่มประสิทธิภาพในด้านความปลอดภัย และประเมินสภาพและทำแผนการบำรุงรักษาอุปกรณ์ได้แม่นยำมากขึ้นด้วย

โดยในตอนนี้ระบบ Xplorer ยังคงเกิดปัญหาในด้านการส่งข้อมูลที่เจออุปสรรคใต้น้ำ ทำให้ยังไม่สามารถส่งข้อมูลได้ละเอียดเหมือนการใช้โดรนตรวจสอบทั่วไปได้ แต่คาดว่าในอนาคตจะสามารถส่งข้อมูลได้ครบถ้วนกว่านี้

นายธษภิชญ ภาวรสุข ผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัทโรวูล่า (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวเพิ่มเติมว่า ตัวยานจะมีน้ำหนักอยู่ที่ 850 กิโลกรัม ทนความลึกได้ที่ 300 เมตร ใช้ใบพัดผลักดันน้ำ 8 ตัว และใช้คลื่นเสียง (Sonar) ในการวิ่งแบบอัตโนมัติตามแนวท่อ มีกล้อง Video ที่ดึงภาพขึ้นจอคอนโซลของช่างได้ และจะสำรวจโดยใช้ตำแหน่งท ี่ได้มาจากการวางท่อในการนำทาง ซึ่งตัวยานจะเก็บข้อมูลที่จำเป็นในงานสำรวจและตรวจสอบท่อน้ำมันและก๊าซธรรมชาติใต้ทะเล โดยตัว Xplorer จะมีระบบกลับเข้าสถานีชาร์จและส่งข้อมูลแบบบอัตโนมัติผ่านคำสั่งเดียวก็ได้ด้วย

นายธษภิญกล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมา Xplorer ได้นำมาใช้ในโครงการสำคัญของ ปตท. สผ. ในอ่าวไทย และได้ดำเนินการร่วมกับบริษัทที่ทำด้านอุตสาหกรรมพลังงานทางเลือกอื่น ๆ ด้วย โดยคาดว่าในอนาคต จะทำให้ทางโรวูล่าสามารถทำงานด้านการสำรวจทางทะเลนี้กับอุตสาหกรรมอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่นสายอินเทอร์เน็ตที่เดินจากต่างประเทศมาผ่านสายอินเทอร์เน็ตใต้น้ำขนาดใหญ่ หรือไปทางกลุ่มพลังงานทดแทน เช่นกังหันลม โซลาร์เซลล์ และอื่น ๆ เป็นต้น โดยตั้งเป้าหมายว่าจะเติบโตตั้งแต่ปี 2565 ให้ได้ไม่ต่ำกว่าปีละ 90% ให้ได้อีกด้วย

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส