การบินไทย ประกาศความพร้อมในการนำหุ้น ‘THAI’ กลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) อีกครั้ง ในวันที่ 4 สิงหาคม 2025 หลังศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการของบริษัทฯ เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2025 ที่ผ่านมา

จากการประสบความสำเร็จในการดำเนินการฟื้นฟูกิจการ ซึ่งได้พลิกโฉมองค์กรสู่การเป็นบริษัทเอกชนที่พร้อมสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ถือหุ้น และนักลงทุน ด้วยผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งและกลยุทธ์ในการสร้างการเติบโตในอนาคตที่ชัดเจน พร้อมที่จะทะยานสู่บทบาทหนึ่งในผู้นำในอุตสาหกรรมการบินระดับภูมิภาค ตลอดจนการเป็นหนึ่งในบริษัทจดทะเบียนชั้นนำที่มีคุณภาพของตลาดหลักทรัพย์ฯ อีกครั้ง

การบินไทยเดินหน้าต่อ ด้วยทีมที่เข้มแข็ง
นายลวรณ แสงสนิท ประธานกรรมการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ในนามของคณะกรรมการบริษัทชุดใหม่ มีความมุ่งมั่นเพื่อนำการบินไทยก้าวสู่ยุคใหม่แห่งการเป็นสายการบินที่เปี่ยมด้วยประสิทธิภาพ และถึงพร้อมด้วยธรรมาภิบาลในการบริหารงานแบบองค์กรเอกชน คณะกรรมการชุดนี้มีความพร้อมทั้งในด้านองค์ความรู้ และวิสัยทัศน์ที่จะร่วมผลักดันองค์กรให้เดินหน้าต่อไปอย่างมั่นใจ โดยได้รวมผู้เชี่ยวชาญทั้งจากภาครัฐและเอกชน โดยคณะกรรมการชุดใหม่ประกอบด้วยกรรมการ 11 ท่าน ซึ่งจำนวน 3 ท่าน เป็นกรรมการของบริษัทตั้งแต่ในช่วงก่อนเข้ากระบวนการฟื้นฟูกิจการ และกรรมการสองในสามท่านดังกล่าวยังเป็นอดีตผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ
ตลอดจนประกอบด้วยกรรมการเข้าใหม่ 8 ท่านที่ได้รับการแต่งตั้งโดยผู้ถือหุ้นผ่านการพิจารณาตาม Board Skills Matrix เพื่อให้ครอบคลุมความรู้ความสามารถในด้านต่าง ๆ อาทิ ธุรกิจการบิน การเงิน กฎหมาย กลยุทธ์ การตลาด และเทคโนโลยีดิจิทัล
พร้อมด้วยคณะกรรมการชุดย่อย ได้แก่ คณะกรรมการตรวจสอบ และคณะกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทน เพื่อดูแลทุกมิติ โดยเชื่อว่าคณะกรรมการและฝ่ายบริหารพร้อมร่วมทำงานสนับสนุนซึ่งกันและกัน โดยยังคงมีทีมผู้บริหารจากในช่วงกระบวนการฟื้นฟูกิจการ ซึ่งช่วยให้สามารถสานต่อการดำเนินงานของการบินไทยได้อย่างมั่นคง”

การบินไทยอยู่ในจุดที่มั่นคงหรือยัง ?
นายลวรณ ได้ให้คำตอบเกี่ยวกับสถานะของบริษัทว่า “ในวันนี้ถือได้ว่าอยู่ในจุดที่ดีที่สุดในทุก ๆ มิติ ไม่ว่าจะเป็นสถานะทางการเงิน ประสิทธิภาพ และขีดความสามารถในการแข่งขัน บริษัทฯ มีความชัดเจนอย่างยิ่งในเรื่องของทิศทางการเจริญเติบโต และยุทธศาสตร์ที่จะใช้ ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างองค์กรที่วันนี้ ไม่เพียงแต่ขนาดและความซับซ้อนที่เหมาะสมต่อขนาดธุรกิจ ค่าใช้จ่ายบุคลากรที่อยู่ในระดับที่มีประสิทธิภาพไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าสายการบินชั้นนำในระดับเดียวกัน แต่ยังมีความยืดหยุ่น และสามารถเปลี่ยนแปลงตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมได้อย่างรวดเร็ว พร้อมทั้งให้ความสำคัญในการส่งเสริมการกำกับดูแลกิจการที่ดี ตามแนวทางของตลาดหลักทรัพย์ และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์”
ต่อยอดความสำเร็จ ด้วยเป้าหมายใหม่
สำหรับมิติด้านสิ่งแวดล้อม นายลวรณ มองว่าการบินไทยในฐานะผู้ประกอบการสายการบินมุ่งมั่นที่จะลดผลกระทบในการทำธุรกิจที่มีต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีเป้าหมายที่ชัดเจนมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี 2608 (ค.ศ. 2065) ทั้งนี้ มีเป้าหมายในการนำพาองค์กรเพื่อต่อยอดความสำเร็จจากการฟื้นฟูกิจการที่ผ่านมาให้ก้าวไปสู่รากฐานที่มั่นคงสำหรับการเติบโตอย่างยั่งยืน ด้วยการเป็นองค์กรที่โปร่งใส มีหลักการธรรมาภิบาลที่ดี ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วนในระยะยาว

ภาพรวมการเติบโตของ ‘การบินไทย’
นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทการบินไทยจำกัด (มหาชน) กล่าวถึงภาพรวมกลยุทธ์การเติบโตของการบินไทยว่า “อัตราการเติบโตที่เราเห็นในปัจจุบันไม่ใช่เป็นเพียงการฟื้นตัวหลังสถานการณ์โควิด-19 แต่เป็นแรงขับเคลื่อนที่มาจากโครงสร้างหลากหลายด้านและการวางกลยุทธ์ระยะยาวอย่างชัดเจน”
กลยุทธ์ที่พลิกโฉมองค์กร
การจะทำให้การบินไทยเดินหน้าต่อไปได้อย่างมั่นคง จากติดลบสู่กำไร ‘ชาย เอี่ยมศิริ’ ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ระบุว่ามาจากการใช้กลยุทธ์ ดังนี้
(1) การปรับโครงสร้างและขนาดองค์กรให้มีความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ตลอดจนการเพิ่มความโปร่งใสในทุกกระบวนการดำเนินงาน สามารถตรวจสอบได้
(2) การปรับโครงสร้างฝูงบินและจำนวนเครื่องบินให้มีประสิทธิภาพ โดยตั้งเป้าหมายว่าจะมีเครื่องบินจำนวน 150 ลำในปี 2576 ซึ่งลดจำนวนแบบเครื่องบินจาก 8 แบบ ก่อนเข้าแผนฟื้นฟูกิจการเหลือเพียง 4 แบบ และลดจำนวนเครื่องยนต์จาก 9 แบบเหลือ 5 แบบ ส่งผลให้สามารถควบคุมต้นทุนในการดำเนินงานและซ่อมบำรุงได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น พร้อมทั้งตั้งเป้าหมายเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดจากปัจจุบันที่ 26% เป็น 35% ภายในปี 2572 เหมือนที่เคยทำได้ในอดีตที่ผ่านมา
(3) การขยายเส้นทางและความถี่ในการบินเพื่อมุ่งสู่การเป็น Regional network airline เชื่อมต่อระดับภูมิภาคและระหว่างทวีป
(4) การปรับปรุงบริการห้องโดยสารและช่องทางการขายเพื่อยกระดับความพึงพอใจของลูกค้า
(5) การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในทุกกระบวนการทำงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ซึ่งรวมถึงเว็บไซต์ และแอปพลิเคชัน เพื่อให้ใช้งานสะดวกมากยิ่งขึ้น และสร้างโอกาสในการเพิ่มสัดส่วนรายได้จากช่องทางการขายตรง เป็นต้น

ซึ่งทั้งหมดนี้ คือปัจจัยสนับสนุนสำคัญที่ทำให้การบินไทยพร้อมสำหรับการเติบโตอย่างยั่งยืนและเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน เพื่อให้การบินไทยก้าวสู่การเป็นหนึ่งในผู้นำในอุตสาหกรรมการบินระดับภูมิภาคอย่างแข็งแกร่งในอนาคต