สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่าองค์การอวกาศยุโรป (ESA) ได้เริ่มมีการเจรจาทางเทคนิคขั้นเบื้องต้นกับสเปซเอ็กซ์ (SpaceX) สำหรับการใช้บริการจรวดปล่อยภารกิจอวกาศชั่วคราว ซึ่งต้องดูว่าดาวเทียมและยานปล่อยประสานกันดีหรือไม่ เพราะหลังจากสงครามยูเครนก็ได้ถูกระงับการใช้จรวดโซยุส (Soyuz) ของรัสเซีย

สงครามรัสเซียยกทัพบุกยูเครนเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ ทำให้ชาติตะวันตกและประเทศพันธมิตรของสหรัฐฯ ร่วมกันคว่ำบาตรรัสเซียอย่างหนัก และได้ส่งผลกระทบในความร่วมมือด้านอวกาศ เช่น 26 กุมภาพันธ์ องค์การอวกาศสหพันธรัฐรัสเซีย (Roscosmos) ระงับความร่วมมือกับยุโรปในการปล่อยภารกิจอวกาศและถอนเจ้าหน้าที่ด้านเทคนิคจากศูนย์อวกาศของยุโรปที่เฟรนช์เกียนา จึงทำให้ภารกิจทั้งหมดที่จะเปิดตัวด้วยจรวดโซยุซต้องถูกระงับลงด้วย

2 มีนาคม Roscosmos ลั่นจะไม่ปล่อยดาวเทียมบรอดแบนด์ OneWeb ของรัฐบาลอังกฤษและหุ้นส่วนบริษัทอินเดียไปสู่วงโคจรบนอวกาศด้วยจรวดโซยุสของรัสเซีย จน OneWeb ต้องหันมาพึ่งจรวดของสเปซเอ็กซ์ที่เป็นคู่แข่ง และ 17 มีนาคม องค์การอวกาศยุโรปประกาศระงับโครงการอวกาศ ExoMars เพื่อค้นหาสัญญาณแห่งชีวิตบนพื้นผิวดาวอังคาร

ปกติยุโรปจะใช้จรวด Vega ของอิตาลีสำหรับบรรทุกน้ำหนักขนาดเล็ก, จรวดโซยุสของรัสเซียบรรทุกน้ำหนักขนาดกลาง และจรวด Ariane 5 ของยุโรปเองสำหรับบรรทุกภารกิจน้ำหนักสูง (เหลือใช้อีกเพียง 5 เที่ยวบิน) ทั้งนี้ยังมีจรวดรุ่นใหม่ Vega-C ที่ได้เปิดตัวเที่ยวบินแรกเมื่อ 13 กรกฎาคม 2023 ในการส่งดาวเทียม LARES 2 และดาวเทียมอีก 6 ดวง นอกจากนี้มีจรวด Ariane 6 ที่กำลังพัฒนามาแทนที่จรวดโซยุซและ Ariane 5 แต่ติดปัญหาความล่าช้า

โจเซฟ อัสช์บัคเคอร์ (Josef Aschbacher) ผู้อำนวยการ ESA เผยว่าได้มีตัวเลือกอยู่ในใจแล้ว ที่ชัดเจนก็คือ สเปซเอ็กซ์ของสหรัฐฯ อีกตัวเลือกคือ ญี่ปุ่น ที่กำลังจะมีเที่ยวบินของจรวดรุ่นต่อไป (น่าจะหมายถึง H3) และอีกตัวเลือกอาจเป็นอินเดีย พร้อมย้ำว่าสเปซเอ็กซ์ดำเนินงานได้ดีกว่าและเป็นตัวสำรองที่ดูอยู่ ซึ่งตอนนี้กำลังพูดคุยในการเข้ากันทางเทคนิคให้มั่นใจก่อนที่จะตัดสินใจ

อัสช์บัคเคอร์กล่าวเพิ่มว่าจะเห็นความชัดเจนของจรวด Ariane 6 ในเดือนตุลาคม หลังจากปัจจุบันกำลังทดสอบ Hot fire เพื่อดูความพร้อมของระบบหลักทั้งหมด จากนั้นจะสรุปแผนสำรองแก่ประเทศสมาชิกในเดือนพฤศจิกายน รวมทั้งกล่าวถึงประเด็นความขัดแย้งในยูเครนได้ปลุกให้ยุโรปรู้ว่าพึ่งพารัสเซียมากเกินไป

เดือนมิถุนายน มีข่าวรายงานว่าอัสช์บัคเคอร์เผยจรวด Ariane 6 จะไม่บินจนกว่าจะถึงปี 2023 หลังจากพบว่ามีปัญหาในการทดสอบ Hot fire สรุปง่าย ๆ ว่ามีโอกาสสูงที่จะมีการเลือกใช้บริการจรวดของสเปซเอ็กซ์

ที่มา : reuters

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส