วันอังคารที่ 27 มิถุนายน เวลา 18:34 น . รัสเซียกำลังจะปล่อยดาวเทียม Meteor-M No.2-3 และดาวเทียมอื่น ๆ ที่ร่วมแชร์เที่ยวบินไปยังวงโคจรสัมพันธ์กับดวงอาทิตย์ ที่ขับดันโดยจรวด Soyuz 2.1b ออกจากฐานปล่อยจรวดที่ 1S ณ ท่าอวกาศยานแห่งใหม่ Vostochny Cosmodrome ที่อยู่ทางตอนเหนือในแคว้นอามูร์ ทางตะวันออกไกลของรัสเซีย และยังเป็นภารกิจแรกของจรวด Soyuz 2.1b ในปี 2023

Meteor เป็นดาวเทียมอุตุนิยมวิทยาที่เปิดตัวโดยสหภาพโซเวียตและรัสเซีย ซึ่งได้รับการพัฒนาขึ้นครั้งแรกในช่วงปี 1960 ออกแบบมาเพื่อตรวจสอบอุณหภูมิในชั้นบรรยากาศและผิวน้ำทะเล ความชื้น การแผ่รังสี สภาพน้ำแข็งในทะเล หิมะปกคลุม และเมฆ ทั้งนี้ในระหว่างปี 1964 และ 1969 ได้มีการปล่อยดาวเทียมในชุด Meteor รวมทั้งหมด 11 ดวง

Meteor-M เป็นดาวเทียมอุตุนิยมวิทยารุ่นใหม่ของรัสเซียที่มาแทนดาวเทียมตระกูล Meteor-3M โดยดาวเทียม Meteor-M สองดวงแรกประกอบด้วยเครื่องมือ MSU-MR เครื่องสแกนหลายสเปกตรัมความละเอียดต่ำสำหรับการทำแผนที่ครอบคลุมเมฆทั่วโลกและระดับภูมิภาค, KMSS-2 หน่วยสแกนหลายช่องสำหรับการตรวจสอบพื้นผิวโลก, MTVZA-GYa สำหรับวัดอุณหภูมิและความชื้นในชั้นบรรยากาศ ลมบนผิวน้ำทะเล, IKFS-2 วัดอุณหภูมิและความชื้นในบรรยากาศแบบขั้นสูง, BRK SSPD ระบบรวบรวมข้อมูล และ RK-SM-MKA วิทยุกู้ภัยสำหรับใช้ส่งข้อความขอความช่วยเหลือจากเรือเดินทะเล เครื่องบิน และยานพาหนะทางบก

ดาวเทียม Meteor-M No.1 ถูกปล่อยสู่วงโคจรเมื่อเดือนกันยายน 2009 แล้วจบภารกิจไปเมื่อปี 2014 ต่อมาได้สร้างดาวเทียมตระกูล Meteor-M 2 ที่ปรับปรุงใหม่ขึ้นมาทดแทน

ในเที่ยวบินนี้ยังมีการแชร์เที่ยวบินด้วยการปล่อยดาวเทียมขนาดเล็ก (Cubesats) จำนวน 42 ดวง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นของรัสเซียและที่เหลือเป็นขององค์กรระหว่างประเทศ

ที่มา : nextspaceflight.com ภาพจาก : youtube.com

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส