องค์การวิจัยอวกาศอินเดีย (ISRO) ได้ปล่อยยานอวกาศ Chandrayaan-3 ที่มียานลงจอดและรถสำรวจ ซึ่งขับดันด้วยจรวด LVM3-M4 ออกจากศูนย์อวกาศสาทิศธาวัน (Satish Dhawan Space Center : SDSC) เกาะศรีหริโกตา รัฐอานธรประเทศ ในวันศุกร์ที่ 14 กรกฎาคม เวลา 14.30 น.ตามเวลาท้องถิ่น (16.00 น. ในประเทศไทย) ไปสู่อวกาศได้สำเร็จ และกำลังเดินทางมุ่งหน้าไปลงจอดใกล้กับขั้วโลกใต้ของดวงจันทร์ คาดว่ายานจะไปลงจอดบนดวงจันทร์ในวันที่ 23 สิงหาคม

ภารกิจ Chandrayaan-3 เป็นความพยายามของอินเดียในการส่งยานไปลงจอดบนดวงจันทร์เป็นครั้งที่ 2 ซึ่งก่อนหน้านี้เมื่อ 7 กันยายน 2019 Vikram ยานสำรวจดวงจันทร์ของอินเดียในภารกิจ Chandrayaan-2 ไม่สามารถติดต่อในขณะกำลังลงจอดได้ ซึ่งทราบภายหลังว่าระบบเบรกทำงานผิดปกติจึงได้พุ่งชนกับพื้นผิวของดวงจันทร์ในระยะ 500 เมตร และเดือนตุลาคม 2008 อินเดียได้ส่งยาน Chandrayaan-1 ขึ้นสู่อวกาศและไปโคจรรอบดวงจันทร์

ปัจจุบันมีเพียง 3 ประเทศเท่านั้นที่สามารถปล่อยยานอวกาศไปลงจอดบนพื้นผิวของดวงจันทร์ได้อย่างนุ่มนวล ได้แก่ สหรัฐอเมริกา รัสเซีย และจีน ส่วนอินเดียกำลังพยายามเป็นประเทศที่ 4 ซึ่งมีเป้าหมายจะให้ยานลงจอดบนขั้วใต้ของดวงจันทร์ที่ยังไม่ได้มีการส่งยานลงไปสำรวจ และได้ทุ่มงบลงไปประมาณ 75 ล้านเหรียญ (2,601 ล้านบาท)

อินเดียได้เริ่มปล่อยจรวดลำแรกสู่อวกาศเมื่อปี 1963 และปี 2014 ได้กลายเป็นประเทศแรกในเอเชียที่ส่งยานสำรวจ Mangalyaan ไปโคจรรอบดาวอังคาร โดยใช้งบประมาณ 74 ล้านเหรียญ (2,569 ล้านบาท) และในปี 2017 ได้ทำสถิติปล่อยดาวเทียม 104 ดวงในภารกิจเดียว นอกจากนี้ปี 2019 ได้ทำการทดสอบต่อต้านดาวเทียมด้วยการยิงดาวเทียมของตัวเองทิ้งไป 1 ดวง และยังได้ประกาศแผนที่จะสร้างสถานีอวกาศของตัวเองภายในปี 2030

ที่มา : edition.cnn.com

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส