จีนกำลังจะปล่อยภารกิจในการส่งดาวเทียม Fengyun-3F ซึ่งเป็นดาวเทียมอุตุนิยมวิทยารุ่นที่ 2 ไปยังวงโคจรรอบขั้วโลกด้วยจรวด Long March 4C ออกจากพื้นที่ปล่อยจรวด Launch Area 4 (SLS-2 / 603) ณ ศูนย์ปล่อยดาวเทียมจิ่วฉวน (Jiuquan) ในทะเลทรายโกบี มณฑลกานซู่ ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน ในวันพฤหัสบดีที่ 3 สิงหาคม เวลา 10:55 น. ซึ่งควบคุมดูแลภารกิจโดย CASC บริษัทด้านโครงการอวกาศของรัฐบาลจีน

Fengyun-3F อยู่ในตระกูลดาวเทียม FengYun-3 (FY-3) ซึ่งเป็นดาวเทียมอุตุนิยมวิทยาที่โคจรรอบขั้วโลกรุ่นที่ 2 ของจีน ต่อจากรุ่น FY-1 ดาวเทียมตระกูลนี้ได้รับการพัฒนาร่วมกันระหว่าง CMA (กรมอุตุนิยมวิทยาของจีน) และ CNSA (องค์การบริหารอวกาศแห่งชาติจีน) ซึ่ง FY-3 รุ่นแรกประกอบด้วยดาวเทียม 5 ดวง ได้แก่ FY-3A, FY-3B, FY-3C, FY-3D และ FY-3E ได้ปล่อยสู่วงโคจรเมื่อปี 2008, 2010, 2013, 2017 และ 2021 ตามลำดับ ทั้งนี้ดาวเทียม FY-3A ได้ถูกปลดประจำการไปแล้วเมื่อปี 2018

ส่วน FY-3 รุ่นที่ 2 ประกอบด้วยดาวเทียม 5 ดวง ได้แก่ FY-3F, FY-3G, FY-3H, FY-3I และ FY-3J มีกำหนดปล่อยสู่วงโคจรตั้งแต่ปี 2022 – 2025 ซึ่งได้ปล่อยดาวเทียม FY-3G ไปเมื่อ 16 เมษายน 2023

ดาวเทียมตระกูล FY-3 รุ่นที่ 2 มีจุดประสงค์เพื่อเพิ่มความสามารถด้วยการวัดการกระจายตัวในแนวตั้งของชั้นบรรยากาศ (Atmospheric sounding) แบบ 3 มิติ เพื่อเก็บข้อมูลครอบคลุมทั่วโลก ได้แก่ ลักษณะของเมฆ พื้นผิวบนพื้นดินและพื้นผิวของน้ำทะเล แล้วนำไปใช้พยากรณ์อากาศ ศึกษาการเปลี่ยนแปลงของโลก การแปรปรวนของสภาพอากาศ ตรวจสอบภัยพิบัติ และให้ข้อมูลสำหรับการทำภารกิจพิเศษต่าง ๆ

ที่มา : spacelaunchschedule.com และ fy4.nsmc.org.cn

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส