พืชเป็นสิ่งมีชีวิต หรือพวกเขามีการเติบโต ต้องการอาหาร มีการเคลื่อนไหว และมีการสืบพันธ์เช่นเดียวกันกับมนุษย์และสัตว์ แต่มีความแตกต่างในแง่การอยู่ร่วมกับสภาพแวดล้อม รวมถึงวิธีสัมผัสและตอบสนองต่อความเจ็บปวดด้วย

พืชรู้จักความเจ็บปวดหรือไม่?

เป็นคำถามที่ดูเรียบง่าย แต่คำตอบถือว่ามีความซับซ้อน ดร.เอลิซาเบธ แวน โวลเคนเบิร์ก (Dr. Elizabeth Van Volkenburgh) ศาสตราจารย์ด้านชีววิทยาแห่งมหาวิทยาลัยวอชิงตันกล่าวว่า ในทางเทคนิคแล้ว พืชรับรู้และตอบสนองต่อการสัมผัส รวมถึงความเจ็บปวดด้วย

ทั้งสัตว์และพืชมีตัวรับแรงกล (mechanoreceptors) อยู่ในเยื่อหุ้มของพวกมัน เมื่อระบบนั้นถูกรบกวนโดยสิ่งเร้าภายนอก เช่น สัตว์กัดใบไม้จากต้นไม้ หรือมุษย์ถอนดอกไม้ออกจากสวน ตัวรับเหล่านี้จะส่งสัญญาณไปยังเซลล์ ซึ่งพืชหรือต้นไม้เหล่านั้น “รับรู้” ว่าตัวเองกำลังถูกกินหรือถูกดึงออกจากพื้นดิน

โวลเคนเบิร์กกล่าวว่าพืชยังสามารถตอบสนองต่อสิ่งรบกวนทางกายภาพ เช่น ถูกตัดขาดหรือได้รับบาดเจ็บ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าพืชเหล่านั้นจะรับรู้สิ่งเร้าที่สร้างความเจ็บปวดเหมือนกับที่มนุษย์หรือสัตว์รับรู้เสียทีเดียว

ในทางทฤษฎีนั้น พืชรับรู้และตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของการสัมผัสและอุณหภูมิอย่างแน่นอน แต่จะบอกว่าพืช “รู้สึก” นั้นก็ไม่ใช่เสียทีเดียว ทุกความรู้สึกที่เกิดขึ้นจะทำงานผ่านเส้น/กระแสประสาทและสมอง แน่นอนว่าพืชไม่มีสิ่งเหล่านี้ เช่น พืชสามารถรับรู้และตอบสนองต่อแสงและคลื่นเสียง แต่จะไม่เห็นหรือได้ยินเนื่องจากประสาทสัมผัสเหล่านั้นอาศัยเส้นประสาทและสมองซึ่งพืชไม่มี

จริง ๆ ประเด็นเรื่องพืชรู้สึกเจ็บปวดหรือไม่นั้นเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันในหมู่นักวิชาการเหมือนกัน งานวิจัยบางชิ้นได้ใช้ยาบางประเภทกับพืชซึ่งพบการเปลี่ยนแปลงทางเคมีบางอย่างที่เหมือนกับสัตว์ด้วย แต่ในทางทฤษฎีแล้วต้นไม้สามารถรับรู้ถึงความเจ็บปวดได้ ไม่ได้หมายความว่าจะรู้สึกเจ็บปวดเหมือนกับสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ

เนื่องจากพืชเป็นสิ่งมีชีวิต เธอจึงสนับสนุนให้เจ้าของพืชมีส่วนร่วมหรือกระทำกับพืชด้วยความเคารพ เช่น แทนที่จะตัดต้นคริสต์มาสทั้งต้น เธอเลือกที่จะตกแต่งกิ่งต้นไม้อย่างเรียบง่ายในบ้านของเธอในช่วงวันหยุด หลังจากคริสต์มาส เธอทิ้งกิ่งไม้นั้นไป และต้นไม้ที่เธอตัดออกมาก็จะงอกขึ้นมาใหม่

ที่มา Apartment Therapy

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส