วันอาทิตย์ที่ 31 มีนาคม เวลา 16:36 น. องค์การอวกาศรัสเซียหรือรอสคอสมอสได้ปล่อยจรวด Soyuz 2.1b ในการขนส่งดาวเทียมสำรวจโลก Resurs-P No.4 ไปสู่วงโคจรสัมพันธ์กับดวงอาทิตย์ ซึ่งออกจากศูนย์ปล่อยจรวด Launch Complex 31/6 ที่ท่าอวกาศไบโคนูร์คอสโมโดรม (Baikonur Cosmodrome) ประเทศคาซัคสถาน และเป็นภารกิจที่ 2 ของจรวด Soyuz 2.1b ในปี 2024

Resurs-P No.4 เป็นหนึ่งใน Resurs-P กลุ่มดาวเทียมสำรวจโลกเชิงพาณิชย์ของรัสเซีย ซึ่งสามารถถ่ายภาพที่มีความละเอียดสูงถึงระดับ 1 เมตร ได้ถูกส่งขึ้นไปแทนที่ดาวเทียม Resurs-P No. 1 – 3

ดาวเทียม Resurs เป็นดาวเทียมสำรวจโลกที่ถูกใช้โดยกระทรวงเกษตรและการประมง อุตุนิยมวิทยา การขนส่ง เหตุฉุกเฉิน ทรัพยากรธรรมชาติ และการป้องกันประเทศของรัสเซีย ซึ่งติดตั้งอุปกรณ์การถ่ายภาพไฮเปอร์สเปกตรัม Geoton-L1 ใช้เลนส์ที่มีรูรับแสง 0.5 เมตร สามารถให้ภาพที่มีรายละเอียดภาคพื้นดิน 1.0 เมตร ในโหมดแพนโครมาติก และความละเอียด 3 – 4 เมตร ในโหมดสี

ดาวเทียม Resurs-P No.1 เป็นดวงแรกของกลุ่มได้ถูกส่งขึ้นสู่วงโคจรเมื่อเดือนมิถุนายน 2013 แต่หลังจากนั้นพบว่าอุปกรณ์บนดาวเทียมทำงานล้มเหลว ต่อมาเดือนธันวาคม 2014 ก็ได้ส่งดาวเทียม Resurs-P No.2 ขึ้นไปแทน แต่หลังจากถูกปล่อยสู่วงโคจรก็พบว่าระบบควบคุมความร้อนและคอมพิวเตอร์ออนบอร์ดมีปัญหาทำให้ดาวเทียมใช้งานไม่ได้

เดือนมีนาคม 2016 ได้มีการส่งดาวเทียม Resurs-P No. 3 ขึ้นไปแทน แต่แผงโซลาร์เซลล์ตัวหนึ่งไม่สามารถเปิดใช้งานได้ในช่วง 10 วันแรก และระบบทำงานได้แค่ 5 เดือนก็ได้พบความล้มเหลวของตัวส่งสัญญาณดาวน์ลิงก์