วันอังคารที่ 2 เมษายน หัวหน้าสำนักงานนโยบายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของทำเนียบขาว (OSTP) ได้มีคำสั่งมายังนาซา (NASA) ให้ทำงานร่วมกับส่วนงานอื่น ๆ ของรัฐบาลสหรัฐฯ ในการจัดทำแผนสร้างมาตรฐานเวลาหรือไทม์โซนใหม่สำหรับดวงจันทร์ หรือเรียกว่า Coordinated Lunar Time (LTC) ภายในปี 2026 เพื่อใช้เทียบเวลาในการทำภารกิจสำหรับยานอวกาศและดาวเทียมบนดวงจันทร์ได้อย่างแม่นยำ

เควิน ค็อกกินส์ (Kevin Coggins) หัวหน้าฝ่ายสื่อสารและการนำทางบนอวกาศของนาซาเผยว่า “นาฬิกาแบบเดียวกับที่เรามีบนโลกจะเดินในอัตราที่ต่างออกไปบนดวงจันทร์”

ในบันทึกของ อาราติ พราบาคาร์ (Arati Prabhakar) หัวหน้า OSTP เผยว่านาฬิกาบนดวงจันทร์จะเดินเร็วกว่าบนโลกเฉลี่ย 58.7 ไมโครวินาทีต่อวัน พร้อมเปรียบเทียบว่าที่หอดูดาวกองทัพเรือสหรัฐฯ จะมีนาฬิกาอะตอมที่ใช้เป็นเวลามาตรฐานของชาติสำหรับประสานสิ่งต่าง ๆ ดังนั้นบนดวงจันทร์ก็ควรจะมีเวลามาตรฐานและอาจจำเป็นต้องติดตั้งนาฬิกาอะตอมบนพื้นผิวของดวงจันทร์

พราบาคาร์กล่าวว่าหากไม่มีมาตรฐานเวลาหรือไทม์โซนบนดวงจันทร์ จึงยากที่จะมั่นใจได้ว่าการถ่ายโอนข้อมูลระหว่างยานอวกาศ และการสื่อสารระหว่างโลก ดาวเทียมบนดวงจันทร์ ฐานภาคพื้นดิน และนักบินอวกาศได้รับการประสานที่ตรงกัน นอกจากนี้หากเวลาคลาดเคลื่อนก็จะส่งผลไปถึงความผิดพลาดในการอ้างอิงตำแหน่งบนดวงจันทร์หรือการโคจรรอบดวงจันทร์ ซึ่งอารมณ์เดียวกับการไม่ปรับเวลาบนนาฬิกาให้ตรงกัน ลองคิดดูว่าโลกของเราจะวุ่นวายขนาดไหน

จนถึงปัจจุบันมี 5 ประเทศในโลกที่สามารถส่งยานอวกาศไปลงจอดบนดวงจันทร์ได้อย่างนุ่มนวล ได้แก่ สหรัฐอเมริกา รัสเซีย จีน อินเดียและญี่ปุ่น แต่มีสหรัฐฯ เพียงประเทศเดียวที่สามารถส่งนักบินอวกาศไปเหยียบบนพื้นผิวของดวงจันทร์ได้สำเร็จ และกำลังมีโครงการอาร์เทมิสในการส่งนักบินอวกาศกลับไปเหยียบดวงจันทร์เป็นครั้งที่ 2 ในปี 2026 ส่วนจีนจะส่งนักบินอวกาศคนแรกไปเหยียบพื้นผิวบนดวงจันทร์ในปี 2030 และอินเดียจะส่งไปในปี 2040

ดังนั้นสหรัฐฯ จึงต้องการแสดงความเป็นผู้นำในด้านอวกาศ ด้วยการกำหนดมาตรฐานเวลาให้เหมาะสมและแม่นยำ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อทุกประเทศที่เดินทางไปในอวกาศและดวงจันทร์ ซึ่งในเอกสารบันทึกของ OSTP ได้เสนอว่า วิธีการปรับใช้ LTC จะต้องทำข้อตกลงระหว่างประเทศผ่านองค์กรกำหนดมาตรฐานที่มีอยู่ และพันธมิตร 36 ประเทศที่ลงนามในสนธิสัญญาอาร์เทมิส ซึ่งเกี่ยวข้องกับการดำเนินงานต่าง ๆ ในอวกาศและบนดวงจันทร์ แต่ประเทศคู่แข่งอย่างจีนและรัสเซียไม่ได้ร่วมลงนามในสนธิสัญญาฉบับนี้