Gwynne Shotwell ประธานของสเปซเอ็กซ์ (SpaceX) กล่าวในการประชุมการพัฒนาอวกาศนานาชาติ (ISDC) ประจำปี 2021 ผ่านออนไลน์ว่าสเปซเอ็กซ์จะปล่อยต้นแบบสตาร์ชิป (Starship) ในการทดสอบบินตามแนววงโคจรไปสู่อวกาศ (Orbital test flight) เป็นครั้งแรกในเดือนกรกฎาคมนี้ เขาหวังว่าทีมงานทุกคนจะทำได้ ทั้งที่รู้ว่าภารกิจนี้เป็นอะไรที่ยากมาก ซึ่งสปเซเอ็กซ์กำลังเข้าสู่จุดสูงสุดของการบินในระบบนั้น หรืออย่างน้อยก็ต้องพยายามบินตามแนววงโคจรไปสู่อวกาศครั้งแรกในช่วงใกล้นี้ให้ได้จริง ๆ

สเปซเอ็กซ์มีแผนทดสอบการบินต้นแบบสตาร์ชิปตามแนววงโคจรไปสู่อวกาศที่มีระยะทางประมาณ 100 ก.ม. จะถูกปล่อยจากสตาร์เบส (Starbase) หรือหมู่บ้าน Boca Chica รัฐเท็กซัส เมื่อบินขึ้นไปประมาณ 170 วินาทีหรือราว 3 นาทีกว่า ๆ ส่วนของบูสเตอร์หรือจรวด Falcon Super Heavy จะแยกตัวออกมาแล้วบินกลับมาลงจอดบนเรือในอ่าวเม็กซิโกห่างจากฝั่ง 20 ไมล์ (32.1 ก.ม.) ส่วนต้นแบบสตาร์ชิปจะบินไปตามวงโคจรสู่อวกาศแล้วจะกลับมาลงจอดทางน้ำในมหาสมุทรแปซิฟิกนอกชายฝั่งของฮาวายและใช้เวลาบินทั้งหมดประมาณ 90 นาที

ปี 2019 สเปซเอ็กซ์เคยสร้างต้นแบบสตาร์ชิปรุ่นก่อนที่เรียกว่า Starhopper และเคยผ่านการบินทดสอบในระยะสั้นหรือระดับความสูง 150 เมตรมาแล้ว ต่อมา 4 ส.ค. 2020 ต้นแบบสตาร์ชิป SN5 ก็สามารถบินทดสอบในระยะสั้น 150 ม. ได้สำเร็จเป็นครั้งที่ 2 และต้นแบบ SN6 ได้บินทดสอบในระยะสั้น 150 ม. สำเร็จเป็นครั้งที่ 3

ธันวาคม 2020 สเปซเอ็กซ์ได้เริ่มขยับสู่การบินทดสอบต้นแบบสตาร์ชิปในระดับสูงที่มีความยากขึ้นอย่างมาก เริ่มจาก SN8 ที่สามารถบินไปสู่ระดับความสูงที่ 12.5 กม. และพลิกตัวกลับลงมาได้ แต่ลงจอดกระแทกแรงจนระเบิด ต่อมาปี 2021 ได้ปรับลดความสูงอยู่ที่ 10 กม. โดยได้บินทดสอบ SN9, SN10 และ SN11 ล้มเหลวเกิดการระเบิด ซึ่งติดต่อกันถึง 4 ครั้ง ต่อมาได้ข้ามไปใช้ต้นแบบ SN15 ที่สามารถลงจอดได้อย่างสมบูรณ์ไม่ระเบิดเมื่อเดือน พ.ค.

สรุปง่าย ๆ ว่าการทดสอบบินตามแนววงโคจรไปสู่อวกาศครั้งแรก (Orbital test flight) เป็นเรื่องที่ยากและท้าทายอย่างมาก แต่ถ้าสเปซเอ็กซ์สามารถทำได้สำเร็จเป้าหมายจะส่งยานไปสำรวจดวงจันทร์ ดาวอังคารและเที่ยวบินโดยสารความเร็วสูงเหนือเสียงแบบไฮเปอร์โซนิกเพื่อส่งผู้โดยสารจากท่าในประเทศหนึ่งไปยังท่าของอีกประเทศหนึ่งด้วยเวลาไม่ถึงหนึ่งชั่วโมงก็คงอยู่ไม่ไกล

ที่มา : engadget และ cnbc

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส