บทสรุปเนื้อเรื่องนี้จะเรียงลำดับแบบ Chronological คือเรียงตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนหลังภายในเกม ไม่ได้เรียงตามสิ่งที่ผู้เล่นจะรู้จากการเล่นนะครับ คือไม่ได้เล่าจากเริ่มเกมไปจนจบเกม แต่เล่าตามไทม์ไลน์ของเหตุการณ์เลย เนื่องจากการเขียนในลักษณะนี้จะสามารถครอบคลุมเนื้อหาได้ละเอียดและสับสนน้อยกว่า ก็หวังว่าจะสนุกกันครับ
พร้อมแล้วก็มาเริ่มกันเลย
ในปี 2033 เท็ด แฟโร่ (Ted Faro) นักธุรกิจหนุ่มชาวอเมริกันได้ก่อตั้งบริษัท Faro Automated Solution (FAS) โดยตั้งเป้าจะขึ้นเป็นผู้นำทางด้านการผลิตและจัดจำหน่ายเทคโนโลยีหุ่นยนต์ โดยในปี 2038 FAS ประสบความสำเร็จอย่างมากจากการเปิดตัวสายการผลิตหุ่นยนต์ผู้ช่วยและหุ่นยนต์เฝ้ายาม ส่งผลให้ FAS ขึ้นเป็น 1 ใน 50 บริษัทชั้นนำของโลกอย่างรวดเร็ว

ต่อมาในปี 2040 อลิซาเบท โซเบค (Elisabet Sobeck) นักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกันผู้จบปริญาเอกสาขาการออกแบบหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ด้วยวัยเพียง 20 ปี ได้เข้าทำงานกับ FAS ในฐานะ Junior Scientist และไต่เต้าขึ้นเป็น หัวหน้าทีมวิจัยอย่างรวดเร็ว อลิซาเบทได้ออกแบบหุ่นยนต์รักษาสิ่งแวดล้อมออกมามากมายซึ่งช่วยฟื้นคืนธรรมชาติของโลกจากวิกฤตการณ์สิ่งแวดล้อม ส่งผลให้ FAS ทำกำไรอย่างมหาศาลและขึ้นเป็นผู้นำในอุตสากรรมอย่างรวดเร็ว

ในปี 2048 เท็ด แฟโร่ ตัดสินใจนำ FAS เข้าไปลงเล่นในอุตสาหกรรมพัฒนาอาวุธทางทหาร การตัดสินใจนี้ทำให้อลิซาเบทไม่พอใจอย่างมากและลาออกจาก FAS ในปีเดียวกัน ก่อนจะไปก่อตั้ง Miriam Tech บริษัทผู้พัฒนาและจัดจำหน่ายหุ่นยนต์รักษาสิ่งแวดล้อมในปี 2049 และได้รับรางวัลมากมายจากผลงานของเธอ
ทางด้าน FAS หลังจากที่อลิซาเบธลาออกไปแล้วก็เริ่มเดินสายการผลิตหุ่นยนต์ทางการทหารอย่างเต็มรูปแบบในชื่อสายการผลิต Chariot ซึ่งเป็นโมเดลของหุ่นยนต์ที่สามารถแปรสภาพชีวโมเลกุลใดๆก็ได้ มาเป็นเชื้อเพลิงในการขับเคลื่อนตัวเองยามฉุกเฉิน

โดยโมเดลของหุ่นยนต์ในสายการผลิต Chariot นั้นประกอบไปด้วย
- ACA3 – Scarab ซึ่งก็คือเจ้า Corruptor ที่เราเจอในเกมนั่นเองครับ โดย Scarab เป็นหุ่นรบสำหรับสอดแนมที่ถูกออกแบบมาให้มีความสามารถในการเคลื่อนที่และปฏิบัติการภายใต้ภูมิประเทศทุกรูปแบบ เมื่อเชื้อเพลิงใกล้หมด Scarab จะทำการแปรสภาพชีวโมเลกุลจากสิ่งมีชีวิตโดยรอบเพื่อขับเคลื่อนตัวมันเองจนกว่าจะเดินทางกลับถึงฐาน ที่สำคัญ Scarab ยังมีความสามารถในการแฮคและควบคุมการทำงานของหุ่นยนต์ฝ่ายศัตรูผ่าน network ของมันเองได้ ซึ่งก็คือเวลาที่มัน corrupt เครื่องจักรตัวอื่นๆให้เข้าโจมตีเราแบบที่เราเห็นในเกมนั่นเองครับ
- FSP5 – Khopesh หรือก็คือเจ้า Deathbringer นั่นเอง Khopesh เป็นหุ่นรบติดอาวุธหนัก ถูกออกแบบมาให้สามารถติดตั้งอาวุธได้หลากหลายด้วยการใช้วัสดุที่สามารถรับแรงถีบได้อย่างสมบูรณ์แบบ ความสามารถในการดูดซับชีวโมเลกุลจากสิ่งมีโดยรอบมาเป็นเชื้อเพลิงทำให้ Khopesh สามารถทำงานได้แม้อยู่ในภาวะฉุกเฉิน เรียกได้ว่า Khopesh คือหุ่นรบสำหรับทำลายล้างเป็นหลักนั่นเอง
- BOR8 – Horus หรือก็คือตัว Metal Devil ไอ้ตัวมีหนวดเยอะๆ เหมือนปลาหมึกที่เป็นซากบนยอดเขานั่นเองครับ Horus เป็นเหมือนโรงงานและศูนย์สั่งการเคลื่อนที่ของหุ่นรบในการสายการผลิต Chariot ทั้งหลาย Horus สามารถดำเนินการซ่อมแซมหรือสร้างหุ่นรบตัวอื่นหรือแม้กระทั่งตัวมันเองขึ้นมาใหม่ได้ด้วยตัวเอง และใช้เชื้อเพลิงจากชีวโมเลกุลที่หุ่นรบตัวอื่นๆแปรสภาพมาในการปฏิบัติการ ก็คือ ถ้า Scarab หรือ Khopesh ตัวไหนถูกทำลาย Horus ก็สามารถสร้างมันขึ้นมาใหม่ได้เองทันทีโดยอัตโนมัติ ไม่ต้องรอคำสั่ง หรือแม้กระทั่งหากตัว Horus เองถูกทำลาย มันก็สามารถซ่อมแซมตัวเองขึ้นมาได้เช่นกัน

กล่าวโดยสรุปก็คือ หุ่นรบสายการผลิต Chariot พวกนี้ คือหุ่นรบในอุดมคติที่สามารถเพิ่มจำนวนเองได้ ซ่อมแซมกันเองได้ และตราบใดที่รอบๆ พวกมันยังมีสิ่งมีชีวิตหรืออะไรก็ตามที่มีส่วนประกอบของชีวโมเลกุลอยู่ อย่างเช่นพืชหรือสัตว์ พวกมันก็สามารถเติมพลังงานให้ตัวเองได้ด้วยการแปรสภาพสิ่งมีชีวิตเหล่านั้นให้กลายเป็นเชื้อเพลิง
โดยในกระบวนการออกแบบและผลิตหุ่นยนต์เหล่านี้ ตัวเท็ด แฟโร่ ได้กำชับกับทีมวิศวกรที่เขียนโค้ดให้กับระบบการทำงานของเครื่องจักร ให้ใช้ระบบที่มีความซับซ้อนสูงที่สุด วัสดุที่ดีที่สุด และปราศจากส่วนที่เป็นเหมือน backdoor ของระบบ เพื่อป้องกันการถูกแทรกแซง

หุ่นรบในสายการผลิต Chariot ถูกเปิดตัวและจัดจำหน่ายให้แก่กองกำลังทหารทั่วโลกในชื่อ Peacekeeper (ผู้รักษาสันติภาพ) โดยลับหลัง FAS ก็คอยหาทางยุยงให้ฝ่ายนู้นฝ่ายนี้องค์กรนั้นองค์กรนี้ตีกันด้วย แล้วก็ขาย Peacekeeper ให้กับทั้งสองฝ่าย เพื่อเพิ่มยอดขายให้กับหุ่นรบของตนเอง จนไม่นาน FAS ก็ได้ขึ้นไปอยู่ในรายชื่อบริษัทที่ร่ำรวยที่สุดของโลก
ลางร้ายเริ่มปรากฎ
จนกระทั่งในช่วงปี 2064 ทั่วโลกเริ่มพบเห็นและตระหนักถึงผลกระทบของ Peacekeeper ต่อสิ่งแวดล้อม เช่น มีคนพบเห็นหุ่น Khopesh กำลังแปรสภาพปลาโลมาที่ใกล้จะสูญพันธุ์แล้วให้กลายเป็นเชื้อเพลิงแถวๆ ชายฝั่งที่ออสเตรเลีย (นึกภาพว่าปลาโลมาโดยคั้นจนเละ แล้วดูดไปเป็นเชื้อเพลิง) เพียงไม่นานก็มีกว่า 127 หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนทั่วโลกฟ้องร้อง FAS เนื่องจากผลกระทบจากการใช้งาน Peacekeeper ดังกล่าว

ในจังหวะเดียวกันนั่นเอง ที่เกิด Glitch (ความผิดปกติ) ขึ้นในระบบปฏิบัติการของ Peacekeeper ทำให้พวกมันไม่สามารถตอบรับคำสั่งจากมนุษย์ได้อีกต่อไป พวกมันเริ่มทำการแปรสภาพชีวโมเลกุลเป็นเชื้อเพลิงอย่างไม่มีวันหยุด และทำการเพิ่มจำนวนไปเรื่อยๆแบบทวีคูณ ทำให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมเป็นวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ
เท็ดจึงสั่งให้หาทางปิดเครือข่ายระบบปฏิบัติการทั้งหมดของ Peacekeeper แต่จะปิดตรงๆก็ไม่ได้เพราะ Peacekeeper ไม่ตอบรับคำสั่งโดยตรงอีกต่อไป และด้วยความที่ Peacekeeper ไม่มี Backdoor ในระบบปฏิบัติการ การแฮคหรือแทรกแซงเข้าไปจึงเป็นเรื่องที่ทำไม่ได้ง่ายๆ … เรียกได้ว่าทำตัวเองแท้ๆ

เท็ดที่หมดหนทาง จึงติดต่ออลิซาเบทให้กลับมาช่วย หลังจากที่อลิซาเบทรับรู้เรื่องที่เกิดขึ้น เธอก็ตระหนักทันทีว่านี่ไม่ใช่วิกฤตการณ์ธรรมดา เพราะหากปล่อยไว้แบบนี้ Peacekeeper ก็จะค่อยๆ สูบชีวโมเลกุลของโลกไปเรื่อยๆ พร้อมกับขยายประชากรไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ชั้นบรรยากาศจะค่อยๆ ถูกทำลาย ผืนดินและทะเลจะเต็มไปด้วยสารพิษ ในที่สุดโลกก็จะอยู่ในสภาพที่สิ่งมีชีวิตไม่สามารถดำรงอยู่ได้อีกต่อไป ไม่ใช่แค่มนุษยชาติที่จะสูญพันธุ์ แต่ชีวิตทั้งหมดบนดาวโลกจะสูญพันธุ์ไปด้วย เหลือเพียงโลกที่ตายไปแล้ว และหุ่นรบสังหารนับล้านๆ ที่หลับใหลเพราะไม่มีสิ่งมีชีวิตเหลือมาป้อนพลังงานให้อีกต่อไป
ด้วยเหตุนั้นเอง แม้เธอจะไม่พอใจแค่ไหน แต่อลิซาเบทก็ยอมให้ความร่วมมือในการหาทางปิดเครือข่ายปฏิบัติการของ Peacekeeper ให้ได้ก่อนที่เรื่องนี้จะแดงออกไปถึงหูประชาชน ทว่าจนแล้วจนรอด เธอก็ไม่พบหนทางที่เป็นไปได้ เพราะจากการคาดการณ์ของเธอ การจะแกะโค้ดในระบบปฏิบัติการของ Peacekeeper เพื่อเจาะเข้าไปปิดระบบของพวกมันได้ จำเป็นจะต้องใช้เวลากว่า 50 ปี แต่ด้วยอัตราการขยายตัวของ Peacekeeper แล้ว อย่างดีที่สุด โลกและสิ่งมีชีวิตทั้งหมดก็อยู่ได้อีกเพียงไม่ถึง 2 ปี ซึ่งเราเรียกกองทัพหุ่น Peacekeeper พวกนี้ว่า Faro Plague แต่เพื่อกันความสับสน ผมจะเรียกพวกมันว่า Peacekeeper ต่อไปนะครับ แม้ในเกมจะเรียกมันว่า Faro Plague บ้าง Swarm บ้างในต่างวาระกัน
(อ่านต่อหน้า 2)