ชื่อนั้นสำคัญไฉนนั่นคือคำถามที่หลายคนคงจะสงสัย เพราะการตั้งชื่อนั้นเป็นการบอกถึงการมีตัวตนของคน ๆ นั้น แต่ในวิดีโอเกมการตั้งชื่อตัวละครส่วนมากจะอ้างอิงถึงลักษณะนิสัยท่าทางรูปลักษณ์ หรือจะเป็นสิ่งที่ตัวละครคนนั้นทำที่ตัวเกมต้องการสื่อออกมา อย่างเช่นคนที่นิสัยใจร้อนขี้โวยวาย เราก็มักจะเห็นตัวละครมีชื่อเกี่ยวกับไฟเปลวเพลิงหรือความร้อนแรง แต่ก็มีการตั้งชื่ออีกแบบที่ตั้งตามความเหมาะสมและเชื้อชาติของตัวละคร แต่ด้วยการอ่านออกเสียงที่สระการอ่านของแต่ละชาตินั้นต่างกัน จึงกลายเป็นการเรียกชื่อตัวละครนั้น ๆ ผิดไป วันนี้เรามาดูกันดีกว่าว่ามีตัวละครในเกมคนไหนบ้างที่มักเราเรียกชื่อหรือเข้าใจผิดมาตลอด โดยจะอ้างอิงชื่อจากผู้พัฒนาเกมเป็นตัวตัดสิน เรามาหาคำตอบไปพร้อม ๆ กันเลยว่ามีตัวละครไหนบ้างที่เราเรียกชื่อผิดกัน

Alcina Dimitrescu จากเกม Resident Evil Village

Resident Evil Village

เริ่มต้นตัวละครแรกที่หลายคนน่าจะรู้จักคุณแม่ร่างยักษ์คนนี้เป็นอย่างดี กับ อัลซิน่า ดิมิเทรสคู (Alcina Dimitrescu) จากเกม ‘Resident Evil Village’ ตัวละครขโมยซีนที่ตั้งแต่เปิดตัวมาทุกคนต่างก็พูดถึงเธอเกี่ยวกับขนาดร่างกายที่ใหญ่ผิดมนุษย์ แถมยังมีหน้าตาที่สวยตรงข้ามกับความโหดของเธอที่เจอในเกม ซึ่งประเด็นที่หลายคนเข้าใจผิดเกี่ยวกับตัวของอัลซิน่าไม่ใช่ชื่อ แต่เป็นนามสกุล ‘Dimitrescu’ ที่เราจะอ่านออกเสียงว่า ดิมิเทรสคู (dimi-TRES-koo) ที่ตามเนื้อเรื่องตัวของอัลซิน่าเป็นชาวโรมาเนียการอ่านออกเสียงแบบนี้จึงถูกต้อง แต่ความจริงแล้วทาง ‘Caapcom’ ออกมาบอกว่าเป็นการออกเสียงที่ผิด ความจริงต้องออกเสียงว่า ดิมิทรีส ‘dimi-TREECE’ ส่วนคำว่า “cu” ไม่ต้องออกเสียง สรุปคือเธอชื่อ อัลซิน่า ดิมิทรีส (Alcina Dimitrescu) เข้าใจตรงกันนะ

Resident Evil Village

Pikachu จากเกม Pokemon

Pokemon

มาต่อที่คำถามคำถามชิงเงินล้าน คุณว่าเจ้าหนูสายฟ้า (ไม่ใช่หนูอีกต่างหากแต่สายพันธุ์เดียวกับกระต่าย) จากเกม ‘Pokemon’ ตัวนี้มีชื่อว่าอะไร ปิ๊กาจู, ปีกาจู๋, พิคาชู, ปีกาจู เพราะเมื่อเราดูชื่อของภาษาอังกฤษจะเขียนว่า ‘Pikachu’ ที่ถ้าอ่านตามการออกเสียงก็จะได้คำว่า “พิคาชู” หรือ “ปิกาจู” ก็ได้ จนหลายคนรู้สึกสับสนว่าจริง ๆ แล้วเราต้องเรียกว่าอะไรกันแน่ จนเราต้องไปหาต้นทางในภาษาญี่ปุ่นที่เขียนว่า ‘ピカチュウ’ ที่เมื่อเอามาแปลก็จะได้คำว่า ‘Pi kā cū’ หรือ ปิกาจู นั่นเอง ซึ่งที่หลายคนมักจะเรียกผิด เพราะในเกมกับในการ์ตูนเราจะได้ยินเสียงปิกาจูร้องหลายเสียงทั้ง ปีกาปิก๊า ตอนดีใจ หรือบางก็ร้อง ปีก๊าจู แบบลากเสียงยาว ๆ ที่เป็นตอนใช้พลัง จนทำให้หลายคงสับสนว่าจริง ๆ แล้วต้องเรียกว่าอะไรกันแน่ คราวนี้จะได้รู้เสียทีว่าน้องชื่อ ปิกาจู นั่นเอง

Pokemon

Rinoa Heartilly จากเกม Final Fantasy 8

Final Fantasy 8

ย้อนกลับไปสมัยเครื่อง ‘Playstation 1’ ตอนที่เกม ‘Final Fantasy 8’ วางจำหน่าย หลายคนที่ได้รู้จักความสนุกดีงามของเกม ‘Final Fantasy 7’ มาแล้วก็ไม่พลาดที่จะสานต่อความสนุกของเกมภาค 8 ต่อทันที ซึ่งด้วยปัญหาของกำแพงภาษาที่แม้จะมีฉบับภาษาอังกฤษวางจำหน่ายก็ตาม หลายคนก็ยังคงพึ่งพาหนังสือบทสรุปเกม ที่ภายในนั้นจะบอกเล่าวิธีผ่านเกมไปจนถึงชื่อตัวละครในเกม ที่ในยุคนั้นจะเรียกตัวละครนางเอกอย่าง ริโนอา ฮาร์ทิลลี่ (Rinoa Heartilly) ว่า “รีนัวร์” ทั้งที่ความจริงชื่อของเธอนั้นเรียกแบบตรงตัวเลยว่า ริโนอา แม้แต่ในภาษาญี่ปุ่นเองที่เขียนว่า ‘リノア’ ยังอ่านออกเสียงว่า ริโนอา ใครที่เรียกตัวละครตัวนี้ว่า รีนัวร์ แปลว่าคุณไม่เด็กแล้ว และควรเรียกใหม่จะได้ไม่อายเด็ก ๆ

Final Fantasy 8

Geralt จากเกม The Witcher

The Witcher

คราวนี้มาดูชื่อที่ชาวต่างชาติเรียกผิดแต่บ้านเราเรียกถูกกันบ้าง กับนักล่าปีศาจผมขาวสุดแกร่งในเกมและซีรีส์ ‘The Witcher’ กับ เกรัลต์ ออฟ ริเวีย (Geralt of Rivia) ที่ใครซึ่งดูซีรีส์กับเล่นเกมมาแล้วคงจะรู้จักเขาเป็นอย่างดี ซึ่งต้องบอกก่อนว่าเรื่องราวในซีรีส์ที่เราได้ดูนั้นคือเรื่องราวก่อนในเกมภาคแรก และมีการนำเรื่องราวในหนังสือมาดัดแปลง ที่ต่างกับซีรีส์ที่เนื้อหาจะตรงกับหนังสือกว่า ดังนั้นจึงเอาเรื่องราวในเกมมาอ้างอิงเทียบซีรีส์ไม่ได้แบบ 100% แต่นั่นก็พอจะให้เรารู้ว่าเรื่องราวต่อไปจะเป็นอย่างไรต่อไป ส่วนปัญหาที่ชาวต่างชาติเข้าใจผิดกันนั่นคือการอ่านชื่อ เกรัลต์ ผิดเป็น เจอรัลด์ (JERR-alt) เพราะอ่านออกเสียงตัว ‘G’ เป็นตัว ‘J’ ซึ่งอาจจะเป็นเพราะเรื่องของการใช้ภาษาที่อ่านและใช้เสียงต่างกัน แต่มันก็ไม่ใช่ปัญหาในบ้านเราเมื่อเทียบกับตัวละครอื่น ๆ ที่เราหยิบมานำเสนอ

The Witcher

Raiden จากเกม Metal Gear Solid 2 Sons of Liberty

Metal Gear Solid 2

อีกหนึ่งตัวละครที่ชื่อชวนงงว่าจริง ๆ แล้วต้องเรียกเขาว่าอะไร กับชื่อรหัสสายลับที่ชื่อว่า‘Raiden’ ตัวละครหลักในเกม ‘Metal Gear Solid 2 Sons of Liberty’ หนึ่งในตัวละครคุณหลอกดาว ที่ในยุคนั้นตัวอย่างเกม ‘Metal Gear Solid 2’ ไม่มีการฉายภาพของพ่อหนุ่มรูปงามคนนี้เลย แม้แต่ฉากต่อสู้ที่ในเกมจริง ๆ ต้องเป็นพี่สายฟ้าคนนี้ แต่ทางทีมงานกลับใช้รูปลุงงู ‘Snake’ มาแทนเพื่อหลอกคนเล่นเกม จนเมื่อเกมออกมาเรากลับได้เล่นเป็นลุงงูแค่ช่วงต้นเกมแค่ 20 นาที ที่เหลือเราจะได้เล่นเป็น ‘Raiden’ จนจบ ซึ่งประเด็นที่เราจะพูดถึงไม่ใช่เรื่องนี้ แต่เป็นชื่อรหัสของเขาที่ถ้าเราอ่านออกเสียง ‘Raiden’ ก็จะเป็นคำว่า “ไรเดน” แต่ความจริงแล้วถ้าเรียกตามภาษาญี่ปุ่นจริง ๆ เราต้องเรียกว่า “ไร่เดน” ที่แปลว่าเทพเจ้าสายฟ้า เหมือน ไรเดน (Raiden) เทพแห่งสายฟ้าในเกม ‘Mortal Kombat’ ที่ต้องเรียกเขาว่า ไร่เดน แต่ทางทีมพัฒนาเกม ‘Mortal Kombat’ ออกมาบอกว่าเรียก ไรเดน คือสิ่งที่ถูก ก็ขึ้นอยู่กับเราแล้วกันว่าจะเรียกแบบไหน

Metal Gear Solid 2
Mortal Kombat

Saga จากเกม Street Fighter  

Street Fighter  

เถียงเรื่องชื่อของตัวละครชาติอื่นมาเยอะคราวนี้มาดูตัวละครคนไทยกันบ้าง กับนักมวยไทยตาเดียวในตำนานของเกม ‘Street Fighter’ กับ สกัด (Saga) ที่เมื่อเราย้อนเวลากลับไปในอดีตตอนที่เกม ‘Street Fighter 2’ โด่งดัง ซึ่งไม่ว่าจะไปที่ไหนก็จะเจอแต่คนเล่นไม่ก็พูดถึงแต่เกมนี้ และหนึ่งสิ่งที่คนยุคนั้นเรียกต่างกับคนยุคนี้นั่นชื่อตัวละคร สกัด (Saga) ว่า “สงัด” ที่แปลว่า สงบเงียบปราศจากเสียงใด ๆ แต่ในภาษาอังกฤษกับในยุคนี้เราจะเรียกเขาว่า “สกัด” ที่แปลว่า กั้นขวางหรือการกะเทาะของแข็งอย่างเหล็ก ที่ไม่ว่าจะใช้ชื่อไหนก็มีความหมายที่ตรงกับตัวละครตัวนี้ทั้งสิ้น ซึ่งถ้าจะให้คนไทยเราตัดสินว่าสมควรใช้ชื่อไหนคนไทยเราคงจะเลือกชื่อ สกัด เพราะตรงกับความหมายท่าทางของเขาที่ใช้เข่าศอกแบบมวยไทยที่ดูดุดันมากกว่าคำว่า สงัด ที่ดูตรงข้ามกับตัวละครคนนี้ แต่ถ้าเราไปอ่านชื่อนี้ไปอ่านในภาษาญี่ปุ่นจะได้คำว่า ‘サガット’ ที่อ่านออกเสียงว่า “สงัด” สรุปตัวละครคนนี้ชื่อว่า สงัด ที่แปลว่าสงบเงียบไม่ใช่ สกัด เข้าใจตรงกันนะ

Street Fighter  

Mei-Ling Zhou  จากเกม  Overwatch

Overwatch

จากตัวละครคนไทยไปแล้วคราวนี้มาดูชื่อตัวละครคนจีนกันบ้าง กับสาวหมวยจากเกม ‘Overwatch’ อย่าง Mei-Ling Zhou (เหม่ย หลิงโจว) ที่ถ้าใครซึ่งได้เล่นเกม ‘Overwatch’ มาคงจะสับสนแน่ ๆ ว่าความจริงแล้วตัวละครคนนี้ชื่ออะไรกันแน่ เพราะในเกมนี้จะเรียกเธอว่า “เหม่ย” (Mei) แต่ชาวเอเชียอย่างเราจะเรียกเธอว่า “เหมย” ไม่มีไม้เอกในการออกเสียงที่ไม่เหมือนกับต่างประเทศ จนหลายคนสงสัยว่าสรุปแล้วเราต้องเรียกเธอว่าอะไร จะ เหม่ย หรือ เหมย กันแน่ ซึ่งเมื่อเราไปดูการอ่านออกเสียงของภาษาจีนจะได้คำว่า ‘美’ ที่อ่านออกเสียว่า “เหมย” ที่แปลว่าความงดงาม หรือถ้าจะอ่านว่า เหม่ย (Mei) ในภาษาจีนก็จะแปลว่าบ๊วยหรือดอกบ๊วยก็ได้ ที่ไม่ว่าจะเรียกแบบไหนก็ไม่ถูกไม่ผิดเพราะคนจีนเองก็เรียกเธอทั้ง เหมย และ เหม่ย (อ้างอิงจาก จาง หยู่ (Zhang Yu) ชาวจีนที่ให้เสียงตัวละครนี้) เหมือนบ้านเราที่เรียก สกัด กับ สงัด ที่ทั้งสองชื่อมีความหมายจะเรียกแบบไหนก็ไม่ถูกไม่ผิดนั่นเอง แต่ที่แน่ ๆ เธอไม่ได้ชื่อ เมย์ แบบที่เราได้ยินในเกมอย่างเรียกผิดก็พอ

Overwatch

Tidus จากเกม Final Fantasy 10

Final Fantasy 10

กลับมาที่ฝั่ง ‘Final Fantasy’ อีกครั้งแต่คราวนี้จะเป็นภาคที่ 10 ของซีรีส์กันบ้าง กับตัวละครที่ต่างชาติสงสัยว่าต้องเรียกชื่อเขาอย่างไรกันแน่ ระหว่าง ทีดัส (Tidus) ที่เราเรียกกันกับที่ต่างประเทศจะอ่านออกเสียงตรงข้ามกับเราเป็น ทีดูส (TEE-dus) ซึ่งภายในเกม ‘Kingdom Hearts’ ที่ตัวละครคนนี้ไปปรากฏตัวก็มีการพูดชื่อออกมาว่า ทีดูส จนกลายเป็นการถกถียงกันว่าสรุปแล้วพี่เขาชื่อ ทีดัส หรือ ทีดูส กันแน่ ซึ่งในภาษาญี่ปุ่นจะเขียนว่า ‘ティーダ’ ที่อ่านว่า ทีดะ (Tida) ที่หนักกว่าเดิมอีก จนสุดท้ายทาง ‘Square Enix’ ได้ออกมายืนยันตัดสินชัด ๆ ไปเลยว่าตัวละครนี้อ่านว่า “ทีดูส” คือชื่อที่ถูกต้อง โอเคจบแยกย้ายไปทำงานต่อ

Final Fantasy 10

Uvuvwevwevwe Onyetenyevwe Ugwemubwem Osas อ่านว่าอะไรกันแน่

Uvuvwevwevwe Onyetenyevwe Ugwemubwem Osas

ปิดท้ายแถมให้กับชื่อของพ่อหนุ่มชื่อยาวที่เคยเป็นกระแสให้เราพูดถึง กับชื่อของเขาที่ต่อให้เราพูดตามเขายังไงก็พูดไม่ถูกกับชื่อ ‘Uvuvwevwevwe Onyetenyevwe Ugwemubwem Osas’ ที่ถ้าอ่านแบบสะกดทีละคำเป็นภาษาไทยจะได้คำอ่านว่า “อุฟุฟวยฟวยฟวย อันเยนทวยววยฟวย อุกเวมุเวม โอซาส” ซึ่งความจริงแล้วชื่อที่เราเห็นนั้นเป็นเพียงการเล่นคำสนุก ๆ เท่านั้นไม่ใช่ชื่อจริงแต่อย่างใด โดยชื่อจริงของอุฟุฟวยฟวยฟวย อันเยนทวยววยฟวย อุกเวมุเวม โอซาสคนนี้มีชื่อจริงว่า เดวิด อิกเว (David Igwe) หรือไม่แน่ชื่อยาว ๆ นี้อาจจะเป็นชื่อจริงก่อนจะเปลี่ยนตอนเข้าวงการก็ได้ใครจะรู้

Uvuvwevwevwe Onyetenyevwe Ugwemubwem Osas

ก็จบกันไปแล้วกับชื่อตัวละครที่เราเข้าใจผิดมาตลอด หวังว่าบทความนี้จะเป็นตัวช่วยให้เราเข้าใจชื่อของตัวละครเหล่านี้มากขึ้น เพราะด้วยเรื่องของภาษาตัวสะกดคำที่ต่างกัน เมื่อเกมถูกวางขายและเขียนชื่อตัวละครในเกมเป็นภาษาอังกฤษ หรือภาษาต่าง ๆ ในประเทศตัวเอง ก็เลยมีการอ่านตามการออกเสียงตามความเคยชินในประเทศตนเอง จึงทำให้เกิดความเข้าใจผิด และเราก็หวังว่าบทความนี้จะช่วยไขข้อสงสัยที่เข้าใจผิดกัน และถ้าใครมีตัวละครที่เรียกชื่อผิดคนไหนอีกก็มาบอกกันได้ ส่วนคราวหน้าจะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับอะไรก็ติดตามกันได้ที่นี่ที่เดียว

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส