รีวิวเกม Pac-Man Museum + พิพิธภัณฑ์เกมกินเม็ดในตำนาน
Our score
7.0

Pac-Man Museum +

จุดเด่น

  1. รวม 14 เกมในชุดเดียว
  2. รวมเกมที่มีรูปแบบการเล่นแตกต่าง

จุดสังเกต

  1. ลูกเล่นที่ใส่เข้ามาน้อยเกินไป
  2. เหมาะกับแฟนเกม Pac-man เท่านั้น

หากจะพูดถึงเกมตู้ในตำนานที่โด่งดังอย่างมากในยุค 80S ที่สร้างปรากฏการณ์ฮิตทั่วบ้านทั่วเมืองแบบถล่มทลาย และมีการสร้างภาคต่อภาคแยกออกมาต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน แม้ว่ามันอาจจะดูเชยไม่ได้พัฒนารูปแบบการเล่นไปมากนักแต่ก็มีแฟนเกมทั่วโลกพร้อมที่จะเสียเงินให้เมื่อออกภาคใหม่มา

โดยประวัติของ Pac-Man เริ่มในปี 1980 ที่ภาคแรกเปิดให้เล่นเวอร์ชันเกมอาเขต ซึ่งเป็นผลงานของ โทรุ อิวาทานิ (Toru Iwatani) และประสบความสำเร็จแบบมหาศาลจนต้องมีการพอร์ตลงคอนโซลโดยเริ่มจาก ATARI 5600 และตามด้วย Famicom และสานต่อเป็นภาคใหม่ออกมาตลอด ซึ่งแฟนเกมที่เกิดทันคงจะได้ว่ามันเป็นหนึ่งในเกมแรก ๆ ที่เด็กสมัยนั้นได้สัมผัสกัน

และในปี 2022 ค่ายต้นสังกัดอย่าง Bandai Namco ได้เปิดตัวเกมรวมฮิต Pac-Man Museum + บนคอนโซลทั้ง PS4 ,Xboxone ,Nintendo Switch และ PC ด้วย และเป็นการยำรวมเอาซีรีส์เกมกินเม็ดปราบผีมากถึง 14 เกมในชุดเดียว แต่จะต้องค่อย ๆ ปลดล็อกตามเงื่อนไขที่เกมกำหนดไว้ แต่ถือว่าคุ้มพอสมควรหากคุณเป็นแฟน Pac-Man

กราฟิกเหมือนเดิมแต่เพิ่มฉากในอาเขต

เมื่อมันเป็นแค่การรวมฮิตทำให้กราฟิกไม่ได้ปรับเปลี่ยนอะไร เพราะยกต้นฉบับมาทั้งหมดเรียกว่ามันเป็นของเดิมหมด 100% แต่กราฟิกก็ไม่เชย เพราะมีบางภาคกราฟิกมีการสร้างให้ทันสมัยมากขึ้นด้วย ทำให้โดยรวมมันไม่ได้เชยมาก และยังมีการใส่ภาพพื้นหลังที่เหมือนเป็นระบบเมนูของเกมจะนำเสนอเป็นเกมอาเขตตามห้าง ที่เป็นฉากแบบ 3 มิติที่เราจะสามารถเดินไปมาเพื่อเลือกเกมตู้ที่วางอยู่ในฉากเพื่อเข้าไปเล่นเกมหลักได้เลย ซึ่งในฉากนี้ผู้เล่นสามารถปลดล็อกไอเทมประกอบฉากเพื่อนำมาตกแต่งได้ตามใจ โดยใช้เหรียญที่ได้มาจากการเล่นเกมมาแลก

และเนื่องจากเวอร์ชันเกมตู้หน้าจอของเกมจะมาแนวตั้ง ทำให้เมื่อมาอยู่บนหน้าจอทีวีที่มาแนวนอนแน่นอนว่าต้องมีการปรับโดยให้ขอบด้านข้างแสดงภาพงานออกแบบของเกมต้นฉบับแทน ซึ่งเหมาะมากสำหรับแนวทางเกมย้อนยุคเพราะจะได้เห็นภาพของ Pac-Man ต้นฉบับที่วางขายในยุคต่าง ๆ ด้วย ส่วนเพลงประกอบก็จะยกของเดิมมาทั้งหมดเพื่อความคลาสสิกแบบไม่ได้ปรับแต่งอะไรเข้าไปให้เสียของด้วย

รูปแบบการเล่นยกของเดิมมาหมด

ใน Pac-Man Museum + จะเป็นการรวมฮิต โดยเกมแรกที่เชื่อว่าต้องเล่นคือ Pac-Man ภาคแรกที่เราคุ้นเคย เพราะไม่มีอะไรมากแค่เดินกินเม็ดให้หมดก็ผ่านและจะมี เม็ดพลังที่กินแล้วจะสามารถกำจัดผีร้ายได้ ต่อด้วย Super Pac-Man จะเป็นภาคต่อที่วางขายในปี 1982 ที่ปรับเกมเพลย์ให้แปลกใหม่เพราะต้องเก็บกุญแจเพื่อเปิดประตูไปเก็บของ ตามด้วย Pac & Pal ที่ออกในปี 1983 ที่ผู้เล่นต้องเก็บการ์ดที่อยู่ในฉากเพื่อสุ่มไอเทมออกมา และจะมีตัวละครผู้ช่วย Chomp-Chomp อยู่ในฉากด้วย แถม Pac-Man ของเรายังปล่อยพลังคลื่นเสียงได้หากไปเก็บอาวุธถือว่าเป็นไอเดียแปลกใหม่ของภาคนี้

ส่วนอีกเกมที่น่าสนใจคือ Pac-Land ที่วางขายในปี 1984 ที่เปลี่ยนมาเป็นแนวแอ็กชันตะลุยด่านแบบ Mario แต่ก็ซับซ้อนมากแค่เดินหลบศัตรูไปถึงท้ายด่าน แต่ก็มีเม็ดพลังให้เราเก็บเพื่อจัดการผีเหมือนเดิม ต่อด้วยเกม Pac-Mania ที่เปิดตัวในปี 1987 ที่กลับมาใช้รูปแบบเกมเพลย์เดิมแต่จะเปลี่ยนมุมกล้องเป็นแนวเฉียงพร้อมกราฟิกที่พัฒนาขึ้นแถมภาคนี้เรายังกระโดดได้ด้วย

Pac-Man ยุคใหม่ที่พัฒนาขึ้น

เริ่มในยุค 90S กับเกม PAC Attack ที่เลี่ยนเป็นแนวต่อบล็อกแบบ Tetris ที่ต้องเรียงผีให้ต่อเนื่องกันแล้วใช้ตัว PAC-MAN เพื่อกินให้หมดแถว ตามด้วย Pac-In-Time ที่วางขายในปี 1995 กลับมาเป็นแอ็กชัน 2 มิติตะลุยด่านที่มีความซับซ้อนและลูกเล่นมากกว่าเดิม ถือเป็นอีกภาคที่ไม่ควรพลาดเพราะมีทั้งความยาวและแอ็กชันสนุก ๆ เพียบ

ต่อมาในปี 1996 มีการเปิดตัว Pac-Man Arrangement ที่กลับมาใช้เกมเพลย์เหมือนเดิม แต่ได้ใส่ความทันสมัยทั้งกราฟิกยุคใหม่ที่ช่วยเสริมความสดใหม่ โดยใน Pac-Man Museum + จะใส่มา 2 เวอร์ชันคือบนเกมตู้ กับเวอร์ชันคอนโซลที่จะมีมุมกล้องที่แตกต่างกันตามรูปแบบหน้าจอการเล่น

Pac-Man ยุค 2000s ที่เต็มไปด้วยแสงสี

ในปี 2007 มีการเปิดตัว Pac-Man Championship Edition บนคอนโซลยุคใหม่และมันได้มารวมฮิตในภาคนี้ด้วย โดยเกมเพลย์ยังคงเหมือนภาคคลาสิกแต่เพิ่มสีสันสดใส และลูกเล่นเอฟเฟกต์การทำคอมโบที่สวยงามทำให้เหมือนเป็นการคืนชีพให้ซีรีส์เก่าแก่ให้ดูไม่เชย ตามด้วย PAC-Motos ที่เคยออกบน Wii ในปี 2007 ที่มาครั้งนี้มีความแปลกใหม่เพราะในฉากจะมีความอิสระมากขึ้น และมีแอ็กชันใหม่ ๆ ของตัว PAC-MAN มาให้เล่นด้วย

ส่วนเกม Pac ‘n Roll Remix ถือว่าเป็นการผสมผสานระหว่างเกมเพลย์แบบเดิมที่ต้องไล่กินเม็ด กับแอ็กชันตะลุยด่านในมุมมองแบบเฉียงได้ลงตัว และยังเล่นง่ายเหมาะกับทุกคนด้วย ตามด้วย Pac-Man Battle Royale จะเป็นการเล่นแบบแข่งกันทำให้มีตัว PAC-MAN ในฉากหลายตัวพร้อมกัน และเราต้องทำภารกิจที่กำหนดแบบแข่งกันกับเพื่อนถือว่าเป็นอีกภาคที่ผสานรูปแบบการเล่นหลายคนที่ได้รับความนิยมในยุคนั้นได้ดีงาม

ปิดท้ายกับ Pac-Man 256 ภาคที่เพิ่งออกไปไม่นานที่รูปแบบการเล่นยกเอาของเดิมมาใช้งานอีกครั้งแต่ได้ปรับให้ฉากมีความซับซ้อนที่ผู้เล่นจะเล่นเก็บคะแนนไปแบบยาว ๆ และยังใส่ลูกเล่นแปลก ๆ เข้าไปมากมายเช่นการใช้ความสามารถที่เหมือน BUG ในเกมมาเป็นสิ่งเสริมทำให้ดูสดใหม่แถมยังมีความยากท้าทายด้วย

ส่วนตัวแล้วเกม Pac-Man Museum + เป็นสิ่งที่แฟน ๆ PAC-MAN ต้องมีเพราะเป็นการรวมเอาตำนานของวงการมากถึง 14 เกมแม้จะยังไม่ครบทุกภาคที่วางขายแต่ก็คัดมาอย่างดี แต่ละเกมมีความแตกต่างกันทำให้เล่นได้แบบไม่น่าเบื่อ แต่หากคุณไม่ใช้แฟนของซีรีส์กินเม็ดในตำนานหรือเฉย ๆ กับซีรีส์นี้ก็อาจจะไม่คุ้มค่านัก เพราะมันก็คือของเดิมไม่ได้ปรับเปลี่ยนอะไรไปจากต้นฉบับที่วางขายครั้งแรก

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส