[รีวิวเกม] Devil May Cry V : Smoking Sexy Style!!!
Our score
9.4

Devil May Cry V

จุดเด่น

  1. ตัวละครหลักที่ยังคงเท่และมีเสน่ห์ มาพร้อมความทะเล้นเล่นใหญ่แบบที่หาจากเกมไหนไม่ได้
  2. ระบบการต่อสู้ในเกมแอคชั่นที่ดีที่สุดเกมหนึ่งในปัจจุบัน
  3. สไตล์การเล่นของตัวละครหลักทั้งสามตัวที่หลากหลายขนาดที่สามารถจะมีเกมเป็นของตัวเองยังได้
  4. เพลงประกอบที่มันส์และเร้าใจ เคล้าไปกับแอคชั่นที่มีสไตล์ของตัวเกม
  5. เป็นการเฉลิมฉลองของซีรี่ส์ที่เต็มไปด้วยแฟนเซอร์วิสมากมาย แฟนๆปีศาจสะอื้นห้ามพลาด!

จุดสังเกต

  1. เนื้อเรื่องช่วงบทเฉลยท้ายเกมที่ดูรีบๆ รวบรัดเกินไปบ้าง
  2. ถ้าคนที่ไม่ชอบความไม่สมเหตุสมผล บ้าๆบอๆเล่นใหญ่เกินจริง ก็จะไม่ชอบตัวละครและเนื้อเรื่องของเกมเลย
  3. Level Design ของเกมยังไม่หลากหลายและมีลูกเล่นน่าจดจำเท่าที่ควร
  • บทและการเล่าเรื่อง

    8.0

  • ระบบการเล่น

    10.0

  • ภาพและงานกำกับศิลป์

    9.0

  • ดนตรีและเสียงประกอบ

    10.0

  • การนำเสนอ

    10.0

Devil May Cry 5 หรือเรียกย่อๆ ว่า DMC5 หรือ DMCV นั้นคือเกมภาคหลักภาคที่ 5 ของซีรี่ส์เกมแอคชั่นล่าปีศาจจากค่าย Capcom ที่ต้องใช้คำว่าภาคหลักนั้นเป็นเพราะว่าซีรี่ส์นี้เคยถูกรีบูทมาแล้วครั้งหนึ่งในชื่อ DmC:Devil may Cry ที่เรียกได้ว่ารีเซ็ตจักรวาลและตัวละครกันใหม่หมดแล้วยังใช้ทีมพัฒนาฝรั่งอย่าง Ninja Theory ที่สมัยนั้นมีผลงานคือเกม Enslaved และ Heavenly Blade มาพัฒนาแทน โดยถึงแม้จะออกมาเป็นเกมที่ดีไม่น้อยหน้าต้นฉบับ แต่เพราะเสน่ห์ดั้งเดิมของตัวละครเอกอย่างดันเต้ถูกรื้อทิ้งเปลี่ยนไปอย่างยับเยิน จึงทำให้ DmC:Devil may Cry ไม่ได้รับกระแสตอบรับที่ดีเท่าที่ควร ก่อนที่สุดท้าย ฮิเดอากิ อิทสึโนะ ผู้กำกับภาค 2, 3 และ 4 จะได้กลับมาทำภาคต่อภาคที่ 5 นี้หลังจากภาค 4 วางจำหน่ายไปถึง 11 ปี

โดยพื้นฐานนั้น Devil May Cry จะเป็นซีรี่ส์ที่ว่าด้วยเรื่องราวของดันเต้ (Dante) ชายหนุ่ม (สมัยภาค 1 และ 3) ลูกครึ่งมนุษย์ปีศาจเจ้าสำราญผู้เปิดกิจการรับจ้างล่าปีศาจที่หลุดออกจากนรกและก่อความไม่สงบกับมนุษย์ที่ทุกๆภาคก็จับพลัดจับผลูต้องไปปกป้องโลกจากปีศาจที่คิดครองโลกบ้างละ เปิดประตูระหว่างโลกมนุษย์กับโลกปีศาจบ้างล่ะ ซึ่งตัวเกมที่ผ่านมานั้นก็จะเป็นเกมแอคชั่นจ๋าๆ ที่ให้เราวิ่งเป็นเส้นตรงและไล่ฆ่าปีศาจทุกตัวที่ขวางหน้า โดยจะมีความพิเศษคือระบบแต้มสไตล์ (Stylish Point) ที่คอยวัดว่าคุณสามารถออกคอมโบผสมผสานท่าโจมตีได้แพรวพราวและครีเอทแค่ไหน ทำให้จุดเด่นของซีรี่ส์ไม่ใช่แค่การเอาชนะศัตรูให้ได้เท่านั้น แต่ต้องชนะให้ได้อย่างมีสไตล์อีกด้วย!

บทและการเล่าเรื่อง

เรื่องราวในภาคนี้เริ่มต้นขึ้นเมื่อต้นไม้จากโลกปีศาจขนาดยักษ์นาม Qliphoth ได้ผุดขึ้นมาโลกมนุษย์และเข่นฆ่าผู้คนด้วยฝีมือของราชาปีศาจ Urizen ก่อนที่ดันเต้จะได้รับการจ้างวานจากชายหนุ่มปริศนานาม วี (V) เพื่อให้เขาไปช่วยหยุดยั้ง Urizen ในขณะที่ เนโร (Nero) เด็กหนุ่มผู้เกิดมาพร้อมแขนขวาของปีศาจ (Devil Bringer) ที่เป็นหนึ่งในสองตัวเอกในภาคที่ 4 เองก็ได้มาเข้าร่วมการต่อสู้ครั้งนี้ด้วยเนื่องจากคำบอกเล่าของวีที่ว่า Urizen คือผู้ที่ตัดและช่วงชิงแขนปีศาจของเนโรไปก่อนหน้านี้ และเรื่องราวก็ได้เริ่มต้นเมื่อทั้งสามคนได้ประจันหน้ากับ Urizen เป็นครั้งแรก

สิ่งหนึ่งที่อยากพูดถึงสำหรับคนที่ไม่เคยเล่นซีรี่ส์นี้มาก่อนคือ บทพูดและงานกำกับซีนในเกมนี้จะมีความทะเล้นเล่นใหญ่แบบเกินจริงอยู่มาก มุกต่างๆ ในเกมล้วนแล้วแต่ดูเด๋อซะจนในความเป็นจริงคงถูกหัวเราะเยาะใส่ ซึ่งฟังแล้วอาจจะดูชวนอี๋สำหรับใครบางคนในทีแรก แต่นี่แหละคือเสน่ห์ที่ทำให้ DMC พิเศษมาแต่ไหนแต่ไร มันไม่ได้ทำตัวซีเรียสจริงจัง ต้องมีเนื้อเรื่องเข้มๆ สมเหตุสมผล ตัวละครต้องพูดกันเหมือนมนุษย์จริงเป็ะๆ นั่นไม่ใช่เป้าหมายของเกมนี้ และไม่ใช่สิ่งที่เราควรใช้ตัดสินตัวเกม สิ่งที่เกมนี้ทำคือทำให้ความเด๋อเหล่านั้นกลายเป็นแบรนด์และดูเท่อย่างน่าประหลาดเมื่ออยู่ภายใต้บริบทของเกมและตัวละครที่มีเสน่ห์ ซึ่ง DMC5 ก็ยังคงเอกลักษณ์ตรงนี้ไม่ต่างกัน

ตัวเนื้อเรื่องนั้นก็ถือว่าทำออกมาได้ค่อนข้างโอเคถ้ามองตามมาตรฐานเกมแอคชั่น บทนำของเรื่องที่แสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งของ Urizen ระดับที่ทำให้ดันเต้ที่ในทางเนื้อเรื่องตอนนี้เป็นระดับตำนานไปแล้วยังต้องลำบากเป็นการปรับโทนของภาคนี้ที่ชัดเจนว่าเหล่านักล่าปีศาจจอมยียวนของพวกเราได้เจอของแข็งเข้าแล้ว รวมถึงการเปิดตัวละครใหม่อย่าง วี นั้นก็ช่วยสร้างความน่าสนใจและพิศวงให้กับที่มาที่ไปของเรื่องราวในภาคนี้ได้อย่างดี น่าเสียดายที่บทเฉลยช่วยท้ายนั้นออกมารวบรัดเกินไปหน่อย ดูรีบๆ จนขาดการสร้างอารมณ์ร่วมไปบ้าง 

แต่สิ่งที่อยากจะชื่นชมเป็นพิเศษคือ ทิศทางและพัฒนาการของแต่ละตัวละครตลอดการเดินทางในภาคนี้ทำออกมาได้ยอดเยี่ยมระดับเดียวกับภาค 3 ที่เป็นตำนานไปแล้วเลยทีเดียว ทุกอย่างนั้นเป็นไปอย่างเป็นธรรมชาติ ไม่มีตรงไหนเลยที่เรารู้สึกว่าอยู่ดีๆ ตัวละครก็โตขึ้นมาดื้อๆ มันมีเหตุผลให้ทั้งสามคนเริ่มตั้งคำถามกับตัวเอง เริ่มย้อนมองอดีตของตัวเองและเปิดโอกาสให้ตัวเกมได้นำเสนอเบื้องลึกเบื้องหลังของแต่ละคนมากขึ้น และที่สำคัญคือประเด็นในใจของทุกๆ ตัวละครล้วนเกี่ยวโยงกับแก่นของซีรี่ส์ที่ถูกพูดถึงมาตลอด คือเรื่องของ ครอบครัว แน่นอนว่ามันไม่ได้ลึกหรือมีความเป็นมนุษย์ระดับออสการ์หรืออะไรแบบนั้น Devil May Cry ก็ยังคงเป็นเกมขี้เล่นจอมทะเล้นเหมือนเดิม แต่สำหรับเกมแอคชั่นที่เนื้อเรื่องไม่ใช่ตัวชูโรงของเกมแล้ว ก็ถือว่าทำในส่วนนี้ออกมาได้ในมาตรฐานที่สูงมาก

ระบบการเล่น

โครงสร้างของซีรี่ส์ DMC นั้นจะเป็นเหมือนกันทุกภาคซึ่งรวมถึงภาค 5 นี้ด้วย คือใช้ระบบมิชชั่น (Mission) หรือที่บางคนเรียกกันว่า ด่าน นั่นเอง นั่นคือเราจะดำเนินเนื้อเรื่องผ่านการลุยมิชชั่นต่างๆ ไล่ไปเรื่อยจากมิชชั่นที่ 1 ยันมิชชั่นสุดท้าย ในระหว่างมิชชั่นส่วนใหญ่เราก็จะลุยเป็นเส้นตรง มีศัตรูให้สู้ตามทางทั้งที่บังคับสู้หรือจะข้ามไปก็ได้ บางมิชชั่นก็จะมีพัซเซิ่ลนิดหน่อย รวมถึงมีความลับให้เก็บ เช่นไอเทมพิเศษหรือ Secret Mission ที่เป็นมิชชั่นแยกเล็กๆที่หากทำสำเร็จตามเงื่อนไขก็จะได้ของรางวัลมา ภายในมิชชั่นก็จะมีไอเทมที่เรียกว่า เรดอ้อป (Red Orb) หรือก็คือ เงิน ในเกมนี้ให้เก็บเพื่อนำไปปลดล็อคท่าโจมตีต่างๆหรือซื้อไอเทมอื่นๆ เมื่อจบแต่ละมิชชั่นก็จะมีคะแนนวัดผลบอกว่าเราเล่นได้ดีแค่ไหน แล้วก็จะคิดออกมาเป็นเกรดตัวอักษร สูงที่สุดคือระดับ S

โดยในภาคนี้เราจะมีตัวละครให้เล่นได้ถึง 3 คน นั่นคือเนโร วี และ ดันเต้

เนโร (Nero)

เนโรจะเป็นตัวละครแรกที่เราได้เล่น เนื่องจากเนโรมีดาบและปืนให้ใช้เพียงอย่างละชนิดคือ ดาบเรดควีน (Red Queen) ที่มีความสามารถพิเศษในการบิดคันเร่ง (Exceed) เพื่อเพิ่มพลังโจมตี และปืนบลูโรส (Blue Rose) ที่มีลำปืนคู่ สามารถชาร์จเพื่อบรรจุกระสุนระเบิดได้ ท่าโจมตีโดยทั่วไปของเนโรจึงค่อนข้างจำกัดแต่ก็ล้วนแล้วแต่ใช้งานง่าย มีวงการโจมตีที่กว้างและไม่เร็วหรือช้าจนเกินไป

แต่ความหลากหลายของเนโรนั้นจะอยู่ที่ตัวแขนกลเดวิลเบรกเกอร์ (Devil Breaker) ที่นิโค่ (Nico) สาวนักประดิษฐ์ที่เป็นคู่หูของเนโรประดิษฐ์มาให้เขาใช้แทนแขนปีศาจของเขาที่โดนตัดไป โดยแขนกลนี้นอกจากจะมีความสามารถพื้นฐานในการดึงศัตรูเข้าหาหรือดึงเนโรเข้าหาศัตรูแล้ว แขนกลจะมีด้วยกันหลายแบบซึ่งจะปลดล็อคมาให้เราซื้อกับนิโค่เมื่อเราผ่านมิชชั่นต่างๆ แขนแต่ละแบบก็จะมีความสามารถแตกต่างกัน เช่น Overture จะปล่อยคลื่นไฟฟ้าออกมาโจมตีโดยตรง, Punchline ที่เป็นหมัดจรวดก็จะบินตามไปโจมตีศัตรูสร้างความปั่นป่วน โดยเราจะสามารถพกแขนกลเหล่านี้ไว้ได้จำนวนจำกัดตามแต่การอัพเกรดตัวละครของเรา และเราจะไม่สามารถสับเปลี่ยนแขนตามใจได้ หากต้องการจะเปลี่ยนไปใช้แขนอันต่อไปเราจำเป็นจะต้องสลัดแขนทิ้ง หรือใช้ท่าพิเศษของแขนนั้นซึ่งจะเป็นการยอมเสียแขนอันนั้นไปเพื่อแลกกับท่าโจมตีที่ทรงพลัง โดยระหว่างทางก็จะมีแขนต่างๆให้เก็บตามฉากได้หากต้องการ ข้อจำกัดเหล่านี้ทำให้การเล่นเนโรต้องคำนึงถึงการวางแผนและบริหารแขนกลที่มี จะใช้แบบไหนสู้กับศัตรูตัวไหน ตอนไหนที่ควรสลัดทิ้งหรือใช้ท่าพิเศษ โดยรวมเนโรจะเป็นตัวละครที่เรียบง่ายที่สุด

วี (V)

ทางด้านวีนั้นเป็นตัวละครใหม่ที่มาพร้อมกับระบบสู้ที่แปลกตาสำหรับซีรี่ส์อย่างมาก โดยวีนั้นจะไม่สามารถต่อสู้ได้ด้วยตัวเอง แต่จะใช้การเรียกสัตว์อสูร (Familiar) ทั้งสามออกมาช่วยสู้แทน โดยจะมีเสือดำ Shadow ทำหน้าที่เหมือนการโจมตีประชิด และมีนกสายฟ้า Griffon ที่ใช้ยิงกระสุนสายฟ้าเป็นเหมือนปืน และยักษ์เมือกดำ Nightmare ที่จะเรียกออกมาได้ก็ต่อเมื่อวีเข้าสู้โหมด Devil Trigger หรือเรียกง่ายๆก็คือแปลงร่างนั่นเอง จุดเด่นของวีจะอยู่ที่ความสามารถในการโจมตีหลายๆ รูปแบบพร้อมๆกันได้ ทำให้วีสามารถโจมตีศัตรูหลายๆตัวพร้อมกันได้ไม่ยาก รวมถึงยังสามารถควบคุมให้วีใช้ท่ายั่วศัตรูหรือเปิดหนังสืออ่านเพื่อเติมเกจ Devil Trigger ไปพร้อมกับปล่อยให้สัตว์อสูรโจมตีก็ยังทำได้

แต่สัตว์อสูรนั้นจะไม่สามารถฆ่าศัตรูได้ด้วยตัวเอง วีจะต้องเป็นคนโจมตีปิดท้ายเมื่อหลอดพลังชีวิตของศัตรูหมดลงแล้ว(ตัวศัตรูจะกลายเป็นสีขาว) ซึ่งแม้จะดูเหมือนยุ่งยาก แต่กลับยิ่งทำให้วีเป็นตัวละครที่ดันคอมโบง่ายที่สุดเสียมากกว่า เพราะการโจมตีปิดฉากนั้นจะเพิ่มคะแนนคอมโบเสมอแม้จะใช้ติดๆ กันซ้ำๆ ก็ตาม อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้ก็แลกมาด้วยความสามารถในการเคลื่อนที่ของวีที่ต่ำ รวมถึงหากสัตว์อสูรถูกโจมตีจนพลังชีวิตหมด พวกมันก็จะคืนร่างไปเป็นลูกแก้วเพื่อฟื้นตัว ทำให้ในขณะนั้นเราไม่สามารถให้สัตว์อสูรตัวนั้นๆ โจมตีได้ หากสัตว์อสูรตายหมด วีก็จะเป็นง่อยไปเลย การเล่นวีในช่วงแรกๆ จึงอาจจะดูติดขัดไปบ้าง แต่หากปลดล็อคท่าออกมาเยอะๆ และคุ้นมือแล้ว ก็จะสนุกไม่แพ้อีกสองคนเลยทีเดียว

ดันเต้ (Dante)

สำหรับคนสุดท้ายก็คือดันเต้เจ้าเก่าของเรา ที่จริงๆ แล้วเป็นคนที่ยังคงรูปแบบการเล่นเหมือนกับในภาค 4 แทบจะเป๊ะๆ แต่ก็ยังคงเป็นตัวละครที่ซับซ้อนและอาศัยฝีมือมากที่สุดเช่นกัน โดยดันเต้นั้นจะมีอาวุธประชิดให้เลือกใช้ถึง 4 ชนิดและปืนอีก 4 ชนิด แถมอาวุธบางชนิดยังมีโหมดย่อยให้เปลี่ยนรูปแบบการโจมตีได้อีก เช่น เกราะมือเท้า Balrog ที่มีโหมดหมัดกับโหมดเตะ ไม่เพียงแค่นั้น ดันเต้ยังสามารถเลือกใช้สไตล์การเล่นได้ถึง 4 แบบตลอดเวลาในการต่อสู้ ได้แก่ Trickster ที่เน้นการเคลื่อนไหวและหลบหลีก Swordmaster ที่เพิ่มท่าโจมตีใหม่ๆให้กับอาวุธประชิด Gunslinger สำหรับอาวุธจำพวกปืน และ Royalguard ที่ใช้ในการป้องกัน และสะสมพลังเพื่อสวนกลับศัตรู

ทั้งหมดนี้ทำให้ดันเต้มีมูฟเซ็ตที่หลากหลายและลึกกว่าอีกสองตัวละครแบบไม่เห็นฝุ่น และเนื่องจากดันเต้ไม่มีความสามารถในการดึงศัตรูเข้าหาตัวได้ตลอดเวลาเหมือนเนโร หรือโจมตีหลายๆ แบบพร้อมกันได้เหมือนวี จุดสำคัญของการเล่นดันเต้คือการปรับเปลี่ยนอาวุธและสไตล์ให้เข้ากับสถานการณ์อย่างรวดเร็ว ซึ่งต้องอาศัยการฝึกฝนอย่างมากเพราะทั้งหมดนั้นล้วนแล้วแต่อาศัยการกดปุ่มที่ซับซ้อนทั้งนั้น แต่หากเข้าถึงการเล่นของดันเต้ได้แล้วล่ะก็ เขาจะเป็นตัวละครที่แข็งแกร่งที่สุดอย่างไม่ต้องสงสัย

ระบบการเล่นของทั้งสามตัวละครนี้แหละที่ทำให้ DMC5 นั้นถือเป็นสุดยอดเกมแอคชั่นของยุคเลยทีเดียว ทั้งสามตัวละครล้วนแล้วแต่มีระบบการเล่นของตัวเองที่แข็งแรงและลึกมากซะจนสามารถมีเกมเป็นของตัวเองเต็มๆ ได้อย่างไม่มีติดขัด (วีอาจจะต้องขัดเกลาเพิ่มสักหน่อย) มันแตกต่างกันมากพอที่จะทำให้รู้สึกสดใหม่ราวกับเปลี่ยนเกมทุกครั้งที่ได้เล่น แต่ก็ยังคงอยู่บนพื้นฐานเดียวกันมากพอให้เราปรับตัวจากการเล่นตัวหนึ่งไปยังอีกตัวหนึ่งได้โดยไม่รู้สึกลำบากอะไร ลำดับของเกมที่ให้เราเริ่มเล่นเนโรก่อน ตามด้วยวี และจบด้วยดันเต้นั้นเป็นงานออกแบบที่ยอดเยี่ยมในการเตรียมตัวผู้เล่นให้คุ้นเคยกับการกดคอมโบต่างๆ ความพอดีที่แทบจะสมบูรณ์แบบนี้ทำให้ตลอด 20 มิชชั่นของเกมที่เราต้องสลับการควบคุมไปมาระหว่าง 3 ตัวละครนี้มันช่างลื่นไหล เต็มไปด้วยความน่าพึงพอใจ และมีสไตล์แบบที่หาจากเกมไหนไม่ได้

สำหรับงานออกแบบศัตรูนั้นก็ถือว่าหลากหลายดี แม้จะมีศัตรูบางประเภทเป็นเหมือนร่างพัฒนาของตัวก่อนหน้าอยู่บ้าง แต่โดยรวมแล้วมันก็หลากหลายมากพอให้เราให้ความสำคัญกับวิธีการรับมือแต่ละตัว โดยเฉพาะอย่างยื่งเมื่อมีศัตรูหลายๆ ชนิดอยู่ในห้องเดียวกัน การที่เราต้องตัดสินใจว่าจะรับมือศัตรูตัวไหนก่อนในขณะที่ต้องคอยระวังศัตรูตัวอื่นๆ ไปด้วย รวมถึงยังต้องหาจังหวะใช้คอมโบต่างๆ เพื่อเพิ่มแต้มการทำสไตล์นั้น คือแก่นความสนุกของระบบเกมนี้เลยทีเดียว แต่ถึงแบบนั้นหากเทียบกับภาคก่อนๆหน้าแล้ว ส่วนตัวผู้เขียนเองก็ยังคิดว่าภาคที่ 3 นั้นมีงานออกแบบศัตรูที่น่าจดจำกว่า โดยเฉพาะในส่วนของบอสต่างๆ ที่ภาคนี้แม้จะทำออกมาได้สนุกไม่แพ้กัน ยิ่งโดยเฉพาะบอสตัวท้ายๆ ที่ดุเดือดเร้าใจมาก แต่ในแง่ของสเน่ห์แล้วก็ยังไม่ใช่ที่สุดของซีรี่ส์อยู่ดี

นอกเหนือจากนั้นในบางมิชชั่นก็จะมีช่วงที่ตัวละครอื่นมาร่วมสู้กับเราด้วย เรียกว่า Cameo System โดยหากเราต่อออนไลน์อยู่ ตัวเกมก็จะพยายามหาว่ามีใครที่กำลังเล่นตัวละครนั้นในมิชชั่นที่มาร่วมสู้กับเราอยู่ด้วยหรือไม่ หากสามารถหาพบเราก็จะได้ร่วมสู้กับผู้เล่นอื่นแบบเรียลไทม์จริงๆ แต่หากไม่พบก็มีโอกาสที่ตัวละครตัวนั้นจะปรากฏมาเป็น A.I. ตั้งต้นของเกม หรือเป็นตัว A.I. ที่บันทึกจากข้อมูลการเล่นของผู้เล่นคนอื่นแทน(ซึ่งรวมถึงมีโอกาสเจอกับ A.I. ของตัวเราเองด้วย) โดยในอนาคตดูเหมือนว่าระบบนี้จะถูกต่อยอดให้เราสามารถนัดกับเพื่อนเพื่อลงเล่นในหอคอย Bloody Palace ที่เป็นดันเจี้ยนสุดโหดประจำซีรี่ส์ไปพร้อมๆกันได้

ถ้าจะมีข้อติซักข้อคงเป็นการที่ตัวระดับความยากสูงสุดที่เราสามารถเลือกได้ตอนต้นเกมคือระดับ Devil Hunter หรือก็คือ Normal เท่านั้น ซึ่งในช่วงมิชชั่นแรกๆนั้นจะค่อนข้างง่ายเมื่อเทียบกับภาคก่อนๆ จริง แล้วจะมายากขึ้นแบบก้าวกระโดดช่วงมิชชั่นท้ายๆ แต่ส่วนตัวก็ยังคิดว่าตัวเกมควรจะเปิดความยากระดับ Son of Sparda หรือก็คือ Hard มาให้เล่นแต่แรกเลยอยู่ดี ทั้งนี้ทั้งนั้น ตัวเกมในระดับความยากสูงๆนั้นก็จะยากแบบก้าวกระโดดขึ้นมาก และเป็นภาคที่ทำแรงค์มิชชั่นได้ยากที่สุดภาคหนึ่งเนื่องจากอาศัยการคำนวณแต้มสไตล์ล้วนๆ นั่นคือผู้เล่นจะต้องมีฝีมือในการทำสไตล์ที่ดีจริงๆเท่านั้น ไม่มีตัวช่วย จึงจะสามารถเก็บแรงค์มิชชั่นระดับ S ได้ รวมถึงนี่ยังเป็นภาคแรกที่ไม่มีการใช้ไอเทมเพิ่มพลังอีกด้วย และแทนที่ด้วยการที่หากเราตายระหว่างมิชชั่นจะสามารถใช้ Red Orb จ่ายเพื่อฟื้นพลังขึ้นมาสู้ต่อได้ แต่ก็จะถูกลดคะแนนคำนวนแรงค์มิชชั่นในตอนท้ายไป

ภาพและงานกำกับศิลป์

กราบกราน RE engine ที่ยังคงแสดงความเนียนและสมจริงของพื้นผิววัตถุอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ Resident Evil 2 remake ที่ใน DMC5 นี้ยิ่งดูดีขึ้นไปอีก ผ้าเป็นผ้า ผมเป็นผม รวมไปถึงงานโมชั่นแคปเจอร์ที่เนียนตามาก ซึ่งส่วนหนึ่งก็เพราะได้นักพากย์และนักแสดงที่เข้าถึงบทกันมากๆกันทั้งแกงค์โดยเฉพาะรูเบน แลงด้อน (Reudon Langdon) ผู้เป็นคนพากย์และนักแสดงโมชั่นแคปเจอร์ให้กับดันเต้ที่เล่นบทนี้มาตั้งแต่ภาค 3 และ 4 ทำให้งานอนิมเชั่นต่างๆในเกมนี้แทบจะเรียกได้ว่าเป็นเกมที่สวยที่สุดของแคปคอมแล้ว และเหนือสิ่งอื่นใด คือเฟรมเรตที่ค่อนข้างจะได้ 50-60fps แทบจะตลอดๆ อาจจะมีตกบ้างแต่ก็ไม่มีมากจนสังเกตได้อะไรเป็นพิเศษ

ในแง่งานออกแบบนั้นก็มีทั้งส่วนที่ดีและไม่ดี อันดับแรกงานออกตัวละครและอาวุธต่างๆทำออกมาได้ดีมาก ตัวละครทุกตัวทั้งหลักทั้งรองดูตั้งใจออกแบบมาดีเยี่ยม ถึงเบ้าหน้าอาจจะเปลี่ยนไปบ้างด้วยเทคโนโลยีในการปั้นโมเดลหน้าจากคนจริง แต่เมื่อรวมกับเสื้อผ้าหน้าผมแล้วก็ยังคงจุดเด่นไว้ได้อย่างครบถ้วน ศัตรูและบอสเองก็ถูกออกแบบมาอย่างตั้งใจ มีหลายตัวที่ดูดีและเท่มาก อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวผมรู้สึกว่าโทนของภาคนี้มันอึมครึมมากไปหน่อย คือที่ผ่านมา DMC ก็เป็นซีรี่ส์ที่ใช้โทนสีมืดๆ อยู่แล้วก็จริง แต่มันจะมีสีฉูดฉาดอย่างสีแดงหรือน้ำเงินแป๊ดๆ ออกมาให้รู้สึกถึงความแฟนตาซีอยู่บ้าง มาในภาคนี้โทนมันจะค่อนข้างทะมึนๆ ไปหมด พอจะแดงหรือจำน้ำเงินมันก็ไม่ได้โดดออกมาขนาดนั้น ซึ่งมันก็ทำให้บรรยากาศในเกมดูสมจริงขึ้น แต่ส่วนตัวมันทำให้บรรยากาศรวมๆ ของเกมมันหมองไปหน่อย

ข้อติเดียวจริงๆ ของเรื่องนี้คือส่วนของ Level Design หรืองานออกแบบด่านการเล่นในแง่เกมเพลย์ ที่แม้ในทางศิลป์จะดูดีและแทบไม่ใช้ฉากซ้ำกันเลยตลอด 20 มิชชั่น แต่กลับให้อารมณ์ที่ค่อนข้างซ้ำซากเหมือนๆ กันไปหมด ไม่มีกิมมิคหรือพัซเซิ่ลเฉพาะตัวที่น่าจดจำเหมือนอย่างในภาค 3 ที่แต่ละด่านแต่ละห้องจะมีจุดเด่นเป็นของตัวเอง จริงอยู่ว่าอาจจะพอให้อภัยได้ด้วยความที่ฉากส่วนใหญ่จะอยู่กับซากเมืองหรือภายในต้นไม้ปีศาจซึ่งไม่น่าจะมีพัซเซิ่ลอะไรให้ทำเหมือนหอคอยปีศาจในภาค 3 ก็ตาม แต่มันก็น่าเสียดายอยู่ดีที่ทีมงานมีกำลังพอจะสร้างฉากที่ไม่ซ้ำกันเลยได้มากขนาดนี้ แต่กลับไม่มีจุดเด่นของตัวฉากเองโดยเฉพาะ

ดนตรีและเสียงประกอบ

จุดเด่นสำคัญของภาคนี้นอกจากการที่ตัวละครแต่ละตัวจะมีเพลงประกอบการต่อสู้ของตัวเองแล้ว จังหวะและทำนองของเพลงที่เราจะได้ยินยังสัมพันธ์กับระดับสไตล์ที่เราทำได้ขณะสู้อีกด้วย นั่นคือ ยิ่งเราสู้ได้อย่างแพรวพราว ทำคะแนนสไตล์ได้มาก เพลงประกอบก็จะยิ่งมันส์ยิ่งเล่นในช่วงจังหวะที่เร้าใจ ซึ่งระบบนี้เมื่อนำมาใช้กับเพลงประจำตัวเนโรอย่าง Devil Trigger ที่เรียกว่าเป็นระดับ Masterpiece ไปแล้วก็ยิ่งส่งเสริมให้ผู้เล่นท้าทายตัวเองและพยายามเล่นอย่างมีสไตล์มากขึ้น และทำให้การต่อสู้มันมีไดนามิคที่ดีเสมอๆ น่าเสียดายที่เพลง Subhuman ที่เป็นเพลงประกอบการต่อสู้ของดันเต้นั้น แม้จะได้รับการเปลี่ยนผู้ขับร้องและปรับแต่งเพลงใหม่แล้ว แต่มันก็ยังค่อนข้างหมองและไม่ได้ไปด้วยกันได้เต็มที่กับเกมเพลย์สุดหวือหวาของดันเต้อยู่ดี แต่นอกเหนือจากนั้นส่วนตัวผมก็มองว่าภาคนี้เป็นภาคที่มีเพลงดีๆน่าจดจำเยอะที่สุดแล้ว ยิ่งช่วงท้ายๆ ของเนื้อเรื่องนี่ทำเอาขนลุกกันไปเลย

เสียงประกอบในการต่อสู้ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ซีรี่ส์เกมนี้ทำได้อย่างดีเยี่ยม เวลาฟัน เวลาถูกโจมตี เวลามีเสียงเอฟเฟคต์ของท่าหรือพลังต่างๆ ล้วนแล้วแต่มีน้ำหนักที่ทำให้เรารู้สึกถึงมันได้จริงๆ ในแบบที่หลายๆ เกมทำไม่ได้ ขนาดที่ว่าเวลาฟันศัตรูเราจะรู้สึกถึงแรงสะเทือนได้จากเสียงที่ได้ยิน จริงอยู่ว่าหลายเสียงประกอบในภาคนี้เป็นการรีมิกส์เอาจากในภาคก่อนๆ โดยเฉพาะภาค 4 แต่ด้วยคุณภาพเสียงที่ดีขึ้นก็ช่วยยกระดับอารมณ์ร่วมไปกับมันได้มากโขแล้

การนำเสนอ

ภาคนี้เรียกได้ว่าเป็นงานรวมรุ่นของซีรี่ส์เลยก็ว่าได้ เพราะไม่ใช่เพียงแค่เหล่าตัวละครหลักและรองจากเกมภาคอื่นๆที่โผล่กันมาแบบถ้วนหน้าเท่านั้น แต่ยังรวมถึงตัวละครจากภาคย่อยที่ถูกทำออกมาในสื่ออื่นๆอย่าง มอริสัน (J.D.Morrison) ผู้เป็นนายหน้าหางานให้กับดันเต้จากภาคอนิเมชั่น หรือการพูดถึงภูมิหลังของปืนคู่ใจดันเต้อย่าง Ebony&Ivory ที่เกี่ยวพันกับภาคนิยายภาคแรกด้วย ทั้งหมดนี้ช่วยส่งเสริมทำให้โลกของ Devil May Cry นั้นดูสมจริงสมจังขึ้น จากเดิมที่ภาคก่อนๆเรามักจะไม่ค่อยรู้สึกถึงการมีอยู่ของโลกภายนอกเนื่องจากตัวเกมจะมีตัวละครที่มีบทบาทอยู่ไม่กี่ตัวและเนื้อเรื่องดำเนินอยู่ในสถานที่เล็กๆเพียงที่เดียว การได้เห็นและรับรู้ถึงการมีอยู่ของตัวละครอื่นๆที่อาศัยอยู่ในโลกของเกมนี้เป็นเหมือนตัวกลางที่ทำให้เราได้รับรู้บริบทและสภาพแวดล้อมภายนอกฉากที่เราลงไปลุยไปสู้มากขึ้น และยังเป็นเหมือนแฟนเซอร์วิสให้แก่แฟนๆภาคย่อยอื่นๆที่ก่อนหน้าไม่มีการยืนยันที่ชัดเจนเท่าไหร่ว่าเรื่องราวเหล่านั้นถูกนับรวมในจักรวาลหลักหรือไม่

นอกจากนี้ตัวเกมยังมี Easter Egg ที่เรียกว่าเซอร์วิสให้แฟนซีรี่ส์กันแบบจัดเต็มสุดๆ ที่ฮิเดอากิ อิทสึโนะเคยพูดไว้ว่าทำเกมนี้มาเพื่อแฟนๆนี่ไม่ใช่เรื่องโกหกเลย แล้วตัวเกมมันก็เต็มไปด้วยหัวจิตหัวใจมาก ระบบยิบย่อยต่างๆ อย่าง The Void ที่เป็นเหมือนห้องฝึกซ้อมคอมโบต่างๆ, ระบบ Loadout ที่ให้เราเซ็ตอาวุธหรือแขนกลเป็นเซ็ตๆ ที่เราใช้บ่อยๆ ได้, ระบบนำทางที่เราสามารถดูระหว่างมิชชั่นได้ว่าทางหลักสำหรับไปต่อเนื้อเรื่องต้องไปทางไหน พวก Quality of life เล็กๆพวกนี้มันแสดงให้เห็นถึงความพิถีพิถันและตั้งใจของผู้สร้างที่อยากจะถ่ายทอดตัวเกมออกมาจริงๆ

มีสองสิ่งเล็กๆที่ผู้เขียนรู้สึกว่าเป็นข้อติ อย่างแรกคือการที่มันใช้ตัวละครอย่าง ทริช (Trish) และ เลดี้(Lady) สองนักล่าปีศาจสาวที่ผ่านร้อนผ่านหนาวกับดันเต้มาจากภาคก่อนๆ ได้ไม่ดีเท่าที่ควร เข้าใจว่าตัวเกมต้องการโฟกัสไปที่สามตัวเอกหลักมากกว่า แต่การที่เราไม่ได้เห็นพวกเธอทั้งสองได้แสดงฝีมือแบบในภาคก่อนๆ เลยแต่กลับมีฉากวาบหวิวปรากฏให้เห็นเรื่อยๆ นั้นกลับทำให้มันดูเหมือนยัดๆพวกเธอมาให้รู้ว่ามาแค่นั้นมากกว่า ซึ่งมันน่าเสียดายเมื่อเทียบกับสิ่งที่ทั้งสองตัวละครสมควรจะทำได้ อย่างที่สองคือบทสรุปของเกมนั้นดูจะได้รับอิทธิพลจากการพยายามตอบสนองความต้องการของแฟนๆ มากเกินไป จนมันดูขาดพลังและความแข็งแรงที่ทางทีมเขียนบทน่าจะทำได้หากต้องการทำจริงๆ ซึ่งถึงแม้ว่ามันจะทำให้มีฉากแฟนเซอร์วิสดีๆหลายฉาก แต่มันก็ไปสร้างข้อเสียบางอย่างให้กับทางบทอยู่เหมือนกัน ทั้งนี้ทั้งนั้น ข้อเสียทั้งสองข้อก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ค่อนข้างเล็กมาก และมีความเป็นไปได้สูงว่าเราอาจจะได้เห็นทริชและเลดี้มาปรากฏตัวใน DLC ในอนาคต ซึ่งก็อาจจะแก้ปัญหาข้อแรกไปได้

สรุป

Devil May Cry 5 เป็นเกมที่เชย ในสมัยนี้ที่เทรนด์ส่วนใหญ่ถ้าไม่ทำเกมออนไลน์ขายเซอร์วิสอย่างพวก Battle Royale หรือ Looter ก็จะพยายามสร้างโลกของเกมให้ไม่มีรอยต่อด้วยการทำ Openworld เล็กบ้างใหญ่บ้าง แต่ Devil May Cry 5 ยังคงใช้ระบบมิชชั่นเล่นผ่านเป็นด่านๆแบบที่เราไม่ได้เห็นกันบ่อยๆแล้ว และด้วยระบบนี้ก็ทำให้การเล่นจบในแต่ละรอบนั้นไม่ได้ยาวมาก Replayability จึงไปตกอยู่ที่การเล่นซ้ำในระดับความยากสูงๆมากกว่า ผิดกับเกมสมัยนี้ที่เน้นขายจากปริมาณคอนเทนต์ แต่ความเชยนี้แหละ ที่ทำให้ DMC5 เปร่งประกายจากเกมอื่นๆ เพราะมันพิสูจน์ให้เห็นว่าเนื้อแท้ของเกมๆ หนึ่งคือ ความสนุก มันคือการสร้างประสบการณ์ห้วงจังหวะหนึ่งที่น่าพึงพอใจและทำซ้ำได้เรื่อยๆโดยไม่จำเป็นต้องมีคอนเทนต์อะไรมากกว่านั้นและไม่จำเป็นต้องมาจากการแข่งขันกับผู้เล่นคนอื่น แค่เพียงเพราะมันสนุก มันเวิร์ค มันทำให้เราอยากเล่นเก่งขึ้น อยากท้าทายตัวเองมากขึ้น แค่นั้นก็ทำให้เกมๆหนึ่งมันสุดยอดได้แล้ว

เอาว่าถ้าใครที่ไม่มีปัญหากับเนื้อเรื่องแนวกวนตีนทะเล้นๆ ที่หาความสมเหตุสมผลไม่ค่อยได้ และระบบเกมแอคชั่นแบบเต็มสูบที่คุณจะต้องใช้ทุกๆ นิ้วที่มีเพื่อกดคอมโบสุดซับซ้อนเพื่อให้สามารถอัดศัตรูในเกมได้อย่างมีสไตล์กันจนปวดมือแล้วล่ะก็ Devil May Cry 5 คือเกมฟอร์มยักษ์ผู้เขียนคิดว่าที่ดีที่สุดในช่วงต้นปี 2019 นี้แล้ว และเชื่อมั่นว่ามีโอกาสไม่น้อยที่เราจะได้เห็นเกมนี้ในงานชิงรางวัล อย่างน้อยก็ในสาขา Best Action Game แน่นอน