เครื่องเกมพกพาเคยเป็นขุมทองของวงการเกมมายาวนาน จนการมาของเกมบนมือถือที่มาแรงแซงโค้งเกมดัง ๆ ทุกวันนี้ล้วนออกบนมือถือเกือบหมด มีเพียงนินเทนโดเท่านั้นที่สามารถยังอยู่ในตลาดเกมพกพาได้ แม้จะต้องปรับเปลี่ยนเป็นคอนโซลลูกผสมพกพาก็ได้ต่อทีวีก็ได้อย่าง Nintendo Switch แต่ในอดีตมีเครื่องเกมพกพาออกมาหลายรุ่นจากหลายค่ายซึ่งก็ประสบความสำเร็จบ้างล้มเหลวบ้าง

มาวันนี้ทาง Beartai ได้รวบรวมเอารายชื่อและข้อมูลเครื่องเกมพกพาในอดีตที่ออกมาเป็นคู่แข่งของเจ้าตลาดอย่าง Nintendo ที่มีมาตั้งแต่ปลายยุค 80s แล้ว ในตอนที่นินเทนโดสร้างตำนานกับเครื่องเกมพกพา Game Boy ที่สามารถเปลี่ยนตลับเกมได้ และใช้หน้าจอแบบ LCD แบบขาวดำ ซึ่งหากนับคู่แข่งของปู่นินส่วนใหญ่จะมีความสามารถเหนือกว่าคอนโซลของนินเทนโดมาแทบทุกสมัย แต่กลับไม่มีใครสามารถทำยอดขายได้มากกว่าปู่นินเลยไปดูกันว่าตลอด 30 กว่าปีมีรุ่นไหนบ้างแล้วทำไมถึงล้มนินเทนโดไม่ได้ โดยรายชื่ออาจจะไม่ได้ขนมาครบทุกรุ่นแต่คัดมาเฉพาะรุ่นที่น่าสนใจเท่านั้น โดยบทความนี้จะไม่มี PSvita เพราะเคยได้เขียนสาเหตุของความล้มเหลวของ PSvita ไปแล้วใครสนใจไปอ่านได้ที่ บทความ PSvita

Atari Lynx

Atari Lynx เครื่องเกมพกพาของค่าย อาตาริ ที่ออกวางขายในอเมริกาหลังจาก Gameboy เพียง 2 เดือนเท่านั้น และการมาพร้อมหน้าจอสีแถมมีไฟที่หน้าจอทำให้มันเหนือกว่าคอนโซลของปู่นินในทุกทาง แถมด้วยการออกแบบที่แหวกแนวมาก เพราะผู้เล่นสามารถเล่นได้ทั้งแนวตั้งและแนวนอนได้ เพราะมีปุ่มกดอยู่ทั้งสองด้าน โดย Atari Lynx วางในในเดือน กันยายน ปี 1989 ในอเมริกา โดยมีการออกวางขายรุ่นอัปเกรดในปี 1991 ที่ปรับขนาดของตัวเครื่องให้จับถนัดมือมากขึ้น ส่วนสื่อใช้แบบตลับเกม รวมทั้งความสำเร็จในอดีตของอาตาริ ถือว่ามันน่าสนใจอย่างมาก

แล้วทำไมมันถึงล้มเหลว

แม้ว่าจะเหนือกว่า Game Boy ทุกด้าน แต่สิ่งแรกที่ Atari Lynx ไม่สามารถสู้นินเทนโดได้คือราคา ที่ในตอนเปิดตัวมีราคาสูงมากถึง 180 เหรียญ แม้ว่าในยุคนี้จะไม่ได้แพงแต่ในปี 1989 ถือว่าสูงกว่าเครื่องเกมคอนโซลต่อทีวีด้วยซ้ำ เมื่อเทียบกับเกมบอยที่มีราคาเปิดตัวเพียง 89 เหรียญ ถือว่าห่างกันเป็นเท่าตัวทำให้ไม่แปลกที่แฟนเกมจะเลือกปู่นิน แต่เท่านั้นคงไม่พอเพราะ Atari Lynx มีปัญหาหน้าจอที่แม้จะเป็นจอสีแต่มันดูยาก และแสดงภาพไม่คมชัดเพราะเทคโนโลยีในยุคนั้นไม่เพียงพอที่จะทำหน้าจอให้คมชัดทำให้การเล่นลำบาก แถมด้วยเกมเปิดตัวที่ไม่ได้โดดเด่น ทำให้ Atari Lynx หยุดผลิตไปในปี 1995 และทำยอดขายไปประมาณ 3 ล้านเครื่องเท่านั้น เทียบไม่ได้เลยกับยอดขายระดับ 100 ล้านของ Game Boy

Game Gear

ในวงการคอนโซลคู่แข่งที่น่ากลัวในยุคแรกของนินเทนโดคือค่าย SEGA ที่สามารถทำยอดขายเครื่องเกมได้ใกล้เคียงปู่นินในยุคแรกเริ่มและประสบความสำเร็จมากกับ Mega Drive ทำให้การมาของ Game Gear เป็นที่จับตามองอย่างมาก และการที่มาพร้อมกับหน้าจอสีที่คมชัดและมีขนาดใหญ่ มาพร้อมไฟบนหน้าจอ แถมยังมีเกมอย่าง Sonic หรือ นินจา Shinobi เป็นตัวชูโรง ทำให้แฟน ๆ เกมอยากจับจอง แม้แต่ผู้เขียนเองก็เคยมีเป็นเจ้าของ โดยสเปกของ Game Gear จะมาพร้อมกับ CPU แบบ 8Bit และหน้าจอสีแสดงผลได้มากกว่า 4,000 สี และใช้ตลับเกมเป็นสื่อ เรียกว่าเหนือกว่า Game Boy ทุกด้าน โดยวางขายในปี 1990 ในญี่ปุ่นและ 1991 ในอเมริกา ไล่หลังเกมบอยไม่กี่ปี ตอนเปิดตัวสามารถทำยอดขายได้ดีพอสมควร

ทำไมมันถึงสู้นินเทนโดไม่ได้

แม้อาจจะเรียกว่า Game Gear ล้มเหลวแบบหมดรูปไม่ได้ แต่หากนำไปเทียบยอดขายกับ Gameboy แล้วห่างกันเป็นสิบเท่า เพราะเกมบอยขายได้ 100 ล้านเครื่อง แต่ Game Gear ขายได้ 10 ล้านเครื่องถือว่าทำยอดขายได้พอสมควร แต่ไม่มากพอที่ทาง SEGA จะเข็นรุ่นต่อไปออกมาสานต่อและเลิกผลิตไปในปี 1997 แม้จะมีเกมดัง ๆ ของ SEGA ออกมารองรับจำนวนมากก็ตาม และสาเหตุหลักที่ Game Gear ขายได้น้อยอย่างแรกคือราคาที่เปิดตัว 150 เหรียญ ถือว่าไม่สูงแต่ก็แพงกว่าเกมบอย ส่วนอีกข้อที่มีปัญหาคือการกินแบตแบบสูบน้ำของ Game Gear เพราะมันใช้ถ่านไฟฉาย AA เป็นแหล่งพลังงานถึง 6 ก้อน และเล่นได้ไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น ทำให้เป็นปัญหาใหญ่ของเครื่องเกมพกพา อีกทั้งตัวเกมแม้จะมีเกมดัง ๆ ออกแต่คุณภาพก็ไม่เท่าบนคอนโซล ทำให้แฟนเกมเลือกที่จะไปเล่นเกมเวอร์ชัน Maga Drive คอนโซลต่อทีวีของ SEGA มากกว่า

WonderSwan

เครื่องเกม WonderSwan จากค่าย Bandai ที่น่าจับตามองอย่างมากเพราะมันเป็นผลงานสุดท้ายของผู้ให้กำเนิด Game Boy อย่างคุณ Gunpei Yokoi ที่ออกแบบไว้ก่อนที่เขาจะเสียชีวิต (ตอนนั้นเขาได้ลาออกจากนินเทนโดแล้ว) โดย WonderSwan วางขายในปี 1999 ในแบบจอขาวดำก่อน และหลังจากนั้นก็ได้ออกรุ่นจอสีในชื่อ WonderSwan Color ในปี 2000 โดยรูปร่างของ WonderSwan จะมีความคล้ายกับ Atari Lynx ที่สามารถเล่นได้ทั้งแนวตั้งและแนวนอน เพราะ WonderSwan มีปุ่มทั้งสองด้าน และมาพร้อม CPU ระดับ 16Bit ทำให้สร้างกราฟิกได้ประมาณ Super Famicom ซึ่งถือว่ามากกว่า Game Boy พอสมควร

ส่วนจุดเด่นของ WonderSwan จะมาพร้อมกับการใช้แบตเป็นถ่านไฟฉายแบบ AA เพียงก้อนเดียวแต่เล่นได้ยาวถึง 40 ชั่วโมงในแบบจอขาวดำ และเล่นได้ยาว ๆ ถึง 20 ชั่วโมงในรุ่นจอสี เรียกได้ว่าประหยัดแบตอย่างน่าทึ่งมากแม้ทุกวันนี้ก็แทบไม่มีอุปกรณ์อะไรกินไฟน้อยขนาดนี้ บวกทั้งค่ายยักษ์ใหญ่อย่าง Squaresoft ได้รีเมกเกม Final Fantasy, Final Fantasy 2 และได้นำ Final Fantasy 4 มาออกวางขายบน WonderSwan Color ทำให้มันได้รับความสนใจอย่างมาก

ทำไมมันถึงสู้นินเทนโดไม่ได้

อย่างแรกที่ยอดขายที่ WonderSwan ทำยอดขายรวมทั้งสองรุ่นไป 3 ล้านกว่าเครื่อง ที่ไม่มากมายเพราะ WonderSwan ไม่มีการวางจำหน่ายนอกประเทศญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการ รวมทั้งเกมที่วางขายแม้จะมีเกมดัง แต่ก็เป็นเกมที่เคยออกบนเครื่องอื่นมาแล้วหรือรีเมกไม่ใช่เกมใหม่ หรือเกมของ Bandai เองก็มีแต่พวกสร้างจากการ์ตูนดังในตอนนั้น ทำให้ขาดความหลากหลาย และแน่นอนว่าในปี 1999 เกมโปเกมอน โด่งดังจนเป็นกระแสทั่วโลกกลบการมาของ WonderSwan ไปหมด และเกมดัง ๆ หลายเกมที่ออก ภายหลังก็ถูกนำไปวางขายบน Game Boy advance ในเวลาต่อมาทำให้มันไม่เป็นที่สนใจและ WonderSwan เลิกทำตลาดไปในปี 2003 เรียกว่าเป็นคอนโซลที่อายุสั้นมาก

N-Gage

N-Gage เครื่องเกมพกพาของ Nokia ที่เด็กยุค 2000s ต้องรู้จักเพราะมันเป็นการเจาะตลาดเกมพกพาครั้งแบบเต็มตัวของค่ายมือถือ โดย N-Gage วางขายในปี 2003 ที่มาในรูปแบบสมาร์ตโฟนระบบ ซิมเบี้ยน ที่มีรูปร่างเหมือนเครื่องเกมที่วางในแนวนอนคล้ายกับ Game Boy Advance และใช้สื่อเป็น MMC-Card ที่เหมือนกับ SD-Card ที่ถือว่าแปลกใหม่ และยังได้เกมดังมาลงทั้ง Sonic และ Tomb Raider แม้แต่ The SIM หรือ Call Of Duty ก็มีวางขาย เรียกว่าเป็นสิ่งในฝันของแฟนเกมยุคนั้นที่มีเครื่องเกมที่สามารถใช้แทนโทรศัพท์มือถือได้ด้วย และมีการออกรุ่นอัปเกรดออกมาในชื่อ N-Gage QD ออกมาที่ปรับให้จับถนัดมือและช่องใส่ MMC ที่ไม่ต้องแกะแบตออกวางขาย

แล้วทำไมมันถึงล้มเหลว

แม้จะเป็นคอนโซลที่ใช้โทรศัพท์ได้ แต่การพูดคุยสำหรับ N-Gage รุ่นแรกต้องใช้สันเครื่องวางแนบหูแล้วคุยทำให้มันดูตลกมาก โดยปัญหานี้ได้รับการแก้ไขในรุ่น QD อีกทั้ง N-Gage รุ่นแรกเวลาเปลี่ยนเกมต้องถอดแบตออกก่อนทำให้ลำบากอย่างมาก (แต่ได้รับการแก้ในรุ่น QD เช่นกัน) ส่วนเกมดัง ๆ ที่วางขายก็มีคุณภาพที่ด้อยกว่าต้นฉบับ แถมด้วยสัดส่วนหน้าจอที่มาในแนวตั้งแบบหน้าจอมือถือในยุคนั้นทำให้เกมต้องออกแบบมาใหม่เพื่อหน้าจอที่ไม่เหมือนชาวบ้าน นอกจากนี้ N-Gage มีเกมออกจำนวนน้อยมาก แถมเกมยังมีราคาค่อนข้างแพง ทำให้มันวางขายเพียง 3 ปีก็หยุดทำตลาด ส่วน N-Gage ก็ได้กลายเป็นระบบ Gaming Service บนระบบซิมเบี้ยนแทน

PlayStation Portable (PSP)

หลังจาก Sony สามารถขึ้นเป็นเบอร์ 1 ของวงการเกมโฮมคอนโซลได้จาก PS1 และ PS2 ได้ทำให้ Sony ได้เปิดตัว PSP เครื่องเกมพกพาเพื่อท้าชิงตำแหน่งกับ นินเทนโด ซึ่งในตอนแรกที่เปิดตัว PSP ในปี 2005 ก็ได้รับเสียงฮือฮาอย่างมากจนถึงจนถึงขนาดมีแฟนบอยค่ายเกมในยุคนั้นบอกว่าจะถึงจุดจบของปู่นินกันเลย และมันมาพร้อมกับสื่อแบบแผ่น UMD ที่มีความจุมหาศาลมาก และยังมาพร้อมกับกองทัพเกมดังอีกเพียบ และสื่อแบบแผ่นเหมือนกับการมาของ PS1 ที่สามารถชนะปู่นินที่ใช้ตลับเกมเป็นสื่อได้ เรียกว่าเป็นความคาดหวังของแฟนเกมในยุคนั้นเลย

นอกจากนี้สเปกของ PSP ก็จัดเต็มเทียบเท่ากับคอนโซลในยุคนั้นเพราะ CPU ของ PSP มีความแรงพอ ๆ กับ PS2 และเหนือกว่าคู่แข่งอย่าง Nintendo DS หลายเท่า และด้วยหน้าจอขนาดยักษ์ที่มีคุณภาพสูง แถมยังมีแผ่นหนังแบบ UMD ออกมาวางขายแถมยังฟัง MP3 ได้อีกเรียกว่ามีทุกอย่างที่เครื่องเกมพกพามีอย่างแท้จริง จนในยุคนั้นในประเทศไทยเป็นเครื่องเกมพกพาที่ขายดีอย่างมากมายแทบไม่ต่างจาก PS2 เลย

PSP ขายดีแต่ทำไมล้มนินเทนโดไม่ได้

อาจจะบอกว่า PSP ล้มเหลวไม่ได้ เพราะยอดขายที่มากมายถึง 80 ล้านเครื่อง มันจึงเป็นความสำเร็จมหาศาลด้วยซ้ำ แต่เมื่อเทียบกับ Nintendo DS ที่ขายไปได้มากกว่า 150 ล้านเครื่องทำให้มันยังไม่สามารถโค่นแชมป์เกมพกพาจากปู่นินได้ ทั้ง ๆ ที่ PSP มีเกมดังออกมากมาย และขายดีอย่าง Monster Hunter อยู่แต่ยังคงเทียบความแรงของเกม Pokemon ที่ยังคงได้รับความนิยมไม่ได้ และเกมจากค่ายนินเทนโดที่ลง DS ก็มีความโดดเด่นกว่าเกมที่ Sony ทำป้อน PSP และการที่เป็นเครื่องเกมพกพาที่ปู่นินเข้าใจตลาดมากกว่า เพราะไม่ใช่แค่ย้ายเกมคอนโซลไปลงต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบเกมให้เข้ากับการเล่นบนหน้าจอเล็ก ๆ ด้วย

ซึ่งความจริงในช่วงแรกที่ PSP วางขายเคยทำยอดใกล้เคียงกับ DS ด้วยซ้ำ แต่หลังจากการมาของเกมไอเดียแปลกใหม่ของปู่นินอย่าง Nintendog ที่ใช้หน้าจอสัมผัสรวมทั้งคำสั่งเสียงในการเลี้ยงน้องหมา ได้กลายเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ DS ขายดีขึ้นและยังตามมาด้วยเกมจากนินเทนโด ที่ปรับให้เข้ากับการเล่นแบบพกพาได้ลงตัวกว่าทำให้ DS สามารถกลับขึ้นมาแซงจนติดลมบนและทำยอดขายได้มากที่สุดสำหรับเครื่องพกพาจากนินเทนโดไปในที่สุด ซึ่งตามความจริง PSP เป็นหนึ่งในผู้ท้าชิงกับนินเทนโดได้ใกล้เคียงที่สุดแล้ว และเป็นคอนโซลพกพาที่ขายดีจนมีทายาทอย่าง PSVita ออกวางขายได้

สรุปแล้วในตอนนี้เครื่องเกมพกพาอาจจะเรียกว่าตายไปเกือบหมด เหลือเพียงคอนโซลลูกผสมอย่าง Nintendo Switch ที่ยังคงวางขายอยู่เจ้าเดียว แม้จะมีข่าวว่า Sony อาจจะกลับลำหันมาทำรุ่นต่อไปของ PSVita แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจน เพราะคู่แข่งของ Sony อาจจะไม่ใช่นินเทนโด แต่เป็นเกมบนมือถือที่ทุกวันนี้พัฒนาไปจนอาจจะเรียกได้ว่าเทียบเท่ากับเกมคอนโซลแล้ว และด้วยราคาขายและการเข้าถึงได้ง่ายกว่าของเกมมือถือ ทำให้ค่ายเกมส่วนใหญ่ทำเกมลงสมาร์ตโฟนกันเกือบหมดทำให้เป็นสิ่งที่ต้องคิดหากจะมีค่ายไหนอยากทำเครื่องเกมคอนโซลแบบพกพา ซึ่งความจริงตลาดนี้ถือว่าใหญ่มากและสามารถทำรายได้หลักพันล้านง่าย ๆ เพียงแต่ยุคสมัยทำให้ทุกอย่างรวมอยู่ในมือถือหมดจึงเป็นเรื่องยากเย็นที่จะเข็นเครื่องเกมพกพาออกมาวางขาย

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส