ผ่านไปแล้วกับงาน มอบรางวัลประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2563 หัวข้อ “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์” ของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) (ชมรวมภาพที่ได้รับรางวัลที่นี่) เพราะแต่ละภาพล้วนน่าทึ่งน่าตื่นตา เราจึงขอสัมภาษณ์ 2 ผู้ชนะเลิศมาถ่ายทอดเรื่องราวและเทคนิคการถ่ายภาพให้ผู้มีใจรักการตามล่าดวงดาวได้เรียนรู้กัน หากมีความรู้ถ่ายดาวเบื้องต้นมาบ้างอ่านจบแล้วรับรองว่านำไปฝึกฝนถ่ายตามได้ทันที แต่ถ้าหากไม่มี อยากจบจะได้แรงบันดาลใจให้อยากเริ่มลองถ่ายขึ้นมาแน่นอนนน

NEOWISE ดาวหางใกล้โลก แชมป์ภาพถ่าย ‘วัตถุในระบบสุริยะ’

คุณวชิระ โธมัส เจ้าของภาพ “C/2020 F3” (NEOWISE) ผู้คว้ารางวัลชนะเลิศ ประเภทวัตถุในระบบสุริยะ กล่าวถึงการถ่ายภาพนี้ว่า เป็นเพราะดาวหางนี้เข้าใกล้โลกสุด ๆในปี 2020 ตนจึงไม่ปล่อยโอกาสให้พลาดไป แม้ช่วงเวลาถ่ายในประเทศไทยจะมีน้อยมากก็ตาม

ภาพ “C/2020 F3” (NEOWISE) ที่ได้รางวัลชนะเลิศ ประเภทวัตถุในระบบสุริยะ
ในการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ของปีนี้

“ภาพนี้ผมใช้เวลาถ่ายไป 45 นาที จากเวลาทั้งหมดเพียง 1 ชั่วโมงที่จะสามารถเห็นดาวหางได้ เนื่องจากในเมืองไทยพอฟ้าเริ่มมืด ดาวหางก็ใกล้ลับขอบฟ้าแล้ว ดังนั้นจึงต้องทำการบ้านก่อนถ่ายเยอะมาก” การบ้านที่คุณวชิระว่า คือการเตรียมความพร้อมทั้งในเรื่องอุปกรณ์ การเลือกสถานที่ การหาค่าถ่ายที่เหมาะสม ตลอดจนการหาข้อมูลที่จำเป็นจากเว็บไซต์ และแอปพลิเคชันต่าง ๆ

“เราต้องรู้ก่อนว่าวัตถุที่จะถ่ายอยู่ทิศไหน จะถ่ายให้ชัดก็ต้องเลือกสถานที่มืดมากๆ มีแสงกวนในทิศทางนั้นหรือไม่ อย่างดาวหางนี้มาทางทิศตะวันตก เราก็ต้องตรวจดูว่าที่ไหนฟ้ามืดสนิทในทิศนั้นบ้าง ต้องดูฟ้าฝนในสถานที่นั้นด้วยว่าจะมีเมฆหรือไม่ และนั่นก็ทำให้ผมเลือกที่จะเดินทางไปถ่ายที่จังหวัดแพร่”

สำหรับการเลือกใช้อุปกรณ์นั้น สิ่งที่ต้องใช้ก็ได้แก่ กล้อง DSLR เลนส์ 250 มม. และขาหรือมอเตอร์ตามดาวซึ่งคุณวชิระเน้นว่า “ไม่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์แพง แต่ขอให้เลือกใช้ให้เหมาะสม” 

“สำหรับเรื่องระยะเลนส์ เป็นเรื่องโชคดีว่าผมได้ลองถ่ายที่พระธาตุดอยสะเก็ดดูก่อน พอเราเห็นว่าฟ้าเปิดก็ลองถ่ายเจอะดูก็พบว่าระยะเลนส์ที่ใช้ 300 มม. ทำให้ได้ภาพดาวหางดูที่แน่นเกินไป จึงเปลี่ยนมาเป็นเลนส์ 250 มม. รุ่นที่ออกแบบมาเพื่อถ่ายดาวโดยเฉพาะซึ่งช่วยให้ได้ภาพที่คมชัด และได้ลองถ่ายดูก็ทำให้รู้ว่าควรจะวางเฟรม วางมุมแบบไหน”

ภาพมุมกว้างอีกมุมของดาวหาง NEOWISE ถ่ายด้วยเลนส์ 50 มม. บันทึกภาพในวันเดียวกับภาพที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ

นอกจากนี้ คุณวชิระยังอาศัยข้อมูลจากช่างภาพชาวต่างชาติที่ถ่ายภาพดาวหางมาก่อนเป็นแนวทาง โดยปรับใช้ค่าต่าง ๆ ตาม ทำให้สามารถถ่ายได้ในเวลาอันสั้น ไม่เสียเวลาปรับจูนมากนัก “ผมถ่ายภาพใบละ 1 นาที จึงได้ภาพมา 45 ใบ ทำให้เก็บรายละเอียดได้ดีกว่าคนอื่น และนั่นน่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้ภาพนี้ได้รางวัล”

(อ่านต่อหน้า 2 คลิกด้านล่างเลย)

กระจุกดาวลูกไก่ จากกลุ่มดาวพื้นบ้านสู่ภาพสุดอลัง

นอกจากภาพดาวหางที่คว้ารางวัลชนะเลิศแล้ว ภาพ “Blue Sisters” ของคุณวชิระ ยังคว้ารางวัลอันดับ 2 ในประเภท Deep Sky Objects ด้วย เราจึงมาพูดคุยกันต่อว่า 2 ภาพนี้มีความยากง่ายและความแตกต่างในการถ่ายอย่างไร 

“สำหรับภาพนี้ผมไม่ได้ตั้งใจถ่ายประกวดเลยนะ แค่อยากถ่ายให้มันสวยเท่านั้น อันที่จริงถ่าย Deep Sky Objects ไม่ได้ยากเลย แต่การจะถ่ายให้สวยและให้ได้รายละเอียดคมชัด อันนี้ยากหน่อย อยู่ที่ความขยันในการถ่ายเลยครับ” 

คุณวชิระอธิบายว่า ภาพกระจุกดาวลูกไก่นี้ตนใช้เวลาถ่ายไปทั้งสิ้น 7 ชั่วโมง ใช้เวลาถ่าย 2 วัน โดยเปิดกล้องใบละ 3 นาที ซึ่งเวลาตรงส่วนนี้ขึ้นอยู่กับวัตถุที่จะถ่าย อย่างกระจุกดาวลูกไก่นี้เป็นวัตถุที่มีความสว่างมาก สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่ถ้าเป็นวัตถุอื่นที่อยู่ไกล แสงน้อย ก็อาจจะต้องเปิดหน้ากล้องเพิ่ม อาจใช้เวลานานถึง 4-5 นาทีต่อใบ ส่วนสีที่เห็นนั้นก็เป็นสีจริงที่ได้จากการถ่าย ไม่ได้เติมสีเพิ่มลงไป เพียงแค่ปรับแต่งให้เด่นชัดขึ้นเท่านั้น

“ทั้งกล้อง เลนส์ และผมใช้ชุดเดียวกับที่ถ่ายดาวหางเลยครับ ไม่ได้ใช้ของแพงอะไร ถ้าถ่ายพวกที่มีสีออกแดงหรือส้มอันนั้นก็อาจจะต้องเลือกกล้องที่มีการดัดแปลงให้รับสีเหล่านั้นได้ชัดกว่าเดิม แต่ความยากของภาพนี้คือกลุ่มแก๊สของกระจุกดาวเป็นสีฟ้า ซึ่งเป็นสีที่ถ่ายติดยากมาก ไม่มีอุปกรณ์ช่วยถ่ายแบบนั้น มักจะติดเป็นสีจาง ๆ ต้องใช้วิธีถ่ายแล้วถ่ายอีกแล้วนำภาพมารวม”

เรียกว่าเป็นภาพที่เกิดจากความมุมานะของแท้ แต่นอกจากความเพียรแล้ว อีกอย่างที่ต้องทำก็คือการเตรียมความพร้อมเช่นเดียวกับการถ่ายดาวหาง ซึ่งคุณวชิระบอกว่าพอใกล้เข้าสู่ฤดูหนาวก็ให้เตรียมวางแผนกันเลยว่าจะถ่ายอะไรบ้าง แล้วตระเวนถ่ายกันให้เต็มที่เพราะเป็นฤดูเดียวที่เหมาะกับการถ่าย Deep Sky Objects เพราะไร้ปัญหาเรื่องฟ้าฝนและฝุ่น PM แต่ถ้าใครจะถ่ายนอกฤดูก็คงต้องลุ้นกันสักหน่อย เพราะชั่วโมงการถ่ายที่ยาวนานคงไม่เอื้ออำนวยเท่าไหร่จริง ๆ

คุณวชิระ โธมัส เจ้าของภาพ “C/2020 F3” (NEOWISE) ผู้คว้ารางวัลชนะเลิศ ประเภทวัตถุในระบบสุริยะ
Credit : สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)
ภาพเปรียบเทียบพัฒนาการถ่ายกระจุกดาวลูกไก่ของคุณวชิระ โธมัส
ผู้คว้ารางวัลรองชนะเลิศ ในประเภท Deep Sky Objects ในการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ของปีนี้
‘Mars in Sagittarius’ หรือ ปรากฏการณ์ดาวอังคารโคจรมาอยู่ในกลุ่มคนยิงธนู ซึ่งจะเกิดประมาณ 2 ปี /ครั้ง
อีกหนึ่งผลงานน่าทึ่งที่คุณวชิระเล่าว่าใช้เวลาวางแผนการถ่ายถึง 2 ปี และถ่ายไว้เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา
Credit: Vichira Thomas

ใครอยากอ่านประสบการณ์ล่า Deep Sky Objects ของคุณวชิระ เพิ่มเติมตามไปอ่านกันได้ที่นี่เลย

(อ่านต่อหน้า 3 คลิกด้านล่างเลย)

Blue Jet คืออะไร ทำไมถึงได้เป็นภาพชนะเลิศ

ถัดจากภาพวัตถุที่อยู่นอกโลกเรากลับมาที่ปรากฏการณ์ในโลกกันบ้าง และแม้จะชื่อขึ้นว่าอยู่ในโลก แต่ก็ใช่ว่าจะถ่ายได้ง่ายกว่าแต่อย่างใด ยิ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดยากด้วยแล้ว เผลอ ๆ โอกาสถ่ายดาวให้คมสวยยังมีมากกว่าเลย และปรากฏการณ์ที่ว่าก็คือ ‘Blue jet’ นั่นเอง

ปกติทั่วไป คนมักเรียกปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่มีเส้นของแสงปรากฏขึ้นชั่วพริบตา เกิดจากการเคลื่อนที่ของประจุไฟฟ้าว่า ‘ฟ้าผ่า’ แต่รู้หรือไม่ว่าที่จริงมันมีหลายชนิดมาก ๆ นอกจากฟ้าผ่าที่เราเห็นว่าวิ่งลงมาสู่ดินแล้ว ยังมีฟ้าผ่าในลักษณะที่เกิดในเมฆ หรือบนชั้นบรรยากาศที่สูงขึ้นไปด้วย อย่างฟ้าผ่าที่เกิดขึ้นบนในชั้นบรรยากาศด้านบนหรือที่เรียกว่า ‘ฟ้าผ่าไอโอโนสเฟียร์ (Ionospheric lightning)’ ก็นับเป็นปรากฏการณ์ สลายตัวทางไฟฟ้าที่มีอายุสั้น มักเกิดเหนือระดับความสูงของฟ้าแลบและเมฆพายุปกติ คาดกันว่ามันคือ พลาสมาเรืองแสงที่กระตุ้นด้วยไฟฟ้า จึงส่องสว่างขึ้นมาชั่วคราว (Transient luminous event: TLE)

ส่วน ‘Blue jet’ นั้นก็ถือเป็นหนึ่งในรูปแบบหนึ่งของฟ้าผ่าไอโอโนสเฟียร์ เกิดขึ้นในชั้นบรรยากาศสตราโทสเฟียร์ (Stratosphere) คาดกันว่ามันเริ่มต้นด้วยฟ้าผ่าแบบปกติ ที่ปล่อยประจุบวกจากบริเวณเมฆฝนขึ้นไปสู่พื้นที่ด้านบนที่มีประจุลบ ส่วนที่เป็นสีฟ้านั้นเชื่อกันว่าเกิดจาก การปล่อยรังสีอัลตราไวโอเลตสีน้ำเงินและรังสีในช่วงใกล้อัลตราไวโอเลตจากโมเลกุลไนโตรเจนที่มีค่าเป็นกลางและแตกตัวเป็นไอออน 

ภาพแสดงลักษณะของฟ้าผ่ารูปแบบต่าง ๆ โดยแบ่งประเภทจากบริเวณที่เกิด
ด้านล่างสุดคือฟ้าผ่าทั่วไปที่เราพบเห็นบ่อย ๆ เพราะเกิดในชั้นบรรยากาศที่เราอาศัยอยู่
Credit : wikipedia.org

มีการบันทึกภาพ ‘Blue jet’ ครั้งแรกได้เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 1989 ด้วยวิดีโอขาวดำ โดยถ่ายไปยังบริเวณขอบฟ้าที่มีพายุฝนฟ้าคะนอง จากกระสวยอวกาศขณะเคลื่อนผ่านออสเตรเลีย ปัจจุบัน มีผู้ถ่ายภาพ ‘Blue jet’ ได้ไม่ถึงร้อยใบทั่วโลก ทำให้ขึ้นชื่อว่าเป็นภาพปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่ทั้งพบเห็นและบันทึกภาพได้ยากสุด ๆ

“ผมขับเครื่องบินมา 28 ปี ก็เพิ่งเคยเห็นเป็นครั้งแรก ตอนที่เห็นไม่รู้ด้วยซ้ำว่าคืออะไร รู้แต่ว่ามันไม่เหมือนฟ้าผ่าตามปกติเพราะมีสีน้ำเงินและยังผ่าขึ้นด้านบนไปสูงมาก ๆ ด้วย”  คุณสุภฉัตร วรงค์สุรัติ นักบินเจ้าของภาพ ‘Blue jet’ และเจ้าของรางวัลชนะเลิศ ประเภทภาพถ่ายปรากฏการณ์ที่เกิดในบรรยากาศของโลก ในการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ปีนี้เล่าถึงความตื่นเต้นที่ได้พบเจอกับปรากฏการณ์หายากในช่วงฤดูฝนปีที่แล้วเหนืออ่าวเบงกอล

การวางแผนคือไม่ได้วางแผน

แน่นอนว่าเป็นปรากฏการณ์หายากขนาดนี้การจะกะเกณฑ์เตรียมการหาข้อมูลก่อนถ่ายอย่างการภาพดาราศาสตร์อื่น ๆ จึงแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะอาศัยลูกฟลุคเพียงอย่างเดียว มีสิ่งที่ทำให้เขาสามารถหยิบกล้องขึ้นมาบันทึกภาพได้ทัน 

“การขับเครื่องบินก็คล้ายการขับรถ เวลาที่เราขับรถก็ต้องดูทางข้างหน้าว่ามีรถ มีอะไรไหม แต่บนฟ้ามันไม่มี จะเจอก็แต่พวกเมฆพายุ ซึ่งเราต้องคอยดูให้ดีว่าในนั้นมีอะไรหรือไม่ วันนั้นผมเห็นพายุในจอเรดาร์ห่างไป 80 ไมล์ (ประมาณ 140-150 กิโลเมตร) มองออกไปก็เห็นเป็นสีแดง ๆ ข้างใน สักพักก็เห็นฟ้าผ่าแปลกตา แทนที่จะเป็นสีขาวปกติกลับเป็นสีน้ำเงิน แถมยังผ่าขึ้นข้างบน หลังจากเห็นครั้งแรก ผมก็ชี้ชวนให้ผู้ช่วยนักบินมาดูด้วยกันพอเห็นว่าเกิดซ้ำเป็นครั้งที่ 2 นั่นแหละผมถึงได้ไปหยิบกล้องออกมาถ่าย”

เมื่อรู้ว่ามีสิทธิ์เกิดซ้ำ คุณสุภฉัตรก็รีบตั้งกล้องเตรียมถ่าย หลบเมฆไปทางขวา วางเฟรมรอจังหวะ และเมื่อเห็นว่ามีแสงสว่างวาบซึ่งเป็นสัญญาณเตือนว่า กำลังจะเกิดการคายประจุไฟฟ้าในไม่ช้าก็ได้เวลากดรัวไม่ยั้ง และนั่นก็ทำให้ได้ภาพหายากใบนี้มา

“ตอนถ่ายเราไม่รู้หรอกว่าจะได้ภาพมาหรือไม่ แถมเรายังอยู่บนเครื่องบินที่เคลื่อนที่ตลอด ไม่สามารถวางขาตั้งกล้องได้ พอกดถ่ายไปแล้วก็เลยจากจุดนั้นพอดีไม่มีโอกาสแก้ตัวให้ถ่ายซ้ำ ก็โชคดีที่ได้รูปนี้มา”

(อ่านต่อหน้า 4 คลิกด้านล่างเลย)

แต่หากวิเคราะห์ลงไป จะเห็นว่าการได้มาซึ่งภาพไม่ใช่แค่อาศัยโชคเท่านั้น แสงที่พอดีและองค์ประกอบของภาพยังสะท้อนถึงความพร้อมและประสบการณ์ที่สั่งสมมาของผู้ถ่ายด้วย นอกจากความชื่นชอบในการถ่ายภาพทั่วไป คุณสุภฉัตรยังถ่ายภาพทางช้างเผือก และเคยถ่ายภาพฟ้าผ่าจากหน้าต่างเครื่องบินมาหลายครั้ง นั่นเท่ากับเป็นการฝึกมือและเตรียมพร้อมสำหรับเหตุการณ์ในครั้งนี้ไปในตัว เราจึงขอให้คุณสุภฉัตรแนะนำเทคนิคการถ่ายภาพประเภทนี้ให้ฟังสักหน่อย  

คุณสุภฉัตร วรงค์สุรัติ นักบินเจ้าของภาพ ‘Blue jet’ และเจ้าของรางวัลชนะเลิศ ประเภทภาพถ่ายปรากฏการณ์ที่เกิดในบรรยากาศของโลก
Credit : สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

เทคนิคถ่ายภาพฟ้าผ่าจากเครื่องบิน

ถ้าคุณโชคดีได้นั่งข้างหน้าต่างบนเครื่องบิน มีกล้อง DSLR อยู่กับตัว เห็นมวลเมฆทะมึนส่องประกายแวบวาบ และอยากจะลองถ่ายฟ้าผ่าเหนือน่านฟ้าดูสักครั้ง นี่คือสิ่งที่คุณสุภฉัตรแนะนำมา 

  1. เปิดรูรับแสงให้กว้างที่สุดเท่าที่เลนส์ที่มีอยู่จะอำนวย (แนะนำว่าพกเลนส์ที่ตั้งค่า F ที่ 1.4 หรือ 2.4 ได้จะดีมากๆ)
  2. ตั้งค่าโฟกัสแบบแมนนวล หมุนไปที่อินฟินนิตี้ จากนั้นหมุนมือดูว่าภาพวัตถุที่เราต้องการถ่ายคมชัดหรือไม่ แล้วใช้ระยะนั้นยาว ๆ เลย (ไม่ควรใช้ Auoto Focus เพราะถ่ายผ่านกระจกหน้าต่าง จะทำให้กล้องวัดระยะโฟกัสไปที่กระจกแทน ไม่ใช่วัตถุที่เราอยากถ่ายข้างนอก)
  3. ตั้ง Speed Shutter ให้สัมพันธ์กับช่างเวลาที่ถ่ายและค่า F หากเป็นชวงกลางวันให้ตั้งไว้ราว ๆ 1/250 (เป็นค่าโดยประมาณ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอุปกรณ์ที่แตกต่างกันไป) กลางคืนก็ราว ๆ 1/30 – 1/60 (กรณีค่า F 1.4 หรือ 2.4) พยายามอย่าให้ถึง 1 วินาทีเพราะฟ้าผ่าที่ได้จะเบลอไม่คมชัด หากจำเป็นให้ดันค่า ISO ให้ไวแสงขึ้นแทน อนึ่ง ขั้นตอนนี้คุณสุภฉัตรเน้นว่าควรลองผิดลองถูกหลายครั้งก่อนจังหวะจริงมาถึง
  4. ตั้งค่า Continuous Shooting ยิ่งรัวต่อเนื่องได้เร็วเท่าไหร่ยิ่งดี เพราะเมื่อมัน Active หรือสว่างวาบขึ้นมา มันจะคายประจุออกเกิดเป็นสายฟ้า หรือ ฟ้าผ่าต่อทันที 

นอกจากนี้ คุณสุภฉัตรยังเล่าว่า ความน่าทึ่งของฟ้าผ่าในเมฆเมื่อถ่ายจากเครื่องบินบางครั้งก็ให้ภาพน่าตื่นตาได้หลายรูปแบบ ทั้งผ่าลงไปด้านล่างแบบปกติ (แต่เป็นมุมมองจากเครื่องบินทำให้ดูว้าวกว่าทั่วไป) ทั้งแบบที่เส้นสายฟ้าวิ่งขนานระหว่างเมฆ บางครั้งก็เป็นสีออกม่วง ออกฟ้าบ้าง หากใครได้ขึ้นเครื่องบินและมีโอกาสถ่ายก็ลองถ่ายกันดู

เอาละ ได้ความรู้จัดเต็มขนาดนี้แล้วที่เหลือที่คือหมั่นฝึกฝนหาโอกาสถ่าย เพื่อให้ได้ภาพดาวและปรากฏการณ์ธรรมชาติที่น่าตื่นตาตื่นใจมาครองกันดีกว่า ใครถ่ายได้ก็อย่าลืมมาอวดภาพให้ดูกันบ้างนะ ^^

ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

  • สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)
  • คุณวชิระ โธมัส
  • คุณสุภฉัตร วรงค์สุรัติ

อ้างอิง

Wikipedia.org

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส