เพราะกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล (Hubble Space Telescope) มีอายุครบ 30 ปีในปีนี้ นาซาจึงเลือกนำภาพไปประมวลผลใหม่ เพื่อเป็นของขวัญในวาระครบรอบ โดยแต่ละภาพนั้นมีความพิเศษคือ เป็นอัญมณีแห่งห้วงอวกาศที่สามารถมองเห็นได้ผ่านกล้องโทรทรรศน์หลังบ้าน หรือกระทั่งมองเห็นด้วยตาเปล่าได้
กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลทะยานขึ้นสู่อวกาศด้วยกระสวยอวกาศดิสคัฟเวอรี (Space Shuttle Discovery) ในเดือนเมษายนปี 1990 หลังนักบินอวกาศออกไปเดินในอวกาศ (Spacewalk) เพื่ออัปเกรดและบำรุงดูแลถึง 5 ครั้ง ปัจจุบัน กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลที่มีอายุเข้าสู่ปีที่ 30 สามารถปฏิบัติงานได้ดีกว่าเมื่อครั้งถูกส่งขึ้นไปในขวบปีแรก และยังคงค้นพบสิ่งแปลกใหม่ที่ท้าทาย ซึ่งพัฒนาความเข้าใจพื้นฐานของเราเกี่ยวกับเอกภพอยู่เรื่อย ๆ
ในชุดภาพใหม่ล่าสุดที่เป็นผลงานของกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลมีจำนวนกว่า 50 ภาพ และมีวัตถุท้องฟ้าถึง 30 ภาพ มาจากในแคตตาล็อกคาลด์เวล (Caldwell) อันที่จริงแล้ว กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลถ่ายภาพเหล่านี้เรื่อยมาตั้งแต่แรกเริ่มปฏิบัติภารกิจ แต่จนถึงขณะนี้ นาซาก็ยังประมวลผลภาพทั้งหมดเพื่อเผยแพร่สู่สาธารณะไม่เสร็จสิ้น


เนื่องจากมุมมองที่ละเอียดของกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล ทำให้มันไม่สามารถจับภาพวัตถุคาลด์เวลได้ครบทั้งวัตถุในบางภาพ บางครั้ง กล้องซูมเข้าไปที่กระจุกดาวอายุน้อยในแขนของกาแล็กซีก้นหอยหรือดวงดาวที่อยู่รอบนอกกระจุกดาว หรือดวงดาวที่สิ้นอายุแล้วใจกลางเนบิวลาแทน แต่ในกรณีกลับกันบางกรณี การสังเกตของกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล กลับให้รายละเอียดเป็นภาพที่นำมาปะติดปะต่อกันแล้วรวมเป็นภาพที่สมบูรณ์หรือเกือบสมบูรณ์ได้ ซึ่งนั่นก็ทำให้เราได้เห็นความมหัศจรรย์หรือความน่าตื่นตาของวัตถุท้องฟ้านั้น ๆ อย่างยิ่ง
แคตตาล็อกคาลด์เวลรวบรวมโดยนักดาราศาสตร์สมัครเล่นและนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษ นามว่า เซอร์แพทริก คาลด์เวล – มัวร์ (Sir Patrick Caldwell-Moore) ตีพิมพ์โดยนิตยสาร Sky & Telescope เมื่อ 25 ปีที่แล้วในเดือนธันวาคม 1995 เป็นแคตตาล็อกที่ได้รับแรงบันดาลใจจากแคตตาล็อกเมซีเย (Messier) ผลงานของชาร์ล เมซีเย (Charles Messier) นักล่าดาวหางชาวฝรั่งเศส ที่ประกอบไปด้วย วัตถุที่ส่องสว่างแต่รูปร่างเลือนรางจำนวน 110 วัตถุ ซึ่งปรากฏให้เห็นบนท้องฟ้าของซีกโลกเหนือและน่าจะถูกเข้าใจผิดว่าเป็นดาวหาง
จุดเด่นของแคตตาล็อกของคาลด์เวลล์คือ กาแล็กซีจำนวน 109 กาแล็กซี กระจุกดาวและเนบิวล่าที่ไม่รวมอยู่ในแคตตาล็อกของเมซีเย แต่ก็สว่างพอที่นักดาราศาสตร์สมัครเล่นมองเห็นได้ นอกจากนี้วัตถุในแคตตาล็อกคาลด์เวลยังมีทั้งวัตถุที่สังเกตเห็นได้จากท้องฟ้าซีกโลกเหนือและซีกโลกใต้ นักดาราศาสตร์สมัครเล่นทั่วโลกสามารถใช้อ้างอิงหรือติดตามได้
และนี่คือตัวอย่างของภาพปล่อยใหม่แคตตาล็อกคาลด์เวลล์ ซึ่งนาซาเพิ่งรวบรวมแล้วปล่อยออกมาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา (11 ธันวาคม 2563) รวมกับจะร่วมเฉลิมฉลองเป็นของขวัญที่เลอค่าส่งท้ายสิ้นปี
Caldwell 36


Processing: Gladys Kober (NASA/Catholic University of America)
ที่เห็นอยู่นี่คือแกนกลางและแขนก้นหอยบางส่วนของกาแล็กซี Caldwell 36 หรือที่เรียกว่า NGC 4559 มันอยู่ห่างจากโลกประมาณ 30 ล้านปีแสงในกลุ่มดาวโคมาเบเรนิกส์
ด้วค่าความสว่างปรากฏ (Apparent magnitude – ยิ่งค่านี้น้อย ยิ่งสว่าง) 10 ทำให้เรามองเห็น Caldwell 36 ได้ด้วยกล้องโทรทรรศน์ขนาดกลาง และสามารถส่องหาได้ง่ายในยามค่ำคืนเนื่องจากอยู่ใกล้กับกระจุกดาวโคม่า (Coma Star Cluster – Melotte 111) ซึ่งเป็นกลุ่มดาวที่มีค่าความสว่างปรากฏถึง 1.8
วิลเลียม เฮอร์เชล (William Herschel) คือผู้ค้นพบ Caldwell 36 ในปี 1785 สำหรับฤดูกาลที่ง่ายต่อการสังเกตเห็นที่สุด ถ้าสังเกตจากซีกโลกเหนือคือฤดูใบไม้ผลิ สำหรับผู้สังเกตการณ์ในซีกโลกใต้ ต้องมองหาบนท้องฟ้าทางทิศเหนือในช่วงฤดูใบไม้ร่วง
นักดาราศาสตร์ใช้กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลสังเกตการณ์ Caldwell 36 ในช่วงความยาวคลื่นที่มองเห็นได้และอินฟราเรดโดยใช้ Wide Field และ Planetary Camera 2 (WFPC2) เพื่อช่วยระบุตำแหน่งที่แม่นยำของการระเบิดของซูเปอร์โนวา และพวกเขาก็พบซูเปอร์โนวาใน Caldwell 36 ในปี 1941 และ 2019
ในปี 2016 นักดาราศาสตร์ยังสังเกตเห็นการระเบิดที่ดูคล้ายซูเปอร์โนวาจากดาวแปรแสงสีน้ำเงิน (Luminous Blue variable: LBV) ใน Caldwell 36 LBV เป็นดาวฤกษ์ขนาดใหญ่ยักษ์ที่แสดงความแปรปรวนของค่าความสว่างและสเปกตรัมที่ไม่อาจคาดเดาได้ ดาวเหล่านี้น่าจะหายากอย่างยิ่ง ปัจจุบัน เราพบว่ามีดาวเช่นนี้อยู่ในแคตตาล็อกทั่วไปของดาวแปรผันเพียง 20 ดวงเท่านั้น (และบางดวงยังคงมีข้อโต้แย้งอยู่ว่าใช่ดาวประเภทนี้หรือไม่) ดวงดาวเหล่านี้คือดาวที่ส่องสว่างสุด ๆ และบ่อยครั้งที่การระเบิดของดาวหรือการปะทุอย่างรุนแรงภายในดาว หรือในช่วงที่เรียกกันว่า “การระเบิดครั้งใหญ่” ของดาว จะทำให้เกิดแสงสว่างที่ต่างจากเดิมอย่างมากและยังทำใหมันสูญเสียมวลไปด้วย ส่งผลให้บางครั้ง นักดาราศาสตร์เข้าใจผิดว่าเป็นการระเบิดของซูเปอร์โนวา และเช่นเดียวกับดาวมวลมากอื่น ๆ บรรดา LBV ล้วนมีอายุขัยสั้น พวกมันจะวิวัฒนาการอย่างรวดเร็วและเปล่งประกายความสว่างเพียงไม่กี่ล้านปีเท่านั้น
(อ่านต่อหน้า 2 คลิกด้านล่างเลย)