ถ้าพูดถึงภาพยนตร์หรือการ์ตูนที่เกี่ยวกับซุปเปอร์ฮีโร่ในช่วงนี้ หลายคนคงจะคิดถึง ‘Justice League Snyder Cut’ ที่กำลังเป็นกระแสให้พูดถึงความสนุกตื่นเต้นและยาวนานกว่าที่เราจะได้ชมภาพยนตร์ฉบับเต็มอันนี้ ซึ่งคนที่ดูมาแล้วต่างก็มีทั้งชอบและไม่ชอบต่างกันไป แต่เมื่อเราพูดถึงวิดีโอเกมเรามักจะคิดว่าเกมของ ‘DC Comics’ นั้นจะมีแค่ ‘Superman’ ไม่ก็ ‘Batman’ เท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้วยังมีซูเปอร์คนอื่น ๆ ใน DC ที่ถูกทำเป็นเกมออกมาวางขายตั้งแต่อดีต วันนี้เรามาย้อนเวลาดูเกมซูเปอร์ฮีโรของ ‘DC Comics’ กันว่าจะมีเกมอะไรที่น่าสนใจบ้าง โดยเราจะคัดมาเฉพาะเกมเก่า ๆ ที่น่าสนใจและวางจำหน่ายครั้งแรกมาให้ได้อ่านกัน จะมีเกมอะไรจากซูเปอร์ฮีโรคนไหนบ้างนั้นมาดูกันเลย

Superman

Superman

เริ่มต้นเกมแรกกับบุรุษเหล็กผู้เป็นฮีโรที่แข็งแกร่งที่สุดตลอดกาลของ ‘DC Comics’ ที่จะเป็นใครไปไม่ได้กับ ‘Superman’ ที่ในอดีตสมัยปี 1979 ‘Superman’ คือเกมแรกของค่าย DC ที่ถูกเอามาทำเป็นเกมให้แฟน ๆ ได้เล่นในชื่อ ‘Superman’ เกมแนวแอ็กชันที่วางจำหน่ายพร้อมกับภาพยนตร์ในชื่อเดียวกันที่ออกฉายในปีนั้น ตัวเกมวางจำหน่ายบนเครื่อง ‘Atari 2600’ ที่เราจะต้องรับบทเป็น ‘Superman’ ที่ต้องช่วยเหลือคนจากสะพานที่ขาดด้วยฝีมือของเล็กซ์ ลูเธอร์ (Lex Luthor) พร้อมกับจับคนร้ายที่มาขัดขวางเรา ตัวเกมได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เพราะเป็นเกมแรกที่เราจะได้เล่นเป็นซูเปอร์ฮีโรออกช่วยคนแบบในภาพยนตร์ นับเป็นการเปิดตลาดวิดีโอเกมของ DC ได้อย่างสวยงาม

Superman

Batman

Batman

อีกหนึ่งฮีโรที่จะไม่พูดถึงไม่ได้กับอัศวินแห่งอัศวินรัตติกาล ผู้มีรัศมีเทียบเคียงบุรุษเหล็กได้อย่างสู้สีที่จะเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก ‘Batman’ ที่กว่าอัศวินรัตติกาลของเราจะได้ถูกสร้างเป็นเกมให้เล่น ก็ผ่านมาในปี 1986 บนเครื่อง ‘Amstrad CPC’, ‘Amstrad PCW’, ‘MSX’ และ ‘ZX Spectrum’ ที่เป็นเครื่อง PC กึ่งเครื่องเกมที่มีให้ภาพกราฟิกที่สวยกว่าเครื่องคอนโซลในยุคนั้น ตัวเกมจะให้เรารับบทเป็น ‘Batman’ เพื่อไปช่วยเหลือ ‘Robin’ ที่ถูกจับตัวไปโดยเหล่าร้าย ตัวเกมจะเป็นแนวแก้ปริศนา โดยเราจะต้องเดินหลบศัตรูที่เดินไปมาในฉากเพื่อไม่ให้มันจับตัวเราได้ ตัวเกมจะให้ภาพแบบ 3D ที่มีมิติลึกลงไปในฉากซึ่งเป็นเอกลักษณ์เด่นของเกมนี้ และที่เด่นไปกว่านั้นก็คือระบบบันทึกเกมที่อนุญาตให้ผู้เล่นรีสตาร์ตจากจุดกึ่งกลางเกมได้ โดยที่ไม่ต้องมานั่งเล่นตั้งแต่ต้นเมื่อเปิดเกมครั้งใหม่ แต่ถ้าผู้เล่นใช้จำนวนครั้งในการเล่นจนหมดตัวเกมจะกลับไปสู่จุดเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง ที่นับว่าเป็นอะไรที่แปลกใหม่มาก ๆ ในยุคนนั้น ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อเป็นเกม ‘Batman’  เกมแรกแบบนี้จึงได้รับเสียงตอบรับที่ดีไม่แพ้ ‘Superman’ ที่ออกมาก่อนหน้านี้

Batman

The Flash

The Flash

หลังจากที่เกมของ ‘Superman’ และ ‘Batman’ สลับกันวางจำหน่ายในตลาดอย่างต่อเนื่องหลายปี ก็มาถึงเรื่องราวของฮีโรคนอื่นของค่าย DC บ้าง ที่คราวนี้ถึงคิดของผู้ชายที่เร็วที่สุดในโลกนั่นคือ ‘The Flash’ กับเกมที่ถูกผลิตในปี 1990 บนเครื่อง ‘GamrBoy’ ขาวดำเพื่อต้อนรับซีรีส์ ‘The Flash’ ที่ฉายในยุคนั้น กับเรื่องราวการปราบเหล่าร้ายของฮีโรที่เร็วที่สุดในการปกป้องเมืองเซ็นทรัลซิตี้จากวายร้ายนาม ‘The Trickster’ ไม่ให้ระเบิดเมือง ตัวเกมจะเป็นแนวเดินหน้าอัดศัตรูในฉาก ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อเราเป็น ‘The Flash’ ก็ต้องมีฉากวิ่งด้วยความเร็วเสียงมาให้ได้เล่นด้วย เรียกว่าทำออกมาถูกใจเด็ก ๆ ในยุคนั้นมาก ๆ

The Flash

Aquaman Battle for Atlantis

Aquaman Battle for Atlantis

ย้อนกลับไปในอดีตช่วงปี 2003 ถ้าพูดถึงซุปเปอร์ฮีโร่อย่าง ‘Aquaman’ หลายคนคงจะเกาหัวและสงสัยว่าตัวละครคนนี้คือใคร เพราะกว่าที่เราจะได้เห็นภาพยนตร์ของฮีโรคนนี้ก็ปาเข้าไปในปี 2018 เข้าไปแล้ว และเมื่อถูกเป็นเกมก็ยิ่งไม่ต้องพูดถึงที่บ้านเราจะรู้จักหรือเคยเล่นกัน  เพราะเกม ‘Aquaman Battle for Atlantis’ นั้นคือหนึ่งในเกมซูเปอร์ฮีโรน้ำดีที่น้อยคนนักจะสนใจในบ้าน เพราะตัวเกมนั้นลงบน ‘Nintendo GameCube’ และ ‘Xbox’ ที่ไม่เป็นที่นิยมในบ้านเราเกมนี้จึงไม่ค่อยมีคนรู้จัก ในส่วนของเกมจะให้เรารับบทเป็น ‘Aquaman’ เพื่อช่วยเหลืออาณาจักรแอตแลนติสจาก ‘Black Manta’ ศัตรูตัวฉกาจที่กลับมาจากความตาย ซึ่งชื่อก็บอกอยู่แล้วว่า ‘Aquaman’ ดังนั้นตลอดทั้งเกมเราจะได้อยู่แต่ในน้ำกับฉากที่กว้างใหญ่กับการควบคุมที่ค่อนข้างยาก แต่ด้วยความแปลกใหม่ที่หลายคนเริ่มเบื่อเกมของ ‘Superman’ กับ ‘Batman’ เกมนี้จึงออกมาได้แก้เบื่อได้

Aquaman Battle for Atlantis

Green Lantern Rise of the Manhunters

Green Lantern Rise of the Manhunters

คราวนี้มาดูครั้งแรกในวงการเกมของฮีโรพลังแหวนสีเขียวอย่าง ‘Green Lantern’ กันบ้าง กับเกม ‘Green Lantern Rise of the Manhunters’ ที่ผลิตและวางจำหน่ายในปี 2011 บนแทบทุกเครื่องในตลาดตอนนั้นเพื่อโปรโมตภาพยนตร์ในชื่อ ‘Green Lantern’ ที่ในตอนนั้นทาง DC เรียกว่าทุ่มทุนอย่างไม่อั้นเพื่อเปิดตัวฮีโรคนแรกในค่าย หลังจากที่ทาง ‘Marvel’ เปิดทางตลาดภาพยนตร์ซูเปอร์ฮีโรแล้วทาง DC จึงเริ่มต้นด้วยฮีโรที่มีพลังแปลกแหวกแนวอย่าง ‘Green Lantern’ มาทำตลาด แต่ตัวเกมนั้นกลับไม่ได้ใช้เรื่องราวในภาพยนตร์มาเป็นต้นแบบ แต่จะใช้เรื่องราวตอนหนึ่งในหนังสือการ์ตูนมาสร้างเป็นเกม โดยทั้งหมดทุกเครื่องนั้นจะใช้เนื้อหาเรื่องราวเดียวกันหมด แต่จะแตกต่างกันตรงกราฟิกของเครื่องเกมที่แสดงออกมา ตัวเกมจะเป็นแนวแอ็กชันที่เราจะสามารถใช้ท่าต่อสู้ที่ผสมระหว่างการเตะต่อยกับการทำคอมโบด้วยพลังในการสร้างอาวุธต่าง ๆ จากแหวนได้ แถมยังเล่นเป็นตัวละครอื่นได้อีกด้วย ตัวเกมเล่นสนุกสมเป็น ‘Green Lantern’ มาก ๆ ต่างกับภาพยนตร์ที่ถูกด่ายับเยินในความไม่สนุก

Green Lantern Rise of the Manhunters

Swamp Thing

Swamp Thing

เชื่อว่าหลายคนที่ได้เห็นชื่อและรูปของเจ้า ‘Swamp Thing’ คงจะต้องสงสัยแน่ ๆ ว่าเจ้าปีศาจตัวเขียวท่าทางเป็นสัตว์ประหลาดแบบนี้ จะเป็นหนึ่งในซูเปอร์ฮีโร่ไปได้อย่างไร ซึ่งเราต้องบอกว่าใช่เขาคือหนึ่งในฮีโรที่ช่วยเหลือผู้คนจากความชั่วร้าย ซึ่งถ้าใครสนใจอยากทราบเรื่องราวของเขาก็ไปหาดูซีรีส์คนแสดงได้ในชื่อ ‘Swamp Thing’ ที่เป็นซีรีส์แนวสยองขวัญซูเปอร์ฮีโร่ที่ฉายไปเมื่อปี 2019 ส่วนตัวเกมแรกสุดและเกมเดียวที่ถูกสร้างออกมาก็คือเกม ‘Swamp Thing’ บนเครื่อง ‘Game Boy’ ในปี 1992 ที่ถูกสร้างเพื่อสนับสนุนซีรีส์แอนิเมชันที่ฉายในปี 1991 (ตัวการ์ตูนเคยฉายทางช่อง 7 ในอดีตนักเล่นเกมยุคเก่าหลายคนจึงรู้จักฮีโรคนนี้) กับตัวเกมในรูปแบบเกมแอ็กชันเดินหน้าลุยศัตรูไปเรื่อย ๆ ผ่านฉากต่าง ๆ ที่จะเน้นหนองน้ำเป็นหลัก เพราะขีดจำกัดของ ‘Swamp Thing’ จะอยู่ได้แค่ในหนองน้ำที่เขาอาศัย กับเรื่องราวการปกป้องธรรมชาติจากเหล่าร้ายและมนุษย์ต่างดาว  ตัวเกมเหมาะแก่การหามาสะสมมากกว่าหามาเล่น

Swamp Thing

Catwoman

Catwoman

ถ้าพูดถึง ‘Catwoman’ หลายคนคงจะคิดถึงหัวขโมยสาวสวยในชุดรัดรูปสีดำที่มีหูแมวสุดน่ารัก หรือจะเป็น ‘Catwoman’ ในฉบับภาพยนตร์ในปี 1992 ใน ‘Batman Returns’ ที่ตีความ ‘Catwoman’ ออกมาในรูปแบบของซอมบี้สาวในชุดหนังรัดรูปที่เย็บแบบลวก ๆ ที่ดูแล้วช่างสวยเย้ายวนเป็นอย่างมาก ผิดกับ ‘Catwoman’ ในปี 2004 ที่อยู่ตรงข้ามกับที่เรากล่าวมาทุกอย่าง รวมถึงเนื้อเรื่องที่สร้างออกมาได้ย่ำแย่ไปจนถึงชุดนักแสดงที่ทำออกมาได้ดูตลกไม่น่าสนใจ จนเป็นหนึ่งในภาพยนตร์ซูเปอร์ที่หลายคนอยากลืม ซึ่งแน่นอนว่าในยุคนั้นการทำเกมเพื่อสนับสนุนภาพยนตร์เป็นอะไรที่ค่ายหนังนิยมทำกัน เราจึงได้เห็นเกมในชื่อ ‘Catwoman’ ออกมาบนทุกเครื่องเกมในตลาดในตอนนั้น โดยใช้เนื้อเรื่องเดียวกับในภาพยนตร์ ซึ่งตัวเกมก็ทำออกมาได้ดีสมกับที่เป็นเกมแอ็กชันอัดแหลกด้วยท่วงท่าของแมว ที่แม้จะดูตลกไปบ้างแต่ก็ดีกว่าไปดูภาพยนตร์เรื่องนี้ ที่เราไม่ขอแนะนำให้คุณไปดูถ้าไม่อยากเสียเวลา

Catwoman

Constantine

Constantine

ถ้ามีการจัดอันดับภาพยนตร์ที่ คีอานู รีฟส์ (Keanu Reeves) แสดงแล้วแฟน ๆ ชื่นชอบและอยากให้มีภาคต่อมากที่สุด ภาพยนตร์เรื่อง ‘Constantine’ คือหนึ่งในนั้นอย่างไม่ต้องสงสัย และน้อยคนนักจะรู้ว่า ‘Constantine’ ที่เราได้เห็นทั้งในภาพยนตร์กับในซีรีส์และในการ์ตูนนั้นเขาคือหนึ่งในซูเปอร์ฮีโรที่ต่อสู้เคียงข้าง ‘Superman’ กับ ‘Batman’ มาแล้ว ถ้าจะให้เห็นภาพง่าย ๆ ก็คงเหมือนหมอแปลกในจักรวาล ‘Marvel’ แต่ทางนี้จะออกไปทางยียวนกวนบาทาทั้งเทพเจ้าและปีศาจมากกว่า ซึ่งในเกม ‘Constantine’ จะใช้เรื่องราวจากในหนังสือการ์ตูนมาเป็นการเล่าเรื่อง แต่ตัวละครนั้นจะใช้ต้นแบบใบหน้าของ คีอานู รีฟส์ในภาพยนตร์มาใช้ ตัวเกมจะเป็นแนวเดินยิงมุมมองบุคคลที่ 3 ที่เราจะมีอาวุธปืนแบบต่าง ๆ ในการกำจัดปีศาจ รวมถึงการร่ายเวทย์ที่สามารถสร้างพายุสายฟ้าขับไล่ปีศาจได้ด้วย ตัวเกมวางจำหน่ายในปี 2005 ใครมีเครื่อง PC หรือ ‘PlayStation 2’ ก็ไปหามาเล่นได้เลย

Constantine

Watchmen The End Is Nigh

Watchmen The End Is Nigh

เชื่อว่าหลายคนคงจะรู้จักกลุ่มซุปเปอร์ฮีโร่อย่าง ‘Watchmen’ จากภาพยนตร์และซีรีส์ที่ออกฉายมาแล้ว แต่น้อยคนนักจะทราบว่าการ์ตูนเรื่องนี้คือหนึ่งในกลุ่มซูเปอร์ฮีโรของค่าย DC แต่ด้วยด้วยเนื้อหาโทนของเรื่องรวมถึงสิ่งต่าง ๆ จึงทำให้ ‘Watchmen’ ถูกแยกออกมาจากซีรีส์เรื่องอื่น ๆ ซึ่งในปี 2009 ปีเดียวกับที่เกม ‘Batman Arkham Asylum’ วางจำหน่ายและสร้างชื่อเสียงในความสนุกแปลกใหม่ให้กับเกมซูปอร์ฮีโร เกม ‘Watchmen The End Is Nigh’ ก็ปล่อยวางขายอย่างเงียบ ๆ บน PC และ ‘PlayStation 3’ ตัวเกมจะให้เรารับบทเป็นฮีโรหน้ากระสอบเปลี่ยนรูปร่างอย่าง ‘Rorschach’ กับฮีโรที่มีรูปแบบคล้าย ‘Batman’ อย่าง ‘Nite Owl’ ในการสืบเรื่องราวที่อ้างอิงจากในการ์ตูนมาสร้างเป็นเกมทั้งหมด 6 บท ที่ตอนจบนั้นจะต่างกับของภาพยนตร์ ในส่วนของระบบการเล่นจะเป็นแนวสืบเรื่องราวหาหลักฐานตามที่ต่าง ๆ เกี่ยวกับการเสียชีวิตของเหล่าฮีโรที่เป็นปริศนา ตัวเกมไม่ค่อยมีอะไรแปลกใหม่เมื่อเทียบกับ ‘Batman Arkham Asylum’ ที่ออกมาขโมยซีนในตอนนั้นจนหมด

Watchmen The End Is Nigh

Justice League Task Force

Justice League Task Force

หลังจากที่แนะนำตัวละครซูเปอร์ฮีโรในค่าย DC มาครบแล้ว(นับเฉพาะเกมแรกของฮีโรคนนั้น) คราวนี้เรามาดูเกมรวมพลังฮีโรปกป้องโลกในชื่อ ‘Justice League’ กันบ้าง กับเกม ‘Justice League Task Force’ ที่เป็นเกมต่อสู้ของเหล่าฮีโร DC อย่าง ‘including Superman’, ‘Batman’, ‘Wonder Woman’, ‘Green Arrow’, ‘The Flash’, ‘Aquaman’ กับตัวร้ายอย่าง ‘Cheetah’, ‘Despero’ กับ ‘Darkseid’ ที่มาต่อสู้กันเองบนเครื่อง ‘Mega Drive’ และ ‘Super NES’ ในปี 1995 ตัวเกมแทนที่จะได้รับคำชมจากสื่อเพราะเป็นเกมรวมทีมฮีโรครั้งแรกในวิดีโอเกม แต่ตรงข้ามตัวเกมได้รับคำวิจารณ์ในแง่ลบถึงความไม่สนุกของเกม รวมถึงภาพเคลื่อนไหวที่ขาด ๆ หาย ๆ กะพริบไปมา การเคลื่อนไหวของตัวละครที่ไม่หลากหลายแถมมีให้เลือกแค่ไม่กี่คน กับตัวเครื่องที่น่าจะแสดงพลังของภาพได้ดีกว่านี้ ซึ่งนับว่าน่าเสียดายมาก ๆ ที่การรวมเกมฮีโรครั้งแรกก็ล้มไม่เป็นท่าแบบนี้

Justice League Task Force

Teen Titans

Teen Titans

เมื่อมีการรวมทีมฮีโรผู้ใหญ่ไปแล้วจะขาดทีมฮีโร่เด็กไปได้อย่างไร กับทีมรวมฮีโรวัยรุ่นอย่างทีม ‘Teen Titans’ ที่มีสมาชิกหลัก ๆ อย่าง ‘Robin’, ‘Raven’, ‘Cyborg’, ‘Starfire’ และ ‘Beast Boy’ ที่ถ้าใครสนใจเรื่องราวของการรวมทีมฮีโรรุ่นเด็ก ก็สามารถหาดูซีรีส์คนแสดงได้แต่ตัวเรื่องออกแนวดิบเถื่อนพอสมควร กับในฉบับการ์ตูนที่มีฉายอยู่หลายภาค ในส่วนของตัวเกมจะเป็นแนวแอ็กชันต่อสู้ไปข้างหน้าในฉากต่าง ๆ ตามเนื้อเรื่อง โดยเราสามารถเลือกตัวละครจากฮีโรเด็กที่ในทีมมาต่อสู้ได้อย่างอิสระ ซึ่งแต่ละคนจะมีพลังความสามารถที่ต่างกันที่ทำให้เล่นสนุกไม่จำเจ และจุดขายของเกมนี้ก็คือโหมดการเล่นแบบ 4 คนพร้อมกันในจอเดียวเพื่อช่วยกันสู้ ซึ่งนั้นคือความสนุกที่แท้จริงของเกมนี้ ตัวเกมมีให้เล่นบน ‘Nintendo GameCube’ และ ‘PlayStation 2’ ใครรักชอบเหล่ายุวชนฮีโรก็ไม่ควรพลาด

Teen Titans

The Death and Return of Superman

The Death and Return of Superman

นอกจากจะทำเกมที่เจาะจงเฉพาะฮีโรคนนั้นหรือเกมรวมฮีโร ทางค่าย DC ก็ยังทำเกมที่มาจากอีเวนต์สำคัญ ๆ ของ DC ด้วย ซึ่งอีเวนต์แรกสุดที่ถูกสร้างเป็นเกมก็คือตอนที่ ‘Superman’ ตาย ในเหตุการณ์ ‘The Death of Superman’ ในปี 1992 ที่ในตอนนั้นกลายเป็นข่าวไปทั่วโลก เพราะปกติถ้าซูเปอร์ฮีโรตายไม่กี่ฉบับเดี๋ยวก็ฟื้น แต่นี่คือตายแล้วไม่ฟื้นแม้จะผ่านไปหลายฉบับในหนังสือการ์ตูน ขณะที่หัวหนังสือก็มีการเปิดตัวผู้สืบทอดปณิธานในการปกป้องโลกของ ‘Superman’ ออกมาหลายคน จนกลายเป็นเกม ‘The Death and Return of Superman’ ที่วางจำหน่ายในปี 1994 ที่ตอนนั้นทุกคนก็ทราบกันแล้วว่า ‘Superman’ ได้ฟื้นจากความตายมาได้ โดยตัวเกมจะเป็นแนวแอ็กชันเดินหน้าอัดศัตรูที่เริ่มต้นด้วยการควบคุมเป็น ‘Superman’ จนกระทั่งเขาเสียชีวิตจากการต่อสู้กับ  ‘Doomsday’ หลังจากนั้นเราก็จะได้เล่นเป็นผู้สืบทอด ‘Superman’ ตามในหนังสือการ์ตูนหลายคนในเหตุการณ์ต่าง ๆ ก่อนจะปิดท้ายด้วยตัว ‘Superman’ ที่ฟื้นขึ้นมา ตัวเกมได้รับเสียงชื่นชมจากแฟน ๆ ให้เป็นหนึ่งในเกมที่ดีที่สุดตลอดกาลของเครื่อง ‘Super NES’ อีกด้วย

The Death and Return of Superman

Suicide Squad Kill the Justice League

Suicide Squad Kill the Justice League

ปิดท้ายกับเกมล่าสุดของค่าย DC ที่จะทำเป็นเกมวางจำหน่ายในปี 2021 กันบ้าง ในเกมรวมวายร้ายที่จะมาฆ่าเหล่าซูเปอร์ฮีโรในเกม ‘Suicide Squad Kill the Justice League’ ที่จะวางจำหน่ายบน PC และบน ‘PlayStation 5’ ที่เรายังไม่ทราบเนื้อหาว่าจะเป็นอย่างไร แต่จากข้อมูลที่เปิดเผยออกมาตัวเกมจะให้เรารับบทเป็น 4 ตัวละครหลักของทีม ‘Suicide Squad’ อย่าง ‘Harley Quinn’, ‘Deadshot’, ‘Captain Boomerang’ และ ‘King Shark’ ที่แต่ละตัวละครก็จะมีพลังความสามารถที่ต่างกันไปในการเล่น ที่ถ้าเล่นคนเดียวเราจะสามารถเปลี่ยนตัวละครระหว่างเล่นได้ หรือจะเล่นแบบออนไลน์กับผู้เล่นคนอื่นที่เราจะต้องเลือกเป็นหนึ่งในตัวละครเหล่านี้ เพื่อร่วมกันผ่านภารกิจต่าง ๆ ตัวเกมยังไม่กำหนดวันวางจำหน่าย แต่เท่าที่เห็นรูปแบบกราฟิกแล้วก็น่าเล่นมาก ๆ แฟน DC ไม่ควรพลาด

Suicide Squad Kill the Justice League

ก็จบกันไปแล้วกับการรวมเกมซูเปอร์ฮีโร DC ที่สร้างจากการ์ตูน ที่เราจะขอนับเฉพาะครั้งแรกที่ตัวละครเหล่านี้มาสร้างเป็นวิดีโอเกม เพื่อให้แฟน ๆ ซูเปอร์ฮีโร DC ที่สนใจจะเก็บแผ่นเกมหรือความทรงจำของฮีโรที่ตนเองชื่นชอบจะได้ไม่พลาดกัน ซึ่งถ้าใครสนใจอยากทราบเรื่องราวครั้งแรกในวิดีโอเกมของฮีโรฝั่ง ‘Marvel’ บ้างก็อดใจรอก่อน เอาไว้มีโอกาสเราจะรวบรวมมาให้ได้อ่านกัน ส่วนคราวหน้าจะเป็นเรื่องราวอะไรในวงการเกมก็ติดตามกันได้ที่นี่ที่เดียว

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส