หนุ่ยรู้โลกรู้ ประจำวันวันอังคารที่ 1 พฤษภาคม 2555

ใช้คอมพิวเตอร์มาตลอดทั้งชีวิต ได้ยินมาโดยตลอดกับคำว่า Made In China จินตนาการที่เราสัมผัสได้จากคำคำนี้ก็คือการผลิตในค่าแรงต่ำและสินค้าอาจได้ คุณภาพมั่งไม่ได้มั่ง บางโรงงานคงทำๆ กันแบบกะโหลกกะลา (ศัพท์น้องโต้ด ศิษย์ครูอังคณา)
โอกาสอันดีที่ Gview ผู้นำด้านเคสและพาวเวอร์ซัพพลาย (อุปกรณ์จ่ายไฟให้กับชิ้นส่วนต่างๆ ทั้งเครื่องคอมพิวเตอร์) ได้เชิญผม, สื่อมวลชนสายไอทีและผู้ชนะเลิศการประกวดตกแต่งเคส Gentec iDecoration ที่ทาง Gview จัดร่วมกับเว็บไซต์ Overclockzone.com มาร่วมทริปพิเศษ “เยี่ยมชมโรงงาน” ทั้ง 2 โรงในมณฑลกวางตุ้ง คือโรงงานที่ผลิตเคส (ตัวถังคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ) และพาวเวอร์ซัพพลาย

แขกพิเศษที่ร่วมทริปนี้มาด้วยคือ “ลีเดีย ศรัณย์รัชต์ วิสุทธิธาดา” พรีเซ็นเตอร์ผลิตภัณฑ์ Gview และ Gentec ที่มาร่วมทริปนี้ด้วยตลอด 4 วันแบบไม่ถือเนื้อถือตัว และเป็นกันเองผิดคาดกับภาพนักร้องหญิง R&B ระดับแถวหน้าของเมืองไทยที่หลายคนอาจคิดว่าเข้าถึงยาก

มาทริปนี้ตั้งแต่วันพฤหัสยิงยาวถึงวันอาทิตย์สิริรวม 4 วัน-1ประเทศ-1เขตการปกครอง) จีน-ฮ่องกง จัดเต็มโดยคุณธนภัทร เฉียน หรือคุณเฉิน กรรมการผู้จัดการ บริษัท หัวเหลียนคอมพิวเตอร์ จำกัด ชาวจีนแผ่น ดินใหญ่ที่มาพัฒนาธุรกิจไอทีในเมืองไทยตั้งแต่สมัยที่คีย์บอร์ด-เม้าส์หลาก สียังต้องขายในร้านกิ๊ฟช็อป แกบอกเองว่าทุกวันนี้รู้สึกเป็นคนไทยมากกว่าเป็นคนจีนไปแล้ว

feaa7iahf8bkaaajhkai7

แหล่งผลิตสินค้าไอทีแหล่งใหญ่ของโลกก็คือ “เสินเจิ้น” (ShenZhen) เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ 1 ใน 9 เมืองของจีน ที่ส่งเสริมด้านเศรษฐกิจอย่างเต็มที่โดยหวังพัฒนาให้เจริญพอๆ กับเขตการปกครองพิเศษที่ติดกันใกล้ๆ อย่างฮ่องกง ซึ่งปัจจุบันก็เจริญจนน่าจะสมใจประธานเติ้งเสี่ยวผิงแล้วล่ะครับ (ถ้าแกยังอยู่อ่ะนะ) และเสินเจิ้นยังเป็นเขตที่รัฐบาลจีนจะนำกฎหมายใหม่ๆ มาทดลองใช้ที่นี่ก่อน ถ้ากฎหมายเวิร์กกับประชากรที่นี่ก็จะนำไปประกาศใช้ในทั่วหล้าของจีน

ประชากรที่นี่จึงค่อนข้างเร่งรีบและไม่ละเมียดละไมเหมือนชาวมาเก๊าที่รายได้ จากการพนันเลี้ยงดูคนได้ทั้งเมืองโดยไม่ต้องดิ้นรนมากนัก

โรงงานแรก ที่เราได้เข้าเยี่ยมชมคือ SolyTech ผู้ผลิตพาวเวอร์ซับพลายรายใหญ่ของโลก ส่งออกสู่คอมพิวเตอร์แบรนด์เนมแทบทุกแบรนด์ดัง Gview เองก็เลือกใช้โรงงานนี้ผลิตพาวเวอรซับพลายให้ตัวเองได้ดีขนาดที่ Nectec มอบ Certified ให้ถึง 4 ใบในอุปกรณ์หลากหลายรุ่น โรงงานนี้ น่าเลื่อมใสมาก เพราะสะอาด ดูดีมีระเบียบมาก เคยเป็นส่วนหนึ่งของ Foxxcon  เขาแบ่งสายงานต่างๆ ออกเป็นชั้นๆ เราได้ไปดูกระบวนการผลิตแผงวงจรก่อนเลย ได้เห็นอย่างชัดเจนว่าลวดลายบนแผงวงจรเกิดจากมือกลขนาดใหญ่เคลื่อนไหวรวด เร็วมากดุจหุ่นเหล็ก Transformer เจาะลวดลายลงไปเหมือนกับสิ่งพิมพ์จากเครื่องปริ๊นเตอร์ ส่วนพวกชิ้นส่วนกลไกก็มีเครื่องยิงลงไปบนแผงวงจรเหมือนเครื่องยิงแม็กซ์ขนาด ยักษ์ ส่วนนี้เป็นการทำงานควบคู่กับระบบมือคน กล่าวคือชิ้นส่วนอิเลกทรอนิกส์บางชิ้นอยู่ในรูปทรงที่เครื่องยิงไม่ได้ ก็อาศัยมือมนุษย์นี่แหละครับปักหมุดลงไปตามจุด

jkfab9hd9cgia9dg8ieaj

 

เจ้าหน้าที่แต่ละคนทำงานบทสายพานคนละ 1 หน้าที่ งานประเภทนี้มีคนวัยหนุ่มวัยสาวของจีนมา นั่งประจำจุด รอสายพาลำเลียงชิ้นส่วนมาประกอบ ภาพที่ชวนสงสัยคือมือซ้ายของทุกคนจะมีสายไฟรัดไว้โยงใยขึ้นไปสู่เพดาน ..ได้รับคำตอบในช่วงแรกว่า “ใครทำงานช้า จะโดนไฟช็อต!” …เป็นโจ๊กเล็กๆ ระหว่างทัวร์ครับเพราะจริงๆ มันคือสายดิน หากใครทำงานแล้วโดนไฟช็อตก็จะได้ไม่เป็นอันตรายมาก (เห็นคนทำงานเป็นเครื่องทำน้ำอุ่นไปได้นะ!)

ที่น่าทึ่งก็คือทุกๆ ไลน์การผลิต จะมี Supervisor คอยตรวจการบ้านจากทั้งเครื่องและทั้งคน ตาพวกเขาแม่นดุจเหยี่ยว ลายปริ๊นท์ไหนไม่ตรงตามแม่แบบจะคัดทิ้งไป ถือว่าเป็นงานที่ใช้ความละเอียดและแม่นยำสูงมากจริงๆ

มีเรื่องชวนขำขันอีกประการ จนทำให้ผมใช้จั่วหัวใน “หนุ่ยรู้-โลกรู้” ฉบับนี้คือเมื่อไปถึงโรงงาน SolyTech เจ้าหน้าที่จีนขึ้นภาพต้อนรับไว้บนจอโดยใช้ความพยายามพิมพ์เป็นภาษาไทยเพื่อเซอร์ไพร์สคณะสื่อมวลชนว่า “ยินดีต้อนรับสู่การเยี่ยมชิมโรงงาน”

เลยเป็นการเซอร์ไพร์ส์ก้อนใหญ่ คุณเฉินเจ้าภาพแห่งGview ถึงกับต้องกล่าวต้อนรับอย่างฮาๆ ปกปิดความผิดของตัวอักษรนี้ว่า “เดี๋ยวเราขึ้นไปชั้น 2 แล้วเขาจะมีอะไรมาให้เราชิมในโรงงานด้วย” ..แก้ไขสถานการณ์ได้เยี่ยมจริงๆ

หลังจากนั้นในช่วงบ่ายเราได้ไปโรงงานผลิตเคสในอีกมุมเมืองของเสินเจิ้น  ระหว่างทางเต็มไปด้วยฝนฟ้าคะนอง ทำการให้การเดินทางล่าช้าไปพอควร แต่เมื่อถึงโรงงานผลิต เคสที่ Gview เป็นหุ้นส่วนนี้ก็ทำให้ผมได้ทึ่งกับกระบวนการผลิตเคสมาก เราไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่าเคส 1 ตัวจะมี “แม่แบบ” มากถึง 60 ชิ้น ความสลับซับซ้อนของลวดลายที่เราเห็นบนเคส 1จุดก็คือ 1แม่พิมพ์ ช่างทำเคสจะประจำที่แท่นกดทับอลูมิเนียมเพื่อขึ้นรูปตามแบบ เสียงค่อนข้างอึกทึกทีเดียวเชียวล่ะ นึกถึงหุ่นเหล็กถึกๆ อย่างเรื่อง Real Steel โรงงานนี้ ไม่เนียบ ไม่เรียบหรู มีแต่การโขกแบบกันโป่กๆๆ เพื่อให้งานเสร็จทันความต้องการจากทั้งโลกด้วยอัตราความเร็วในการผลิตต่อ 1 ไลน์คือ 1 นาทีจะได้เคสสำเร็จลงกล่องบรรจุ 1 ตัว แต่ผลผลิตทั้งหมดหมดของโรงงานนี้ คือผลิตได้วันละ 8,000 ตัว ลองคูณวันทำงานต่อปีสองร้อยกว่าวันดูนะครับว่าปีปีหนึ่งผลิตได้ขนาดไหน ผมเองเห็นผลผลิตที่กองเป็นภูเขาเลากาเชื่อแล้วว่า “Desktop PC” ยังไม่ตาย..ยังมีความต้องการอยู่ทั่วโลก เพียงแต่บทบาทเน้นไปที่ Gaming PC และ High Performance PC ที่ต้องการเคสคุณภาพเป็นตัวห่อหุ้มชิ้นส่วนการทำงานทุกอย่างไว้

879bdaiaebhbbde6bhcc9

สงสัยเองส่วนตัวว่าในเคส 1 ตัวจะต้องมีแม่แบบ(Mold)มากถึง 60-80 ชิ้น แล้วอย่างนี้ต้องขายให้ได้รุ่นละกี่ตัวจึงจะคุ้มค่าผลิต คำตอบที่ได้จากคนขายเคสอย่างคุณเฉินคือ 30,000-50,000 ตัว ..ของแบบนี้ถ้าไม่ใจรักทำไม่ได้นะครับ ดีใจที่แบรนด์ไทยของเรามีคนไทยใจกล้าชื่อคุณเฉินที่ลงทุนผลิตของแบบนี้มาขาย ให้เราในราคาไม่กี่พัน เห็นกระบวนการผลิตแล้วผมบอกเลยว่า “คิดราคาสักหมื่นผมยังไม่โกรธเลยครับ” งานเขาละเอียดจริงๆ

หลังจากเยี่ยมชมโรงงานแล้ว Gview เจ้าภาพก็ได้นำเราไปเที่ยวต่อทั้งในเสินเจิ้นและฮ่องกง เช่น Disneyland, The Peak, NgongPing Cable Car (สถานที่เขียนคอลัมน์ฉบับนี้คือที่นี่ครับ…สวยงามเหลือเกิน ผมเขียนบนภูเขาจะส่งไฟล์กลางอากาศขณะร่อนลงเลยล่ะ) เจ้าภาพจัดให้เรานอนโรงแรม L’ Hotel Nina Tower อาคารรูปตัว L สูงกว่า 80 ชั้นที่กำลังโด่งดังในฮ่องกง วิวชั้น 51 ที่ Gview จัดให้เรานอนก็เห็นความอลังการของเกาะฮ่องกงเป็นอย่างหาที่เปรียบไม่ได้ ต้องขอขอบคุณในการดูแลเอาใจใส่เป็นอย่างดีเช่นนี้ครับ ขอบคุณไกด์น่ารักๆ อย่างคุณมาริโอ้,คุณหลิน,คุณโจโจ้และคุณเบิ้มจาก 22 ทัวร์ด้วยครับ คุณผู้อ่านที่อยากเห็นภาพเต็มๆ ของการเยี่ยมชิมโรงงานครั้ง นี้ในรูปแบบรายการโทรทัศน์ ขอเชิญติดตามได้ใน “แบไต๋ไฮเทค” วันอาทิตย์นี้ 16.00 น. ทางเนชั่นแชนแนลนะครับ อยากให้ทุกคนได้เห็นครับ!…เพราะ “หนุ่ยรู้-คุณก็ต้องได้รู้”

iiag7ea7ack8e885ba5kh

ที่มา: คม ชัด ลึก