แม้จะมีความสนใจที่หลากหลาย แต่ ‘พชร อารยะการกุล’ หรือ ‘คุณโบ๊ท’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ‘Bluebik’ บริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านการให้คำปรึกษาเพื่อนำบริษัทเข้าสู่ “Digital Transformation” นั้นสนใจและลงลึกเกี่ยวกับไอทีและดิจิทัลอย่างที่เขาใช้คำว่าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไปแล้ว

และแม้ว่าวันนี้เขาอาจจะไม่มีเวลาว่างมากนัก (ซึ่งเป็นเหตุผลที่ทำให้เขาอาจจะไม่ได้มาอ่านข่าวใน beartai BRIEF บ่อย ๆ ) แต่เขาก็รู้สึกเต็มใจที่จะยอมตื่นเช้าเพื่อมาอ่านข่าวเพื่อ Transform ไม่ใช่แค่เรื่องดิจิทัล แต่การ Transform ตนเองก็เป็นเรื่องสำคัญ



อัปเดตชีวิตให้แฟน ๆ beartai BRIEF รู้หน่อยว่าคุณโบ๊ททำอะไรอยู่บ้างตอนนี้

ตอนนี้ชีวิตวุ่นวายมากครับ (หัวเราะ) ทำหลายอย่างมาก ๆ งานหลัก ๆ ตอนนี้เลยก็คือการเป็น CEO ของบลูบิค กรุ๊ป ซึ่งก็จะมีบริษัทลูก แล้วก็มีบริษัทที่ Joint Venture อยู่ตอนนี้ แล้วก็จะมีบริษัทที่มีแผนจะเข้าไป Joint Venture อีกในอนาคต แล้วตอนนี้เพิ่งเข้า IPO เพิ่งเข้าตลาดหลักทรัพย์ไป ก็เลยทำให้มี Stakeholder มีผู้ถือหุ้นมากขึ้นกว่าเดิม ก็เลยทำให้ต้องใช้เวลาชีวิตวนเวียนอยู่กับเรื่องนี้ค่อนข้างเยอะ

ส่วนเรื่องอื่น ๆ ตอนนี้ก็คือตอนนี้มีลูกครับ ตอนนี้ลูกอายุ 1 ขวบ 3 เดือน กำลังพูดเก่งเลย กำลังหัดเดินหัดวิ่งเลย ก็คือการทำหน้าที่เป็นพ่อคน ซึ่งก็เป็นเรื่องสำคัญเหมือนกัน แล้วอีกอย่างตอนนี้ที่ผมทำคือการเรียนระดับปริญญาเอกเกี่ยวกับด้านไฟแนนซ์ครับ กำลังทำงานวิจัยอยู่ 2 ตัว การเป็นนักเรียนก็เลยเป็นอีกหนึ่งบทบาทที่จริงจัง นอกเหนือจากนั้นก็เป็น Mentor ให้กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยครับ เป็นการเอาผู้บริหารธุรกิจต่าง ๆ ไปเป็นเมนเทอร์ ไปแชร์ประสบการณ์และความรู้ด้านธุรกิจให้กับน้อง ๆ นักศึกษา นอกเหนือจากนี้ก็ไม่ค่อยจะมีเวลาว่างแล้วครับ ถ้ามีเวลาก็อาจจะออกกำลังกายบ้าง หรือเล่นกีตาร์ร้องเพลง เป็นงานอดิเรกที่ทำอยู่เรื่อย ๆ ครับ

ทราบมาว่าก่อนหน้านี้คุณโบ๊ทเคยเป็นโปรแกรมเมอร์มาก่อน ก็เลยอยากรู้ว่าทำไมถึงมาสนใจด้านไอที หรืออยากเป็นโปรแกรมเมอร์

เรื่องการเขียนโปรแกรม จริง ๆ ผมเริ่มทำมาตั้งนานแล้วครับ คือตั้งแต่ ป.4 หรือ ป.5 ก็เริ่มศึกษาเกี่ยวกับการเขียนโปรแกรมแล้วครับ สมัยนั้นคอมพิวเตอร์ยังเป็นรุ่น Pentium 386 เลย โบราณมาก ๆ เผอิญว่าเราโชคดีที่ว่าที่บ้านมีคอมพิวเตอร์ ในยุคที่คอมพิวเตอร์ยังไม่ได้มีทุกบ้าน แล้วผมเองเป็นคนที่ไม่ได้ชอบเล่นเกม เพราะว่าปกติก็ชอบเล่นกีฬา เล่นดนตรีมากกว่า แต่ว่าพอมีคอมพิวเตอร์แล้วได้ลองเล่นเกม เรากลับสนใจว่า เกมมันถูกสร้างขึ้นมาได้ยังไง

สมัยนั้นก็เลยตามพ่อกับแม่ไปเดินหาหนังสือที่ร้านหนังสือดอกหญ้า ก็ไปเจอหนังสือสอนการเขียนโปรแกรมเล่มหนึ่ง ก็เลยรู้จักคำว่าการเขียนโปรแกรมเป็นครั้งแรก เข้าใจว่า อ๋อ โปรแกรมมันเป็นสิ่งที่สร้างขึ้นได้เองนะ ก็เลยลองซื้อหนังสือมาลองเขียนโปรแกรมแบบมั่ว ๆ แล้วจังหวะพอดีที่พ่อเริ่มทำธุรกิจคอมพิวเตอร์ที่บ้านด้วย ก็เลยได้ศึกษาในเชิงลึกมากขึ้น เริ่มลองหัดต่อคอมพิวเตอร์

จนกระทั่งสมัยมัธยมปลาย เราเองได้เป็นตัวแทนโรงเรียนไปแข่งการเขียนโปรแกรม แข่งขันการทำหุ่นยนต์ หลาย ๆ ครั้ง แล้วก็ได้รางวัลมา คือจะเรียกว่าเป็นนักล่ารางวัลก็ได้ พอเรียนจบก็เลยได้เรียนวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ถือว่าเป็นความสนใจที่อยู่กับชีวิตยาวนานที่สุดแล้วครับ เพราะว่าผมเองเป็นคนที่สนใจอะไรหลาย ๆ อย่าง เพราะว่าเป็นคนเบื่อง่าย ก็เลยสนใจอะไรหลายอย่างแบบเต็มที่ ทั้งเรื่องดนตรี ตอนมัธยมเราก็มีวงดนตรีเป็นของตัวเอง แล้วก็เป็นนักบาสเก็ตบอลตัวแทนโรงเรียน เป็นประธานนักเรียน แต่ว่าความสนใจทั้งหมดเหล่านั้น มันก็จะประกอบด้วยเรื่องไอทีอยู่ด้วยเสมอ ๆ ขนาดในปัจจุบันงานที่เราทำก็ยังเป็นเรื่องไอทีเลย

พอเรียนจบ ก็ได้ทำงานเขียนโปรแกรมอยู่พักหนึ่ง แล้วก็เลยลองไปทำงานเป็นที่ปรึกษาเกี่ยวกับด้านระบบความปลอดภัย พอทำมากขึ้นเรื่อย ๆ ก็เลยเริ่มห่างจากเขียนโปรแกรม และพอได้ไปเรียนปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจ ก็ยิ่งทำให้เรามีความสนใจใหม่ขึ้นอีกอย่างก็คือด้านธุรกิจ การวางกลยุทธ์ต่าง ๆ เกี่ยวกับการทำธุรกิจ แม้ว่าจะขี้เบื่อแค่ไหน แต่สุดท้ายชีวิตมันก็วนกลับมาเรื่องเทคโนโลยีที่เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของเราอยู่ดี

คุณโบ๊ทเคยคิดว่า คุณเกิดมาเพื่อสิ่งนี้ หรือมันเป็นเรื่องของความสนใจที่เต็มที่ของคุณเองมากกว่า

มันก็เป็นความสนใจนี่แหละครับ เพราะว่าเวลาผมสนใจอะไร ผมจะชอบศึกษาแบบลงลึก แล้วพอมันเป็นสิ่งที่ชอบ เราก็จะใช้เวลากับมันเยอะ โดยที่เราไม่ได้รู้สึกว่ามันใช้เวลาเยอะ ตอนเล่นดนตรีผมก็ไปฝึกซ้อมกับเพื่อน อัดเดโมกันแบบเต็มที่ หรือตอนซ้อมกีฬาก็ซ้อมจนบาดเจ็บ จนมันแข็งแกร่งขึ้น มันมีกฏอันหนึ่งที่เขาเรียกว่า กฏ 10,000 ชั่วโมง เขาบอกว่าถ้าเราสนใจเรียนรู้อะไรครบหนึ่งหมื่นชั่วโมง เราจะเป็นคนที่เก่งในสิ่งนั้น ซึ่งอย่างเรื่องเทคโนโลยี ผมอยู่กับมันมาตั้งแต่เด็ก ก็ประมาณ 20 กว่าปีแล้ว ไม่รู้ว่ากี่หมื่นชั่วโมง ถ้าเป็นเรื่องอื่น พอครบหนึ่งหมื่นชั่วโมงก็อาจจะรู้สึกเบื่อ หรือพอใจกับมันแล้ว พักผ่อนได้แล้ว แต่เรื่องนี้ผมไม่เคยรู้สึกเบื่อเลย

อยากให้คุณโบ๊ทเล่าถึงจุดกำเนิดของ Bluebik หน่อยว่าเกิดขึ้นมาได้อย่างไร มีแนวคิดอย่างไร

คือตอนนั้นผมทำงานที่บริษัท The Boston Consulting Group ซึ่งเป็นบริษัท Consulting Firm เป็นบริษัทให้คำปรึกษาด้านกลยุทธ์ที่ถือว่าเป็นบริษัทอันดับต้น ๆ ของโลกแล้วล่ะ เป็นบริษัทที่เก่งด้านการให้คำปรึกษาด้านกลยุทธ์ ซึ่งถือว่าเป็น Tier ที่สูงที่สุดเกี่ยวกับการให้คำปรึกษา แล้วค่าจ้างที่บริษัทจ้างเพื่อให้คำปรึกษาก็จะแพงมาก ๆ ซึ่งมักจะเป็นบริษัทระดับ Fortune 500 และได้ทำงานกับคนที่เก่งมาก ๆ เพราะว่าแต่ละคนจบมาจากมหาวิทยาลัยระดับท็อป ซึ่งตอนนั้นที่ผมทำงานก็ชอบนะครับ

แต่พอทำงานมาสักพักก็ถึงจุดหนึ่งที่รู้สึกว่า เบื้องหลังของธุรกิจในปัจจุบัน ที่ประสบความสำเร็จสูงกว่าธุรกิจทั่ว ๆ ไป มันเป็นเพราะว่าเขาผลักดันด้วยเทคโนโลยี ลองนึกภาพว่าบางบริษัทที่มีอัตราการเติบโตสูงมาก ทั้ง ๆ ที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่ไม่ดีด้วยซ้ำ อย่างเช่น Netflix บริษัทโตมาก แต่ถ้าเทียบกับเคเบิลทีวีกลับติดลบ หรือธุรกิจโรงแรม ตอนช่วงโควิด เติบโตน้อยมาก หรือแทบจะไม่เติบโตเลย แต่ธุรกิจที่เติบโตได้คือ AirBNB เติบโตแบบคนละเรื่องเลย ทั้ง ๆ ที่อยู่ในธุรกิจเดียวกัน เราก็เลยมองเห็นว่า เทคโนโลยีเป็นส่วนสำคัญมาก และต้องมีการประสานกันกับกลยุทธ์ทางธุรกิจที่ถูกต้อง เราเองเชื่อว่าเรามีทั้งสองมุม และสามารถเอามาประสานกันได้

ตอนที่ Bluebik ก่อตั้งช่วงแรก ๆ เมื่อ 8 ปีที่แล้ว มุมมองเกี่ยวกับเทคโนโลยีในบ้านเรามันยังน้อยมาก ๆ ผมยังจำได้เลยว่ามีคนเคยบอกว่า E-Commerce ในไทยเกิดไม่ได้หรอก เพราะคนไทยชอบไป Hang Out ชอบไปชอปปิงที่ห้าง แต่พอมาตอนนี้เราจะเห็นว่ามันเติบโตมากสุด ๆ ส่วนหนึ่งก็เพราะโควิดด้วย แม้ว่าจะปลดล็อกแล้ว

แต่พฤติกรรมของคนเริ่มชินไปแล้ว ต่อให้ห้างเปิดแล้วก็ตาม แต่ E-Commerce ยังไงก็ไม่ตายแน่ ๆ พ่อแม่ปู่ย่าตายายสั่งของโอนเงินผ่าน Line กันเป็นเรื่องปกติไปแล้ว ทุกคนทำเป็นหมด ยิ่งพอมีสมาร์ตโฟนก็ยิ่งสะดวกมากยิ่งขึ้น แต่เมื่อ 8 ปีที่แล้วยังมีคนที่ไม่ได้เชื่อในสิ่งนี้ ซึ่งการที่มีคนไม่เชื่อ แปลว่ามันยังมีโอกาส เล็งเห็นว่าธุรกิจจะได้ประโยชน์จากสิ่งนี้อย่างแน่นอน มันจะดีมาก ๆ เลยถ้าจะมีบริษัทที่เข้าใจด้านเทคโนโลยีและธุรกิจอย่างลึกซึ้ง แล้วก็เอาสองสิ่งนี้มาสร้างโอกาสใหม่ ๆ ให้กับธุรกิจต่าง ๆ

Bluebik มีหน้าที่ทำอะไรบ้าง

หน้าที่ของ Bluebik หลัก ๆ เลยก็คือการให้คำปรึกษาด้าน Digital Transformation โดยเฉพาะธุรกิจที่เริ่มมีปัญหาด้านการเติบโต อยากทำกำไร หรือมีการแข่งขันที่สูงมาก สิ่งสำคัญอย่างแรกก็คือการหากลยุทธ์ที่ถูกต้อง อะไรที่ควรโฟกัส และมีแผนที่ถูกต้องในระยะ 1 ปี 3 ปี 5 ปี ซึ่งกลยุทธ์เหล่านี้เกิดจากการที่เรามีข้อมูล ทั้งข้อมูลจากลูกค้า ข้อมูลของบริษัท และคู่แข่งเอามารวมกัน แล้วก็ใช้ผู้เชี่ยวชาญมาร่วมกันหาทางออกว่าจะมีทางไหนที่จะสามารถสร้างความได้เปรียบเชิงกลยุทธ์ ถ้าหาเจอ ธุรกิจก็จะสามารถดำเนินธุรกิจทำกำไรได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งกลยุทธ์ของ Bluebik ก็จะเน้นการใช้เรื่องของดิจิทัลในการเข้าไปช่วยเสริมกลยุทธ์อะไรได้บ้าง

ส่วนถัดมาเราก็จะไปช่วยเหลือในด้านการพัฒนาเทคโนโลยี ในเรื่องของการให้คำปรึกษาด้านเทคโนโลยี วางโครงสร้าง จะใช้เทคโนโลยีอะไร รวมถึงเรื่องของความปลอดภัย ใช้โครงสร้างพื้นฐานแบบไหนที่จะเหมาะกับขนาดของระบบเพื่อให้ทำงานได้ดี ยกตัวอย่างเช่นแอปพลิเคชันที่เราใช้กันในโทรศัพท์ หรือแม้แต่ระบบหลังบ้านที่ใช้เฉพาะในองค์กร หรือการปรับระบบที่เก่า ๆ ของธุรกิจให้ใหม่ขึ้น

ส่วนที่สามก็จะเป็นเรื่องของ Deep Tech ก็คือการใช้ AI และ Machine Learning เข้าไปช่วยในการตัดสินใจ ประมวลผลได้ดีขึ้นมากกว่ามนุษย์ หรือว่าช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของงานให้สูงขึ้น รวมทั้งตอนนี้ก็จะเริ่มมีการใช้ Blockchain เข้ามาทำงานร่วมกันด้วย

ส่วนที่สี่ก็จะเป็นเรื่องของการบริหารจัดการ เพราะว่าการที่มีดิจิทัลเข้ามา การบริหารงานอาจจะซับซ้อนมากขึ้น ซึ่งอาจจะต้องมีการบริหารจัดการ เช่น ปรับโครงสร้างองค์กร หรือหาบริษัทมา Joint Venture หรือเข้าซื้อบริษัท ซึ่งเราจะเข้าไปช่วยเกี่ยวกับการบริหารด้านการ Transformation เกี่ยวกับการจัดการออฟฟิศ เพื่อบริหารจัดการในสิ่งที่ต้องจัดการให้เสร็จสมบูรณ์ตามเวลา ตามงบประมาณ ตามคุณภาพที่ต้องการ เป็น 4 บริการหลัก ๆ ที่เราทำให้กับบริษัทในตอนนี้ครับ

ในความคิดของคุณโบ๊ท ประเทศไทยพร้อมแค่ไหน หรือมีอุปสรรคอะไรบ้างสำหรับการทำ Digital Transformation

คือถ้าจะเปรียบเทียบกับประเทศที่เขา Digital Transformation แล้วอย่างเช่นจีน ก็มีหลาย ๆ อย่างที่เรายังไม่พร้อม ทั้งเรื่องโครงสร้างพื้นฐานและบุคลากรที่ยังไม่พร้อม และมีจำนวนไม่เพียงพอ หรือต่อให้เรียนด้านคอมพิวเตอร์มา สุดท้ายก็อาจจะทำงานไม่ได้ เพราะได้รับการสอน การศึกษามาอย่างไม่ถูกต้อง ทำให้เราขาดบุคลากรที่พร้อมจะทำงาน รวมถึง Mindset ของคนในบางองค์กรที่ไม่พร้อมหรือไม่มีความรู้ที่จะเปลี่ยน

แต่ถ้าถามว่า สายไปไหมถ้าเราจะเริ่มวันนี้ มันไม่มีคำว่าสายเกินไปครับ ยิ่งเราเสียเปรียบก็ยิ่งต้องรีบทำ ตรงไหนที่เราไม่พร้อมก็ต้องรีบทำให้พร้อม ถ้าถามผมว่าอะไรที่เป็นอุปสรรค ถ้าในภาพใหญ่ ผมมองว่า โครงสร้างพื้นฐานเรายังไม่พร้อม อย่างเช่นเรื่องของคลื่นวิทยุ ยกตัวอย่างเช่นที่ผ่านมา เรามี 3G ช้ามาก บางทีการที่เราบอกว่าไม่มี มันไม่ใช่ว่าไม่มีเทคโนโลยีหรอก ของพวกนี้ซื้อมาก็ใช้ได้เลย แต่มันเป็นเรื่องของกฏหมาย หรือเรื่องอื่น ๆ ที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่เราจะต้องมี

หรืออย่างเช่นการเอาโตรนมาทำงานด้านการเกษตร มันก็ยังมีความเสี่ยงที่จะผิดกฏหมายอยู่ หรือแม้แต่เรื่องอื่น ๆ เช่นระบบ Cloud ในประเทศไทยที่ตอนนี้ยังมีอยู่ไม่เยอะ ก็เลยต้องใช้โฮสต์ที่อยู่ต่างประเทศ แต่ก็จะมีกฏหมายขึ้นมาอีกว่าห้ามนำข้อมูลออกนอกประเทศ กลายเป็นว่ากฏหมายทำให้คนรู้สึกกลัวการ Transform เพราะกลัวว่าจะผิดกฏหมาย ทำให้เรา Transform ได้ช้า

คุณโบ๊ทมาเป็นทาเลนต์อ่านข่าวเช้ากับ beartai BRIEF ได้อย่างไร

ตอนนั้นก็มีการคุยกันกับทีมงานครับ แล้วก็เชิญไปสัมภาษณ์รอบหนึ่ง เพราะเขามองเห็นว่าผมเองน่าจะพอมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องของเทคโนโลยี เรื่องธุรกิจ ประกอบกับว่าตอนนั้นก็กำลังจะเริ่มมีโปรเจ็กต์ใหม่ ก็คือรายการข่าวเช้าที่ต้องการจะเป็นอาหารสมอง ให้ความรู้กับคนก่อนที่จะไปทำงาน เขาก็มองว่าความรู้ของเราน่าจะเข้าไปเสริมเนื้อหาได้ ซึ่งผมเองก็รู้สึกว่าน่าสนใจ น่าลองทำ ก็เลยมีการชวนให้มาทำโปรเจ็กต์ด้วยกันนี้ครับ ก่อนหน้านี้ผมเคยทำงานเป็นพิธีกรมาก่อนแล้วรายการหนึ่ง แต่ว่าพอจบโครงการไปก็ไม่ได้มีการทำต่อ พอดีว่ามี beartai BRIEF เข้ามาต่อช่วงกันพอดี เราก็รู้สึกว่าเป็นอีกมิติหนึ่งที่หน้าสนใจ น่าจะได้รับประโยชน์ในการอัปเดตเรื่องต่าง ๆ แล้วก็ใช้ความรู้ของผมในการวิเคราะห์แสดงความคิดเห็นข่าวด้วย

แฟน ๆ beartai BRIEF เองจะรู้ว่า คุณโบ๊ทเองไม่ค่อยมีเวลาว่างมากนัก การต้องตื่นมาจัดรายการข่าวเช้าทำให้คุณรู้สึกลำบากบ้างไหม

จริง ๆ ก็ยุ่งมาก ๆ เลยครับ แต่ผมคิดว่าทุกครั้งที่มีอะไรที่ทำให้เราพัฒนาความสามารถ ผมมองว่ามันเป็นโอกาส ถ้าเราจะลงทุนอะไร ผมว่าเราควรลงทุนเวลากับการพัฒนาตนเอง ซึ่งการได้มาอ่านข่าวตรงนี้ ผมมองว่ามันเป็นสิ่งที่ทำให้ผมได้พัฒนาตนเอง แล้วก็คิดว่าเป็นสิ่งที่ทำให้ผมได้ทำประโยชน์ให้กับคนอื่น ๆ ด้วย ได้นำเอาสิ่งที่เป็นประโยชน์ไปสู่คนดู เราอยากจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ภาพรวมของคอนเทนต์ที่คนเสพมันมีอะไรที่ดีขึ้น ซึ่งทั้งสองอย่างนี้มันเป็นสิ่งที่ทำให้เราคิดว่า ต่อให้แม้ว่าเราจะยุ่งแค่ไหนก็ต้องบริหารจัดการเวลาตรงนี้ให้ได้

ถ้าจะให้คุณโบ๊ทให้คะแนนการเป็นทาเลนต์ของตัวเอง คุณอยากให้กี่คะแนน

(ยิ้ม) ผมมองว่าผมคงให้สัก 5 คะแนนแล้วกันครับ ผ่านแบบฉิวเฉียด ซึ่งผมว่าก็ยังมีมุมให้พัฒนาอยู่อีกเยอะ อย่างเช่นทักษะการอ่านข่าว ซึ่งผมมองว่ายังทำให้ดีกว่านี้ได้อีก หรือเรื่องของการวิเคราะห์ข่าว ผมเองอาจจะไม่ได้รู้ทุกเรื่อง ซึ่งมันก็เป็นพื้นที่ที่เราสามารถพัฒนาได้ในเรื่องขององค์ความรู้ที่เราจะนำมาใช้สำหรับการวิเคราะห์ตีความ รวมทั้งการสื่อสารเพื่อที่จะเล่าทุกอย่างออกมาให้เข้าใจง่าย ซึ่งการที่ผมอ่านข่าวกับพี่ต๊ะ (นารากร ติยายน) ก็ทำให้ผมรู้ว่าผมสามารถที่จะพัฒนาตรงนี้ขึ้นได้ ทั้งหมดนี้ก็เลยขอให้คะแนนผ่านแบบฉิวเฉียด ผ่านแบบพอดีเกณฑ์ หลังจากนี้ก็คงต้องปรับปรุงต่อไปให้ดีขึ้นครับ

ถ้าคุณได้มีโอกาสทำคอนเทนต์ของตัวเอง และเป็นทาเลนต์ด้วยตัวเอง คุณอยากทำเนื้อหาแบบไหน

ถ้าสมมติว่ามีเวลาแล้วกันนะครับ เพราะตอนนี้มีเวลาน้อยมาก ถ้ามีเวลาว่าง ก็มีเรื่องหนึ่งที่ผมสนใจมาก ๆ เลย ก็คือเรื่องของแกดเจ็ตครับ ซึ่ง beartai ก็ทำอยู่แล้วแหละ เพราะว่าเป็นงานอดิเรกที่เราชอบและมีความสนใจ และผมก็รู้สึกว่า จริง ๆ มันมีแกดเจ็ตอีกเยอะมาก ๆ เลยนะที่ยังไม่มีคนเอามาพูดถึง อย่างเช่นที่อยู่ในเว็บ Kickstarter หรืออีกด้านหนึ่งก็คือเรื่องของ Entertainment ที่เราเองยังไปได้ไม่สุด อย่างเช่นเรื่องของการทดสอบสาย Lan ซึ่งถ้ามีโอกาสและได้มีเวลาไปร่วมแจมก็น่าสนใจครับ

คำถามสุดท้าย คุณคิดว่า ข่าวดี ๆ ทันสมัย จะช่วยให้ชีวิตของเราดีขึ้นได้อย่างไรบ้าง

ช่วยหลายเรื่องครับ อย่างเช่น หนึ่ง ช่วยในเรื่องของความรู้ อย่างที่เราทราบก็คือโลกตอนนี้มันมีการแข่งขัน ก่อนที่เราจะออกไปทำงาน เราเองต้องมีความรู้ที่พร้อมที่จะเอาไปใช้ในการตัดสินใจในการทำงานให้เกิดประสิทธิผลมากที่สุด และข่าวของ beartai BRIEF สามารถที่จะเอาไปพูดต่อกับเพื่อน เอาไปศึกษาต่อ เอาไปแชร์กับคนอื่น ๆ ทำให้เราได้ไอเดียไปต่อยอดในการทำงานได้

อันที่สองคือ ช่วยจูนเรื่องของทัศนคติด้วย เพราะว่าข่าวของ beartai BRIEF จะอิงจากเรื่องราวที่มันเป็นประโยชน์และจรรโลงใจ มันเหมือนเวลาที่เราอยู่กับเรื่องที่ไม่ได้จรรโลงใจมาก ๆ มันก็จะทำให้เราเริ่มกลายเป็นคนที่ Negative หรือมองเห็นแต่ปัญหา ไม่เห็นทางแก้ไข แต่ถ้าเราได้ดูข่าวเทคโนโลยี มุมมองทางธุรกิจ มุมมองเกี่ยวกับอนาคตมากขึ้น มันก็จะทำให้เรามองอนาคตมากขึ้น ตัดสินใจด้วยการใช้เหตุผลหลักการ ใช้ข้อมูลมากขึ้น และมีความทันสมัย ไม่ได้ยึดติดกับมุมมองแบบเก่า ๆ


พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส