ในสมัยที่ผมเรียนปริญญาโท ผมจำได้ว่ามีวิชาที่ยากแสนยากอยู่ 2-3 วิชา เพราะต้องใช้คณิตศาสตร์ขั้นสูงและต้องมีจินตนาการอย่างมากอีกด้วย นั่นคือ วิชา Coding Theory และวิชา Information Theory ซึ่งเป็นวิชาที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบการเข้ารหัสและถอดรหัสของข้อมูลดิจิทัล รวมไปถึงวิธีการส่งข้อมูลที่มีประสิทธิภาพบนเครือข่ายโทรคมนาคม ในที่สุดทฤษฎีในวิชาทั้งสองก็ได้ถูกนำมาใช้ในเทคโนโลยี Blockchain ที่กำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนวิธีคิดในการทำธุรกรรมและระบบการเงินของโลกในขณะนี้

Blockchain ทำให้หลักฐานการทำสัญญาเชื่อถือได้ ไม่สามารถเปลี่ยนแปลง ลบออก แก้ไข บิดเบือน

ลองคิดดูซิว่า มันจะดีแค่ไหน หากเราสามารถทำสัญญาข้ามประเทศ ข้ามโลก โดยไม่ต้องมาพบกันตรงหน้า โดยที่หลักฐานการทำสัญญาดังกล่าวที่เชื่อถือได้ ไม่สามารถเปลี่ยนแปลง ลบออก แก้ไข บิดเบือน และสามารถตั้งเงื่อนไขเฉพาะในการเข้าถึงเพื่ออ่านได้ ยิ่งไปกว่านั้นยังสามารถส่งไปที่ใดก็ได้ในโลกชั่วเวลาไม่กี่วินาที โดยสามารถบันทึกประวัติการทำสัญญาหรือธุรกรรมทั้งหมดในอดีตได้ด้วย

pexels-photo

แล้วมันจะดีแค่ไหน ถ้าเราไม่ต้องกังวลกับธนบัตรหรือเงินในกระเป๋าของเราที่จะถูกปลอม และยังสามารถจ่ายเงินของเรา หรือรับเงินจากผู้ใดด้วยความสบายใจที่ว่าเงินนั้นไม่ใช่เงินปลอม และจะดียิ่งขึ้นไปอีกหรือไม่ ถ้าเราสามารถจ่ายเงินไปถึงใครก็ได้ ถึงที่ใดก็ได้ ในเวลาใดก็ได้ โดยไม่ต้องผ่านตัวกลาง เช่น ธนาคาร

Blockchain คืออะไร

ณ วันนี้เทคโนโลยีการเข้ารหัส ได้ถูกนำมาประยุกต์ใช้เพื่อแก้ปัญหาการปลอมแปลงเอกสารสัญญาที่เป็นกระดาษและแก้ปัญหาเงินปลอม ในกลุ่มธุรกิจที่ยอมรับกัน ซึ่งบริษัทเหล่านั้นอาจตั้งเป็นกลุ่มธุรกิจในลักษณะ consortium ที่ยอมรับในระบบเงินรูปแบบดิจิทัล และการทำสัญญาในรูปแบบดิจิทัลดังกล่าว โดยใช้เทคโนโลยีที่เรียกว่า Blockchain และขณะนี้เทคโนโลยีดังกล่าวกำลังเริ่มลุกลามไกลออกไปเรื่อยๆ จนเกิดปรากฎการในการทำธุรกิจรูปแบบ Fintech ขึ้น ซึ่งเป็นที่กล่าวขวัญกันมากในขณะนี้

Blockchain จะทำการบันทึกรายการธุรกรรมทั้งหมด ตั้งแต่ ข้อตกลง สัญญา การแลกเปลี่ยนเงินตรา ความเข้าใจ หรือการแลกเปลี่ยนระหว่างเงินสดและทรัพย์สิน ซึ่งจะเกิดขึ้นระหว่างบุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ปัจจุบันมีบริษัทและองค์กรต่างๆ ให้ความสนใจและพิจารณานำ Blockchain มาใช้มากขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่น การโหวต ทรัพย์สินทางปัญญา การแลกเปลี่ยนเงินตรา ฐานข้อมูลด้านกฎหมาย การทำธุรกรรมสัญญา และเครือข่ายบริการใช้รถร่วมทาง (ridesharing) เช่น Uber เป็นต้น มีรายงานจาก World Economic Forum ระบุว่า ในปี 2025 ร้อยละ 73.1 ของผู้ตอบแบบสอบถาม 800 คน ต้องการให้รัฐมีกระบวนการจัดเก็บภาษีโดยนำเทคโนโลยี Blockchain มาใช้ และอยากให้ มูลค่า Bitcoin เท่ากับร้อยละ 10 ของ GDP โลก ซึ่งจะถูกเก็บไว้ใน Blockchain อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน มูลค่าของ Bitcoin ทั้งหมดถูกเก็บไว้ใน Blockchain นั้นมีประมาณ 0.025 ของ GDP โลกเท่านั้น

ในอดีตที่ผ่านมากว่า 30ปี ตั้งแต่มี web browsers ทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้อย่างง่ายดาย ในทำนองเดียวกันในปัจจุบันมีการพัฒนาแอพพลิเคชั่นใหม่ๆ เพื่อทำให้เทคโนโลยี Blockchain ง่ายต่อการใช้งาน และเข้ามาเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำธุรกรรมออนไลน์ของโลกได้อย่างแพร่หลายและรวดเร็ว จึงเป็นสัญญาณคลื่นลูกใหม่ที่จะทำให้การทำธุรกรรมทางอินเตอร์เน็ตเป็นทุกสิ่งของระบบเศรษฐกิจโลก ตามที่นักอนาคตศาสตร์ได้คาดการณ์ไว้

ธนาคารอาจจะค่อยๆ หายไป!!!

เมื่อ Blockchain เริ่มต้นขึ้น และมุ่งเน้นเพื่อนำมาใช้พัฒนารูปแบบวิธีการการให้บริการทางการเงิน ซึ่งมีลักษณะเด่นที่เกิดขึ้นดังนี้

  1. ลูกค้าสามารถเข้าถึงสกุลเงินดิจิทัล (crypto-currency) และสนับสนุนบริการด้านการเงินที่เกี่ยวข้องกับสกุลเงินดิจิทัล
  2. สามารถตรวจสอบติดตามและบริหารจัดการสินทรัพย์ทางการเงิน และสินทรัพย์ดิจิทัล
  3. ลดความยุ่งยากซับซ้อน และไม่จำเป็นต้องมีธนาคารเป็นตัวกลางในการทำธุรกรรม
  4. จัดการความเสี่ยงทางดิจิทัลได้ดีกว่า
  5. พัฒนาทางเลือกสำหรับรายการเดินบัญชีแบบกระจายตัว ตามโครงสร้างและกระบวนการของบริการทางการเงินแบบดั้งเดิม
  6. พัฒนาความสามารถในการตรวจสอบประวัติในการทำธุรกรรม

house-money-capitalism-fortune-12619

Bitcoin กลายเป็นสกุลเงินที่มีมูลค่า โดยเมื่อปี 2012 มีมูลค่าประมาณ 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีจุดรับแลกเงินจำนวนมาก มีธุรกิจที่รับชำระด้วย Bitcoin หลากหลายเพิ่มมากขึ้น เช่น Paypal แต่รองรับเฉพาะการซื้อสินค้าดิจิทัลเท่านั้น (เช่น เกม เพลง อีบุ๊ค เป็นต้น) แต่ Bitcoin ยังได้รับการยอมรับในวงที่จำกัด และมีประเด็นทางกฎหมายในหลายประเทศ

ขณะนี้หลายองค์กรพยายามที่จะพัฒนาการให้บริการด้านการเงิน และพยายามจะลดตัวกลาง ซึ่งก็คือธนาคาร ทำให้เห็นได้ว่า ในอนาคตมีแนวโน้มว่าธนาคารจะค่อยๆ หายไปในอุตสาหกรรมการเงิน นอกจากนี้ Blockchain ยังสามารถลดค่าใช้จ่ายสำหรับโครงสร้างพื้นฐานของธนาคาร ในส่วนของการโอนเงินข้ามเขต การซื้อขายหลักทรัพย์ และลดค่าใช้จ่ายในการกำกับดูแลได้อย่างมาก ซึ่งในความจริงแล้วเทคโนโลยีสามารถเข้ามาช่วยลดค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมทางการเงิน ระยะเวลาในการทำธุรกรรม ความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ลดเวลาและความผิดพลาดในการชำระเงิน และช่วยอำนวยความสะดวกในการดำเนินการ

ธนาคารตั้งรับ Blockchain โดยลงทุนให้เข้าใจมัน

สถาบันการเงินต่างๆ พยายามที่จะเข้าใจเทคโนโลยีใหม่ๆ และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากเทคโนโลยี โดยการลงทุนในเทคโนโลยี Blockchain ในรูปแบบต่างๆ ได้แก่

  • จัดตั้งทีมงานภายใน เช่น BNY Mellon พยายามบูรณาการ Peer-to-Peer model เข้ากับระบบ clientserver และกำหนด BK coin สำหรับพนักงานของตัวเอง
  • การลงทุนของบริษัท started-up เช่น Goldman Sachs ลงทุนใน Circle Inc มูลค่า 50 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วน Visa, Citi, Nasdaq, Capital One, Fiserv และ French telecom Orange มีการลงทุนในบริษัทบล็อกเชนชั้นนำอย่าง Chain dot com มูลค่า 30 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยกระตุ้นให้เกิด start-up และศูนย์กลางนวัตกรรม
  • เกิดความคิดริเริ่มร่วมกัน เพื่อให้เกิดความเข้าใจถึงศักยภาพและกระบวนการทำงาน เช่น บริษัท Goldman Sachs, JP Morgan, Credit Suisse, Barclays, State Street, RBS, ธนาคารชั้นนำในประเทศออสเตรเลีย, BBVA และ UBS ที่มีการแชร์แนวคิดและข้อมูล และมีการลงทุนหลายล้านเหรีญสหรัฐ เพื่อหามาตรฐานการทำงานร่วมกัน

แม้ว่าเราอาจจะยังไม่เห็นอย่างชัดเจนว่าเทคโนโลยี Blockchain จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ในเร็วๆนี้ แต่เราจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าในภาคอุตสาหกรรมต่างๆให้ความสนใจในการนำเทคโนโลยีพื้นฐาน มาใช้สร้างศักยภาพในอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคบริการด้านการเงิน จะเริ่มมีการตอบสนองต่อภัยคุกคามและโอกาสที่เป็นไปได้จากเทคโนโลยี Blockchain มากขึ้น นอกจากนี้ จากจุดเด่นหลายๆประการของ Blockchain ทำให้หลายๆธุรกิจทั่วโลกต่างตื่นตัวและกำลังจับตามอง Blockchain อย่างใกล้ชิด เพื่อพยายามศึกษาและนำไปประยุกต์ใช้ให้เข้ากับธุรกิจตัวเอง ทำให้โอกาสที่ Blockchain จะแพร่หลายในอนาคตมีสูงมาก

Blockchain จึงอาจเข้ามามีบทบาทกับชีวิตของเราเร็วเกินกว่าที่คิด

16 ส.ค. 2559 18:40

เศรษฐพงค์.com