เมื่อพูดถึงการลงทุนไม่ว่าจะเป็นธุรกิจหรือเรื่องต่าง ๆ บนโลกใบนี้ล้วนแล้วแต่มีความเสี่ยงแค่จะมากน้อยต่างกันเท่านั้น แต่ส่วนมากการลงทุนมักจะเกิดจากคนไม่กี่คนที่ทำส่วนคนที่ได้รับผลดีหรือร้ายก็จะเป็นคนไม่มาก แต่สำหรับวงการที่เมื่อมีคนคิดกระทำบางอย่างแล้วมันส่งผลต่อคนวงกว้างอย่างวงการเกม เมื่อค่ายเกมคิดจะทำบางอย่างขึ้นมาย่อมต้องมีแฟนเกมเห็นด้วยสนับสนุน และมีพวกที่ไม่เห็นด้วยขึ้นอยู่ว่าจะมากหรือน้อยกว่ากันจนกลายเป็นกระแส และเสียงเหล่านั้นมักจะส่งไปไม่ผู้บริหารหรือค่ายเกม จนสุดท้ายค่ายเกมก็ยังคงทำแบบนั้นออกมาท่ามกลางเสียงด่าของแฟน ๆ หรือนักวิจารณ์ในวงการเกม แต่พอสิ่งเหล่านั้นออกมามันกลับประสบความสำเร็จเสียอย่างนั้น เรามาดูกันดีกว่าว่ามีเรื่องราวอะไรในวงการเกมที่ถูกด่าจากคนในวงการเกม แต่มันกลับประสบความสำเร็จมาดูและวิเคราะห์ไปพร้อมกันเลย

Sony นำเกมตัวเองลง PC เหมือนฆ่าตัวเองทางอ้อม

‘Playstation 4

เริ่มต้นเรื่องแรกที่ตอนนี้ยังเป็นที่ถกเถียงกันของแฟนเกมว่าสิ่งที่ทาง ‘Sony’ ทำถูกแล้วรึไม่ ที่เอาเกมซีรีส์ดังของตัวเองที่วางขายเฉพาะบนเครื่อง ‘Playstation 4’ มาวางขายบน ‘PC’ ที่ก็ไม่ต่างอะไรกับการหักหลังแฟนเกม ‘Playstation’ ที่ซื้อเครื่องเพราะมีเพียงเครื่องนี้เท่านั้นที่มีเกมซีรีส์นี้เล่น แต่ตอนนี้เพียงแค่รอหน่อยก็สามารถหาซื้อเล่นบน ‘PC’ ในราคาที่ถูกกว่าครบกว่าเผลอ ๆ ภาพสวยกว่าด้วย ซึ่งนั่นคือสิ่งที่แฟนเกมทั่วโลกรุมต่อว่า ‘Sony’ แต่ทางประธาน ‘Sony’ ก็ให้เหตุผลถึงการขยายตลาดไปยังเครื่องอื่น เพื่อให้คนรู้จักเกมของตัวเองมากขึ้น และการวางขายเกมลงบน ‘PC’ นั้นก็เป็นเกมเก่าที่คนเล่น ‘Playstation’ เล่นกันจบเบื่อแล้ว และถ้าเกมซีรีส์ไหนมีภาคต่อออกมาคนก็อาจจะไปซื้อเครื่อง ‘Playstation’ มาเล่นภาค 2 ก็ได้ นั่นคือสิ่งที่ประธาน ‘Sony’ จิม ไรอัน (Jim Ryan) บอกกับแฟน ๆ ที่ไม่ว่าจะมองมุมไหนมันก็ฟังไม่ขึ้น ซึ่งจนถึงตอนนี้เราก็ได้เห็นแล้วว่าเกมของ ‘Playstation’ เมื่อลงบน ‘PC’ สร้างยอดขายได้ถล่มทลายขนาดไหน แต่แฟน ๆ ก็ยังไม่พอใจอยู่ดีแค่กระแสต่อว่ามันลดลงเท่านั้นเอง

‘Playstation 4

แจกเกมฟรีบน Epic Games Store การขาดทุนเพื่อผลระยะยาว

Epic Games Store

คราวนี้มาดูการทำตลาดแบบยอมขาดทุนกระจัดกระจายแต่ในอนาคตมันกลับจะสร้างผลดีขึ้นมา อย่างการนำเกมเกรด ‘AAA’ มาแจกให้คนเล่นฟรีเพื่อหวังให้คนมาสนใจซื้อเกมในเครือของตน อย่างสิ่งที่ ‘Epic Games Store’ ทำในตอนนี้ ที่เหล่านักวิเคราะห์คิดว่าการที่ ‘Epic Games Store’ ใช้เกมแจกฟรีเป็นตัวล่อให้ผู้ใช้งานเข้ามาลองสัมผัสร้านค้าของเขานั้นเป็นวิธีที่เสี่ยง ถ้าคุณไม่มีเงินทุนมากพอที่จะรองรับการขาดทุนที่ไม่ใช่ปีหรือสองปีแต่อาจจะมากกว่านั้น (จากข้อมูลบอกว่าอาจจะยาวเกินปี  2027 ด้วยซ้ำ) แต่ถ้าไม่ทำแบบนี้ก็คงจะไม่สามารถสู้กับยักษ์ใหญ่แห่งวงการ ‘PC’ อย่าง ‘Steam’ ได้ ดังนั้นกลยุทธ์ทางการตลาดวิธีนี้จึงไม่ใช่สิ่งที่ผิด เพราะอย่างที่เราก็รู้กันว่าทาง ‘Epic’ นั้นก็มีเงินทุนมากมายที่พอจะเสี่ยงแบบนี้จนกว่าจะสำเร็จ ซึ่งจะเลิกตอนนี้ที่เคยทำมาก็จะเสียเปล่าเหมือนขึ้นหลังเสือแล้วลงไม่ได้ แต่สิ่งนี้ก็เป็นเรื่องดีของแฟนเกมที่ได้รับเกมดี ๆ แจกฟรีทุกเดือน และเมื่อเราไปหาข้อมูลก็พบว่ายอดการจับจ่ายบน ‘Epic Games Store’ ก็ค่อย ๆ เพิ่มขึ้นทุกปีจริง ๆ (แต่ก็ยังขาดทุนอยู่) คงต้องรอดูกันต่อไปว่าทาง ‘Epic’ จะเอากำไรคืนได้หรือจะยอมแพ้ไปก่อน

Epic Games Store

 Xbox Game Pass จะทำลายธุรกิจเกมในอนาคต

Xbox Game Pass

ยังคงอยู่กับค่ายเกมยักษ์ใหญ่ที่ตัดสินใจทำบางสิ่งที่คนในวงการเกมต้องสั่นสะเทือน หนึ่งในนั้นคือการนำเกมมาให้เล่นแบบเหมาจ่ายรายเดือนไม่อั้นกับ ‘Xbox Game Pass’ ที่ไม่ว่าจะดูมุมไหนคนเล่นเกมอย่างเราก็ได้ผลเต็มร้อย กับการจ่ายเงินรายเดือนที่ถูกแสนถูกแต่สามารถเอาเกมมาเล่นได้ทั้งบนเครื่อง ‘Xbox’ และ ‘PC’ แถมบางเกมยังเป็นเกมใหม่ที่วางจำหน่ายวันแรกก็มีให้เล่นเลย ซึ่งสิ่งที่ทาง ‘Microsoft’ ทำนั้นก็ไม่ต่างอะไรกับทาง ‘Epic’ ที่เมื่อตัวเองสู้ทางการขายเครื่องไม่ได้ ก็ไปสนับสนุนการขายบริการเพื่อให้คนตัดสินใจมาซื้อเครื่องของ ‘Xbox’ จนทางอดีตรองประธานฝ่ายการจัดจำหน่ายเกมของ ‘Microsoft’ เอ็ด ฟรายส์ (Ed Fries) ออกมาให้ความเห็นว่า การทำตลาดด้วยบริการ ‘Xbox Game Pass’ อาจทำร้ายธุรกิจเกมในอนาคตเพราะมันจะทำให้ผู้เล่นหันมาซื้อเกมเต็มน้อยลง แต่เมื่อมาถึงตรงนี้สิ่งที่อดีตรองประธาน ‘Microsoft’ พูดไว้กลับกลายเป็นตรงกันข้าม เพราะแทนที่มันจะเป็นการทำลายตลาด มันกลับเป็นการขยายตลาดให้คนเล่นเกมที่ไม่เคยเล่นมากขึ้น และยังไปเพิ่มยอดขายเกมภาคใหม่ที่วางจำหน่ายด้วย แบบเล่นภาคก่อนบน ‘Xbox Game Pass’ สนุกพอมีภาคใหม่ของเกมนี้ออกเราก็ไปซื้อมาเล่นและอีกหลายเหตุผลที่กลายเป็นเรื่องดีมากกว่าเสีย ก็ดีไม่ดีไม่รู้ขนาด ‘Sony’ ยังทำตามเลยคิดดู

Xbox Game Pass

Nintendo ทำเครื่อง Wii สวนกระแสตลาดเกมในยุคนั้น

Nintendo

มาทางฝั่งญี่ปุ่นกันบ้างที่เราต้องย้อนกลับไปเมื่อปี 2006 ในยุคที่ตลาดเกมตอนนั้นกำลังบ้าเกมที่กราฟิกสวยงามสมจริง ขณะที่ค่ายเกมต่าง ๆ ก็แข่งทำเกมเหล่านั้นออกมา โดยเฉพาะฝั่งเครื่องเกมตอนนั้นที่ทาง ‘Sony’ ก็มี ‘Playstation 3’ ส่วน ‘Microsoft’ ก็มี ‘Xbox​ 360’ ที่แข่งกันอย่างสนุกสนานด้วยเกมกราฟิกสวยงาม จนทางหลายคนคิดว่าทาง ‘Nintendo’ จะเอาอะไรไปสู้กับอีกสองเครื่อง ซึ่งในที่สุดทางปู่ก็คิดใหม่ทำใหม่โดยการย้อนกลับไปที่รากเหง้าของเกม นั่นคือความสนุกที่สามารถเล่นได้ทั้งครอบครัว จนมีการเปิดตัวเครื่อง ‘Nintendo Wii’ ออกมาพร้อมกราฟิกที่ไม่ได้ดีไปกว่า ‘Playstation 2’ เลย จนถูกแฟนเกมทั่วโลกไปจนถึงนักวิเคราะห์ต่างหัวเราะทางปู่ว่าบ้าไปแล้วที่ทำเครื่องเกมแบบนี้ออกมา แทนที่จะไปสู้กันที่กราฟิกแบบที่ตลาดเขาสู้กัน จนเมื่อเครื่องเกม ‘Nintendo Wii’ ออกมาทุกคนก็อ้าปากค้างกับความสนุกที่เรียบง่าย แถมยังดึงตลาดคนที่ไม่ได้เล่นเกมให้หันมาสนใจซื้อเครื่องมาเล่นเข้าไปอีก จนสุดท้ายคนที่ชนะตลาดในตอนนั้นคือ ‘Nintendo’ เล่นเอาคนที่เคยว่าปู่ในตอนนั้นจุกกันเลยทีเดียว

Nintendo

Diablo ลงมือถือคนไม่เติมก็ด่าคนด่าก็เติม

Diablo Immortal

“พวกคุณไม่มีมือถือกันเหรอ” ประโยคคำถามที่ผู้สร้างเกม ‘Diablo Immortal’ ถามแฟน ๆ กลับไปเมื่อถูกถามว่า “ทำไมคุณถึงไม่ทำเกม ‘Diablo’ ภาคใหม่ลงบน ‘PC’ แต่กลับเลือกทำลงมือถือแบบนี้” ซึ่งประโยคนี้สร้างเสียงก่นด่าให้กับแฟน ๆ เกม ‘Diablo’ ทั่วโลก กับการเปลี่ยนทิศทางเกมที่ตัวเองรักมาลงบนมือถือ แถมยังเป็นระบบเป็น ‘Free-to-play’ ที่ยิ่งเติมเยอะยิ่งเก่งเร็วกว่าชาวบ้าน ที่เป็นการเอาเปรียบผู้เล่นคนอื่นที่ไม่ว่าจะดูมุมไหนทุกคนก็ว่าทาง ‘Activision Blizzard’ หิวเงินเอาเปรียบคนเล่นเกมระบบโกงแบบใครจะไปเล่นเรียกว่าด่าสาดเสียเทเสีย แต่พอเกมออกมายอดการโหลดเกมนี้พุ่งทะยานขึ้นอันดับ 1 ตั้งแต่วันแรก รวมถึงยอดการเติมเงินในเกมที่สวนทางกับคำด่า จนมีวลีที่ว่า “คนไม่เติมก็ด่าคนด่าก็เติม” ออกมา ซึ่งจนถึงตอนนี้ยอดการเติมเงินก็สร้างรายได้ให้ ‘Activision Blizzard’ ที่คุณด่านอนกินกับระบบนี้ได้ยาว ๆ และจากข้อมูลบอกว่าประเทศไทยเราติดอันดับต้น ๆ ประเทศที่มีคนเติมเกมนี้มากที่สุดด้วย เข้าทางวลีที่ว่าเกลียดตัวกินไข่ เกลียดปลาไหลกินน้ำแกงเลยทีเดียว

Diablo Immortal

FromSoftware ทำเกมยากแบบนี้ใครจะเล่น

FromSoftware

ย้อนกลับไปในช่วงปี 2009 ที่วิดีโอเกมในยุคนั้นทั้งหมดเน้นความง่ายในการเข้าถึงและเป็นมิตรกับผู้เล่น ด้วยการมีระบบตายแล้วก็เริ่มที่จุดนั้นเลย หรือจะเป็นการบันทึกเกมแบบอัตโนมัติ กับตัวเกมที่มีการแบ่งระดับความยากง่ายให้ผู้เล่นเลือก ที่ทำให้หลายเกมขาดความสนุกจนคนเล่นเกมต้องหาทางสร้างความยากให้ตัวเอง จนการมาถึงของเกมสุดหินอย่างวิญญาณปีศาจ ‘Demon’s Souls’ ที่ตัวเกมมาพร้อมความยากตั้งแต่เริ่มต้น แบบไม่โอ๋ผู้เล่นเหมือนลูกคนเล็กแต่จะจัดเต็มความโหดรากเลือดเหมือนลูกเลี้ยงในละครไทย จนแม้แต่ทีมพัฒนาด้วยกันเองยังคิดเลยว่าเกมยากขนาดนี้จะเข้าถึงผู้เล่นได้หรือเปล่า เพราะที่เกมในยุคนั้นเน้นความง่ายก็เพราะต้องการให้คนอยู่กับเกมตัวเองให้นานที่สุดและเล่นจนจบ ถ้าผู้เล่นตายรัว ๆ แบบนี้ใครจะมีกำลังใจเล่น ที่ไม่ว่าจะมองมุมไหนค่าย ‘FromSoftware’ และ ฮิเดทากะ มิยาซากิ (Hidetaka Miyazaki) ก็บ้าไปแล้วที่ทำเกมแบบนี้ออก ที่ขนาดฮิเดทากะเจ้าตัวยังคิดว่าเกมนี้ขายได้หมื่นสองหมื่นชุดก็พอใจแล้ว แต่เพราะด้วยความยากนรกแตกมันกลับเป็นผลดี จนทำให้เกมนี้พูดถึงปากต่อปากว่าเกมนี้โคตรโหดไปหามาเล่นดู กลายเป็นว่าความยากกลับกลายเป็นจุดขายไปเสียอย่างนั้น นับเป็นการลองผิดลองถูกที่มาถูกทางจริง ๆ

FromSoftware

Resident Evil 7 มุมมองบุคคลที่ 1 กลับสู่ความสยองขวัญ

Resident Evil 7

อีกหนึ่งสิ่งที่เหนือความคาดหมายกับเกมซีรีส์ผีชีวะ ‘Resident Evil’ ที่ในตอนนั้นเกมซีรีส์นี้เหมือนเด็กหลงทางในป่า ที่กำลังตามเศษขนมปังขึ้นราจนกลับบ้านตัวเองไม่ถูก เพราะไม่ว่าจะทำเกม ‘Resident Evil’ อะไรออกมาก็โดนด่าจากแฟน ๆ แม้มันจะขายได้ขายดีก็ตาม จนสุดท้ายเมื่ออับจนหนทาง ‘Capcom’ ก็ยอมไฟเขียวให้นักพัฒนาเกมได้สร้างเกม ‘Resident Evil 7’ ให้เป็นมุมมองบุคคลที่ 1 (เห็นแค่มือกับปืน) และย้อนกลับไปเป็นความหลอนสยองขวัญแทนความเป็นแอ็กชันช่วยโลกจากไวรัส มาเป็นชายตามหาเมียที่พยายามหนีจากครอบครัวคนโรคจิตที่ไม่ว่าจะดูมุมไหนมันก็ไม่น่าขายออก เพราะแม้จะแปะชื่อ ‘Resident Evil’ แต่ความที่เกมเป็นมุมมองบุคคลที่ 1 มันจึงเข้าถึงคนได้ยากแถมยังมีความสยองขวัญสั่นประสาท ก็ยิ่งทำให้คนเล่นเกมนี้จำกัดลงไปอีก จนอาจจะมีแค่แฟนเกมซีรีส์นี้จริง ๆ ถึงจะซื้อมาเล่น จนทาง ‘Capcom’ ทำใจไว้แล้วว่ามันต้องขายได้ไม่ค่อยดีไปจนถึงกลาง ๆ ก็พอใจ แต่เมื่อเกมออกมาผลมันกลับเป็นตรงข้าม เพราะเมื่อตัวเกม ‘Resident Evil 7’ วางจำหน่ายยอดขายเกมนี้ก็พุ่งขึ้นเรื่อย ๆ แบบช้า ๆ จนกลายเป็นว่า ‘Resident Evil 7’ คือหนึ่งในภาคที่ขายดีที่สุดอันดับต้น ๆ ของซีรีส์ไปแล้ว นับเป็นการตัดสินใจที่ถูกจริง ๆ ที่เปลี่ยนมาเป็นแบบนี้ของ ‘Capcom’

Resident Evil 7

Hideo Kojima ออกจากโคนามิทำให้เกิดเกมใหม่ ๆ ในตลาด

Hideo Kojima

ปิดท้ายกับการเดินออกมาจากที่ทำงานที่คุณรักมาเป็น 10 ปีและสร้างสิ่งดี ๆ เอาไว้มากมาย แต่สุดท้ายก็ต้องทิ้งมันมาท่ามกลางความเสียดายเสียใจจากแฟนเกมทั่วโลก ที่ได้ข่าวว่า ฮิเดโอะ โคจิมะ (Hideo Kojima) เทพเจ้าแห่งวงการเกม ที่ชื่อของเขาต้องมีขนาดใหญ่กว่าชื่อเกมเมื่อวางขาย เพราะเขาคือผู้ให้กำเนิดซีรีส์เกมในตำนานที่ได้ทั้งเงินทั้งกล่องทุกภาคที่สร้างอย่างซีรีส์ ‘Metal Gear Solid’ กับการประกาศลาออกจาก ‘Konami’ หลังจากที่ร่วมงานกันมาหลายสิบปี ท่ามกลางความเสียดายของทุกคนที่ไม่อยากให้โคจิม่าออกมา เพราะถ้าเขาไม่อยู่แล้วใครจะสร้างเกม ‘Metal Gear Solid’ ต่อ จนมีหลายสื่อออกมาบอกว่าการกระทำของโคจิม่านั้นผิดที่ออกมาจากบริษัทเพื่อทำเกมของตัวเอง ที่เหมือนนักพัฒนาเกมหลาย ๆ คนที่ออกมาทำค่ายตัวเองแล้วเจ๊งไม่เป็นท่า เพราะอาศัยแค่ชื่อกับบุญเก่าหากินแต่พอทำเกมเองกลับออกมาไม่มีดี แต่ทางโคจิม่าก็พิสูจน์ตัวเองแล้วว่าเขาไม่ได้มีดีแค่ชื่อ เพราะหลังจากที่โคจิม่าออกมาตั้งบริษัท ‘Kojima Productions’ ก็เริ่มทำเกมดี ๆ ออกมาให้เราได้เล่น จนเสียงของคนที่เคยต่อว่าพี่เขาว่าจะไปไม่รอดนั่งเงียบ ๆ กันเลยทีเดียว

Hideo Kojima

ก็จบกันไปแล้วกับสิ่งที่คนในวงการเกมไม่เห็นด้วยมองว่าค่ายเกมทำผิดพลาด แต่มันกลับประสบความสำเร็จเสียอย่างนั้นหวังว่าจะถูกใจกัน โดยเป้าหมายของบทความนี้ต้องการให้กำลังใจคนที่กำลังตัดสินใจทำอะไรบางอย่างว่าอย่าไปกลัว ให้มุ่งหน้าตั้งใจทำไปเหมือนดั่งวลีที่อดีตผู้ก่อตั้ง ‘Nintendo’ บอกเอาไว้ว่า “จงขยันอดทนที่เหลือก็ปล่อยให้เป็นเรื่องของโชคชะตา” ที่หมายถึงจงตั้งใจทำให้เต็มที่แม้คนจะด่าเราก็ตาม เพราะเราก็ไม่รู้หรอกว่าสิ่งที่เราทำนั้นจะประสบความสำเร็จรึเปล่า เหมือนอย่างที่เกิดขึ้นในบทความนี้ที่แม้จะถูกด่าจากแฟน ๆ เกมแต่สุดท้ายมันก็ประสบความสำเร็จ ที่บอกให้เรารู้ว่าไม่มีอะไรประกันความสำเร็จของเราได้ต้องเสี่ยงวัดดวงกันเท่านั้น ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนที่กำลังพยายามสู้กันต่อไป พรุ่งนี้ที่สดใสรอเราอยู่

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส