ในทุกการเลือกตั้ง ทุกท่านคงหวังเลือกผู้แทนที่จะเข้าไปเป็นตัวแทนในการเปลี่ยนแปลงประเทศในแบบที่ตัวเองต้องการตามสิทธิในระบอบประชาธิปไตยที่อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน

แต่นอกจากการเลือกตั้งแล้ว ในปัจจุบันยังมีแพลตฟอร์มการมีส่วนร่วมที่ประชาชนสามารถเข้าไปร่วมกำหนดนโยบายได้ด้วยตนเอง โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาเสริมความเป็นประชาธิปไตย

หน้าตาแพลตฟอร์ม Better Reykjavik

หนึ่งในแพลตฟอร์มที่ว่านี้คือ Better Reykjavik (เรคยาวิกที่ดีกว่า) ซึ่งมูลนิธิพลเมืองไอซ์แลนด์ (Citizens Foundation) ริเริ่มขึ้นในปี 2010 เพื่อเป็นเครื่องมือให้ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมกำหนดนโยบายและนำเสนอวิธีการแก้ไขปัญหาในแง่ต่าง ๆ ของกรุงเรคยาวิก (เมืองหลวงของไอซ์แลนด์) อย่างเป็นรูปธรรม

สิ่งที่ทำให้แพลตฟอร์มนี้ได้รับความสำคัญก็มาจากการที่พรรคการเมืองที่เข้ามาบริหารเมืองให้ความสำคัญกับแพลตฟอร์มนี้ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายทางการเมืองหลัง แม้ว่าจะเปลี่ยนพรรคก็ตาม และที่สำคัญที่สุดก็หนีไม่พ้นประชาชนที่มีความสนใจที่จะมีส่วนร่วมในการพัฒนาเมืองที่ตัวเองอยู่ให้ดียิ่งขึ้น

เทคโนโลยีเพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชน

Better Reykjavik ใช้ซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สที่ชื่อว่า Your Priorities เป็นฐานในการรวบรวมและรับฟังข้อเสนอของประชาชน แบ่งเป็น การกำหนดวาระสำคัญของเมือง การกำหนดวิธีการใช้จ่ายงบประมาณ และการกำหนดนโยบายโดยประชาชน

ตัวแพลตฟอร์มประกอบไปด้วยหลายโครงการที่เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมกำหนดทิศทางเมือง ตั้งแต่ My Neighborhood (ละแวกบ้านฉัน) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มงบประมาณแบบมีส่วนร่วม และ Your Voice (เสียงของคุณ) ระบบนิติบัญญัติแบบมีส่วนร่วม

ตัวอย่างการแสดงความสนับสนุน (สีเขียว) และคัดค้าน (สีแดง) ต่อข้อเสนอ

ผู้ใช้งานที่เป็นพลเมืองสามารถนำเสนอแนวคิดและแนวทางแก้ไขปัญหาในระดับเมือง รวมถึงสนับสนุนและโต้แย้ง และร่วมกันจัดลำดับความสำคัญของข้อเสนอและแนวคิดเชิงนโยบายของผู้อื่นได้ด้วย

รูปแบบของการใช้งาน Better Reykjavik มีทั้งระบบการโหวตและการโต้เถียงกันแบบออนไลน์ การร่วมกันเสนอแนวคิดในการกำหนดนโยบาย และอัปโหลดคลิปเพื่อโต้แย้งหรือสนับสนุนแนวคิดต่าง ๆ โดยเน้นประชาชนเป็นศูนย์กลาง

นอกจากนี้ ยังมีการใช้ปัญญาประดิษฐ์เพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มในหลายมิติ ตั้งแต่แนะนำแนวความคิด จัดประเภทแนวคิด แปลภาษา กรองความเห็นที่ไม่สร้างสรรค์ และระบบแจ้งเตือนอัจฉริยะที่จะคอยเตือนผู้ดูแลระบบหากมีการใช้งานที่ไม่เหมาะสม

การจัดสรรงบแบบมีส่วนร่วม

My Neighborhood ที่กล่าวไว้ข้างต้นเป็นกลไกจัดสรรงบประมาณแบบมีส่วนร่วมภายใต้ Better Reykjavik ที่ให้อำนาจพลเมืองและรัฐบาลเมืองมาร่วมกันกำหนดการจัดสรรเงินสำหรับใช้ในโครงการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการก่อสร้าง หรือบำรุงรักษาสิ่งปลูกสร้างภายในกรุงเรคยาวิก

โดยปกติแล้วกระบวนการภายใต้ My Neighborhood ใช้เวลาราว 1 ปี เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการเก็บรวบรวมไอเดีย ไปจนถึงการคัดกรองโดยคณะกรรมการการเมือง และทีมบริหารจัดการโครงการ ก่อนจะไปจบที่การตัดสินใจว่าจะนำไอเดียไหนมาใช้บังคับ

ข้อเสนอของประชาชนที่ได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลของเมืองมีตั้งแต่การช่วยเหลือคนไร้บ้าน แปลงสภาพถนนให้กลายเป็นทางคนสัญจร ไปจนถึงการสร้างโรงเรียน

ความสำเร็จและอุปสรรคของแพลตฟอร์ม

ในการใช้งานโดยปกติ มีประชาชนของเมืองมากถึงร้อยละ 20 หรือประมาณ 1 ใน 5 ที่ใช้แพลตฟอร์มนี้ โดยมีผู้ใช้งานที่ลงทะเบียนมากกว่า 27,000 คน ส่วนใหญ่จะเน้นเข้าไปมีส่วนร่วมใน My Neighborhood

ข้อมูลจากในเดือนสิงหาคมของปี 2014 พบว่ามีแนวคิดจากประชาชนมากกว่าครึ่งหนึ่งที่ได้รับการอนุมัติจากสภาเมือง ขณะที่ในปี 2019 พบว่ามีราว 700 ไอเดียที่ได้รับการจัดสรรงบให้ไปลงมือทำจริงภายในเมือง

แต่แน่นอนว่าก็ยอมมีปัญหาตามมา รายงานในช่วงหลายปีที่ผ่านมาชี้ว่าความสนใจในแพลตฟอร์มก็มีลดลงไปบ้าง รวมถึงยังมีข้อจำกัดในข้อเสนอบางอย่างของประชาชนที่แม้จะได้รับเสียงสนับสนุนจำนวนมาก แต่ไม่สามารถนำไปทำเพราะเกินงบประมาณที่ตั้งไว้

จุดประกายความคิดให้แก่เมืองอื่น ๆ ทั่วโลก

ที่มา github/Icelandic Citizen Foundation

ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม Better Reykjavik กลายเป็นต้นแบบให้อีกหลายประเทศไปใช้ในการสร้างการมีส่วนร่วมบนโลกออนไลน์

ทางเจ้าของโครงการยังได้เผยแพร่ซอร์สโค้ดที่ใช้เป็นฐานของ Better Reykjavik ลงใน Github เพื่อให้เมืองหรือพรรคการเมืองที่สนใจนำไปพัฒนาแพลตฟอร์มการมีส่วนร่วมเป็นของตัวเองได้

นอกจากนี้ Better Reykjavik แสดงให้เห็นว่าเทคโนโลยีสามารถนำมาใช้เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมและต่อยอดประชาธิปไตยในรูปแบบใหม่ที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ทำให้คนที่อยู่ในเมืองใกล้ชิดและเข้าใจความเห็นของกันและกันมากขึ้น

แต่สุดท้ายแล้ว การสร้างความเปลี่ยนแปลงเมือง หรือประเทศไปในทางที่ดีขึ้นก็ต้องเริ่มจากการออกเสียงของประชาชนในฐานะเจ้าของอำนาจสูงสุดของประเทศในระบอบประชาธิปไตย

ที่มา crowd.law, oecd-opsi, Better Reykjavik – Citizens Foundation

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส