ดราม่าประสิทธิภาพหน่วยความจำของ Huawei P10 และ Mate 9 นั้นคงเป็นอีกหน้าหนึ่งที่สำคัญในประวัติศาสตร์มือถือ ที่ตอนนี้คงถึงเวลาที่จะมาวิเคราะห์เหตุการณ์ที่เบรกให้หัวเว่ยต้องเดินช้าลง และจุดสำคัญที่เปลี่ยนวิกฤตให้กลายเป็นหายนะ

จุดเริ่มต้นเหตุการณ์

 

ข้อมูลจากหน้าเว็บซัมซุง ที่ UFS 2.0 ก็ไม่ได้เร็วระดับ 500 MB/s

ต้นเรื่องของเหตุการณ์นี้ เท่าที่ตกเป็นข่าวในสื่อกระแสหลักนั้นมาจากเว็บ Gizmochina ที่เผยแพร่ผลทดสอบจากแอป AndroBench เมื่อวันที่ 17 เมษายนที่พบว่า Huawei P10 ให้ประสิทธิภาพในการอ่านเขียนข้อมูลแตกต่างกันมาก ชนิดที่น่าจะเป็นเทคโนโลยีหน่วยความจำคนละตัวกันเลย คือ eMMC และ UFS

  • เครื่องที่ได้ความเร็วประมาณ 700 MB/s ใช้เทคโนโลยี UFS 2.1
  • เครื่องที่ได้ความเร็วประมาณ 500 MB/s ใช้เทคโนโลยี UFS 2.0
  • เครื่องที่ได้ความเร็วประมาณ 300 MB/s ใช้เทคโนโลยี eMMC 5.1

ซึ่งในช่วงแรกของเหตุการณ์นี้ผู้คนและนักข่าวยังใหม่มากกับคำว่า eMMC และ UFS 2.0, 2.1 ที่มีข้อมูลประกอบไม่มากนักว่า 2 มาตรฐานนี้แตกต่างกันอย่างไร ตัวเลขความเร็ว 3 ชุดของหน่วยความจำคือ 300, 500 และ 700 Mbps จึงเหมือนกลายเป็นบรรทัดฐานสำหรับคนทั่วไปว่าหน่วยความจำอะไรควรได้ความเร็วเท่าไหร่

ถึงหัวเว่ยจะออกมาพูดภายหลังและอ้างอิงหลักฐานจากหน่วยงานอื่นๆ ว่า UFS 2.0 และ 2.1 นั้นมีความเร็วไม่ต่างกัน แต่แตกต่างกันที่ความสามารถเช่นการเข้ารหัสข้อมูลหรือการตรวจสอบความผิดพลาดเท่านั้น แถมหลายกรณีหน่วยความจำแบบ UFS 2.0 ที่ผลิตในบางโรงงานกลับทำความเร็วมากกว่า UFS 2.1 ที่ผลิตในบางโรงงานด้วยซ้ำ และประสิทธิภาพโดยรวมของเครื่องนั้นไม่ได้อ้างอิงความเร็วของหน่วยความจำอย่างเดียวเท่านั้น แต่ก็ดูเหมือนสายเกินไปแล้ว เพราะผู้ใช้ส่วนหนึ่งได้ตัดสิน Huawei ไปแล้วว่าไม่น่าเชื่อถือ

CEO ออกมาพูดเร็ว และทำให้แย่

ฉนวนสำคัญที่ทำให้เรื่องนี้เลวร้ายลงก็คือการโพสต์ในสื่อสาธารณะของ Richard Yu ผู้บริหารหัวเว่ยฝั่ง Consumer Electronics ในวันที่ 20 เม.ย. ที่ยอมรับว่า Huawei P10 นั้นมีหน่วยความจำ 2 แบบจริงคือ eMMC และ UFS ซึ่งเพราะปัญหาการผลิตที่ต้องการผลิตเครื่องให้ทันต่อความต้องการของโลก พร้อมบอกว่า eMMC ก็ให้ประสบการณ์การใช้งานที่ไม่แตกต่างไปจาก UFS เพราะซอฟต์แวร์ถูกปรับให้ได้ประสิทธิภาพดี ซึ่งถึงในทางปฏิบัติอาจจะเป็นอย่างที่ Yu กล่าว แต่ในความรู้สึกของซื้อสินค้าคือโดนหักหลังนั้นเอง

การที่ CEO ออกมาให้ข้อมูลเป็นคนแรก ถือเป็นก้าวแรกในการตอบสนองต่อเหตุการณ์นี้ที่ผิดพลาดมาก เพราะคนยอมเชื่อถือผู้บริหารสูงสุดขององค์กรอย่าง CEO อยู่แล้ว แต่ Richard Yu กลับยืดอกบอกอย่างภูมิใจว่านี่เป็นการแก้ปัญหาของฝ่ายผลิต (ปัญหาของ Huawei) แทนที่จะสนใจปัญหาของลูกค้าที่รู้สึกโดนหักหลัง และเมื่อ CEO ออกมาพูดเอง ก็ไม่มีคนในระดับสูงกว่าที่จะออกมาแก้ไขเนื้อหาได้หากเกิดผลร้ายแรงขึ้น

ลองนึกภาพว่า ถ้าข้อมูลที่ Yu แถลงนั้นออกมาจากฝ่ายประชาสัมพันธ์แทน ถ้าเกิดผลกระทบที่เลวร้ายอย่างที่เกิดขึ้น ก็ยังสามารถใช่ไพ่ตายคือให้ CEO ออกมาขอโทษ และดำเนินการแก้ไขให้เรื่องเบาบางลงได้ เรื่องราวก็คงไม่บานปลายแบบนี้

บริษัทเหมือนขาดประสบการณ์รับมือ

หลายอย่างที่ Huawei ทำหลังจากเกิดเรื่องนั้นกลับทำให้เรื่องราวยิ่งแย่ลงไปใหญ่

  • นำข้อมูล UFS ออกจากหน้าของ Mate 9 ทำให้ประเด็นลุกลามไปยัง Mate 9
  • ไม่มีมาตรการเยียวยาลูกค้า มีแต่นำเสนอข้อมูลที่ไม่ช่วยให้รู้สึกดีขึ้น
  • จำกัดการให้ข้อมูลของ Huawei สาขาประจำประเทศต่างๆ ทำให้จัดการปัญหาให้แต่ละประเทศได้ยาก

ประเด็นเรื่องการให้ข้อมูลนั้นจะเห็นได้เมื่อหัวเว่ยประเทศไทยถูกบีบโดยสคบ. ให้ตรวจสอบ Mate 9 และ P10 จึงยอมเผยข้อมูลสำคัญที่ว่า Huawei P10 ในประเทศไทยนั้นเป็นหน่วยความจำแบบ UFS ทั้งหมดออกมา ซึ่งถ้าข้อมูลชุดนี้ออกมาตั้งแต่แรก เรื่องราวในไทยคงไม่ใหญ่โตขนาดนี้ (แม้ว่าอาจทำให้หัวเว่ยในประเทศอื่นๆ ที่เจอหน่วยความจำแบบ eMMC มีปัญหาบ้างก็เถอะ)

จากเหตุการณ์ครั้งนี้หัวเว่ยคงต้องเรียนรู้การเป็นแบรนด์ระดับโลก ที่ผู้ใช้ทั่วโลกอาจคิดไม่เหมือนผู้ใช้ในจีน