หลังจากที่ทางแบไต๋ได้ลงข่าวการเปิดตัวของหูฟังที่สาวก Sony ตั้งตารอคอยอย่าง WF-1000XM3 ไปเมื่อไม่นานมานี้ ล่าสุดทางเราก็ได้ถูกเชิญชวนจากทางโซนี่ให้บินลัดฟ้าไปยังบ้านเกิดของพวกเขาถึงญี่ปุ่น ณ กรุงโตเกียว เพื่อสัมผัสประสบการณ์สุดพิเศษเกี่ยวกับเจ้าหูฟังรุ่นนี้โดยเฉพาะ และแน่นอนว่าการบุกมาไกลถึงขนาดนี้ทั้งที ทางโซนี่ก็ยังจะได้จัดงานตั้งโต๊ะให้สื่อทั้งหลายได้ร่วมกันสัมภาษณ์กับวิศวกรผู้พัฒนาหูฟังรุ่นดังกล่าวนี้โดยตรงอีกด้วย! เอาล่ะ ไปดูกันดีกว่าว่ามีคำถามอะไรน่าสนใจกันบ้างครับ

ตัวหูฟังมีการจัดเรตมาตรฐานกันน้ำ IPX หรือยังครับ?

ยังไม่มีเรต ipx ออกมาอย่างเป็นทางการครับ แต่ผู้ที่เคยใช้งานทั้งหลาย ได้บอกว่าสามารถใช้ในการวิ่งออกกำลังกายได้ ก็ต้องขออภัยที่เราไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลในส่วนนี้ได้มากนักนะครับ (แต่เชื่อว่าในรุ่นต่อไปพวกเราจะนำจุดนี้ไปต่อยอดต่อแน่นอน)

ถ้าหูฟังข้างใดข้างหนึ่งหาย เราจะแก้ปัญหาในจุดนี้ได้อย่างไร?

สามารถติดต่อไปยังแผนก Customer Support ตามแต่ละประเทศได้เลย ซึ่งแต่ละที่ก็จะมีวิธีการแก้ปัญหาที่แตกต่างกันออกไปให้กับลูกค้า

อะไรคือจุดที่ยากที่สุดในการดีไซน์หูฟังรุ่นนี้?

รูปเดียวอธิบายทุกสิ่ง WF-1000xm3 สามารถลดความหน่วงจากหูฟังรุ่นพี่ไปได้ เพราะว่าสมาร์ตโฟนเชื่อมต่อกับหูฟังทั้ง 2 ข้างพร้อมกัน ทำบัฟเฟอร์หูฟังด้านซ้ายและด้านขวาพร้อมกัน ลดระยะเวลาซิงค์หู 2 ข้างลง ทำให้แก้ปัญหาเสียงไม่ตรงปากไปได้

ส่วนที่ยากที่สุดคือการวิธีการเชื่อมต่อแบบใหม่ของ Sony WF-1000XM3 ซึ่งมันมีกระบวนที่ซับซ้อนขึ้นมาก และมันก็เป็นจุดที่สำคัญมากด้วยเช่นกันครับ

แล้วความยากในด้านพัฒนาคุณภาพของเสียงล่ะ?

คุณภาพของเสียงขึ้นนั้นไม่ได้อยู่ที่หูฟังเพียงอย่างเดียว หากแต่จะเกี่ยวข้องกับอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อด้วย แต่ในรุ่นนี้ก็สามารถปรับแต่ง EQ ให้ไปในทิศทางที่ผู้ใช้ต้องการได้นะครับ

ถ้าหากต้องการสลับข้างของหูฟังรุ่นเดียวกันนี้กับคนอื่นมาใช้งานจะสามารถทำได้ไหม?

ต้องขอโทษจริง ๆ ครับ ทำไม่ได้นะ (ฮ่า ๆ)

ทำไมถึงไม่รองรับ Codec ตัวท็อปของโซนี่อย่าง LDAC ล่ะครับ?

เพราะเราต้องการเน้นให้ Sony WF-1000XM3 มีระยะเวลาการใช้งานที่นานขึ้น กินแบตเตอรีน้อยลง รวมไปถึงยังให้ความสำคัญระหว่างสัญญาณของหูฟังทั้งสองข้างที่จะไม่ขาดหายออกไปจากกัน จริง ๆ แล้วพวกเราเข้าใจว่าผู้ใช้งานต้องการคุณภาพของไฟล์เสียงที่ดี เช่น LDAC นะ แต่ในตอนนี้สำหรับหูฟังทรูไวเลส พวกเราคงต้องขอศึกษาเพิ่มเติมเพื่อให้คุณภาพไฟล์เสียงดังกล่าวทำงานได้ดีและมีประสิทธิภาพบนหูฟังทรูไวเลส แต่เราเชื่อว่าชิปประมวลผล QNe1 ของหูฟังรุ่นนี้ที่มี DAC ก็ให้คุณภาพเสียงที่ดีมากได้ แม้ไม่ได้ใช้ LDAC

ส่วนที่ไม่รองรับ aptX เพราะเราต้องใช้ชิปหรือหน่วยประมวลผลพิเศษจาก CSR (ตอนนี้เป็นของ Qualcomm) ด้วยครับ

อะไรคือแรงบันดาลใจในการดีไซน์ Sony WF-1000XM3?

หลักการในการดีไซน์หูฟังรุ่นนี้ คอนเซปต์จะคล้ายกันกับรุ่น WF-1000X แต่จะแตกต่างกว่าตรงที่รุ่นนี้จะมีความเรียบง่ายไม่มีสะดุดตาเพื่อยังคงอยู่ในนิยามของความนิ่งและเงียบสงัดเหมือนดั่งสิ่งที่หูฟังรุ่นนี้มอบให้แก่ผู้ใช้งาน

คิดว่าในอนาคต หูฟังทรูไวเลสจะกลายเป็นหูฟังสามัญทั่วไปที่ใคร ๆ ก็ใช้กันไหม?

พวกเราโฟกัสไปที่การตัดเสียง และคุณภาพเสียงที่บ่งบอกความเป็นตัวตนของ Sony ซึ่งเราก็ศึกษาเพิ่มเกี่ยวกับการทำอย่างไรให้คุณภาพของเสียงและการตัดเสียงรอบข้างมีประสิทธิภาพที่ดีขึ้น แต่ก็คงต้องยอมรับกันตามตรงว่าหูฟังประเภท Earband ก็ยังคงเป็นที่นิยมมากกว่า

หูฟัง Hi-Fi หลายแบรนด์เริ่มที่จะทำหูฟังเกมมิ่ง แล้วทาง Sony มีแผนจะทำบ้างไหม?

อืม… แน่นอนครับ เราเข้าใจว่าตลาดในตอนนี้หูฟังเกมมิ่งกำลังเติบโตขึ้น และก็นะครับ… มันอาจจะดูเป็นคำตอบแบบเดิม ๆ นะ แต่เรายังไม่สามารถให้ความเห็นอะไรได้เกี่ยวกับหูฟังเกมมิ่ง

ทำไมถึงตัดสินใจทำให้เคสใส่หูฟังใหญ่ขึ้น และทำไมถึงตัดการชาร์จแบบไร้สายออกไป?

เป็นเรื่องของแบตเตอรีที่ใหญ่ขึ้นที่มารองรับเทคโนโลยี Noise Canceling ในรุ่นนี้เพื่อให้ใช้งานให้ได้ประมาณ 24 ชั่วโมง ซึ่งการใช้ได้ในการชาร์จครั้งเดียวที่ 6 ชั่วโมง ทางเราก็รู้สึกว่ามันเป็นระยะเวลาโดยสามัญสำหรับการใช้งานในขณะเดินทางไปไหนมาไหน ส่วนเรื่องของการชาร์จแบบไร้สายนั้น เป็นเพราะพวกเราต้องการโฟกัสไปที่อายุการใช้งานต่อครั้งมากขึ้น เราเลยจำเป็นต้องตัดความสะดวกสบายนี้ออกไปในเคสใส่หูฟังของ Sony WF-1000XM3 ครับ

 

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส