ตลอดสองวันที่ผ่านมาทีมข่าว #beartai ได้ติดตามและนำเสนอข่าวเกี่ยวกับ FaceApp แอปหน้าแก่ที่กำลังฮิตไปทั่วโลก ซึ่งเป็นแอปที่เล่นเพลิน แถมเล่นฟรีซะด้วย แต่เล่นยังไม่ทันหายเบื่อ จู่ ๆ มีข่าวด้านลบออกมา ทำเอาชาวโลกออนไลน์ถึงกับตกอกตกใจกันเป็นแถว ทีมข่าว #beartai เลยรวบรวมข้อมูลที่เข้าใจง่าย เพื่อให้คุณได้เข้าใจถึงสถานการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นอย่างเป็นกลางจะได้ไม่ต้อง Panic เกินกว่าเหตุ

FaceApp เคยฮิตเล่นกันมาแล้วตั้งแต่ปี 2017 ทั้งในไทยและในต่างประเทศ แม้กระทั่งบน beartai.com ก็เคยทำรีวิวแอปนี้ไปแล้วเช่นกัน การถูกโจมตีถูกกล่าวหาว่าล้วงข้อมูลในครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่สองที่ทางแอปโดนจัดหนัก ซึ่งขอย้ำว่ายังไม่มีหลักฐานใดยืนยันข้อกล่าวหานี้ ส่วนการโจมตีครั้งแรกเกิดขึ้นในปี 2017 เนื่องจากแอปเจ้ากรรมดันตั้งค่าปรับสภาพสีผิวของคนผิวสีให้สว่างขึ้น 

ทำไมนักการเมืองของสหรัฐกังวลว่า FaceApp จะล้วงข้อมูลไปให้รัฐบาลรัสเซีย? 

แอปนี้เป็นแอปสัญชาติรัสเซีย พัฒนาโดย Wireless Lab มีฐานอยู่ที่ St. Petersburg และมีข้อมูลจาก Reuters ระบุว่าแอปนี้ปัจจุบันมี active users มากกว่า 80 ล้านผู้ใช้ (ป่านนี้คงจะแตะร้อยล้านแล้วมั้ง?) และมี CEO ชื่อ Yaroslav Goncharov (ยาโรสลาฟ กอนชารอฟ) ซึ่งเคยเป็นผู้บริหารของ “Yandex” (ยานเด็กซ์) หรือเว็บไซต์ที่ถูกขนานนามว่าเป็น “Google แห่งรัสเซีย” 

ทีนี้พอเกิดเป็นแอปรัสเซียก็ต้องทำใจ วันดีคืนดี แอปกำลังดัง สร้างชื่อเสียงให้บริษัทอยู่ดี ๆ ก็โดนนักการเมืองสหรัฐฯ หันขีปนาวุธข่าวสารเข้าใส่ ทั้งที่ทางแอปก็พยายามทำทุกอย่างให้โปร่งใสแล้ว

แต่การมีข่าวด้านลบออกมาถาโถมโจมตี FaceApp อันนี้เข้าใจได้ สืบเนื่องมาจากอดีตที่เคยหลอกหลอนสหรัฐฯ 2 เหตุการณ์หลัก ๆ คือ

  1. “รัสเซีย” ถูกกล่าวหาว่า มีส่วนแทรกแซงการเลือกตั้ง และมีส่วนเอี่ยวทำให้ทรัมป์จากพรรค Republican ชนะการเลือกตั้งในปี 2016 แต่ที่ผ่านมารัสเซียให้ปฏิเสธข้อกล่าวหานี้มาโดยตลอด
  2. กรณี “Cambridge Analytica” ที่นำข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งาน Facebook ไปใช้ ซึ่งอาจมีส่วนทำให้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนปัจจุบัน ชนะการเลือกตั้ง

พอมาถึงคราวของ FaceApp ลักษณะของเหตุการณ์มันดูคล้าย ๆ กันไง ก็คือ

[แอปนี้รัสเซียพัฒนา] + [แอปนี้เก็บข้อมูลส่วนตัว] 

=

อ้าว! นี่มัน Deja Vu ฝันร้ายชัด ๆ

 

แล้วข่าวด้านลบเกี่ยวกับ FaceApp มันปะทุมาจากไหน? 

มันเริ่มขึ้นจากการที่นาย Chuck Schumer (ชัค ชูเมอร์) ผู้นำเสียงข้างน้อยวุฒิสภาสหรัฐ จากพรรค Democrat (พรรคตรงข้ามทรัมป์) ส่งจดหมายไปเรียกร้องให้สำนักงานสอบสวนกลาง หรือ FBI  และคณะกรรมาธิการการค้าแห่งชาติ หรือ FTC เข้ามาตรวจสอบแอปนี้

ซึ่งจดหมายของชูเมอร์ที่ส่งให้ Christopher Wray (คริสโตเฟอร์ เวรย์) ซึ่งเป็น FBI Director และ Joe Simons (โจ ซิมอนส์) ซึ่งเป็น FTC Chairman มีใจความว่า แอปดังกล่าวสามารถเข้าถึงรูปภาพและข้อมูลส่วนตัวได้ ซึ่งมีความเสี่ยงต่อความมั่นคงของชาติและความเป็นส่วนตัวของชาวอเมริกันหลายล้านคน! ทีนี้พอมีข่าวออกไปคนก็เลยตกใจกันไปทั่วโลก

นอกจากนี้ทางคณะกรรมาธิการแห่งชาติพรรคเดโมแครต ยังส่งหนังสือเตือนไปยังผู้ลงสมัครฯ ลงเลือกตั้งสหรัฐฯ ปี 2020 ว่าหากกำลังใช้งานหรือมีทีมงานที่ทำแคมเปญหาเสียงใช้แอปนี้อยู่ ขอให้ลบแอปออกในทันที ไม่งั้นอาจจะโดนล้วงข้อมูลส่วนตัวไปใช้ 

เรื่องที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นว่านักการเมืองสหรัฐฯ กังวลเรื่องของข้อมูลรั่วไหล กังวลไปต่าง ๆ นา ๆ ว่าข้อมูลส่วนตัวของเพื่อนในพรรค เพื่อนนักการเมืองในสภาจะรั่วไหล จนกระทบต่อการหาเสียงเลือกตั้ง พูดง่าย ๆ ก็คือ รัสเซียอาจใช้ FaceApp มาเป็นช่องทางตีเนียนเพื่อแทรกแซงการเลือกตั้ง 

สรุปความจริงคืออะไร?

พอกระแสข่าวนี้ดังออกไปผู้คนก็ตกใจกลัวและตื่นตระหนกว่า แอปตัวนี้อาจนำรูปที่เราเอาไปแต่งเล่น เช่น แต่งเป็นหน้าเด็กหรือหน้าแก่ ไปใช้หาประโยชน์ หรือ แอปตัวนี้อาจจะเก็บรูปภาพของเราเป็นคลังใบหน้าบุคคล หรือ อาจจะเอาภาพเราไปฝึก AI ซึ่งทั้งหมดที่ว่ามานี้ มันผิดหลักความเป็นส่วนตัว แต่ในที่สุดเพื่อคลายข้อสงสัยนี้ก็มีผู้เชี่ยวชาญ เข้าไปตรวจสอบและพบข้อมูล ดังนี้

  1. FaceApp ส่งแค่รูปที่เราต้องการทำหน้าแก่หน้าเด็กไปประมวลผลที่เซิร์ฟเวอร์ ไม่ได้ส่งรูปอื่นๆ ที่มีในเครื่องออกไป
  2. เซิร์ฟเวอร์ที่ประมวลผลรูปของ FaceApp อยู่ในสหรัฐฯ เป็นส่วนใหญ่ ตามรายงานของ Forbes บอกว่าอยู่ที่ Amazon Data Center และมีบางเซิร์ฟเวอร์ที่โฮสโดย Google
  3. FaceApp แถลงว่าจะมีการลบรูปที่อัปโหลดไปใน 48 ชั่วโมง

จากข้อมูลข้างต้นไม่มีหลักฐานใดบ่งชี้ว่า FaceApp นำข้อมูลเราไปให้รัฐบาลรัสเซีย

ถ้าจะกลัว FaceApp กลัว Facebook ดีกว่า!

คำถามที่เกิดขึ้นตามมาก็คือเราจะเชื่อข้อมูลที่สรุปมาได้มากน้อยแค่ไหน เราเชื่อคำพูดที่กล่าวอ้างโดยนักพัฒนาได้แค่ไหนกันเชียว? 

ของแบบนี้ ถึง FaceApp ไม่ลบข้อมูลใน 48 ชั่วโมง เราก็ไม่มีวันรู้อยู่ดี เรื่องนี้จึงเป็นเกมความเชื่อใจระหว่างเรากับนักพัฒนา มันก็เหมือนกับการที่เราเชื่อใจ Facebook ให้ Mark Zuckerberg และทีมของเขาใน Silicon Valley ล่วงรู้ข้อมูลเราจนมีโฆษณาสินค้าโผล่มาถึงตัวเรา ทั้งที่เราแค่พิมพ์บอกเพื่อน หรือเหมือนกับการที่เราเชื่อใจ Google ให้รับรู้ใบหน้าของเราจนสามารถแท็กรูปของเราและคนอื่น ๆ ในภาพได้ถูกต้องหมด หรือเหมือนกับการที่เราเชื่อใจ Apple ว่าจะรักษารูปและข้อมูลของเราที่เก็บไว้ใน iCloud ไม่ให้รั่วไหลและปลอดภัยนั่นเอง จึงเป็นเหตุผลว่าถ้าคุณจะกลัว FaceApp คุณควรจะกลัว Facebook, Google และ Apple มากกว่า

และถ้าจะเทียบ FaceApp กับ Face Recognition (ระบบการรู้จำใบหน้า) แล้วล่ะก็ Face Recognition นี่สิที่น่ากลัวยิ่งกว่า!! เพราะมันเป็นการเก็บข้อมูลแบบ Biometric หรือเก็บข้อมูลทางชีวภาพของเรา ไม่ว่าจะเป็นลักษณะ เฉพาะทางกายภาพหรือพฤติกรรม แค่เราเดินอยู่บนถนน มันก็สามารถวิเคราะห์ได้แล้วว่าตัวเรามีสีหน้าและอารมณ์อย่างไร วิเคราะห์ได้ถึงอายุ ตลอดจนอุณหภูมิร่างกายเลยทีเดียว ซึ่งรัฐบาลของประเทศนั้น ๆ หรือใครก็ตามที่ใช้ Face Recognition สามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ได้เลย

สุดท้าย “การที่แอปถูกพัฒนาโดยรัสเซีย” ไม่ใช่สิ่งที่เราต้องกังวล เรื่องที่เราควรจะกังวลและตระหนักจริง ๆ คือ “การรู้เท่าทัน” 

ถ้าคุณอยากเล่น FaceApp หรือแอปแต่งหน้าอื่น ๆ ก็เล่นได้ แต่ต้องคิดไว้เสมอว่ารูปที่เลือกทำเอฟเฟก จะถูกส่งออกไปข้างนอกนะ คุณเชื่อใจนักพัฒนาได้ไหม? และคุณแน่ใจนะว่ารูปที่เลือกไปใช้จะไม่ทำให้คุณมีปัญหา เช่น ส่งรูปโป๊ของตัวเองออกไป มันก็ไม่ปลอดภัยตั้งแต่แรกแล้วหรือเปล่า?

ถ้ามองภาพให้ใหญ่กว่านั้น ก็ควรตระหนักว่ามีข้อมูลสำคัญอะไรบ้างที่เราเก็บไว้ในสมาร์ตโฟนหรือคอมพิวเตอร์ จะมีใคร หรือจะมีแอปอะไรที่สามารถเข้าถึงข้อมูลสำคัญนั้นได้บ้าง? อะไรที่คุณอยากให้เป็นเรื่องส่วนตัว คุณก็ไม่ควรเก็บไว้ในอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อเครือข่ายอยู่แล้ว

จบนะ

 

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส