หลายคนคงเคยได้ยินเรื่อง ‘ธารน้ำแข็ง’ หรือ ‘Glacier’ ที่กำลังละลายอย่างรวดเร็วมาก่อน ก่อนหน้านี้มีการคาดการณ์กันไว้ว่า การละลายของพวกมันอยู่ในขั้นวิกฤต อาจจะมาถึงจุดที่ไม่สามารถหวนคืนได้แล้ว และเท่าที่ตรวจวัดได้ อัตราการละลายของน้ำแข็งในปัจจุบันดูเหมือนจะมากกว่าที่คาดการณ์กันไว้เสียอีก เพื่อให้การพยากรณ์แม่นยำขึ้น ช่วยให้มนุษย์รับมือกับปัญหาอุทกภัยที่จะตามมาในอนาคต นักวิทยาศาสตร์จึงเร่งศึกษา ‘ธารน้ำแข็งกรีนแลนด์ (Greenland’s Glacier)’ หนึ่งในที่มาหลักที่ทำให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
‘ฟยอร์ด’ กับความลึกที่เป็นเบาะแสแรก
ท่ามกลางความเวิ้งว้างของน่านน้ำอาร์กติก ธารน้ำแข็งกรีนแลนด์ได้ละลายพุ่งลงสู่มหาสมุทรตามแนวฟยอร์ด (fjords) หรือ ขอบผาที่เป็นเวิ้งน้ำลึกลงไป และเพราะความลึกและความขรุขระตามชายฝั่งที่เข้าถึงยากของฟยอร์ดนี่เอง ที่ทำให้นักวิจัยขาดข้อมูลในเรื่องระดับความลึกของมัน ทำให้ไม่อาจประเมินได้อย่างแม่นยำว่า มีปริมาณน้ำในมหาสมุทรเท่าใดในแต่ละฟยอร์ด


Credtit : earthobservatory.nasa.gov
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change) นั้นส่งผลต่ออุณหภูมิมหาสมุทรที่สูงขึ้น ดังนั้น ปริมาณน้ำมหาสมุทรอุ่นที่เข้าถึงฟยอร์ด จึงนำไปสู่การละลายของธารน้ำแข็งในฟยอร์ดนั่นเอง
ด้วยเหตุนี้ เมื่อ 5 ปีก่อน นักวิทยาศาสตร์จึงได้เริ่มต้นภารกิจ Oceans Melting Greenland (OMG) ศึกษาการละลายของธารน้ำแข็งเหล่านี้จากทางอากาศและทางเรือ ด้วยการวัดฟยอร์ดทีละแห่ง จนสามารถสำรวจธารน้ำแข็งได้ถึง 226 แห่ง และพบว่าฟยอร์ด ‘ลึก’ 74 แห่ง เป็นที่มาของปริมาณน้ำแข็งละลายเกือบครึ่งหนึ่งของปริมาณทั้งหมด ในช่วงปี 1992 ถึง 2017


Credits: NASA
งานวิจัยนี้ ตีพิมพ์ใน Science Advances เมื่อวันที่ 1 มกราคม หรือวันปีใหม่ที่ผ่านมา และถือเป็น ‘ครั้งแรก’ เลยที่อธิบายได้ว่า น้ำชายฝั่งที่ร้อนขึ้นส่งผลต่อการละลายของธารน้ำแข็งกรีนแลนด์อย่างไร
ธารน้ำแข็งเหล่านี้มีการตัดเฉือน (Undercutting) จาก ‘ข้างใต้’ มากที่สุด เพราะเป็นบริเวณที่อบอุ่นกว่าด้านบน คำอธิบายสำหรับเรื่องนี้คือ ที่ด้านล่างของฟยอร์ดนั้นเป็นบริเวณที่มีเกลือหรือน้ำเค็มสะสมอยู่ ทำให้บริเวณนี้มีอุณหภูมิสูงกว่าน้ำที่เกลือมีอยู่อย่างเจือจางหรือไม่มีเกลือเลยด้านบน มันจึงละลาย ‘ฐาน’ ของธารน้ำแข็งที่อยู่ข้างใต้ ค่อย ๆ ทำให้น้ำแข็งด้านบนปริแตกออกจากกัน
และที่น่าเหลือเชื่อกว่า คือในทางตรงกันข้าม ธารน้ำแข็ง 51 แห่งที่ยื่นออกไปในฟยอร์ด ‘ตื้น’ หรือ อยู่บนสันเขาตื้น ๆ มีการตัดเฉือนในลักษณะนี้น้อยที่สุด และปริมาณน้ำแข็งที่ละลายในส่วนนี้ คิดเป็นเพียง 15% ของปริมาณน้ำแข็งที่ละลายทั้งหมดเท่านั้น
ไมเคิล วู้ด (Michael Wood) นักวิจัยระดับหลังปริญญาเอกจาก Jet Propulsion Laboratory ของนาซา และผู้เขียนหลักของงานวิจัยชิ้นนี้กล่าวว่า เขารู้สึกประหลาดใจมากกับการค้นพบนี้
“ธารน้ำแข็งที่ใหญ่ที่สุดและลึกที่สุด กลับถูกตัดและละลายเร็วกว่าธารน้ำแข็งขนาดเล็กในน้ำตื้นมาก … หรือพูดอีกอย่างคือ ธารน้ำแข็งที่ใหญ่ที่สุด กลับมีความอ่อนไหวต่อน้ำอุ่นมากที่สุด และเป็นที่มาหลักของการปริมาณน้ำแข็งละลายอันมหาศาลของกรีนแลนด์”
และนั่นสรุปได้ว่า สำหรับกรณีของธารนำแข็งกรีนแลนด์ ยิ่งธารน้ำแข็งมีขนาดใหญ่ ก็ยิ่งละลายเร็วเท่านั้น และต้นเหตุก็คือความลึกของฟยอร์ดที่ธารน้ำแข็งนั้นตั้งอยู่นั่นเอง
(อ่านต่อหน้า 2 คลิกด้านล่างเลย)