ต้อนรับวันสตรีสากล (8 มีนาคม) กันด้วยบทความพลังหญิงที่จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจกันบ้าง เชื่อว่า หลายคนคงเคยมีความฝันอยากจะใช้ชีวิตเป็นนักผจญภัย หรือนักสำรวจกันมาบ้าง แค่จะเป็นให้ได้ก็ยังต้องฝ่าเงื่อนไขต่าง ๆ มากมาย อาทิ เงินสนับสนุน ความรู้ ความสามารถ ความแข็งแกร่งของร่างกาย ซึ่งอย่างหลังนี่ก็เกี่ยวพันกับ ’เพศ’ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นแล้วในอดีตที่ผ่านมา จึงมีผู้หญิงน้อยรายที่จะก้าวเข้ามาในวงการนี้

แต่แม้จะมีอยู่น้อย แต่แต่ละคนก็ล้วนน่าทึ่ง โดยเฉพาะคนที่เราจะมาพูดถึงกันในบทความนี้ เธอคือนักบินอวกาศหญิง แถมยังพ่วงด้วยตำแหน่งผู้หญิงคนแรกที่ดำดิ่งลงไปในส่วนลึกที่สุดของมหาสมุทรที่เรารู้จักกันในขณะนี้ด้วย

เคธี ซัลลิแวน คือชื่อของเธอคนนั้น

เคธี ซิลลิแวน (Kathy Sullivan) เป็นหญิงชาวสหรัฐฯ คนแรกที่ได้เดินในอวกาศเมื่อปี 1984 ซึ่งเป็นยุคที่มีผู้หญิงเริ่มทำงานหาเลี้ยงตัวเอง แต่ยังมีเงื่อนไขและปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้ผู้หญิงยังคงเป็นช้างเท้าหลังในโลกของการทำงานอยู่ดี

อย่างไรก็ตาม ความน่าทึ่งของเธอไม่ได้อยู่ที่การเป็นหญิงแกร่งแห่งยุคเท่านั้น ผ่านไปอีกหลายปีให้หลัง ด้วยวัย 68 ปี เธอยังคงออกเดินทางไปสู่ดินแดนที่มนุษย์น้อยคนจะได้ไปเยือน นั่นคือ ใต้ท้องทะเลในระดับความลึก 7 ไมล์ หรือประมาณ 11 กิโลเมตร ซึ่งถือเป็นจุดลึกที่สุดในท้องทะเลที่เรารู้จักในขณะนี้ 

เคธี ซิลลิแวน (Kathy Sullivan) ขณะปฏิบัติงานในนาซา
Credit : NASA

ช่างเป็น 2 ภารกิจที่ดูแตกต่างกันราวฟ้ากับเหวก็จริง แต่มีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันซึ่งสะท้อนตัวตนของผู้หญิงคนนี้ นั่นคือ จิตใจที่รักในการใฝ่รู้ผจญภัย และความปรารถนาที่จะเข้าใจโลกรอบตัวให้มากขึ้น

วัยเด็กจุดเริ่มต้นของการผจญภัย

ซัลลิแวนเกิดที่เมืองนิวเจอร์ซี (New Jersey) เมื่อปี 1951 พ่อของเธอเป็นวิศวกรการบินอวกาศ เธอเติบโตที่แคลิฟอร์เนีย ผ่านสภาพการเลี้ยงดูที่พ่อแม่ให้อิสระทางความคิด และมักกระตุ้นให้เกิดการตั้งคำถาม หรือการถกเถียงกันอยู่เสมอ

“พ่อกับแม่คอยช่วยเติมเต็มในสิ่งที่ฉันสงสัยเสมอ เป็นเพื่อนที่ดีที่ช่วยให้ฉันสำรวจลึกลงไปในสิ่งที่สนใจ และฉันเองก็เป็นเด็กที่รักการผจญภัย มีความสงสัยใคร่รู้ และความสนใจที่หลากหลายกว่าเด็กผู้หญิงทั่วไปในวัยเดียวกัน” ซัลลิแวนให้สัมภาษณ์แก่บีบีซี

ในขณะที่พี่น้องของเธออยากจะเป็นนักบิน ซัลลิแวนกลับสนใจในแผนที่และสิ่งที่อยู่ในนั้นมากกว่า เธอเติบโตขึ้นมาท่ามกลางการค้นพบใหม่ ๆ ในยุคนั้น เช่น การที่ ฌาคส์ กุสโต (Jacques Cousteau) บุกเบิกการค้นพบใต้ทะเล หรือ กลุ่มนักบินอวกาศโครงการเมอร์คิวรีเจ็ดคน (Mercury Seven) ซึ่งเป็นกลุ่มนักบินอวกาศกลุ่มแรกในยุคนั้น

กลุ่มนักบินอวกาศโครงการเมอร์คิวรีเจ็ดคน (Mercury Seven) ของนาซา
Credit : NASA

“พวกเขาทั้งหมดล้วนเป็นผู้ชายแต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้ฉันเสียกำลังใจ ฉันมองว่าพวกเขาคือกลุ่มคนที่อยากรู้อยากเห็นและชอบผจญภัยอย่างต่อเนื่อง พวกเขามุ่งหน้าที่จะไปกำลังจะไปยังสถานที่ที่ไม่มีใครอยู่และกำลังเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ฉันเองไม่เคยคิดหรอกนะว่าอยากจะมีอาชีพแบบนั้น แต่สิ่งที่ฉันรู้ได้ชัดเจนในตอนนั้นคือ ฉันต้องการให้ชีวิตของฉันเป็นแบบนั้น ฉันอยากให้มันเต็มไปด้วยการแสวงหาความรู้ การผจญภัยและการใช้ความสามารถ”

(อ่านต่อหน้า 2 คลิกด้านล่างเลย)

เดินตามความใฝ่ฝัน

เพื่อไปให้ถึงจุดนั้นเธอจึงเริ่มเรียนภาษาต่างประเทศ และวิทยาศาสตร์โลก หรือ โลกศาสตร์ (Earth sciences) ซึ่งในสมัยนั้นยังเป็นสาขาที่มีแต่ผู้ชายเรียนเป็นส่วนใหญ่ อย่างไรก็ตาม โชคดีที่เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงบางอย่างเกิดขึ้นแล้ว เธอจึงไม่เคยถูกคุกคามหรือรังแกเรื่องเพศ

“อันที่จริง ฉันโชคดีที่มีอาจารย์และเพื่อนร่วมงานที่ให้การสนับสนุนและคอยอยู่เคียงข้างฉัน พวกเขามองว่าฉันเป็นคนที่มีความสามารถ และเป็นเพื่อนร่วมชั้นที่ทัดเทียม”

ในช่วงเวลานั้น ซัลลิแวนมองเห็นทะยานอยากของเธอเองในตัวอาจารย์ภาควิชาสมุทรศาสตร์ เธอจึงเริ่มศึกษาต่อในสาขานี้ ส่วนสาเหตุที่เธอเข้าร่วมโครงการกับนาซา ก็เพื่อเพิ่มพูนความรู้เกี่ยวกับโลกให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น “แรงจูงใจหลักที่ทำให้ฉันสมัครเป็นนักบินอวกาศของนาซา นั่นก็เพราะหากฉันได้รับเลือก ฉันก็จะได้เห็นโลกจากวงโคจรด้วยตาของฉันเอง”

ซัลลิแวน (คนที่ 2 จากทางขวา) กับเพื่อนร่วมชั้นเรียนนักบินอวกาศที่เป็นผู้หญิงรุ่นแรกของนาซา
Credit : NASA

สู่ห้วงอวกาศ

ซัลลิแวนเข้าเรียนในชั้นเรียนของนาซา เมื่อปี 1978 ซึ่งนับเป็นการรับสมัครผู้หญิงเข้าสู่ตำแหน่งนักบินอวกาศเป็นครั้งแรก ภารกิจแรกของซัลลิแวนคือ STS-41-G ที่ออกเดินทางไปอวกาศเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 1984 และเป็นเที่ยวบินที่ 13 ในโครงการกระสวยอวกาศของนาซาและเที่ยวบินเที่ยวที่ 6 ของกระสวยอวกาศชาแลนเจอร์ อันโด่งดัง 

และในวันที่ 11 ตุลาคม 1984 ซัลลิแวนก็ได้สร้างประวัติศาสตร์ด้วยการเป็นหญิงชาวสหรัฐ ฯ คนแรกที่ออกมาอยู่นอกยานอวกาศ เธอและเพื่อนร่วมงาน เดวิด ลีซท์มา (David Leestma) ได้เดินในอวกาศ (Spacewalk) เพื่อแสดงให้เห็นว่าการเติมเชื้อเพลิงในวงโคจรเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ 

การเดินอวกาศครั้งแรกของซัลลิแวน
Credit : NASA

ถัดจากนั้น เธอยังเข้าร่วมในอีก 2 ภารกิจ รวมถึงการส่งกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล (Hubble Space Telescope) ขึ้นไปโคจรเมื่อปี 1990 เธอใช้เวลาในอวกาศรวมทั้งสิ้น 532 ชั่วโมงและได้รับการบรรจุชื่อใน หอเกียรติยศนักบินอวกาศ (Astronaut Hall of Fame) เมื่อปี 2004

“ฉันดีใจมากที่ได้เห็นผู้หญิงอีกหลายคน เข้ามาอยู่ในวงการนี้ตามฉัน และรู้ไหม ยิ่งเรามีความละเอียดซับซ้อนมากขึ้นเท่าไหร่ การเดินในอวกาศก็ยิ่งเป็นที่ต้องการมากขึ้นเช่นนั้น”

ภารกิจ STS-31 ภารกิจที่ซัลลิแวนเดินอวกาศเป็นครั้งที่สาม
และในภารกิจนี้เองที่ลูกเรือได้มีส่วนในการจัดวางตำแหน่งให้กับกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล
Credit : NASA

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซัลลิแวนคือตัวอย่างที่ทำให้เราเห็นว่า ผู้หญิงมีส่วนร่วมในระดับอาวุโสมากขึ้น รวมถึงบทบาทในการบังคับบัญชาและการจัดการภารกิจจากภาคพื้นดิน

“สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ยอดเยี่ยม ฉันคิดว่า มันช่วยแสดงให้เด็กสาวได้เห็นว่า เธอสามารถเดินทางไปยังสถานที่เหล่านี้ได้….ไม่มีใครสัญญาได้ว่า คุณจะได้เดินทางไปถึงจุดหมายนั้น คุณยังต้องต่อสู้อยู่บ้าง แต่ยังน้อยมันก็มีประตูเปิดแง้มอยู่นะ คุณสามารถเปิดมันออกกว้าง แผ้วทางให้ผ่านไปได้”

(อ่านต่อหน้า 3 คลิกด้านล่างเลย)

และเมื่อ 2 ปีก่อนนี่เอง ในที่สุด ก็มีภารกิจการเดินในอวกาศที่มีผู้ปฏิบัติภารกิจเป็นหญิงล้วนเป็นครั้งแรก มันเป็นช่วงเวลาที่ดีสำหรับการปิดฉากการเป็นนักบินอวกาศของซัลลิแวน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อคริสตินา คอช (Christina Koch) หนึ่งในนักบินอวกาศในภารกิจนั้น สวมระบบช่วยชีวิตแบบเดิม แบบเดียวที่ซัลลิแวนสวมใส่ในปี 1984

ซัลลิแวน (ตรงกลาง) ในภารกิจ STS-41-G
Credit : NASA

แม้จะออกจากนาซาเมื่อปี 1993 ซัลลิแวนยังดำรงตำแหน่งหัวหน้านักวิทยาศาสตร์ที่ National Oceanic and Atmospheric Administration (NOAA) และต่อมา เป็นผู้ดูแลและประสานงานหน่วยงานนั้นในยุคประธานาธิบดีบารัก โอบามา ระหว่างอยู่ในตำแหน่งนั้น เธอใช้เวลาหลายปี ในฐานะประธานและซีอีโอของศูนย์วิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรม (COSI) และเมื่อตำแหน่งที่โดดเด่นที่มหาวิทยาลัยแห่งรัฐโอไฮโอ (Ohio State University)

การผจญภัยครั้งใหม่

สำหรับการเดินทางครั้งล่าสุดนั้น เกิดจากคำเชิญสุดเซอร์ไพรส์ของวิคเตอร์ เวสโคโว (Victor Vescovo) อดีตทหารเรือและนักลงทุนที่ใช้เวลาหลายปีและหลายล้านดอลลาร์ พัฒนาเทคโนโลยีเพื่อพาผู้คนลงไปยังส่วนลึกที่อยู่ในมหาสมุทรของโลก

‘Challenger Deep’ คือส่วนที่ลึกที่สุดของก้นทะเล มันเป็นส่วนหนึ่งของร่องลึกมาเรียนาอยู่ลึกลงไปในมหาสมุทรเกือบ 7 ไมล์ (11 กิโลเมตร) ห่างจากเกาะกวมไปทางตะวันตกเฉียงใต้ 200 ไมล์ (322 กิโลเมตร) ในมหาสมุทรแปซิฟิก

ก่อนหน้านี้ มีชาย 2 คนได้ลงไปยังส่วนลึกที่สุดนี้เป็นครั้งแรกในปี 1960 นั่นคือ ดอน วอลช์  (Don Walsh) นักมหาสมุทรศาสตร์ของกองทัพเรือสหรัฐฯ และนักสมุทรศาสตร์ชาวสวิส ฌาค ปีการ์ด (Jacques Piccard) หลังจากนั้นก็มีคนที่ลงไปที่นั่นอีกไม่กี่คน หนึ่งในนั้นคือ เจมส์ คาเมรอน (James Cameron) ผู้กำกับ Titanic นั่นเอง

ดอน วอลช์  (Don Walsh) และ ฌาค ปีการ์ด (Jacques Piccard) กับการเดินทางไปสู่มหาสมุทรลึกเป็นครั้งแรก
Credit : Wikiwand

เวสโคโว กล่าวว่า แรงจูงใจของเขาคือ การกระตุ้นความสนใจใคร่รู้ในท้องทะเลและวิทยาศาสตร์ เมื่อปี 2019 เขากลายบุคคลแรกที่ไปเยี่ยมชมจุดที่ลึกที่สุดในทุกมหาสมุทร โดยใช้ยาน Deep Sea Vehicle (DSV)  ขนาด 2 ตัน ซึ่งหย่อนลงจากเรือที่สร้างมาเพื่องานนี้โดยเฉพาะ

ส่วนเหตุผลที่ซัลลิแวนได้รับคำเชิญในครั้งนี้ เธอบอกว่า เขาให้เหตุผลในอีเมลเชิญเธอเอาไว้ว่า เพราะเขาคิดว่ามันเป็น ‘เวลา’ ที่ผู้หญิงจะต้องลงไปที่นั่น และเธอก็ตอบตกลงด้วยความตื่นเต้น

(อ่านต่อหน้า 4 คลิกด้านล่างเลย)

หญิงคนแรกใต้ท้องทะเลลึก

เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2020 ซัลลิแวนและเวสโคโวได้ร่วมกันเดินทางลงไปลึกกว่า 35,800 ฟุต (10,900 เมตร) นั่นทำให้เธอกลายเป็นมนุษย์คนที่ 8 และผู้หญิงคนแรกเดินทางไปพิชิตจุดลึกสุดของโลก

เธออธิบายว่า การเดินทางนี้เหมือนอยู่ในวงแหวนเวทมนตร์ การได้เห็นยานยนต์ไร้คนขับ ลดระดับลงสู่พื้นทะเลใกล้กันกับพวกเขาในระดับความลึกนั้น มันเหมือนกับการเจอเข้ากับ ‘ยานสำรวจอวกาศของมนุษย์ต่างดาว’ อย่างไรอย่างนั้น

https://twitter.com/AstroKDS/status/1270717086310871040

“มันน่าทึ่งที่เราสามารถไปยังสถานที่เหล่านี้ได้ ด้วยสติปัญญาและความสามารถทางวิศวกรรมของมนุษย์ และเราสามารถพาร่างกายของเราไปยังสถานที่ที่จริง ๆ แล้วไม่สามารถไปได้ และก็ไม่มีสิ่งใดที่ต้องไปทำยังที่นั่น”

การเดินทางในครั้งนี้ ทำให้เกิดการเปรียบเทียบองค์กรของเวสโคโว กับ SpaceX ทั้งคู่เป็นบริษัทเอกชนที่แสดงให้เห็นถึง ‘ศักยภาพที่น่าตื่นเต้น’ ทำให้เห็นว่าภาคเอกชนทั่วโลกสามารถมีส่วนสนับสนุนความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีได้

แรงใจสู่อนาคต

ซัลลิแวนเชื่อว่า มนุษย์เราควรผลักดันขอบเขตความรู้ของเราเกี่ยวกับโลกที่เราอาศัยอยู่ต่อไปไม่ว่าจะอยู่ในสถานะใด จะเป็นหน่วยงานของรัฐ หรือภาคเอกชนก็ตาม และยังแสดงความหวังว่า จะมีการพัฒนาด้านความหลากหลายและมีพื้นที่ให้แก่ผู้หญิงในโลกแห่งวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีวิศวกรรมและคณิตศาสตร์ (Stem) มากขึ้น

“คนทั่ว ๆ ไป ในชุดแล็บที่รู้ตัวเลขและหลักการคือคนที่น่าเบื่อมาก ที่จริงแล้วในหลาย ๆ สาขาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หัวใจหลักของมันคือความคิดสร้างสรรค์ต่างหาก”

https://twitter.com/AstroKDS/status/1270346091209375744

เมื่อถามว่า เธอมีแผนสำหรับการผจญภัยครั้งต่อไปหรือไม่ ซัลลิแวนกล่าวว่า การผจญภัยอาจจะไม่ต้องล้ำลึกเหนือชั้นเหมือนการไปท่องอวกาศหรือผจญภัยในใต้ทะเลลึกก็ได้ 

“ฉันคิดว่าการสำรวจสามารถทำได้หลายรูปแบบ มันยังมีหัวข้อและมิติในการสำรวจอีกมากมายรออยู่ …ฉันคิดว่าฉันจะสำรวจจนกว่าจะถึงเวลาที่ร่างของฉันจะถูกบรรจุไว้ในกล่องไม้อย่างสงบในอนาคตนั่นแหละ”

ช่างน่าทึ่งกับความมุ่งมั่นและตั้งใจของเธอจริง ๆ แต่ไม่ใช่แค่ซัลลิแวนเท่านั้นนะที่ทำได้ หากมีความฝัน หมั่นมองหาหนทางอยู่เสมอ ไม่แน่ว่าคุณคนที่อ่านบทความอยู่ตอนนี้ ไม่ว่าจะหญิงหรือชาย ก็อาจเป็นนักผจญภัย หรือนักสำรวจในขอบข่ายที่ตัวเองสนใจในสักวันก็ได้

อ้างอิง

BBC1 / BBC2

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส