เห็นหัวข้อแบบนี้ไม่ใช่ว่าเราจะมารีวิวภาพยนตร์หรือซีรีส์ใหม่แต่อย่างใด แต่มันคือเรื่องจริงที่มีคนเต็มใจทำและตอนนี้พวกเขาเหล่านั้นก็ได้เข้าไปอยู่ในถ้ำเป็นที่เรียบร้อยแล้วด้วย

ผลพวงจากการแพร่ระบาดของโควิด ทำให้ผู้คนทั่วโลกได้ลิ้มรสความรู้สึกที่ถูกแยกห่างจากการกักตัว แต่ยังนับว่าโชคดีที่เรามีเทคโนโลยียุคใหม่ ทั้งช่องทางการสื่อสารและนวัตกรรมต่าง ๆ ที่ช่วยลดความรู้สึกที่เกิดจากความห่างนั้นลง อย่างไรก็ตาม ยังคงมีคนกลุ่มหนึ่งที่สมัครใจทำยิ่งกว่าการเว้นระยะห่างทางสังคม นั่นคือกลุ่มอาสาสมัครในการทดลองอันแสนสุดโต่งที่ชื่อว่า ‘Deep Time’ ที่จะเข้าไปอยู่ในถ้ำอย่างโดดเดี่ยว ไม่เห็นเดือนเห็นตะวันถึง 40 วัน!

มูลเหตุแห่งการทดลอง 

ในขณะที่คนทั่วโลกส่วนใหญ่จำใจกักตัวอยู่ในบ้าน แต่เมื่อวันที่ 14 มีนาคมที่ผ่านมา อาสาสมัคร 15 คน แบ่งเป็นชาย 8 คน หญิง 7 คน ได้เข้าไปในถ้ำลอมบรีฟส์ (Lombrives) ในเขต Ariège ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศฝรั่งเศส และจะไม่โผล่ออกมาเป็นเวลา 40 วัน 

โฉมหน้าอาสาสมัครที่เข้าไปอยู่ในถ้ำเป็นเวลา 40 วัน
Credit : allthatsinteresting.com

คริสเตียน ค็อต (Christian Clot) นักสำรวจชาวฝรั่งเศส – สวิส ผู้ก่อตั้งสถาบันเพื่อการปรับตัวของมนุษย์ (Institute for Human Adaptation) ในปี 2013 หนึ่งในผู้เข้าร่วมและผู้นำในงานวิจัยชิ้นนี้ กล่าวว่า แรงบันดาลใจที่ทำให้เขาสร้างการทดลองนี้ขึ้น คือการกักและแยกตัวของผู้คนในระยะยาวที่เกิดขึ้นจากการระบาดของ COVID-19 นั่นเอง

คริสเตียน ค็อต (Christian Clot) หนึ่งในผู้เข้าร่วมและผู้นำในงานวิจัยชิ้นนี้
Credt : ancient-origins.net

เดิมที ค็อตมีความสนใจว่าสภาพแวดล้อมอันรุนแรงหรือผิดปกติ มีผลต่อการรับรู้และการทำงานของมนุษย์อย่างไร เขาใช้เวลาส่วนตัวในพื้นที่ที่มีสภาพอากาศเลวร้ายที่สุดในโลก ได้ผ่านการลองเผชิญกับอุณหภูมิสุดโต่งและสภาพอากาศที่แปรปรวนสุด ๆ มาแล้ว เขาได้เข้าร่วมเดินทางไปยังพื้นที่ที่มีสภาพแวดล้อมรุนแรงถึง 30 ครั้งรวมถึงเทือกเขา Cordillera Darwin ที่ปกคลุมไปด้วยทุ่งน้ำแข็งสุดโหดในประเทศชิลีอีกด้วย

การทดลอง Deep Time อันใหม่นี้ แม้จะมีรูปแบบที่แตกต่างไป แต่ยังอยู่ในธีมความยากลำบากเหมือนกัน สะท้อนให้เห็นถึงความหลงใหลของค็อตในเรื่องการปรับตัวของมนุษย์ ซึ่งจะตอบสนองและปรับเปลี่ยนได้เมื่อเผชิญกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก 

ทั้งนี้เขาหวังว่า การศึกษาในครั้งนี้จะช่วยทำให้เกิดความกระจ่าง เกี่ยวกับวิธีที่มนุษย์ดำเนินการใช้ชีวิตตาม ‘เวลา’ โดยปราศจากปัจจัยหรือเครื่องบ่งชี้เวลาทางธรรมชาติ เช่น แสง และอุณหภูมิ 

(อ่านต่อหน้า 2 คลิกด้านล่างเลย)

โดยปกติแล้ว ร่างกายของมนุษย์จะสามารถรับรู้ ‘เวลา’ ได้ จากปัจจัยดังกล่าว โดยในเวลาที่แตกต่างไป ร่างกายมนุษย์ก็จะทำงานแตกต่างกันไปด้วย อย่างที่นักวิทยาศาสตร์เรียกระบบนี้กันว่า ‘Circadian rhythms‘ หรือ นาฬิกาชีวภาพ นั่นเอง เช่น ในตอนกลางคืน ร่างกายจะสั่งให้หลั่งฮอร์โมนออกมาซ่อมแซมร่างกาย ตอนเช้าที่มีแสงอาทิตย์สาดส่อง ร่างกายก็จะรับรู้ว่าได้เวลาที่ตื่นนอนแล้ว เราก็จะตื่นขึ้นมา เป็นต้น

แผนผังแสดงให้เห็นว่าแต่ละช่วงเวลา ร่างกายมนุษย์มีการเปลี่ยนแปลงการทำงานไปอบ่างไรบ้าง
เช่น ช่วงตีสี่ครึ่งร่างกายเราจะมีอุณหภูมิต่ำที่สุด ช่วงหกโมงครึ่งในตอนเช้าร่างกายจะมีความดันสูงสุด เป็นต้น
Credit : www.opensourcedworkplace.com

หากร่างกายสูญเสียการรับรู้เวลาไป มันจะมีผลกระทบต่อทั้งร่างกายและจิตใจอย่างไร และนั่นแหละคือคำถามที่ต้องการคำตอบของการทดลองในครั้งนี้นี่เอง

Deep Time คืออะไร มีอะไรเป็นเงื่อนไขบ้าง

ตามข้อมูลจากวารสาร IFL Science นอกเหนือจากการเก็บตัวอยู่ในถ้ำซึ่งไม่มีแสงอาทิตย์ส่องถึงเป็นเวลาถึง 40 วันแล้ว กลุ่มอาสาสมัครทั้งหมด ยังถูกห้ามไม่ให้นำนาฬิกาและโทรศัพท์เข้าไปด้วย แต่ใช่ว่าพวกเขาทั้งหมดต้องใช้ชีวิตอยู่ในความมืดตลอด 40 วัน พวกเขายังสามารถมองเห็นและใช้ชีวิตในถ้ำได้โดยอาศัยแสงจากเกิดจากระบบไดนาโม ที่เปลี่ยนพลังงานจลน์จากการแป้นถีบไปเป็นกระแสไฟฟ้า 

สำหรับอาหารการกิน มีการลำเลียงเสบียงประมาณ 4 ตันเข้าไปไว้ในถ้ำล่วงหน้า แต่สำหรับน้ำนั้นพวกเขาจะต้องหาน้ำจากในถ้ำด้วยตัวเอง เพื่อประทังชีวิต

การเตรียมข้าวของเครื่องใช้ให้กับอาสาสมัครที่จะไปใช้ชีวิตอยู่ในถ้ำเป็นเวลา 40 วัน
Credit : allthatsinteresting.com

“การทดลองนี้ถือเป็นครั้งแรกของโลก” เอ็ดเทียเน โคเอ็ชลิน (Etienne Koechlin) นักประสาทวิทยาและศาสตราจารย์กล่าวว่า “จนถึงขณะนี้ ภารกิจทั้งหมดในประเภทนี้ที่เคยมีมามุ่งเน้นไปที่การศึกษาจังหวะทางสรีรวิทยาของร่างกาย แต่ไม่เคยศึกษาเน้นไปที่ผลกระทบที่เกิดจากการแยกเงื่อนไขการรับรู้ออกมาเช่นนี้ เรายังไม่แน่ใจว่ามันจะส่งผลต่อการทำงานในด้านการรับรู้ ความเข้าใจและอารมณ์ของมนุษย์ได้อย่างไร”

ก่อนเริ่มทดลอง ผู้เข้าร่วมแต่ละคนต้องเข้าการตรวจสุขภาพทั้งกายใจ ว่าเป็นผู้ที่มีร่างกายแข็งแรงและจิตใจที่มั่นคงดี ทั้งนี้ อายุของผู้เข้าร่วมมีตั้งแต่ 27 ถึง 50 ปี โดยแต่ละคนมีอาชีพที่แตกต่างกันไป ทั้งนักชีววิทยาและนักออกแบบเครื่องประดับไปจนถึงครูสอนเด็กประถมศึกษา แต่เมื่อถึงเวลาที่อยู่ในถ้ำทุกคนล้วนต้องเผชิญกับสิ่งที่เหมือนกัน

อย่างไรก็ตาม การคัดเลือกความหลากหลายของอาชีพนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อช่วยสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นจริงของถ้ำ อาทิ นักชีววิทยาที่มีประสบการณ์และครู ก็น่าจะมีความอยากรู้อยากเห็น สามารถสังเกตตัวเองและสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้ดี

บรรดาอาสาสมัครที่มีอายุและอาชีพที่แตกต่างกันไป
Credit : allthatsinteresting.com

(อ่านต่อหน้า 3 คลิกด้านล่างเลย)

นอกจากการเตรียมเสบียงและกายใจให้พร้อม อาสาสมัครทุกคนยังได้รับการติดตั้งเซนเซอร์จำนวนมากเพื่อส่งมอบข้อมูลให้กับนักวิจัยที่อยู่ภายนอกถ้ำ ค็อตและทีมงานของเขากระตือรือร้นเป็นอย่างยิ่งที่จะได้เห็นว่าจิตใจของมนุษย์จะตอบสนองต่อการสูญเสียการรับรู้ของเวลาอย่างไร

“การสูญเสียการรับรู้เรื่องของเวลาเป็นความสับสนที่ยิ่งใหญ่ที่สุด … จนถึงทุกวันนี้เรายังไม่รู้ว่าระบบความรู้ความเข้าใจของมนุษย์เรา จะจัดการกับความต่อเนื่องของสภาพแวดล้อมที่ไม่สิ้นสุดนี้ได้อย่างไร …” ค็อตกล่าว

ถ้ำลอมบริฟส์ สนามทดลองและภารกิจในนั้น

แม้ค็อตจะเคยผจญภัยในสภาพแวดล้อมที่โหดร้ายมาก่อน แต่กับสภาพภายในถ้ำลอมบริฟส์นั้นไม่เหมือนกัน เข้าที่จะเข้าไปในพื้นที่ดังกล่าว นักวิจัยได้ศึกษาจนมั่นใจว่า อุณหภูมิที่อาสาสมัครใช้เวลาส่วนใหญ่ยังคงอยู่ที่ 54 องศาฟาเรนไฮต์ (ประมาณ 12 องศาเซลเซียส) โดยมีความชื้นอยู่ที่ประมาณ 95 เปอร์เซ็นต์ แม้อากาศจะค่อนไปทางเย็นและมีความชื้นสูง แต่ก็ไม่ได้มีข้อกำหนดเรื่องเครื่องแต่งกาย อาสาสมัครสามารถแต่งกายตามความสะดวกสบายของตนเอง และจำต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาพอากาศนี้

ค็อตอธิบายว่า พื้นที่อยู่อาศัยที่แยกจากกันได้ถูกจัดเตรียมไว้สามพื้นที่ พื้นที่แรกใช้สำหรับนอนหลับ พื้นที่ที่ 2 เป็นสำหรับอยู่อาศัย และพื้นที่สุดท้ายเป็นพื้นที่สำหรับศึกษาภูมิประเทศในถ้ำ โดยเฉพาะพืชและสัตว์

ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมจะต้องให้ข้อมูลตามวาระที่กำหนดอย่างเข้มงวด เพื่อประเมินว่าสมองและร่างกายของพวกเขาจัดการและสร้างการปรับจูนให้เข้ากับเวลา พื้นที่ และสภาพแวดล้อมแบบใหม่ได้อย่างไร

เป้าหมายใหญ่ของทีมวิจัยคือ ได้เรียนรู้ว่าระบบการรับรู้ของผู้คนจะปรับเปลี่ยนแตกต่างกันอย่างไร เมื่อสมองไม่สามารถรับรู้เวลาได้ ค็อตกล่าวว่า เขาหวังจะได้เห็นว่าอาสาสมัครได้รับผลกระทบทางอารมณ์อย่างไร และได้รู้ว่าผลกระทบจะส่งผลต่อไปในระยะยาวหรือไม่ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเขาก็หวังว่า อาสาสมัครจะสามารถรับมือกับความมืดและความโดดเดี่ยวได้เช่นกัน

สิ่งที่ได้จากความโดดเดี่ยว

นอกจากความรู้เข้าใจในเรื่องการปรับตัวและรับมือของมนุษย์ การกำจัดแสงจากดวงอาทิตย์ และบังคับให้อาสาสมัครอาศัยอยู่ใต้ดิน อาจให้ข้อมูลที่มีค่าและเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง สำหรับภารกิจของเรือดำน้ำ การสำรวจเหมืองใต้ดิน และการเดินทางในอวกาศระยะยาวด้วย

ทีมวิจัยโครงการ Deep Time กล่าวในเว็บไซต์ของตนเองว่า “การพิชิตอวกาศเป็นจุดเปลี่ยนใหม่ในช่วงศตวรรษนี้ซึ่งเกิดจากเทคโนโลยีใหม่ ๆ และตัวเลขที่เพิ่มสูงขึ้น และการเดินทางที่เปลี่ยนจากดวงจันทร์ไปไกลขึ้นถึงดาวอังคารนี่เอง ที่จะทำให้มนุษย์ต้องเผชิญกับการรับรู้เวลาที่ต่างไป”

ภาพกราฟิกแสดงถึงการสำรวจดาวอังคารของมนุษย์
Credit : NASA

ปัจจุบันเหลือเวลาอีกไม่กี่วัน การทดลองนี้ก็จะเสร็จสิ้นสมบูรณ์ กลุ่มอาสาสมัครนี้จะออกมาจากถ้ำในวันที่ 22 เมษายนนี้ และไม่แน่ว่าพวกเขาจะออกมาพร้อมกับองค์ความรู้ใหม่ที่จะเป็นประโยชน์ต่อภารกิจสำรวจต่าง ๆ และการพลิกความเข้าใจของเราที่มีต่อการรับรู้ในเรื่องเวลาก็เป็นได้ 

อ้างอิง

allthatsinteresting.com และ ancient-origins.net จาก pantip

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส