สิ่งที่พบมากขึ้นในการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่นี้คือ ผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการ แต่ปอดมีความผิดปกติ ส่งผลให้ให้ร่างกายของผู้ป่วยทรุดลงอย่างรวดเร็วจากภาวะเนื้อเยื่อพร่องออกซิเจน (Hypoxemia) และเสี่ยงต่อการสูญเสียชีวิตหากได้รับการรักษาที่ไม่ทันการณ์ การสังเกตอาการตนเองด้วยการวัดความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือด (SpO2) จึงเป็นอีกหนึ่งการเฝ้าระวังโรคโควิด-19 ของผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการ

ภาวะเนื้อเยื่อพร่องออกซิเจนคืออะไร

ภาวะเนื้อเยื่อพร่องออกซิเจน (Hypoxemia) เป็นภาวะที่ร่างกายมีปริมาณออกซิเจนในเนื้อเยื่อต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ทำให้เกิดอาการผิวหนังซีดหรือเป็นสีเขียว ไอ มีเหงื่อออกมาก หัวใจเต้นเร็ว เมื่อหายใจมีเสียงหวีด หายใจถี่ หรือหายใจลำบาก มีอาการสับสนมึนงง หากปริมาณออกซิเจนในเนื้อเยื่อต่ำอย่างต่อเนื่องและสะสมเป็นเวลานาน อาจเกิดภาวะโคมาและเสียชีวิตได้ในที่สุด

lung
Photo / Freepik

ปกติแล้วค่าความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือด หรือค่า SpO2 ควรจะอยู่ที่ 96-99% ของความอิ่มตัวสูงสุดในเลือดขณะพัก ซึ่งค่า SpO2 ที่ลดลงเกิดได้จากหลายปัจจัย อาทิ

  • ระบบทางเดินหายใจ เช่น เกิดการอุดกั้นหรือการติดเชื้อ ทำให้พื้นที่แลกเปลี่ยนก๊าซออกซิเจนลดลง
  • ระบบไหลเวียนโลหิต เช่น โรคหัวใจ ภาวะช็อกจากสาเหตุต่าง ๆ
  • ระบบเม็ดเลือด เช่น เม็ดเลือดแดงน้อย (โรคโลหิตจาง)
  • ระบบประสาทส่วนกลางและส่วนปลาย เช่น ความผิดปกติของสมอง กล้ามเนื้อ หรือได้รับยาที่กดการหายใจ
  • สาเหตุอื่น ๆ เช่น อยู่ในบริเวณที่มีปริมาณออกซิเจนเบาบาง (บนยอดเขา, บริเวณที่เกิดเพลิงไหม้), ผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำ (เกิดการอุดกั้นในปอด)

จะเห็นได้ว่าภาวะเนื้อเยื่อพร่องออกซิเจนไม่ได้เกิดจากโรคโควิด-19 เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ดังนั้น การวัดระดับค่า SpO2 แล้วพบว่าต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ไม่ใช่การวินิจฉัยว่าคุณติดโควิด-19 หรือไม่ แต่การวัดระดับค่า SpO2 คือวิธีการหนึ่งในการติดตามอาการของผู้ป่วยโรคโควิด-19

ค่า SpO2 เกี่ยวข้องอย่างไรกับโรคโควิด-19

นายแพทย์ริชาร์ด เอ็ม. เลอวิทาน (Dr.Richard M. Levitan) แพทย์ประจำห้องฉุกเฉิน The Littleton Regional Healthcare โรงพยาบาลในรัฐนิวแฮมเชียร์ สหรัฐอเมริกา ได้เปิดเผยในเว็บไซต์ The New York Times ระบุว่า ผู้ป่วยหลายรายมาโรงพยาบาลด้วยภาวะที่ระดับออกซิเจนในเลือดต่ำกว่า 50% ซึ่งอาการดังกล่าวอาจทำให้ร่างกายถึงขั้นวิกฤต (ภาวะโคมา) แต่ผู้ป่วยยังคงเล่นโทรศัพท์มือถือราวกับว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น และบอกว่า ตัวเองแค่รู้สึกไม่สบายมา 1-2 วันเท่านั้น โดยในเวลาต่อมาอาการของผู้ป่วยเหล่านี้กลับทรุดลงอย่างรวดเร็ว

ในบทความเดียวกันของนายแพทย์เลอวิทานเรียกอาการเช่นนี้ว่า “Silent Hypoxia” หรือ ภาวะเนื้อเยื่อพร่องออกซิเจนเงียบ ซึ่งมาจากสมมติฐานที่ว่า เชื้อไวรัสโคโรนา 2019 อาจส่งผลต่อการตอบสนองต่อออกซิเจนของระบบประสาท ทำให้สมองไม่รับรู้ถึงภาวะเนื้อเยื่อพร่องออกซิเจน ช่วงเวลาสำคัญของการรักษาอาจผ่านพ้นไปแล้ว ก่อนที่ผู้ป่วยจะมาพบแพทย์

อาการนี้ยังเป็นที่รู้จักในอีกชื่อคือ “Happy Hypoxia”

doctors meeting
Photo / Pressfoto Freepik

ค่า SpO2 ได้รับการพูดถึงในสื่อไทยมากขึ้น จากประกาศของกรมการแพทย์ เรื่อง “แนวทางการคัดกรองผู้ป่วย COVID-19 ในพื้นที่เขตกรุงเทพมหานคร ฉบับวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2564” ที่ได้แบ่งระดับอาการของผู้ป่วยโรคโควิด-19 ออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่

  • ผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว คือผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ หรือมีอาการเล็กน้อย เช่น มีไข้ ไอ น้ำมูก เจ็บคอ ไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส หายใจเร็ว แต่ไม่มีอาการเหนื่อยหอบ
  • ผู้ป่วยกลุ่มสีเหลือง คือผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง แต่มีอาการหายใจเร็ว เหนื่อยหอบ แต่มีโรคประจำตัว เช่น โรคปอด โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง เบาหวาน และภาวะเสี่ยงอื่น ๆ เช่น ผู้ที่มีน้ำหนักเกิน 90 กิโลกรัม
  • ผู้ป่วยกลุ่มสีแดง คือ ผู้ป่วยที่มีอาการปวดบวม เหนื่อยหอบ หายใจลำบาก มีระดับออกซิเจนในเลือดต่ำกว่า 96% หรือภาวะออกซิเจนในเลือดลดลงหลังออกแรง และผู้ป่วยที่เอกซเรย์แล้วพบว่าปอดอักเสบรุนแรง

การแบ่งกลุ่มดังกล่าวจะเห็นได้ว่า หนึ่งในตัวชี้วัดสำคัญคือ ระบบทางเดินหายใจ (การหายใจและอาการเหนื่อยหอบ) โดยผู้ป่วยโรคโควิด-19 ทุกรายเมื่อเข้าสู่กระบวนการการรักษา จะได้รับการวัดค่า SpO2 ทุกวัน ซึ่งนี่เป็นวิธีที่ง่ายและรวดเร็วที่สุดในการติดตามการทำงานของปอด ซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญที่เชื้อไวรัสจะเข้าไปโจมตีนั่นเอง

ในกรณีผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว ซึ่งเป็นกลุ่มที่ไม่แสดงอาการ หรือผู้ที่ได้รับคำแนะนำให้เฝ้าติดตามอาการที่บ้าน การวัดค่า SpO2 ที่เป็นตัวบ่งชี้การทำงานของปอด จะทำให้แพทย์และบุคลากรที่เกี่ยวข้องสามารถคัดกรอง และแยกกลุ่มผู้ป่วยตามระดับความรุนแรงของโรคได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

การวัดระดับความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือด

การตรวจวัดระดับความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือดหรือค่า SpO2 สามารถทำได้ 2 แบบคือ การเก็บตัวอย่างเลือดจากหลอดเลือดแดง และการใช้เครื่องมือที่เรียกว่า เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว (Pulse Oximeter) โดยวิธีหลังนี้จะรู้ผลอย่างรวดเร็ว ไม่ทำให้เกิดบาดแผล และไม่สร้างความเจ็บปวดให้ผู้ป่วย ทำให้ได้รับความนิยมอย่างมาก

เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว
Photo / Charlykushu Pixabay

เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้วมีลักษณะคล้ายไม้หนีบผ้า โดยใช้ หลักการดูดกลืนแสง (Absorption) ในการตรวจวัดความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือด กล่าวคือ เมื่อแสงเดินทางผ่านฮีโมโกลบิน (Hemoglobin – โมเลกุลที่อยู่ภายในเม็ดเลือดแดง และมีหน้าที่ในการยึดจับกับออกซิเจนแล้วนำส่งไปที่ปอด) จะทำการดูดกลืนแสงไว้ แสงที่เหลืออยู่จะเดินทางผ่านทะลุไปยังอีกด้านของเครื่องวัด ทำให้สามารถอ่านค่า SpO2 ได้นั่นเอง

Photo / Wikimedia Commons

เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว (Pulse Oximeter) เป็นเครื่องมือทางการแพทย์ที่ประชาชนสามารถหาซื้อได้จากร้านขายยา ราคาแตกต่างกันไปตามวัสดุที่ใช้ในการผลิต เช่น หน้าจอแสดงผล ความจุแบตเตอรี่ แต่โดยรวมแล้วใช้หลักการเดียวกันในการตรวจวัด

ปัจจุบัน มีอุปกรณ์ไอทีที่สามารถตรวจวัดค่า SpO2 ได้ เช่น สมาร์ตโฟนหรือสมาร์ตวอตช์ที่มีเซนเซอร์วัดอัตราการเต้นของหัวใจ โดยใช้หลักการเดียวกับเครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว ซึ่งทีมงาน beartai ได้รวบรวมรายชื่ออุปกรณ์ไอทีที่สามารถตรวจวัดค่า SpO2 ได้มาให้แล้ว (อ่านต่อหน้า 2)

อุปกรณ์ไอที (ส่วนหนึ่ง) ที่สามารถตรวจวัดค่า SpO2 ได้

  • Amazfit
  • Apple
    • Apple Watch Series 6
  • Garmin
    • Garmin Venu SQ
    • Garmin Forerunner
    • Garmin VivoActive 4
    • Garmin VivoSmart 4
  • HONOR
    • HONOR Watch ES
    • HONOR Band 5i
    • HONOR Band 6
  • HUAWEI
    • HUAWEI TalkBand B6
    • HUAWEI Band 4
    • HUAWEI Band 4 Pro
    • HUAWEI Band 6
    • HUAWEI WATCH FIT
  • Mi
    • Mi Band 5 (Chinese Version)
    • Mi Band 6
  • OPPO
    • OPPO Band
  • realme
    • realme Watch S
    • realme Watch S Pro
  • Samsung
    • Samsung Galaxy S Series (S5, S6, S7, S8, S9, S10, S10 edge, S10 edge+ และ S10+)
    • Samsung Note Series (Note4, Note5, Note7 FE, Note8 และ Note9)
เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้วแบบติดข้อมือ
Photo / Wikipedia

ทั้งนี้ เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว (Pulse Oximeter) ในทางการแพทย์แล้ว มีความแม่นยำน้อยกว่าการเก็บตัวอย่างเลือดจากหลอดเลือดแดง ผลการตรวจวัดที่ได้จึงอาจมีความคลาดเคลื่อน การวัดระดับค่า SpO2 จากเครื่อง Pulse Oximeter แล้วพบว่าต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานไม่ใช่การวินิจฉัยว่าคุณติดโควิด-19 หรือไม่ ซึ่งการวัด SpO2 จาก Smart Watch หรือ Smart Band ก็เช่นกัน ก็มีความคาดเคลื่อนได้

นอกจากนี้ ผู้ผลิตอุปกรณ์ไอทีบางรายยังคงย้ำเตือนว่า ผลการตรวจวัดที่ได้จากอุปกรณ์เป็นเพียงข้อมูลอ้างอิงเท่านั้น ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในทางการแพทย์ การตรวจวัดดังกล่าวอาจมีปัจจัยภายนอกบางอย่างที่รบกวนการตรวจวัด ทำให้ผลที่ได้ไม่แม่นยำหรือล้มเหลว (ซึ่งสีผิวก็เป็นหนี่งในปัจจัยที่ทำให้การวัด SpO2 ด้วยอุปกรณ์เหล่านี้มีความคาดเคลื่อน)

ดังนั้น การวัดค่าความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือด (ค่า SpO2) จึงเป็นการติดตามอาการโรคโควิด-19 ของผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการ หรือแสดงอาการน้อย และเพื่อป้องกันภาวะอันตราย ไม่ใช่การวินิจฉัยว่าคุณติดโควิด-19 หรือไม่

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส