ในทุก ๆ ครึ่งปี กูเกิล (Google) จะมีการจัดทำรายงาน “คำขอของรัฐบาลให้ลบเนื้อหาออก” เผยแพร่เป็นสาธารณะเพื่อความโปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้

สำหรับรายงานการลบเนื้อหาในรายงานนี้ กูเกิลได้แบ่งแยกเป็นหลาย ๆ ประเภทด้วยกัน ได้แก่ความมั่นคงแห่งชาติ การหมิ่นประมาท ลิขสิทธิ์สินค้าและบริการควบคุม ความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัย การกลั่นแกล้ง/การล่วงละเมิด การร้องเรียนทางธุรกิจ กฎหมายเลือกตั้ง การฉ้อโกง การโต้แย้งทางภูมิศาสตร์ การวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล การแอบอ้างบุคคลอื่น เครื่องหมายการค้า การกระทำผิดทางศาสนา การใช้ยาเสพติด ภาพเปลือย/ภาพลามกอนาจาร สื่อลามก การฆ่าตัวตาย ความรุนแรง และวาจาสร้างความเกลียดชัง

วันนี้เราจะมาแบไต๋ข้อมูลทั้งหมดกัน ดูสถิติกันหน่อยว่าประเทศไทยอยู่ส่วนไหนของโลกและมีอะไรที่น่าสนใจบ้างในการขอร้องกูเกิลให้ลบเนื้อหาต่าง ๆ ออกไป ในช่วงปี 2554 จนถึงกลางปี 2564

ไทยร้อง Google ลบเนื้อหามากเป็นอันดับที่ 16 ของโลก

นับตั้งแต่ช่วงปี 2554 ถึงกลางปี 2564 ตามรายงานนั้น จำนวนการร้องขอให้กูเกิลลบเนื้อหามีจำนวนมากถึง 1,220 คำขอ ซึ่งประกอบไปด้วย 12 ประเภท จาก 20 ประเภท ได้แก่ การหมิ่นประมาท ความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัย วาจาสร้างความเกลียดชัง การแอบอ้างบุคคลอื่น ความรุนแรง ความมั่นคงแห่งชาติ การวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล การกระทำผิดทางศาสนา ภาพเปลือย/ภาพลามกอนาจาร การกลั่นแกล้ง/การล่วงละเมิด การโต้แย้งทางภูมิศาสตร์ และการฉ้อโกง

สัดส่วนของการร้องขอให้ลบเนื้อหา “การวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล” มีมากถึง 95%

จากคำร้องทั้งหมดที่ส่งไปยังกูเกิล 1,220 คำขอจากไทยนั้น เป็นการขอให้ลบเนื้อหาการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลถึง 1,160 คำขอด้วยกัน ซึ่งมีจำนวนมากเป็นพิเศษ ท่ามกลางคำขอประเภทอื่น ๆ ที่ส่วนมากจะมีเพียงหมวดหมู่ละไม่เกิน 10 คำขอเท่านั้น

ไทยส่งคำร้องให้ลบเนื้อหา “การวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล” มากเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากรัสเซีย

เมื่อเรียงอันดับจากทุกประเทศทั้งหมดในหมวดหมู่ “การวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล” จะพบว่าประเทศไทยจะอยู่อันดับที่ 2 รองลงมาจากรัสเซียที่มีจำนวนคำขอ 1,656 คำขอ มากกว่าประเทศไทยประมาณ 500 คำขอเท่านั้น แต่หากคิดที่สัดส่วนคำขอทั้งหมดที่ส่งไปนั้นไทยจะมีสัดส่วนที่มากกว่ารัสเซีย เนื่องจากรัสเซียมีการส่งคำขอในหมวดอื่นมากกว่ามาก

การละเมิดลิขสิทธิ์ในไทยเป็น “ศูนย์” การฉ้อโกงในไทยก็ไม่ค่อยมีเหมือนกัน

เมื่อตรวจสอบจากสถิตินั้น เราจะพบสิ่งที่น่าสนใจว่าประเทศไทยแทบไม่มีการส่งคำร้องกูเกิลเพื่อลบเนื้อหา ในประเภทการละเมิดลิขสิทธิ์และการฉ้อโกง มีคำร้องการฉ้อโกงเพียง 1 คำร้องเท่านั้น ส่วนการละเมิดลิขสิทธิ์นั้นไม่มีการส่งคำร้องเพื่อลบเนื้อหาเลย

เนื้อหาที่ไทยขอให้กูเกิลลบออกนั้นมีจำนวนมากถึง 31,268 รายการ

จากจำนวนที่รายงานไปตอนแรก 1,160 คำขอที่ถูกส่งไปจากประเทศไทยนั้น ไม่ได้หมายถึงว่ามีคำขอให้ลบเพียง 1,160 รายการ แต่ 1 คำขอนั้น อาจจะมีการขอให้ลบมากกว่า 1 รายการ เมื่อนำมารวมกันแล้วในช่วง 10 ปีนี้ มีจำนวนมากถึง 31,268 รายการ

ไฮไลต์คำขอให้กูเกิลลบเนื้อหาจากประเทศไทย

  • กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DES) ขอให้ลบวิดีโอบน YouTube ออก 36 รายการ เนื่องจากมีเนื้อหาดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ และมีการแสดงถ้อยคำของผู้ชุมนุมประท้วงและสารคดีเกี่ยวกับกษัตริย์ (กูเกิลไม่ลบ เพียงแต่จำกัดการรับชมในประเทศไทย) – ปี 2563
  • รัฐบาลไทย ขอให้ลบวิดีโอบน YouTube 3 รายการ เนื่องจากมีการปลอมแปลง ใช้เทคนิคตัดต่อ (ดีปเฟก) ในการดัดแปลงเนื้อหาของประกาศของรัชกาลที่ 10 (กูเกิลลบออก เนื่องจากขัดต่อนโยบายชุมชน) – ปี 2563

ทั้งนี้ข้อมูลดังกล่าวทั้งหมดเป็นเพียงข้อมูลรายงานจากกูเกิลเท่านั้นที่เรานำไฮไลต์มาให้ชมกัน และหากใครต้องการดูรายละเอียดยิบย่อยไปกว่านี้ สามารถไปดูได้ที่ transparencyreport.google.com/government-removals/government-requests/TH

ภาพโดย Kristina Flour จาก Unsplash

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส