วันนี้ (1 เม.ย.65) พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ดดีอี) ครั้งที่ 1/2565 ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล และผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ร่วมกับนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และนายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง สรุปสาระสำคัญดังนี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อที่ประชุมว่า ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงการเปลี่ยนแปลงไปสู่โลกยุคใหม่ ตามเทรนด์ของเทคโนโลยีและดิจิทัล ขณะที่ปัจจุบันระบบกำกับดูแลเรื่องเศรษฐกิจดิจิทัลกระจายอยู่ภายใต้หลายหน่วยงาน ดังนั้น จำเป็นที่ต้องมีการจัดการบูรณาการของทุกหน่วยงาน ทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถกำหนดมาตรการ ปรับปรุงกฎหมาย และมีการจัดทำกฎหมายที่เข้มแข็ง เพื่อกำกับดูแลด้านความปลอดภัยในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและดิจิทัล

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีแสดงความห่วงใยเรื่องความปลอดภัย ความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นจากการซื้อขายสกุลเงินดิจิทัล และการทำธุรกรรมออนไลน์ เพราะมีทั้งโอกาสและความเสี่ยงคู่กันเสมอ ภาครัฐ หน่วยงานกำกับดูแล ผู้ประกอบการจึงต้องช่วยกันดูแล ต้องระวังตั้งแต่วันนี้ เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายทั้งระบบ

นายกฯ แนะใช้ดิจิทัลสร้างสรรค์-เพิ่มรายได้ หาความรู้ ชวนดูหนัง Trust No One
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

สำหรับมติที่ประชุมที่สำคัญ ได้แก่

1. รับทราบรายงานความคืบหน้าเกี่ยวกับการดำเนินงานตามแนวทางการบริหารจัดการทรัพย์สิน หลังสิ้นสุดสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ ล่าสุด บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) ได้แจ้งความประสงค์ในการเช่าพื้นที่จากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย สำหรับจัดตั้งสถานีดาวเทียมอ้างอิงสัญญาณ RFAT เป็นระยะเวลา 1 ปี โดยอยู่ในขั้นตอนขออนุมัติลงนามในข้อตกลงเช่าพื้นที่ ส่วนการเช่าพื้นที่ ณ สถานีดาวเทียมไทยคม จ.นนทบุรี กรมธนารักษ์อยู่ระหว่างการพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง

ขณะที่ ในส่วนของกรณีข้อพิพาทดาวเทียมไทยคม 7 และดาวเทียมไทยคม 8 ระหว่าง บมจ.ไทยคม และ บมจ.อินทัช โฮลดิ้งส์ (ผู้เรียกร้อง) ซึ่งเรียกร้องว่าไทยคม 7 และ 8 ไม่อยู่ภายใต้สัญญาสัมปทาน กับกระทรวงดิจิทัลฯ (ผู้คัดค้าน) ปัจจุบันอยู่ระหว่างกระบวนการทางอนุญาโตตุลาการ โดยได้สืบพยานฝ่ายผู้เรียกร้องไปแล้วจำนวน 4 นัด เหลือการสืบพยานอีก 2 นัด ซึ่งจะมีขึ้นในเดือนพฤษภาคมนี้ และหลังจากนั้นจะเป็นการสืบพยานฝ่ายผู้คัดค้านในเดือนมิถุนายน (ทั้งสิ้น 4 นัด)

2. รับทราบผลการดำเนินงานของคณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กองทุนดีอี) โดยได้มีการอนุมัติโครงการตามมาตรา 26 (6) สำหรับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ 5G ของประเทศไทย ในส่วนของการต่อยอดการใช้ประโยชน์ของเทคโนโลยี 5G จำนวน 9 โครงการ รวมวงเงินกว่า 345 ล้านบาท รวมถึงเห็นชอบการเปิดรับข้อเสนอโครงการเพื่อรับการส่งเสริม สนับสนุน ให้ความช่วยเหลือจากกองทุน ประจำปี 2565

3. โครงการเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศสู่การเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนข้อมูลดิจิทัลของภูมิภาค ขณะนี้คืบหน้าร้อยละ 90 ของระยะการดำเนินการทั้งโครงการ การจัดหาอุปกรณ์เพิ่มความจุโครงการโครงข่ายเชื่อมโยงไปยังชายแดนกับกัมพูชา ลาวและเมียนมา ขนาดความจุ 2300 Gbps ติดตั้งอุปกรณ์จำนวน 151 สถานีพร้อมระบบต่างๆที่จำเป็นเสร็จเรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างการร่วมก่อสร้างโครงข่ายเคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศเส้นใหม่ (ASIA Direct Cable: ADC) ร่วมกับสมาชิก 6 ประเทศได้แก่ ไทย จีน สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น และเวียดนาม

ทั้งนี้ ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาให้เกิดความต่อเนื่อง ขณะเดียวกันสถิติในปัจจุบันพบว่าคนไทยเข้าถึงเทคโนโลยีการใช้อินเทอร์เน็ตกว่า 80% ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ที่ผ่านมารัฐบาลได้ติดตามการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลที่จะส่งผลให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยเฉพาะด้านการสร้างรายได้ รวมทั้งติดตามความคืบหน้าเส้นทางการบริการข้ามประเทศ 3 เส้น (Submarine Cable) พร้อมทั้งเร่งแก้ปัญหาในส่วนที่ติดขัดอันเกิดจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ส่งผลกระทบในด้านแรงงานก่อสร้าง

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังได้แนะนำให้ประชาชนดูภาพยนตร์เรื่อง “Trust No One ล่าราชาคริปโต” ใน Netflix เพื่อศึกษาเรื่องวิกฤต โอกาส และความเสี่ยงสูง

ที่มา : สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี