เมื่อเดือนสิงหาคม ปี 1967 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของอินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์, มาเลเซีย, สิงค์โปร์ รวมทั้งของไทย ได้พบปะกันสามวันสามคืน ณ สถานที่พักตากอากาศแหลมแท่น บางแสน ก่อนที่จะสถาปนาองค์กรอาเซียน ขึ้นในวันที่ 8 แน่นอนที่สุด พอข่าวออกมา บรรดาประเทศในโลกตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาและอังกฤษลงความเห็นทันทีว่าเป็นองค์กรที่ไม่มีบารมีและแสนยานุภาพทางด้านความมั่นคง อาเซียนก่อตั้งขึ้นมาเพื่อความอยู่รอดและเพื่อป้องกันไม่ให้มหาอำนาจโดยเฉพาะที่เป็นเจ้าอาณานิคมใช้อำนาจขยำขยี้ประเทศในภูมิภาคอีกต่อไป ปรารถนาจะให้อาเซียนเป็นหลักประกันความปลอดภัยของประเทศสมาชิก ซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมาอาเซียนก็วางตัวได้ดี เป็นกลาง ไม่เล่นเข้าข้างมหาอำนาจฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด

ทุกวันนี้ อาเซียนยังเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกประเทศที่ต้องการแสวงหาสันติภาพและความร่วมมือในการพัฒนา นักวิชาการต่างประเทศมักจะดูถูกอาเซียนว่าเป็นองค์กรที่ดีแต่พูด อ่อนแอ ซึ่งเป็นความจริงเพียงครึ่งเดียว เพราะสภาพเป็นจริงที่ถือว่าเป็นจุดอ่อนของอาเซียนนั้น กลับกลายเป็นจุดแข็งที่ดึงดูดให้มหาอำนาจเข้ามาหาเพราะอาเซียนเป็นองค์กรที่ไม่มีพิษไม่มีภัยนั่นเอง

ที่กรุงพนมเปญ การประชุมประจำปีครั้งนี้ของรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนค่อนข้างจะยุ่งยากเพราะมีปัญหารอบด้านทั้งในและนอกภูมิภาคต้องพิจารณาเร่งด่วน ในระหว่างที่ประชุม ก็มีเรื่องเร่งด่วนเข้ามาให้พิจารณาเกี่ยวกับการเยือนไต้หวันของประธานสภาคองเกรสแห่งสหรัฐอเมริกา ทำให้ผู้นำอาเซียนต้องออกแถลงการณ์ทันควัน เพี่อตอกย้ำจุดยืนของอาเซียนที่มีมาตลอดว่า อาเซียนยังยึดมั่นและเคารพในนโยบายจีนเดียว และถือว่าเกาะไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของประเทศจีน

อาเซียนมีท่าทีชัดเจนในนโยบายจีนเดียว ไม่สนับสนุนพรรคการเมืองที่ต้องการสนับสนุนไต้หวันเป็นประเทศเอกราช สมาชิกขององค์การสหประชาชาติอีก 181 ประเทศก็มีจุดยืนหมือนกันซึ่งรวมทั้งไทยด้วย โดยตลอดเวลาที่ผ่านมาไทยมีการติดต่อทางด้านการค้าการลงทุน ส่งแรงงานเข้าทำงานในไต้หวันโดยไม่มีปัญหา

ที่กรุงพนมเปญ วิกฤตเมียนมาเป็นประเด็นใหญ่ที่ใช้เวลาถกเถียงมากที่สุด เนื่องจากมีสมาชิกบางประเทศต้องการประนามเมียนมาอย่างตรงไปตรงมาใน 2 ประเด็นคือ การประหารชีวิตนักต่อสู้ประชาธิปไตย 4 คนก่อนหน้าการประชุมประจำปีอาเซียน ซึ่งผู้นำอาเซียนเห็นว่าการกระทำแบบนี้ถือเป็นการตบหน้าอาเซียน ไม่เกรงใจกันเลย ส่วนอีกเรื่องคือความคืบหน้าที่ค่อนข้างเชื่องช้าในการปฏิบัติตามฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียน

ประธานอาเซียนถึงกับแสดงความผิดหวังอย่างแรงกล้าที่รัฐบาลทหารเมียนมายังไม่ยอมทำตามสัญญา เพราะอีกไม่กี่เดือนก็ย่างเข้าปีที่ 3 ในคำแถลงการณ์ร่วมอาเซียนปีนี้ ผู้นำอาเซียนได้ตั้งข้อแม้ว่าถ้ายังไม่มีความคืบหน้าของการแผนสันติภาพ 5 ข้อในอีก 3 เดือนข้างหน้า อาเซียนอาจจะต้องทบทวนท่าทีองค์กรและพิจารณาถึงสถานภาพเมียนมาในครอบครัวอาเซียนอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งในเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว ผู้นำอาเซียนตัดสินใจไม่ให้ผู้ที่มีตำแหน่งทางการเมืองจากเมียนมาเข้าประชุมอาเซียนในระดับสูง

อาเซียนมีความยืดหยุ่นสูงแต่ก็ดำรงไว้ในหลักการที่ไม่แทรกแซงการเมืองภายในประเทศ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าสมาชิกอาเซียนจะมองข้ามปัญหาภายใน ประเด็นดังกล่าวนี้ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดเพราะมีความเป็นไปได้ที่ผู้นำอาเซียนอาจจะต้องทำอะไรที่ไม่คาดคิดเกี่ยวกับสมาชิกแกะดำถ้ายังเพิกเฉยคำเรียกร้องของอาเซียน


ภาพจาก vietnamplus.vn

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส