หลายคนคงเคยได้ยินเรื่องราวของคนรุ่นก่อนที่เรียนไปด้วย ทำงานไปด้วย จนสามารถส่งตัวเองเรียนจบมหาวิทยาลัยได้ ซึ่งนั่นไม่ใช่เรื่องโกหกเลยแม้แต่น้อย เพราะหลายสิบปีก่อน การส่งตัวเองเรียนปริญญาตรีนั้นทำได้จริง และมีคนทำกันเยอะแยะด้วย แต่ด้วยปัจจัยหลายอย่างทำให้ในตอนนี้มันแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะทำแบบนั้น

ค่าเทอมเพิ่มขึ้น แต่ค่าแรงไม่เพิ่มขึ้นเลย

จากตารางด้านบนจะเห็นได้ว่าตั้งแต่ปี 1987 ถึง 2017 เมื่อปรับตามอัตราเงินเฟ้อแล้ว ค่าเทอมของนักเรียนมหาวิทยาลัยนั้นเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่า ในขณะที่ค่าแรงขั้นต่ำและเงินเดือนแทบไม่เพิ่มขึ้นเลยตลอด 30 ปีที่ผ่านมา

มาร์ก ฮิวส์แมน (Mark Huelsman) นักวิเคราะห์อาวุโสที่ศูนย์วิจัยเดมอสกล่าวว่า “ถ้าเกิดคุณเป็นนักเรียนในปี 1980 คุณสามารถทำงานเต็มเวลาในช่วงปิดเทอม และทำงานพาร์ทไทม์ในช่วงเปิดเทอม เท่านี้คุณก็จะไม่มีปัญหาเรื่องค่าเทอมและค่าใช้จ่ายจำเป็นอีก”

ในขณะที่นักเรียนตั้งแต่หลังปี 2011 ไม่สามารถจะครอบคลุมค่าเทอมได้ด้วยซ้ำถึงแม้ว่าจะทำงานไปด้วยก็ตาม ทำให้ต้องกู้เงินมาเรียนเพื่อให้เพียงพอต่อค่าเทอมและค่าใช้จ่ายประจำวัน

ขนาดทำงานไปด้วยก็ยังแทบไม่พอจ่าย

ยกตัวอย่างนิโคลัส เซบาสเตียน (Nicholas Sebastian) ที่ทำงานประจำควบคู่ไปกับการเรียนมหาวิทยาลัย ซึ่งมหาวิทยาลัยที่เขาเรียนนั้นเป็นมหาวิทยาลัยชุมชนที่ค่าเล่าเรียนแค่ 1 ใน 3 ของมหาวิทยาลัยทั่วไปเท่านั้น ถึงแม้ค่าเทอมจะถูกกว่า แต่เขาก็ยังต้องทำงานแบบเต็มเวลาแล้วเรียนแบบพาร์ทไทม์แทนเพื่อให้จ่ายไหว และตารางเวลาในแต่ละวันของเซบาสเตียนเคร่งครียดมากจาการที่ต้องทำงานวันละ 8 ชั่วโมงพร้อมกับเรียนไปด้วย จนทำให้เขาไม่ได้ติดต่อกับครอบครัวหรือเพื่อนเลย

“ผมคิดว่าการที่คนรุ่นเบบี้บูมเมอร์พูดว่านักเรียนสมัยนี้ควรทำงานเพื่อส่งตัวเองเรียนและไม่ต้องเป็นหนี้นั้นเป็นทั้งการดูถูกและการปิดหูปิดตาต่อสภาพสังคมที่เปลี่ยนไปของพวกเขา”

นิโคลัส เซบาสเตียน

ค่าแรงเท่าเดิมกดให้ชนชั้นกลางเติบโตยาก

อ้างอิงจากกราฟเดิม ค่าแรงขั้นต่ำในทุกวันนี้แทบไม่เพิ่มขึ้นเลยจากหลายสิบปีก่อน ในขณะที่ของราคาแพงขึ้นและอำนาจในการซื้อของคนลดลง นั่นหมายความว่าคนรุ่นนี้ได้เงินน้อยกว่าพ่อแม่ของเขาด้วยซ้ำ ถึงแม้ว่าจะทำงานเดียวกัน ตอนอายุเท่ากัน และได้เงินเดือนเท่ากันในเชิงตัวเลขก็ตาม

เมื่อค่าแรงไม่เพิ่มขึ้น แต่ค่าเทอมเพิ่มขึ้นแบบนี้ ทำให้นักเรียนต้องพึ่งพาเงินกู้หรือไม่ก็ความช่วยเหลือจากครอบครัว ซึ่งค่าแรงของชนชั้นกลางก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นมากจากเมื่อ 30 ปีที่แล้วเช่นกัน ในขณะที่ค่าเทอมของลูกสูงขึ้น ค่ารักษาพยาบาลสูงขึ้น ค่าเลี้ยงดูลูกสูงขึ้น นั่นหมายความว่าภาระนี้ก็เข้ามาทำให้ชนชั้นกลางเติบโตทางฐานะได้ยากเข้าไปอีก

เห็นได้ว่าทุกอย่างเปลี่ยนไปจากเมื่อก่อนอยู่มาก สภาพเศรษฐกิจและสังคมเพิ่มภาระให้กับนักเรียนมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งแรงกดดันจากค่านิยมในสังคมทำให้เด็กส่วนมากต้องเรียนมหาวิทยาลัย แต่ค่าเทอมของการเรียนมหาวิทยาลัยก็แพงขึ้นจนนักเรียนไม่สามารถทำงานส่งตัวเองเรียนได้ เพราะค่าแรงไม่ได้เพิ่มขึ้นตามเลยตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา ทำให้ภาระนี้กระทบไปถึงการกู้เงินหรือพึ่งพาครอบครัว ซึ่งส่งผลในระยะยาวต่อฐานะการเงินของครอบครัวเข้าไปอีก

“ผมไม่คิดว่ามันถูกต้องที่ใครคนหนึ่งต้องเป็นหนี้ไปตลอดชีวิตเพราะอยากมีการศึกษาที่สูงขึ้น”

นิโคลัส เซบาสเตียน

ที่มา: Marketwatch

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส