‘เนเธอร์แลนด์’ หนึ่งในประเทศที่ก้าวข้ามวิกฤติน้ำท่วมซ้ำซากด้วย ‘Delta Works’ โครงสร้างพื้นฐานเพื่อการจัดการน้ำที่ขึ้นชื่อว่าดีที่สุดในโลก แล้วระบบนี้ทำงานอย่างไร ทำไมจึงได้ชื่อว่าเป็นโครงการป้องกันน้ำท่วมที่ดีที่สุดในโลก beartai BRIEF จะเล่าให้คุณฟัง

จุดเริ่มต้นของ Delta Works

สภาพภูมิประเทศของเนเธอร์แลนด์ ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ราบลุ่ม และเคยเป็นน้ำทะเลมาก่อน โดยพื้นที่ประมาณ 20% ของประเทศอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล และอีก 50% อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลเพียง 1 เมตรเท่านั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เนเธอร์แลนด์จะต้องเจอกับปัญหาน้ำท่วมบ่อยครั้ง แต่หนที่ร้ายแรงที่สุด และเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้าง Delta Works คือ The 1953 North Sea Flood

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในคืนวันที่ 31 มกราคม ปี 1953 โดยมวลน้ำในฤดูใบไม้ผลิจำนวนมหาศาล บวกกับลมพายุจากตะวันตกเฉียงเหนือที่รุนแรง จนทำให้เกิดคลื่นสูง 4.8 เมตร ส่งผลให้เขื่อนพังทลายลง และน้ำทะลักเข้าสู่ผืนดิน เหตุการณ์ครั้งนี้ ทำให้มีประชาชนเสียชีวิตราว 2,000 ราย และพื้นที่ 9% ของประเทศจมอยู่ใต้น้ำ

หลังจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่นี้บรรเทาลงเพียงไม่นาน ภาครัฐและเอกชนของเนเธอร์แลนด์ร่วมกันประกาศจัดตั้ง คณะกรรมการสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ ขึ้น เพื่อสร้าง Delta Works โครงการระบบจัดการน้ำ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณปากแม่น้ำไรน์-เมิส-เชลดา (Rhine–Meuse–Scheldt) ซึ่งเชื่อมต่อกับทะเลเหนือ (North Sea)

Delta Works เมกะโปรเจกต์ของเนเธอร์แลนด์

Delta Works คือโครงการจัดการน้ำขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ประกอบด้วย 16 โครงการย่อย เช่น ประตูระบายน้ำ พนังกั้นน้ำ สถานีสูบน้ำ คันกั้นดิน กำแพงกั้นคลื่นทะเล ที่มีทั้งแบบกั้นถาวร และแบบเปิด-ปิดได้เพื่อการสัญจรทางน้ำ ไปจนถึง เขื่อน ที่เป็นตัวกั้นน้ำทะเลและแม่น้ำให้แยกออกจากกัน

การทำเขื่อนเช่นนี้ จะส่งผลให้ตัวรับน้ำทะเลอยู่ไกลจากพื้นที่อยู่อาศัยของประชาชนมากขึ้น ความเสี่ยงต่อน้ำท่วมก็จะลดน้อยลง หากมีคลื่นสูงพัดเข้ามา ขณะเดียวกัน อีกด้านหนึ่งของเขื่อน ซึ่งเป็นน้ำสะอาดจากแม่น้ำนั้น ประชาชนก็สามารถนำไปใช้ทางการเกษตรได้อีกด้วย

โครงการ Delta Works นอกจากจะช่วยป้องกันน้ำท่วมแล้ว ยังเชื่อมต่อเนเธอร์แลนด์เข้ากับหมู่เกาะน้อยใหญ่ของตนเอง ที่เคยอยู่ห่างไกลด้วยการก่อสร้างสะพาน Zeeland Bridge ซึ่งช่วยให้การเดินทางสะดวกขึ้น และสามารถขนส่งสินค้าได้ นอกจากนี้ ยังเชื่อมต่อกับเบลเยียมตามข้อตกลงการส่งสินค้าของทั้งสองประเทศอีกด้วย เรียกว่า Win-Win กันทุกฝ่าย

Delta Works ใช้เวลาก่อสร้างยาวนาน 43 ปี โดยเริ่มต้นในปี 1954 และเสร็จสิ้นในปี 1997 ใช้งบประมาณในการก่อสร้างทั้งสิ้น 240,000 ล้านบาท คิดเป็น 0.84% ของ GDP ทั้งประเทศ และด้วยความที่ Delta Works ถือเป็นโครงการจัดการน้ำขนาดใหญ่ที่สุดในโลก จึงได้รับการจัดอันดับให้เป็น 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคปัจจุบันอีกด้วย

คุณภาพชีวิตที่ดี ย่อมมาพร้อมภาษีที่สูง

“คุณภาพชีวิตที่ดี ย่อมมาพร้อมภาษีที่สูง” ถือเป็นเรื่องปกติในยุโรป โดยเนเธอร์แลนด์มีการจัดเก็บภาษีที่เรียกว่า Water Authority Tax หรือภาษีจัดการน้ำ เพื่อนำมาบำรุงรักษาโครงการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ ทั้งนี้ ชาวเนเธอร์แลนด์ต้องเสียภาษีจัดการน้ำราว 200-500 ยูโรต่อปี หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 7,300-18,300 บาทต่อปี ซึ่งค่าใช้จ่ายส่วนนี้จะแตกต่างกันไปตามฐานรายได้ และเขตพื้นที่ที่อยู่อาศัยของแต่ละครอบครัว

‘ภาวะโลกร้อน’ ความท้าทายของมนุษยชาติ

แม้ว่า Delta Works จะได้ชื่อว่าเป็นโครงการป้องกันน้ำท่วมที่ดีที่สุดในโลก แต่ปัจจุบันก็ยังต้องเจอกับความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอย่างสุดขั้วที่เกิดจากภาวะโลกร้อน

โดยในเดือนกรกฎาคม ปี 2021 ภูมิภาคยุโรปต้องเผชิญกับน้ำท่วมครั้งใหญ่ในรอบหลายสิบปี โดยเฉพาะในเยอมนีและเบลเยียม โดยผู้เชี่ยวชาญได้ออกมาบอกว่าฝนที่ตกในครั้งนั้น ถือว่าตกหนักที่สุดในรอบ 400 ปี สวนทางกับสิ่งที่เราเห็นในช่วงกลางปี 2022 นี้ ที่ภูมิภาคยุโรปกำลังเผชิญกับภัยแล้งที่ร้ายแรงที่สุดในรอบหลายสิบปีเช่นเดียวกัน

ไม่ว่าเทคโนโลยีจะล้ำหน้าไปแค่ไหน แต่หากเราละเลยที่จะดูแลธรรมชาติ รวมถึงใช้ทรัพยากรที่มากเกินไป และการจัดการกับขยะอย่างไม่เหมาะสม ต่อให้เราสร้าง Delta Works ให้กับทุกประเทศบนโลกได้ ก็ไม่ได้การันตีว่ามนุษย์จะรอดพ้นจากน้ำท่วมไปได้

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส