วันที่ 2 ตุลาคม 2565 เว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เผยแพร่บทความเรื่อง “Service Charge ไม่จ่ายได้ไหม?” เพื่อชี้แจงกรณีการทานอาหารในร้านอาหาร แล้วถูกคิดเงินเพิ่ม 10% เป็นค่า Service Charge

ค่า Service Charge คืออะไร?

Service Charge คือ ค่าบริการที่ผู้ประกอบการขายสินค้านั้น ๆ คิดเพิ่มจากผู้บริโภคที่เข้ามาใช้บริการ โดยค่าบริการในส่วนนี้ นับเป็นรายได้ที่นำมาแบ่งให้แก่พนักงานบริการในแต่ละเดือน

ค่า Service Charge ควรเก็บเท่าไร?

ปัจจุบัน กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคยังไม่มีการพูดถึงเรื่องค่า Service Charge โดยตรง แต่ก็มีกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอยู่ในความดูแลของกรมการค้าภายใน คือ พระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542

ทั้งนี้ สคบ. ระบุว่า อัตราการเรียกเก็บค่า Service Charge ที่เหมาะสมนั้น ต้องไม่เกิน 10% เนื่องจากเป็นอัตราราคาที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่รับทราบตามสากลและยอมรับได้ หากเกินกว่านี้ โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 มาตรา 29 ระบุว่า ห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจดําเนินการใด ๆ โดยจงใจที่จะทําให้ราคาตํ่าเกินสมควร หรือสูงเกินสมควร หรือทําให้เกิดความปั่นป่วนซึ่งราคาของสินค้าหรือบริการใด

ผู้ประกอบการและร้านอาหารที่กระทำความผิดดังกล่าว มีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

Service Charge ไม่จ่ายได้ไหม?

ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 ระบุว่า ราคาสินค้าและบริการต้องแสดงราคาต่อหน่วย มีตัวเลขเป็นภาษาใดก็ได้ แต่ขอให้มีอารบิกอยู่ด้วย ทั้งนี้ ข้อความต้องเป็นภาษาไทย ในลักษณะที่เห็นชัดเจน เปิดเผย สามารถอ่านได้โดยง่าย เพื่อจะแสดงให้ผู้บริโภคทราบ ก่อนการตัดสินใจที่จะเลือกซื้อสินค้าหรือใช้บริการ

ดังนั้น หน้าที่ของผู้ประกอบการและร้านอาหารในการขายสินค้า คือ ติดป้ายชี้แจงให้ชัดเจน ทั้งในส่วนของราคาอาหาร ราคาสินค้า รวมถึงค่า Service Charge (ถ้ามี) ในกรณีที่ไม่มีป้ายชี้แจงดังกล่าว หรือมีแต่อยู่ในลักษณะที่อ่านได้ไม่ชัด ไม่ครบถ้วน ผู้ประกอบการและร้านอาหารจะมีความผิด คือโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท

อย่างไรก็ตาม เมื่อผู้บริโภคเข้าใช้บริการในร้านอาหารหรือร้านค้าต่าง ๆ ซึ่งมีการชี้แจงว่า จะมีการเรียกเก็บค่า Service Charge นั้น ผู้บริโภคไม่อาจปฎิเสธหรือขอเรียกค่า Service Charge ได้ โดยไม่มีเหตุอันสมควร เนื่องจากถือว่ายอมรับเงื่อนไขการให้บริการแล้ว

ในทางกลับกัน หากผู้บริโภคไม่ทราบมาก่อนว่าจะมีการเรียกเก็บค่า Service Charge เนื่องด้วยการไม่มีป้ายชี้แจง หรือป้ายชี้แจงชำรุด ไม่ได้สามารถอ่านข้อความได้ หรือไม่ได้รับการชี้แจงจากผู้ให้บริการตามที่กฎหมายกำหนด ผู้บริโภคสามารถปฏิเสธการเรียกเก็บค่า Service Charge ได้

Service Charge ไม่ใช่ปัญหา เมื่อคุ้มค่าที่จ่าย

หันมามองในมุมของผู้ประกอบการกันบ้าง เว็บไซต์ “เพื่อนแท้ร้านอาหาร” เผยแพร่บทความเรื่อง “Service Charge เก็บแบบไหนให้ลูกค้าประทับใจ” โดยเนื้อความตอนหนึ่งสรุปรวมได้ว่า ในเมื่อร้านอาหาร มีทั้งเรียกเก็บและไม่เรียกเก็บค่า Service Charge ดังนั้น ร้านอาหารที่มีการเรียกเก็บค่าบริการดังกล่าว จะทำให้ลูกค้าเกิดความคาดหวังต่อการให้บริการ ซึ่งหากผู้บริโภคได้รับการบริการตามที่คาดหวัง การเรียกเก็บค่า Service Charge ย่อมไม่ใช่ปัญหา (แน่นอนว่าต้องมีการชี้แจงล่วงหน้าตามที่กฎหมายกำหนด)

Happy Waiter in the restaurant

สุดท้ายแล้ว ในมุมมองของผู้เขียน ประเด็นเรื่องการเรียกเก็บค่า Service Charge อยู่ที่ความพึงพอใจของแต่ละฝ่าย ทั้งผู้ประกอบการและผู้บริโภค ซึ่งต้องตั้งอยู่บนเหตุอันสมควรและกฎหมาย กล่าวคือ ผู้ประกอบการต้องชี้แจงอย่างชัดเจนและไม่เรียกเก็บค่า Service Charge เกินมาตรฐาน สำหรับผู้บริโภคนั้น เมื่อได้รับการชี้แจงล่วงหน้า ย่อมมีสิทธิเลือกที่จะเข้าใช้บริการหรือไม่ ตามความพึงพอใจของตนเช่นกัน

ในกรณีที่ผู้บริโภครู้สึกว่า ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการให้บริการ หรือมีการเก็บค่า Service Charge  เกิน 10% หรือการให้บริการนั้นไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง สามารถร้องเรียนได้ที่ ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนราคาสินค้า สายด่วน กรมการค้าภายใน โทร.1569 หรือ สายด่วน สคบ. โทร.1166

ที่มา : สคบ.