หลายสำนักข่าวต่างประเทศรายงานโดยพาดหัวคล้าย ๆ กันว่า พนักงานของทวิตเตอร์ (Twitter) ทยอยยื่นใบลาออกจากบริษัทฯ แล้ว หลัง อีลอน มัสก์ (Elon Musk) ซีอีโอคนใหม่ขอให้พวกเขาทำงานแบบ ‘ฮาร์ดคอร์สุด ๆ’ ซึ่งนั่นหมายถึง ต้องมีชั่วโมงทำงานที่ยาวขึ้น และมีความมุ่งมั่นสูง

หลังจากคำขอดังกล่าว พนักงานทวิตเตอร์ราว 24 คน ทั้งในสหรัฐฯ และยุโรป ทวีตประกาศลาออกจากบริษัทฯ บนบัญชีทวิตเตอร์ของตนเอง และปฏิเสธชั่วโมงทำงานที่ยาวขึ้น มัสก์จึงตอบโต้กลับด้วยการส่งอีเมลถึงพนักงานที่ยังเหลืออยู่ ระบุ “ถ้าหากคุณแน่ใจว่าต้องการเป็นส่วนหนึ่งของทวิตเตอร์ยุคใหม่นี้ โปรดคลิกลิงก์ด้านล่าง ผู้ที่ไม่ลงทะเบียนในแบบฟอร์มภายในเวลา 17.00 น. ของวันที่ 17 พฤศจิกายน จะถูกเลิกจ้าง และได้รับเงินชดเชย 3 เดือน”

สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นรายงานข้อมูลจากพนักงานของทวิตเตอร์ที่ไม่เปิดเผยชื่อว่า อีเมลของมัสก์ที่ถูกส่งมาถึงพวกเขานั้น มันเหมือนกับการถูกตบหน้า ถ้าการเรียกร้องให้ทำงานหนักนั้นว่าแย่แล้ว แต่การต้องตัดสินใจว่าคุณจะอยากอยู่ต่อ หรือจากทวิตเตอร์ไป คุณมีเวลาตัดสินใจแค่ 24 ชั่วโมงเท่านั้น

พนักงานของทวิตเตอร์คนหนึ่งบอกกับซีเอ็นเอ็นว่า “เราไม่อยากจะอยู่ที่นี่อีกต่อไปแล้ว เพื่อสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่เป็นพิษจากภายในสู่ภายนอก ในเมื่อทุกการกระทำมีผลกระทบ และทุกอย่างมีราคาที่ต้องจ่าย เรายอมเลือกรับเงินชดเชย  3 เดือนดีกว่า”

ขณะที่พนักงานอีกคนระบุว่า “เราไม่จำเป็นต้องเสียสละสุขภาพจิตและชีวิตส่วนตัว เพื่อทำให้ชายที่รวยที่สุดในโลกอยู่แล้ว รวยขึ้นไปอีก”

เมื่อใกล้ถึงเวลาที่มัสก์ขีดเส้นตายไว้ พนักงานจำนวนมากก็ยังไม่รู้ว่าพวกเขาควรทำอย่างไร ในขณะที่พนักงานในแผนกหนึ่งร่วมมือกันลาออกยกทีม โดยหนึ่งในจำนวนนี้ระบุว่า เขากำลังจะให้สัมภาษณ์พิเศษกับรอยเตอร์

ขณะนี้ยังไม่มีรายงานตัวเลขที่แน่นอนว่า มีพนักงานของทวิตเตอร์กี่คนที่ลงทะเบียนในลิงก์ดังกล่าว หรือมีกี่คนที่เลือกไม่ลงทะเบียน เพื่อรับเงินชดเชย แต่จากการรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์ ระบุว่า ได้มีการสำรวจพนักงานของทวิตเตอร์ผ่าน Blind ระบบตอบแบบสอบถาม ซึ่งจะไม่ระบุตัวตนของผู้ตอบแบบสอบถาม พบว่า 42% ของผู้ตอบแบบสอบถาม 180 คน บอกว่าพวกเขาจะลาออก ในขณะที่อีก 25% บอกว่าพวกเขาต้องอยู่ต่อแบบไม่เต็มใจ โดยมีเพียง 7% เท่านั้น ที่ตอบว่า พวกเขาจะอยู่ต่อ และชอบการทำงานแบบ ‘ฮาร์ดคอร์สุด ๆ’

ทั้งนี้ จากการที่พนักงานของทวิตเตอร์ทยอยยื่นใบลาออก ทำให้บริษัทฯ มีคำสั่งปิดสำนักงาน ห้ามไม่ให้พนักงานเข้า-ออก เนื่องจากความเกรงกลัวว่าจะมีการขโมยทรัพย์สินของบริษัทฯ หรือการเข้ามาทำลายสำนักงานเพื่อระบายความโกรธแค้น

ที่มา : CNN Business, Reuters

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส