เป็นเวลาหลายศตวรรษแล้วที่ชาวฮินดูส่วนใหญ่ในประเทศอินเดียถือว่า ‘วัว’ เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และเป็นสัญลักษณ์ของทั้งโลกและเทพเจ้า ซึ่งหากใครเคยเดินทางไปอินเดียมาแล้ว หรือเคยดูตามสารคดีต่าง ๆ เกี่ยวกับประเทศแห่งนี้ ย่อมพบว่าชาวอินเดียนั้นให้ความเคารพนับถือ ‘วัว’ อย่างมาก

แต่ความเคารพนับถือดังกล่าวยังไม่มากพอที่ประชาชนจะเห็นด้วยกับความพยายามของรัฐบาลในการ ‘รีแบรนด์’ วันวาเลนไทน์ให้กลายเป็น ‘วันกอดวัว’ (Cow Hug Day) เพื่อช่วยทำให้ประชาชนรู้สึกมีชีวิตชีวาและจิตใจเบิกบาน รวมถึงการส่งเสริมวัฒนธรรมท้องถิ่นให้เฟื่องฟูอีกครั้ง หลังวัฒนธรรมตะวันตกที่ล้นเข้ามาในอินเดียได้ลดทอนความสำคัญของสิ่งเหล่านี้ลงไปมาก

โดยเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา คณะกรรมการด้านสวัสดิภาพสัตว์ ซึ่งเป็นหนึ่งในหน่วยงานรัฐจากอินเดีย ออกแถลงการณ์ให้วันที่ 14 กุมภาพันธ์ เป็น ‘วันกอดวัว’ โดยให้เหตุผลว่า “วัวเป็นกระดูกสันหลังของวัฒนธรรมอินเดีย และเศรษฐกิจในชนบท วัวเป็นผู้ให้ทุกสิ่งทั้งความร่ำรวยและธรรมชาติที่หล่อเลี้ยงมนุษย์ นอกจากนี้ วัวยังฝังอยู่ในจิตวิญญาณของชาวฮินดูมาอย่างยาวนาน และได้รับความเคารพอย่างยิ่งจากชาวฮินดูจำนวนมาก ดังนั้น การผลักดันให้เกิด ‘วันกอดวัว’ นับเป็นการส่งเสริมประเพณีฮินดูอันศักดิ์สิทธิ์ ที่ถูกวัฒนธรรมตะวันตกลดทอนความสำคัญลงไป”

ดูจากแถลงการณ์แล้ว รัฐบาลอินเดียที่ความจริงจังอย่างมากในการผลักดันวันกอดวัว แต่กระแสตอบกลับจากประชาชนชาวอินเดียนั้น นี่คือมหกรรมขำขันครั้งใหญ่ของประเทศ และกลายเป็น Talk of the Town ตลอด 1 สัปดาห์ ไล่ตั้งแต่การรายงานข่าวของสื่อมวลชนที่มีการเหน็บแนมอย่างขำขัน ไปจนถึงมีมในอินเทอร์เน็ตที่ล้อเลียนอย่างเจ็บแสบ ล่าสุด แนวคิดนี้ดูเหมือนจะถูกโยนทิ้งไปแบบเงียบ ๆ แล้ว

ความเคลื่อนดังกล่าวของรัฐบาลอินเดียมีที่มาจากนโยบายชาตินิยมของ นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมที (Narendra Modi) ของอินเดีย ซึ่งกำลังผลักดันศาสนาฮินดูอย่างถึงขีดสุด เนื่องจากร้อยละ 80 ของประชาชนราว 1,400 ล้านคนของอินเดีย นับถือศาสนาฮินดู รองลงมา คือ มุสลิมร้อยละ 14 ในขณะที่คริสต์ ซิกส์ พุทธ และเชนอยู่ที่ร้อยละ 6

ที่มา : CNN

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส