ข่าวการทุจริตของ บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK ได้สร้างความสั่นสะเทือนไปทั้งวงการตลาดทุนไทย เนื่องจากเกิดความเสียหายใหญ่หลวงทั้งกับนักลงทุนที่ลงทุนในหุ้นสามัญและหุ้นกู้ของบริษัท

ตามหลักทฤษฎีแล้ว หุ้นกู้จะมีความเสียงต่ำกว่าหุ้นเพราะผู้ลงทุนมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ หากบริษัทล้มละลายจะได้สิทธิในการชำระหนี้ก่อนผู้ถือหุ้น แต่ทฤษฎีนี้อาจใช้ไม่ได้ในกรณี STARK เพราะนอกจากผู้ถือหุ้นที่ต้องสูญเงินไปมหาศาลแล้ว ผู้ถือหุ้นกู้ก็ยังไม่อาจรู้ชะตาตัวเอง หลังจากบริษัทผิดนัดชำระหุ้นกู้เป็นมูลหนี้ถึง 9,198 ล้านบาท

จากรณีดังกล่าวทำให้นักลงทุนหวาดหวั่นไปกับการลงทุนในหุ้นกู้และเกิดคำถามมากมายว่า ก่อนจะลงทุนหุ้นกู้ เราควรพิจารณาความเสี่ยงอะไรบ้าง? โดย beartai BRIEF ได้แยกออกมาเป็น 3 ความเสี่ยงหลัก ๆ ดังต่อไปนี้

1. ความเสี่ยงในการผิดนัดชำระของบริษัทผู้ออกหุ้นกู้

ถือเป็นความเสี่ยงอันดับแรกที่ผู้ลงทุนควรให้น้ำหนักมากที่สุด โดยต้องดูว่า ผู้ออกหุ้นกู้คือใคร น่าเชื่อถือแค่ไหน สามารถจ่ายดอกเบี้ยให้ผู้ลงทุนได้ตามสัญญาหรือไม่ โดยพิจารณาจากฐานะการเงินของบริษัท แนวโน้มอุตสาหกรรมนั้น ๆ รวมถึงรายละเอียดของหุ้นกู้ที่ออกว่าเป็นประเภทไหน มีเงื่อนไขอะไรบ้าง และเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้นั้นจะนำไปใช้ทำอะไร 

หรือง่ายกว่านั้นให้ดู อันดับความน่าเชื่อถือ หรือ Credit Rating เป็นตัวช่วย ซึ่ง Credit Rating ในระดับที่ลงทุนได้ หรือ Investment Grade จะอยู่ที่ AAA+ ไปจนถึง BBB- ยิ่ง Credit Rating สูง ความเสี่ยงก็น้อยลง แต่ผลตอบแทนก็จะต่ำตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม Credit Rating เป็นเพียงคะแนนความน่าลงทุน ไม่ใช่เครื่องการันตีความปลอดภัย เพราะการลงทุนย่อมมีความเสี่ยงอยู่เสมอ  

สำหรับประเภทหุ้นกู้ เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สะท้อนถึงความเสี่ยงของผู้ออกหุ้นกู้ และบ่งบอกถึงสิทธิของผู้ซื้อในกรณีที่บริษัทผู้ออกหุ้นกู้ล้มละลาย เริ่มจากหุ้นกู้ที่เสี่ยงน้อยสุด คือ หุ้นกู้ชนิดมีหลักประกัน โดยผู้ออกหุ้นกู้จะนำสินทรัพย์ใด ๆ มาวางเป็นหลักประกัน หากบริษัทผู้ออกหุ้นกู้ล้มละลาย ผู้ถือหุ้นกู้จะมีสิทธิ์ในหลักประกันนั้น ๆ นั่นเอง

ถัดมาคือ หุ้นกู้ชนิดไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิ แม้ไม่มีสินทรัพย์ค้ำประกัน แต่ผู้ถือหุ้นกู้ยังมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ของบริษัทผู้ออกหุ้นกู้ และประเภทสุดท้ายคือ หุ้นกู้ชนิดไม่มีหลักประกันและด้อยสิทธิ ซึ่งมีความเสี่ยงสูงสุด

2. ความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง

โดยปกติแล้ว หุ้นกู้เป็นสินทรัพย์ลงทุนระยะยาวจึงมีสภาพคล่องต่ำกว่าหุ้น เพราะว่าหุ้นกู้ไม่สามารถซื้อขาย หรือเปลี่ยนมือได้รวดเร็วเท่าหุ้น โดยหุ้นกู้ระยะสั้นจะมีอายุน้อยกว่าหรือเท่ากับ 1 ปี, หุ้นกู้ระยะกลางอายุ 2-10 ปี, หุ้นกู้ระยะยาวอายุ 10-30 ปี และหุ้นกู้ที่นิยมออกในช่วงหลังเป็นหุ้นกู้ชั่วนิรันด์ 

3. ความเสี่ยงด้านราคา

ราคาในที่นี้หมายถึงอัตราดอกเบี้ยในตลาดและผลตอบแทนจากการลงทุน โดยผลตอบแทนจากการลงทุนในหุ้นกู้จะผกผันกับอัตราดอกเบี้ย ยกตัวอย่างง่าย ๆ หากดอกเบี้ยในตลาดเพิ่มขึ้น หุ้นกู้ที่เราถืออยู่ก็จะด้อยค่าลง เพราะดอกเบี้ยหน้าตราสารที่เราได้รับจะต่ำกว่าหุ้นกู้ที่ออกใหม่ ในทางกลับกัน หากดอกเบี้ยเป็นขาลง หุ้นกู้ที่เราถืออยู่ในช่วงที่ดอกเบี้ยสูง ๆ ราคาก็จะดีกว่าหุ้นกู้ล็อตใหม่ตามไปด้วย

อย่างไรก็ตาม ในโลกของการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นสินทรัพย์ประเภทใดย่อมมีความเสี่ยงอยู่เสมอ ดังนั้น ประโยคที่ว่า “ผู้ลงทุนต้องศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุน” จึงยังเป็นประโยคคลาสสิกที่สามารถเตือนสตินักลงทุนได้ทุกยุคทุกสมัย

ที่มา : ก.ล.ต.

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส