เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาโรงเรียนของลูกสาวเพิ่งส่งอีเมลมาแจ้งว่า ตั้งแต่อาทิตย์หน้าต่อไปจะมีการปรับเปลี่ยนหลักสูตรการเรียนการสอนให้เป็นแบบออนไลน์แบบทั้งหมด จนกว่าสถานการณ์ทุกอย่างจะดีขึ้นกว่านี้ แม้โรงเรียนพยายามที่จะจัดสรรเวลา แต่ก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการสอนออนไลน์ได้ จากข้อมูลที่ได้จากเพื่อนผู้เป็นพ่อแม่เหมือนกัน บอกว่าข้อดีคือเราได้ใช้เวลากับลูกมากขึ้น แต่ข้อเสียคือเด็กไม่สามารถจดจ่ออยู่กับคุณครูบนหน้าจอได้นาน ๆ บางทียุกยิกไปมาและหลายต่อหลายครั้งก็พลาดบทเรียนที่เป็นการสอนสดโดยคุณครูเพราะว่าพ่อแม่ติดธุระไม่สามารถดูแลลูกได้

Covid-19 สร้างผลกระทบในวงกว้าง ทั้งระบบเศรษฐกิจ ท่องเที่ยว การทำงาน การแพทย์ และการศึกษาที่คุ้นเคยจะเปลี่ยนไปแทบทั้งหมด แถมไม่พอ หลังจากที่ทุกอย่างคลี่คลายหมดแล้ว เมื่อมีวัคซีนและยารักษาโรคที่สามารถต่อสู้กับมันได้ออกสู่ตลาด แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากโรคระบาดครั้งนี้จะอยู่กับเราไปอีกนาน คล้ายกับช่วงหลังภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Depression), สงครามเย็น และ 9/11 ที่ไม่ว่าเราจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม เหตุการณ์ที่สร้างผลกระทบในวงกว้างแบบนี้จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของมนุษย์หลังจากที่มันจบไปแล้วในระยะยาวด้วยเช่นเดียวกัน

นักประชากรศาสตร์ที่แบ่งกลุ่มประชากรตามช่วงอายุอย่าง Gen Z, Millennials, Generation X, และ Baby Boomers ได้เสนอให้เรียกเด็ก ๆ ที่เติบโตในช่วงการระบาดของ Covid-19 ว่า “Generation Covid” หรือ “Gen C” โดยผู้เชี่ยวชาญบอกว่ากลุ่มคนที่อยู่ในยุค Gen C นั้นเมื่อโตขึ้นจะมีหลาย ๆ ด้านที่กระทบตามมา ยกตัวอย่างง่าย ๆ เช่นการจับมือกับคนอื่น หรือ การอยู่ในพื้นที่แออัด สิ่งเหล่านี้จะเปลี่ยนไปทั้งหมด เราจะแยกตัวเองออกมามากขึ้น ทำงานที่บ้านมากขึ้น และจำกัดการเข้าร่วมงานสังคมที่แออัดแบบไม่จำเป็น

นอกเหนือจากนั้นกลุ่ม Gen C ยังจะเป็นกลุ่มที่พึ่งพาเทคโนโลยี คอมพิวเตอร์ และใช้หน้าจอมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งพอเป็นแบบนี้คำว่า Gen C ก็สื่อความหมายว่าเป็น “Generation Connected” ก็ได้เช่นเดียวกัน เพราะจากยุคสมัยที่หน้าจอเป็นเพียงทางเลือกอยากใช้ก็ได้ ไม่ใช้ก็ไม่เป็นไร กลายเป็นยุคที่หน้าจอเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ไปเสียแล้ว ก่อนหน้าการระบาดของ Covid-19 สิ่งที่เรียกว่า Screen-Time หรือช่วงเวลาที่ใช้กับหน้าจอนั้นถูกมองว่าเป็นปัญหาและหลายครั้งเราใช้มันมากจนเกินไป แต่สำหรับ Gen-C และกลุ่มคนที่เป็นพ่อแม่ของกลุ่มนี้อาจจะต้องยอมรับว่ามันเป็นสิ่งธรรมดา มีอยู่ทุกที่ และขาดไม่ได้ – แม้จะยังมองว่ามันมากเกินไปอยู่บ้าง

แม้ก่อนที่โควิดจะระบาดนั้น Gen C กับหน้าจอก็ดูจะเป็นของคู่กันอยู่ จากสถิติแล้วในปี 2019 ประมาณ 40% ของเด็กในอเมริกาจะมีโทรศัพท์มือถือเป็นของตัวเองในช่วงอายุ 10 ขวบ และประมาณ 1/3 ของเด็กทั้งหมดจะใช้โทรศัพท์มือถือก่อนอายุ 4 ขวบ การศึกษาชิ้นหนึ่งขององค์กรไม่แสวงหาผลกำไร Common Sense Media รายงานว่าในปี 2019 นั้นเด็กช่วงก่อนวัยรุ่นอายุประมาณ 8-12 ปีใช้เวลาอยู่หน้าจอประมาณ 5 ชั่วโมง ส่วนวัยรุ่นจะอยู่ที่ 7.5 ชั่วโมงต่อวัน

ภาพ: Getty Images

แต่หลังจากการระบาดของ Covid-19 มีรายงานชิ้นใหม่เพิ่มเติมว่า 85% ของนักเรียนและผู้ใหญ่ใช้เวลากับหน้าจอมากขึ้นเฉลี่ยประมาณ 2 ชั่วโมงต่อวันและการศึกษากับผู้ปกครองอีก 3,000 คนขององค์กร ParentsTogether Foundation พบว่าการระยะเวลาที่ลูก ๆ ของพวกเขาใช้กับหน้าจอเพิ่มขึ้นประมาณ 500% เลยทีเดียว เพราะฉะนั้นมันจึงเป็นเรื่องที่ชัดเจนแล้วการใช้เวลากับน่าจอนั้นจะกลายเป็นประสบการณ์ปกติ ทุกที่ ทุกวัน สำหรับ Gen C มากกว่าแต่ก่อนอย่างเห็นได้ชัด

เราเองก็พอจะรู้เหตุผลดีว่าทำไมการระยะเวลาการอยู่บนหน้าจอนั้นเพิ่มสูงขึ้น มันเป็นเครื่องมือที่ช่วยลดการกระจายตัวของเชื้อไวรัสได้เป็นอย่างดี การพบเจอแพทย์ทางไกล (tele-medication), การเรียนออนไลน์, การทำงานจากที่บ้าน, ออกกำลังกายที่บ้าน, ซื้อของ ซื้ออาหาร, รับข่าวสาร หรือแม้แต่การจัดอีเวนต์ประชุมสัมมนาออนไลน์ ล้วนกลายเป็นสิ่งจำเป็นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ มันช่วยให้เรายังสามารถเชื่อมต่อหากันได้ ยังประคับประคองสังคมที่อยู่ ได้พูดคุยสื่อสารกับคนที่รัก เพื่อนสนิท ครอบครัว เพื่อนที่ทำงาน เป็นหลุมหลบภัยจากความเครียดกังวลกับสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัว ทำให้การศึกษาและการทำงานยังคงดำเนินต่อไปได้ แม้อาจจะไม่ได้เต็มร้อย แต่อย่างน้อยก็ดีกว่าหยุดทุกอย่างเอาไว้

การเรียนออนไลน์กลายเป็นสิ่งที่เราเห็นกันมากขึ้นตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา จากที่งก ๆ เงิ่น ๆ ในตอนแรก จนตอนนี้สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้ดียิ่งขึ้น มีตารางการเรียนการสอนส่งมาให้เด็กและผู้ปกครอง หลังจากนั้นก็มีวิดีโอให้กลับไปย้อนดูได้ มีเครื่องมือ อุปกรณ์ ซอฟต์แวร์มากมายสำหรับให้เด็กปรับตัวและทำการบ้าน รายงานแบบออนไลน์ได้สะดวกมากยิ่งขึ้น การเรียนออนไลน์แบบนี้ แม้หลังจากที่โรคระบาดได้ถูกควบคุมแล้วก็น่าจะยังคงมีอยู่ต่อไป อาจจะเป็นทางเลือกใหม่ที่มอบโอกาสสำหรับเด็กที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล หรือแม้แต่เด็กที่มีปัญหาทางร่างกายไม่สามารถมาโรงเรียนได้สะดวก สิ่งเหล่านี้น่าจะช่วยทำให้การเข้าถึงข้อมูลการเรียนการศึกษานั้นสะดวกมากยิ่งขึ้นในโลกอนาคต

แต่ถึงอย่างนั้นเราก็จะลืมไม่ได้ว่าในประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำทางสังคมสูงหลายแห่ง รวมถึงบ้านเราเอง ก็มีกลุ่มเด็กที่ครอบครัวไม่สามารถเข้าถึงอุปกรณ์และเทคโนโลยีเหล่านี้ได้ด้วยเช่นเดียวกัน การมีอยู่ของแหล่งความรู้แต่เด็กไม่สามารถเข้าถึงได้เพราะปัญหาทางด้านการเงิน สังคม หรือการขาดความรู้ของครอบครัวก็เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่ามันคือวาระสำคัญที่ต้องเร่งแก้ไขด้วยเช่นเดียวกัน

กลายเป็นว่าความรู้สึกของเด็กหลายคนกลับคิดว่าระยะเวลาที่ใช้บนหน้าจอนั้นเยอะไป การมองจอไม่ใช่ความสุขอย่างเคย

อีกประเด็นที่น่าสนใจความรู้สึกของเด็กหลายคนกลับกลายเป็นว่าระยะเวลาที่ใช้บนหน้าจอนั้นเยอะไปหน่อย ตลอดทั้งวันหลังจากนั่งเรียนออนไลน์ ก็แทบจะไม่อยากมองหน้าจออีกแล้วหลังจากนั้น ก่อนโควิดระบาดการใช้เวลาบนหน้าจอคือช่วงเวลาแห่งความสุขความสนุก ได้ผ่อนคลาย ได้คุยกับเพื่อน ได้เล่นเกม หรือทำอะไรที่ตัวเองชอบ แต่ตอนนี้ทุกครั้งที่นั่งลงหน้าคอมพิวเตอร์ พวกเขาจะรู้สึกว่ากำลังจะเข้าห้องเรียน และแค่คิดว่าจะต้องเปิดคอมพิวเตอร์มาใช้ก็จะรู้สึกไม่สนุกแล้ว บางคนแค่เดินเข้ามาในห้องนอนของตัวเอง ก็รู้สึกเหมือนกับว่ากำลังเดินเข้าห้องเรียนไม่มีผิด

แม้ว่ามันยากที่จะฟันธงไปเลยว่าต่อจากนี้สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับ Gen C คืออะไร ความสัมพันธ์ของกลุ่มนี้กับเวลาที่ใช้บนหน้าจอจะเป็นยังไง แต่ที่แน่นอนก็คือว่า Covid-19 ได้สร้างผลกระทบระยะยาวไว้ให้กับพวกเขาแล้วอย่างแน่นอน บางคนอาจจะพึ่งพามันมากขึ้น ใช้ทำงานหรือเรียนหนังสือ บางคนอาจจะรู้สึกเกลียดไปเลย ใช้คอมพิวเตอร์หรือหน้าจอแค่จำเป็น และโหยหาการออกไปใช้ชีวิตข้างนอกมากกว่า (ซึ่งสำหรับตัวผมเองเหมือนจะเป็นอย่างหลัง)

อ้างอิง 1
อ้างอิง 2
อ้างอิง 3
อ้างอิง 4

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส